การจัดการเรียนการสอนนักศึกษาต่างชาติในหลักสูตรการบูรณาการเนื้อหาระหว่างสาขา (4)


บทที่ 4

สรุปผลความสำเร็จและแนวทางประยุกต์ใช้ผลความสำเร็จ

 

             ความรู้ประสบการณ์ความสำเร็จจากคำบอกเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้างต้นนั้นสามารถ สรุปเป็นประเด็นเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้ 2 ประเด็นคือ การบริหารจัดการหลักสูตรที่มีผู้เรียนเป็นชาวต่างประเทศ และการจัดกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ  ได้ดังนี้

          1. การบริหารจัดการหลักสูตรที่มีผู้เรียนเป็นชาวต่างประเทศ

                        ความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการหลักสูตรที่มีผู้เรียนเป็นนักศึกษาชาวต่างประเทศ  ของสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ  มีปัจจัยเกี่ยวข้อง 3 ปัจจัย คือ

                        1) การสร้างความเข้าใจระหว่างคณะ  และสาขาวิชา เนื่องจากสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ เป็นหลักสูตรที่มีการบูรณาการเนื้อหาวิชาระหว่างสาขาวิชาต่างๆ ดังนั้น จึงต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้องในระดับคณะ  และระดับสาขาวิชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ผู้สอนให้เกิดความเข้าใจในโครงสร้างของหลักสูตรร่วมกัน

                        2) การมีระบบประสานงานที่ดี  สาขาวิชาต้องมีผู้รับผิดชอบและประสานงานกับอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรทุกคนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องทั้งในรูปแบบของการประชุมปรึกษาหารือหรือการติดต่อประสานงานโดยตรง

                        3) การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง การบริหารหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ  ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ผู้สอน  ทั้งการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการเรียนการสอน  การจัดผู้สอนในรายวิชาต่างๆ การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร  การพัฒนานักศึกษาเป็นต้น

          แนวทางในการใช้ความรู้การบริหารจัดการหลักสูตรที่มีผู้เรียนเป็นชาวต่างประเทศ

                        1. นำเสนอรายงานในที่ประชุมคณะกรรมบริหารสาขา  คณะกรรมการบริหารหลักสูตร  เพื่อพิจารณาประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านี้ไปสู่การพัฒนางานของสาขาวิชา  ตลอดจนการจัดประชุมอาจารย์ผู้สอนเป็นประจำทุกภาคเรียน

                        2. นำความสำเร็จที่พบไปสร้างงานและพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาให้สามารถบริหารจัดการหลักสูตรโดยอาศัยแนวทางความรู้ความสำเร็จข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผู้ประสานงาน ประธานสาขา กรรมการสาขาให้มีความรู้ความเข้าใจตรงกันและกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้สอดคล้องเหมาะสม

 

            2. การจัดกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ

                        ความสำเร็จในด้านการจัดกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ  มีปัจจัยเกี่ยวข้อง 4 ปัจจัย คือ

                   1) ปัจจัยด้านผู้เรียน ผู้เรียนซึ่งเป็นนักศึกษาชาวต่างประเทศต้องมีพื้นฐานดี 3 ด้าน ได้แก่

                             1.1 พื้นฐานการสื่อสารที่ดี    ผู้เรียนควรมีพื้นฐานการสื่อสารภาษาไทยที่ดีทั้งการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน  เนื่องจากอาจารย์สอนด้วยภาษาไทยและต้องเรียนร่วมกับนักศึกษาคนไทย  นอกจากนี้ถ้าผู้เรียนมีความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดียิ่งทำให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

                                    1.2  พื้นฐานทัศนคติที่ดีต่อการเรียน ผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จมักเป็นผู้ที่มีทัศนคติทีดีต่อการเรียน เช่น มีจุดมุ่งหมายในการเรียน ขยัน ตั้งใจ ไม่ท้อถอย มองเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของการเรียน

                             1.3  พื้นฐานทางสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทย  ผู้เรียนที่เกาะกลุ่มอยู่กับเพื่อนชาวต่างประเทศด้วยกันตลอดเวลา  ผู้เรียนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาไทย มักไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยของชาวต่างประเทศจะช่วยให้เขามีพัฒนาการการเรียนรู้ การสื่อสาร และการใช้ภาษาไทยได้ดี

                   2) ปัจจัยด้านผู้สอน  พบว่าการจัดกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจให้เกิดผลสำเร็จนั้นต้องอาศัย  อาจารย์ผู้สอนนักศึกษาชาวต่างประเทศที่มีความเป็นครูและเข้าใจนักศึกษาใน 5 ลักษณะ คือ

                             2.1 ครูมีใจ อาจารย์ผู้สอนที่มีใจในการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศ  แม้ผู้เรียนจะมีปัญหาในการสื่อสารภาษาไทย  แต่ด้วยความเป็นครูที่มีใจให้แก่นักศึกษาและการเรียนการสอนเป็นปัจจัยสำคัญอับดับต้นๆ ของการจัดกระบวนการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาชาวต่างประเทศได้สำเร็จ

                             2.2 ครูมีความอดทน ความอดทน ความเสียสละ ความทุ่มเทของอาจารย์ผู้สอนในทุกๆ ด้าน เพื่อพัฒนานักศึกษาชาวต่างชาติที่ตัวเองสอนให้ประสบความสำเร็จทั้งด้านความรู้สติปัญญา  ด้านทักษะ และด้านเจตคตินั้น  ก็เป็นส่วนสำคัญที่ให้ผู้สอนพยายามจะเอาชนะปัญหาด้วยความเสียสละทุ่มเท  พยายามจัดกิจกรรม  จัดเนื้อหา  จัดกระบวนการเรียนการสอนให้หลากหลาย  เหมาะสม  สอดคล้องกับผู้เรียน  โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างผู้เรียนซึ่งมีความสามารถในการใช้ภาษาไทยไม่เท่ากัน

                             2.3 ครูมีลูกเล่น การมีลูกเล่น  พลิกแพลง  ประยุกต์กิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสนใจ  ไม่เบื่อบทเรียน  มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาของอาจารย์ผู้สอน  นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความสำเร็จของการเรียนการสอนของนักศึกษาชาวต่างประเทศที่เรียนในสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ

                             2.4 ครูมีความยืดหยุ่น ความสำเร็จอีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากอาจารย์ผู้สอนมีความยืดหยุ่นให้ผู้เรียนซึ่งเป็นชาวต่างประเทศซึ่งมีความแตกต่างในด้านพื้นฐานความรู้ภาษาไทยในหมู่นักศึกษาชาวต่างประเทศด้วยกันเอง  และมีความแตกต่างกันมากเมื่อเรียนร่วมกับนักศึกษาคนไทย  ได้เรียนด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันตามพื้นฐานของแต่ละคน  ได้จัดเนื้อหาการสอนและกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละคนและแต่ละกลุ่ม  ยืดหยุ่นปรับกระบวนการวัดผลหลากหลายรูปแบบให้กับนักศึกษาตามลักษณะความเหมาะสม โดยที่ยังคำนึงถึงคุณภาพหรือมาตรฐานของการประเมินผล

2.5 ครูมีความเข้มงวดติดตามพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียนอย่างจริงจัง ความเข้มงวดเอาใจใส่ของอาจารย์ที่มีต่อนักศึกษาชาวต่างประเทศที่มีพฤติกรรมขาดเรียน มาสาย ไม่ส่งงาน  ขาดความรับผิดชอบ  เป็นต้นนั้น  ก็มีส่วนสำคัญทำให้นักศึกษาเหล่านี้ไม่ออกนอกลู่นอกทางไปในทางที่ไม่ดี  หรือต้องออกกลางคัน  และสามารถดึงให้นักศึกษาเหล่านี้มีพฤติกรรมในทางที่ขึ้น

                        3) ปัจจัยด้านกิจกรรมการเรียนการสอน  พบว่าการจัดกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจให้เกิดผลสำเร็จนั้นกิจกรรมการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาชาวต่างประเทศ  มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของผู้เรียนซึ่ง  พบว่า  กิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ได้คำนึงถึง 4 ลักษณะ ต่อไปนี้ คือ

                             3.1 กิจกรรมมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างนักศึกษาชาวไทยและนักศึกษาชาวต่างประเทศ  ในกรณีที่นักศึกษาชาวต่างประเทศได้เรียนร่วมกับนักศึกษาคนไทยนั้น  ได้สร้างปัญหาให้กับอาจารย์ผู้สอนค่อนข้างมาก  อาจารย์ผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกิจกรรมการาเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักศึกษาชาวไทย  ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ยากเกินไปสำหรับนักศึกษาชาวต่างประเทศ  นับเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้เรียนผู้สอนมาก  ที่จะให้ผู้เรียนคนไทยได้เนื้อหาการเรียนการสอนอย่างเข้มข้นและก็ต้องคิดหากิจกรรมให้นักศึกษาชาวต่างประเทศ  สามารถเรียนเนื้อหาวิชานั้นได้ด้วย

3.2 กิจกรรมมุ่งท้าทายความรู้ความสามารถของผู้เรียน ความสำเร็จอีกประการหนึ่งที่อาจารย์ผู้สอนนักศึกษาชาวต่างประเทศที่ใช้ได้ผลคือ  สร้างกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติให้นักศึกษาได้คิด  ได้ทำ  ด้วยตัวเองซึ่งท้าทายความคิดความสามารถของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

3.3 กิจกรรมมุ่งสร้างความมีชีวิตชีวา  ไม่น่าเบื่อ การที่นักศึกษาชาวต่างประเทศต้องเรียนเนื้อหาวิชาด้วยภาษาไทย  หลายวิชาต้องเรียนร่วมกับคนไทยเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย และท้อ  การคิดกิจกรรมของอาจารย์ผู้สอนให้มีบรรยากาศไม่น่าเบื่อ  มีชีวิตชีวาในรูปแบบต่างๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จของการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศ

3.4 กิจกรรมมุ่งปรับพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน การคิดกิจกรรมการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาชาวต่างประเทศ  นอกจากจะมุ่งให้เกิดผลดังกล่าวข้างต้นแล้วในบางกรณีที่ผู้เรียนยังมีพฤติกรรมการเรียนการสอนที่ไม่พึงประสงค์เป็นต้นว่า  มาสาย  ไม่ส่งงาน  ไม่รับผิดชอบ  การแต่งกายไม่เรียบร้อย  อาจารย์ผู้สอนก็พยายามคิดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถส่งผลถึงการปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เกิดขึ้นตามมาได้   ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของการจัดกิจกรรมอีกลักษณะหนึ่งของอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาชาวต่างประเทศ

                        4) ปัจจัยด้านการประสานงานของสาขาวิชา  พบว่าการจัดกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจให้เกิดผลสำเร็จนั้นการประสานงานของสาขาวิชาหรือผู้รับผิดชอบมีความสำคัญอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะการประสานงานผู้สอนซึ่งอยู่ต่างคณะ  ต่างสาขาวิชาและต้องสอนในหลักสูตรเดียวกันในเชิงการบูรณาการเนื้อหาวิชาร่วมกันและการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนซึ่งเป็นนักศึกษาชาวต่างประเทศ ที่ผ่านมาการจัดประชุมการติดต่อโดยตรง  หรือใช้วิธีต่างๆ ตามความเหมาะสม  มีส่วนช่วยให้การจัดกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจให้เกิดผลสำเร็จ

          แนวทางในการใช้ความรู้การจัดกระบวนการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นชาวต่างประเทศ

                        1. ให้ความสำคัญในกระบวนการการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยเบื้องต้นให้กับผู้เรียนชาวต่างประเทศก่อนเข้าเรียนในหลักสูตรของสาขาวิชาในรูปแบบต่างๆ

                        2. จากโครงการพัฒนาผู้เรียนที่เป็นนักศึกษาชาวต่างประเทศโดยเน้นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนและเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทย

                        3. จัดกิจกรรมปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่ที่สอนนักศึกษาชาวต่างประเทศเป็นประจำทุกภาคเรียน เน้นให้เข้าใจและศึกษาบทเรียนความสำเร็จของอาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศ

                        4. รวบรวมเผยแพร่วิธีการสอนแนวทางในการจัดกิจกรรม การวัดและประเมินผลของอาจารย์ผู้สอนที่ประสบความสำเร็จในการสอนนักศึกษาชาวต่างประเทศให้แก่อาจารย์ที่สนใจหรือจัดกิจกรรมเชิงวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์ผู้สอนเป็นประจำทุกภาคเรียน

                                5. การพัฒนาคณะทำงานในระดับสาขาวิชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ทำหน้าที่การประสานงานระหว่างคณะ และสาขาวิชาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเน้นความสำเร็จของงานและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

หมายเลขบันทึก: 359745เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2010 02:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท