เผชิญมลพิษทางเสียง (4) -- พลังของการรับฟังอย่างจริงใจ


อย่างน้อยก็ยังมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่รับฟังความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ (มีความรู้ด้านนี้จริง) บอกให้ประชาชนทราบได้ว่าแนวโน้มสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปจากประสบการณ์ตรงที่มีอยู่

    

   เลขาฯหงุดหงิดกับเสียงดังจากเวทีลิเกหลังบ้านมาพักใหญ่แล้วค่ะ ไม่มีสมาธิและไม่สามารถจะเขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวได้ นอกจากไปร้องเรียนทั้งที่เทศบาลและที่เว็บของเทศบาลปากเกร็ด กับบ่นเรื่องเสียงไว้ในบลอกนี้มาสามตอน จนถึงวันนี้ความทุกข์จากเสียงรบกวนก็ยังมีอยู่ แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นนิดหนึ่งค่ะ

   ในช่วงที่ผ่านมานี้เสียงจากเวทีลิเกก็ยังขึ้นๆลงๆ บางวันก็เบาหน่อย บางวันก็แสบแก้วหู แต่ท่าทีของเจ้าของตลาดเมื่อไปร้องเรียนเปลี่ยนเป็นเฉยเมย ทำท่าทางเหมือนจะบอกว่า “ทำไมเรื่องมากอย่างนี้” และได้ทราบว่า ลับหลังเจ้าของตลาดแสดงความเห็นว่า “คนจะทำมาหากิน จะมายุ่งอะไรนักหนา” ประกอบกับเจ้าของตลาดหลุดปากออกมาว่า ขออนุญาตไว้ถึงวันที่ 20 ทำให้เลขาฯเริ่มเข้าใจว่า 2 อาทิตย์ที่เขาบอกมาตั้งแต่แรกอาจไม่ใช่เรื่องจริง หรือไม่ก็เป็นเรื่องจริงแต่ลิเกเริ่มเล่นก่อนที่จะได้รับอนุญาต เจ้าของตลาดและคณะลิเกไม่ยอมพูดอย่างตรงไปตรงมา เอาแต่บอกว่าให้เห็นใจ และจะอยู่ไม่นาน เลขาฯก็เริ่มเข้าใจว่านี่คืออาการของโรค “ไม่ไล่ไม่เลิก” และ “ถึงไล่ก็ไม่ยอมเลิกง่ายๆจนกว่าจะได้สิ่งที่ฉันต้องการ” อันเป็นโรคติดต่อของคนไทยยุคไม่สนใจจะเคารพกฎหมาย จึงเลิกคิดไปเจรจาอีก

   แต่ด้วยความข้องใจท่าทีของเทศบาล ซึ่งเป็นรัฐส่วนท้องถิ่น จึงยังคงตามเรื่องนี้อย่างไม่ยอมเลิกง่ายๆเหมือนกัน เช้าเมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม) โทร.ไปที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ขอคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่มาตรวจตลาดเมื่อวันก่อน เจ้าหน้าที่ทำเสียงไม่อยากคุยด้วยและอยากจบการสนทนาเร็วๆ เมื่อเลขาฯอ้างที่เธอเคยพูดว่า “คณะลิเกจะเลิกเล่นวันที่ 16 หรือ 17 พ.ค. นี้แล้ว” เธอก็รีบขัดขึ้นว่า เธอให้ข้อมูลผิดพลาด เมื่อเช็คเอกสารอีกครั้งพบว่ามีการขอใช้เครื่องขยายเสียงไว้จนถึงวันที่ 20 พ.ค. เลขาฯจึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมา โฆษกเวทีลิเกประกาศรับสมัครประกวดนักร้อง เก็บค่าสมัครคนละ  30 บาท และจะมีการตัดสินกันตอนสิ้นเดือน มีถ้วยรางวัลจากนายก อบต. หรือนายก อบจ. ก็ยังไม่ทราบ (โอ้โฮ ... อะไรจะยิ่งใหญ่ขนาดนั้น) ซึ่งก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่ได้สนใจความเดือดร้อนของบ้านข้างเคียงเลย เธอรีบพูดปัดว่า แล้วจะรีบบอกพี่เขาให้ดำเนินการ ... ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นใครและเมื่อไหร่ สุดท้ายเลขาฯก็คงต้องทนฟังเสียงจากเวทีนี้ไปจนกว่าคณะลิเกและเจ้าของตลาดจะ(เรียกเงินจากคนแถวนี้ได้มากจน)พอใจ

   ในการไปร้องเรียนที่เทศบาล หน่วยรับเรื่องให้เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดตามเรื่องไว้ 2 แห่ง คือ งานนิติกร กองวิชาการและแผน ที่เลขาฯได้คุยกับคุณแก้วเมื่อวันก่อน กับกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่เจ้าหน้าที่หญิงผู้รับผิดชอบดูจะไม่ได้ใส่ใจในหน้าที่งานบริการประชาชนนัก เมื่อคุยกับกองสาธารณสุขไม่รู้เรื่อง เลขาฯก็เลยโทร.ไปที่งานนิติกรอีกครั้ง หวังว่าครั้งนี้จะได้คุยกับผู้รับผิดชอบเรื่องบ้าง

   เลขาฯได้คุยกับคุณ อธิชาติ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนที่เป็นเหตุรำคาญ คุณอธิชาติรับฟังปัญหาของเลขาฯ ซักถามข้อมูล และตอบคำถามเพิ่มเติมต่างๆเป็นอย่างดี และยังเล่าให้ฟังถึงกรณีอื่นๆที่เคยรับผิดชอบด้วย เลขาฯเองก็พอจะทราบปัญหาการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย ที่ก็คล้ายๆกับรัฐส่วนกลาง คือ ถือเพียงกระดาษที่เรียกว่ากฎระเบียบ แต่พอถึงการควบคุมก็ต้องไปตามขั้นตอนอย่างเชื่องช้า หากมาตักเตือนแล้วผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตาม เทศบาลก็จะต้องส่งเรื่องไป อบจ. และไปแจ้งความ ให้ตำรวจดำเนินการ กรณีเสียงรบกวนจากคาราโอเกะที่หนักหนาสาหัสกว่าลิเกครั้งนี้มากนัก ต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าเจ้าของจะยอมรื้อถอนออกไป หากเลขาฯจะไปแจ้งความกับตำรวจเองก็ทำได้ แต่เรื่องก็จะช้ามากไม่ต่างกัน คุณอธิชาตินั้นเคยมาตรวจตลาดข้างบ้านแห่งนี้มาก่อนทางด้านสาธารณสุข และบอกกับเจ้าของตลาดไว้ว่า “จะไม่ให้ผ่านหากไม่จัดการเรื่องระบบน้ำทิ้งให้ดีเสียก่อน” ซึ่งเลขาฯก็ได้ซักถามข้อสงสัยว่าการมาตรวจตลาดนั้นต้องแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ คุณอธิชาติปฏิเสธทันที เลขาฯจึงเล่าเรื่องการตรวจตลาดที่แม่ค้าลุกขึ้นมาล้างตลาดครั้งใหญ่ตอนเช้าก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาช่วงเย็น ซึ่งอาจเป็นได้ว่าเจ้าหน้าที่เด็กๆอาจยังเกรงๆ (หรือได้รับทรัพย์ไปแล้ว หรือเจ้าของตลาดมีสายอยู่ในเทศบาลก็ไม่ทราบได้) จึงแจ้งให้เจ้าของตลาดทราบก่อน นอกจากนี้คุณอธิชาติยังได้กรุณาแวะเข้ามาสำรวจดูสภาพด้านหลังเวทีลิเกว่ามีบ้านเรือนอยู่อาศัยกันในลักษณะไหน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีธุระแวะผ่านมาทางนี้พอดี และจะกำชับเรื่องการดำเนินการเรื่องนี้ให้อีก แม้จะไม่แน่ใจว่าจะได้ผล (ลิเกยอมรื้อเวที) หรือไม่ก็ตาม

   ถึงแม้การพูดคุยกับคุณอธิชาติราว 20-30 นาทีจะไม่ได้ผลสรุปที่แน่ชัด แต่ก็ทำให้เลขาฯรู้สึกดีขึ้นมาก อย่างน้อยก็ยังมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่รับฟังความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ (มีความรู้ด้านนี้จริง) บอกให้ประชาชนทราบได้ว่าแนวโน้มสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปจากประสบการณ์ตรงที่มีอยู่ ขอขอบคุณและชื่นชมคุณอธิชาติ และคุณแก้ว เจ้าหน้าที่งานนิติกร กองวิชาการและแผน สำนักงานเทศบาลนครปากเกร็ด มา ณ ที่นี้ค่ะ

   หลังจากรู้สึกเย็นลงบ้าง เลขาฯจึงได้ตั้งสติทบทวนเรื่องทั้งหมดที่เผชิญมา พบว่าที่เครียดมากนั้นมีอยู่หลายสาเหตุ

   สาเหตุแรก คือ เสียงดังที่รบกวนอยู่ทุกๆวัน วันละหลายชั่วโมง บั่นทอนประสาทหู บั่นทอนสมาธิในการทำงาน และรบกวนเวลาพักผ่อนในช่วงเย็น

   สาเหตุที่สอง คือ เสียงที่เบาลงจากการเจรจา เมื่อผ่านไปสองสามวันก็กลับดังขึ้นอีก ทำให้รู้สึกโมโหว่าทำไมจึงพูดกันครั้งเดียว (จริงๆ 2-3 ครั้ง) ไม่รู้เรื่อง มาถึงตอนนี้ก็ปลงแล้วค่ะ ว่าคนไทยโดยรวมแล้วก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น

   สาเหตุที่สาม คือ ในครอบครัวรวมทั้งเพื่อนบ้าน ไม่มีใครสนับสนุนให้เลขาฯ โวยวาย เพราะ อย่ามีเรื่องจะดีกว่า และ ไม่เห็นว่าจะทำให้เขาเชื่อและยอมเลิกได้อย่างไร ทุกคนต่างก็ปิดประตูหน้าต่างเปิดแอร์ ทำสมาธิดูทีวีหรือทำกิจกรรมอื่น ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเป็นวิถีชีวิตปกติของคนเมืองอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับเลขาฯที่มีความสุขกับการเปิดประตูหน้าต่างรับลม (ถึงแม้จะร้อน) ระหว่างทำงาน และชอบออกมารดน้ำต้นไม้ เดินดูต้นไม้ดอกไม้ในช่วงเวลาเย็น มีเพียงแม่บ้านที่เป็นคนเดือดร้อนที่สุดเพราะต้องทำกับข้าวทนเสียงดังทุกวัน จะหลบเข้าห้องแอร์ก็ไม่ได้ แต่แม่บ้านก็ทำได้เพียงตามไปเป็นพยาน (หากเลขาฯจะถูกทำร้ายกลับมา) เพราะเธอเป็นคนที่ต้องไปจ่ายตลาดนี้แทบทุกวัน หากพูดมากไปก็จะทำให้ไปลำบาก เพื่อนบ้านและครอบครัวนั้นเวลาบ่นก็บ่นด้วยกัน แต่พอถึงเวลาจะไปเทศบาล ก็ไม่มีใครอยากไป

   สาเหตุที่สี่ คือ ท่าทีของเทศบาล ที่เงียบเฉยไม่ว่าจะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอย่างไรไปแล้ว เลขาฯคงจะโชคร้ายที่เดือนนี้มีวันหยุดมาก ไปร้องเรียนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด อีกสองวันถัดมาบังเอิญเจ้าหน้าที่พากันไปงานสันนิบาตเทศบาลจนหมด ไม่มีเหลือใครอยู่เลย อีกสองวันเป็นวันเสาร์อาทิตย์ นั่นก็คือต้องทนเสียงลิเกไป 5 วันโดยที่เทศบาลยังไม่เริ่มทำอะไรให้ ดีที่ว่าพอวันที่ 10 โทร.ไปที่กองวิชาการทำให้ทราบว่าได้รับเรื่องแล้ว และจะส่งเรื่องไปที่กองสาธารณสุขให้ภายในวันนั้น อีกไม่เกิน 2-3 วันเจ้าหน้าที่จะมาดูแลให้ ซึ่งก็รวดเร็วจริงค่ะ เย็นวันรุ่งขึ้นก็ดำเนินการให้แล้ว (แม้ว่าวิธีการออกจะประหลาดอยู่สักหน่อย) แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปอีก อาจเป็นเพราะติดวันหยุดพืชมงคลอีกก็เป็นได้ พอดีในช่วงคาบเกี่ยวกันนี้โทรศัพท์ที่บ้านเสีย มีเหตุให้ต้องโทร.ไปแจ้งบริษัททรูอยู่หลายครั้ง แทบทุกครั้งช่างจะดำเนินการให้ภายใน 1-2 วัน และจะมี SMS ส่งมาบอกทุกครั้งที่ดำเนินการเสร็จ ทำให้ทราบและอุ่นใจอยู่เสมอว่าเรื่องที่ร้องเรียนไปได้รับการติดตามแก้ไข ทำให้รู้สึกเปรียบเทียบกับราชการไทยที่ต้องโทร.ไปตามทวงแล้วทวงอีกกว่าเรื่องจะเดินจากโต๊ะหนึ่งไปอีกโต๊ะหนึ่ง หากไม่โทร.ก็อาจจะนอนนิ่งอยู่บนโต๊ะเดิมไม่ขยับเขยื้อน ในกรณีของเทศบาลปากเกร็ดนี้เพื่อนๆบอกว่าเลขาฯมาตรฐานสูงเกินไป เพราะโดยทั่วไปเทศบาลจะใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์กว่าจะได้ลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง เทศบาลปากเกร็ดใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ (นับจากไปร้องที่เทศบาล แต่ถ้านับจากที่ไปร้องไว้ในเว็บก็ 12 วัน) นับว่าเป็นบุญมากแล้ว แต่สำหรับคนที่ต้องทนเผชิญกับเสียงดังทุกๆวันและได้พยายามอดทนมาก่อนจะร้องเรียนระยะหนึ่ง รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมาก

 

   สุดท้ายก็มีเพื่อนอีกคนหนึ่งให้สติ ทำให้เลขาฯยอมรับกับตัวเองว่าเราเป็นคนเช่นนี้เอง ไม่ยอมอดทนกับเรื่องอย่างนี้ สู้ไม่ถอยอย่างนี้ ก็ต้องเผชิญความเครียดนี้ต่อไป เมื่อรู้สึกว่าเสียงดังรบกวนก็ต้องหาทางหลบบ้าง (เช่น ไปเดินออกกำลังกายในหมู่บ้านด้านอื่น) ถ้าจะต้องทำงานก็ปิดประตูหน้าต่างเปิดแอร์และเปิดเสียงอื่นที่ไม่กวนประสาทกลบทับ ต้องอดทนกับท่าทีเฉยเมยทั้งจากฝ่ายตลาดและคณะลิเก รวมทั้งครอบครัวและเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังจะร้องเรียนและติดตามการทำงานของเทศบาลต่อไปค่ะ หวังว่าสักวันหนึ่ง อปท.ไทยคงกล้าที่จะคิดและทำกฎระเบียบของเทศบาลให้ศักดิ์สิทธิ์ สามารถปกครองและดูแลประชาชนในท้องถิ่นให้ได้จริงๆ รวมทั้งหากสามารถป้องกันเหตุเดือดร้อนต่างๆเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น เช่น มีข้อกำหนดห้ามใช้เครื่องเสียงในบริเวณที่ไม่มิดชิดแต่อยู่ใกล้ชุมชน ห้ามกระทำให้เกิดเสียงเกินกี่เดซิเบล  เหล่านี้ให้ชัดเจน ก็น่าจะทำให้การดำเนินการควบคุมเป็นไปได้ง่ายขึ้น  สำหรับเทศบาลนครปากเกร็ดที่ฝ่ายวิชาการมีทั้งความรู้ ประสบการณ์ และความเห็นอกเห็นใจประชาชนอยู่แล้ว น่าจะทำได้ไม่ยากเลยค่ะ ส่วนฝ่ายดำเนินการก็เห็นใจนะคะว่าคงจะมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับปริมาณงานทำให้ไม่มีเวลาเอาใจใส่ และอาจไม่มีเวลาคิดว่าวิธีที่ทำอยู่นั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ หวังว่าเทศบาลคงมองเห็นจุดที่เป็นปัญหาและแก้ไขให้เป็นเทศบาลที่ดียิ่งขึ้นค่ะ

  

(เผชิญมลพิษทางเสียง ตอนที่  1  2  3  4  5 )

หมายเลขบันทึก: 359525เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2010 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รู้สึกแย่แทนนะครับ ปกติแค่สองอาทิตย์ ก็แย่แล้ว ที่ประหลาดใจคือ ทำไมสามารถอนุญาติให้ลิเกอยู่ยาวนานได้ไม่ทราบ

มีสองทางที่จะทำคือ สู้ต่อไป ทางที่สอง แผ่เมตตาให้แก่เขาครับ...

ขอบคุณ คุณขจิต ที่เห็นใจค่ะ

ทั้งสองทางของคุณขจิตก็พยายามทำอยู่ บางครั้งก็ท้อ บางครั้งก็เครียด ก็ได้มาระบายความเครียดแถวนี้ล่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท