ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

บทวิเคระห์อนุสัญญาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ประธานกรรมการสอบ ดร. วิลาวรรณ ลาภวงศ์วัฒนา กก. สอบ ดร.สมชัย ศริสมบูรณ์เวช อ.นิรุจน์ มณีพันธ์ ตอน 1


การโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ Conventions on the Assignment of the Receivables in International Trade

วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่องอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ต่อ จากบทที่ 1 และ  2 แต่จะขอข้ามไป บทที่ 4 ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์เลย เพราะทั้งนี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับน้อง ๆ ที่มีความสนใจกฎหมายระหว่างประเทศ ไว้ต่อยอดการศึกษาให้น้อง ๆ

บทที่ 4

บทวิเคราะห์

 จากการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบตัวอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทาง     การเงินในทางการค้าระหว่างประเทศกับหลักการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และร่างพระราชบัญญัติแฟ็คเตอริ่งที่ส่งผลกระทบทางกฎหมายต่อกฎหมายภายในที่มีอยู่ วิเคราะห์ดังนี้ 

1.  ผลกระทบอนุสัญญาฯ กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 หากประเทศไทยจะต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ มีหลายประเด็นในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ และมีบางประเด็นที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อนำมาปรับใช้อาจไม่เหมาะต่อการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ทางการค้าเพื่อประโยชน์ในการหาแหล่งเงินทุนในลักษณะการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศ เนื่องจากการบัญญัติกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องของประเทศไทยที่ได้บัญญัติไว้ในบรรพ 2 ลักษณะบทเบ็ดเสร็จทั่วไปว่าด้วยหนี้ (มาตรา 303-313) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แม้บทบัญญัติบางประการอาจเอื้ออำนวยต่อการนำมาปรับใช้ในทางการค้าทางพาณิชย์บ้างอยู่แล้ว แต่ก็มีบทบัญญัติในหลายส่วนที่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้แก่ธุรกรรมในเชิงรุกหรือธุรกรรมทางการเงินที่มีลักษณะเฉพาะ[1] อันแตกต่างไปจากการโอนสิทธิเรียกร้องทางแพ่งทั่วไป และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็มิได้กล่าวถึงการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศไว้แต่อย่างใด

    ในขณะที่อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์ของการโอนสิทธิเรียกร้องรองรับในเรื่องการทำธุรกรรม และรวมถึงหนี้ทางการค้าอื่นที่มีลักษณะพิเศษนอกเหนือไปจากที่ประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดให้การโอนสิทธิเรียกร้องเป็นนิติกรรมรับชำระหนี้อย่างหนึ่งเท่านั้น ดังเห็นได้ว่า อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ พยายามให้มีการโอนสิทธิเรียกร้อง ได้อย่างคล่องตัว เพื่อให้สามารถดำเนินการได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งหากประเทศไทยต้องการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ก็จะเป็นการแจ้งให้ประเทศต่าง ๆ      โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ทราบว่า กฎหมายเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องของประเทศไทย มีหลักเป็นสากลอันเป็นไปตามอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ จะเป็น การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

    จากการศึกษาเปรียบเทียบหลักการโอนสิทธิเรียกร้องในอนุสัญญาฯ กับประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีประเด็นผลกระทบทางกฎหมายต่อการที่ประเทศไทยจะต้องเข้าเป็นภาคี ที่ต้องพิจารณาวิเคราะห์ ดังนี้

 1.1  วิเคราะห์ข้อพิจารณาว่าด้วยคำจำกัดความ และลักษณะการโอนสิทธิเรียกร้อง

จากการศึกษาพบว่า “สิทธิเรียกร้อง” (Receivable) ตามความหมายของอนุสัญญาฯ ได้แก่ สิทธิตามสัญญาที่จะได้รับการชำระเงินเป็นตัวเงิน[2] (Contractual Right to Payment of a Monetary Sum) และอนุสัญญาฯ จะใช้บังคับกับการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เป็น “สิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศ” แต่อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาฯ ได้ยกเว้นสิทธิเรียกร้องและการโอนสิทธิเรียกร้องบางประเภทจากขอบเขตการใช้บังคับอนุสัญญาฯ และสิทธิเรียกร้องที่เป็นจำนวนมากดังกล่าวไว้ในบทที่ 2[3]

    โดยเห็นได้ว่า อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ได้กำหนดลักษณะขอบเขตสิทธิเรียกร้องไว้กว้างมาก ทั้งที่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากการซื้อขายสินค้า (Trade Receivable) เช่น การขายสินค้า การก่อสร้าง หรือการบริการระหว่างกันและครอบคลุมถึงสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่ไม่ได้เกิดจากการซื้อขายสินค้าด้วย (Non-trade Receivable) เช่น การทำ Refinancing[4] เงินกู้เพื่อปรับปรุงฐานะการเงินของกิจการ (Capital Obligation Ratio) หรือเพื่อการปรับปรุงการกระจายตัวของการลงทุน (Portfolio Diversification) และธุรกรรมทางการเงินบางประเภทอันเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศในหลาย ๆ อย่าง อันเกี่ยวกับการบริการระหว่างธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะ อาทิ แฟ็คเตอริ่ง, ฟอร์ฟิตติ้ง สิทธิเรียกร้องที่ได้จากผู้บริโภค (Consumer Receivables) สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาของรัฐ หรือองค์กรของรัฐ และยังครอบคลุมถึงเทคนิคการเงินใหม่ ๆ เช่น การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitisation) และโปรแจ็คไฟแนนช์ (Project Finance) เช่น โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ สิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากสัญญาในระบบการชำระหนี้สุทธิ (Netting Agreement) ที่สถานะของสัญญาในระบบนั้นสิ้นสุดลงแล้ว เป็นต้น

   นอกจากนี้รวมถึงค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญา (Damages for Breach of Contract) ดอกเบี้ยที่เกิดจาการชำระหนี้ล่าช้า (Interest for Late Payment) และเงินปันผล (Dividends) (Present or Future) (Arising from Shares) รวมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องที่อาจเกิดจากธุรกรรมทางการเงินในอนาคตด้วย[5] ซึ่งหากมีหลักกฎหมายเอื้ออำนวยให้มีการโอนสิทธิเรียกร้องได้อย่างคล่องตัวในธุรกรรมดังกล่าว ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ระบบการค้าพาณิชย์และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศมีความแน่นอนและมั่นคงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการมีกฎหมายที่ใช้บังคับอย่างเหมาะสมกับธุรกรรมเฉพาะนั้น ๆ

   ในขณะที่ “การโอนสิทธิเรียกร้อง” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้ ใน บรรพ 2 ลักษณะบทเบ็ดเสร็จทั่วไป “ว่าด้วยเรื่องหนี้” มาตรา 303 ถึง มาตรา 313 กำหนดเป็นหลักการว่า สิทธิเรียกร้องนั้นสามารถโอนกันได้ เว้นแต่ สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ (มาตรา 303) และเมื่อโอนไปแล้วสิทธิจำนองหรือสิทธิจำนำที่มีอยู่ เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้น หรือสิทธิอันเกิดขึ้น แต่การ  ค้ำประกันที่ให้ไว้ย่อมตกไปให้แก่ผู้รับโอนด้วย (มาตรา 305)

   การโอนหนี้อันพึงชำระให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะเจาะจงต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ ก็ต่อเมื่อมีการบอกกล่าวการโอนไปยังลูกนี้แล้ว หรือลูกหนี้ให้ความยินยอมในการโอนแล้ว ทั้งนี้การบอกกล่าว และการยินยอมต้องทำเป็นหนังสือ และหากลูกหนี้ให้ความ    ยินยอมในการโอน ลูกหนี้จะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนไม่ได้ แต่ถ้าลูกหนี้ได้รับแต่คำบอกกล่าว ลูกหนี้ยังคงสามารถยกข้อต่อสู้ที่ตนมีอยู่ก่อนเวลาที่ได้รับคำ    บอกกล่าวนั้นขึ้นต่อสู้กับผู้รับโอนได้ (มาตรา 306 และมาตรา 309)

   ฉะนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 303 ถึงมาตรา 313 มุ่งประโยชน์ แต่เฉพาะการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระหนี้เท่านั้น หาได้มุ่งเน้นการโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อประโยชน์ในการทำการค้าที่มีลักษณะพิเศษอื่น ๆ ให้เหมาะกับสภาพธุรกิจและการค้าที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพัฒนาการ การค้าระหว่างประเทศ

   ดังนั้น คำจำกัดความ และลักษณะของ “สิทธิเรียกร้อง” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น แม้จะเป็นกฎหมายที่ปรับใช้แล้วดูว่าเหมาะสมและใกล้เคียงสุดเท่าที่มีในปัจจุบัน แต่บทกฎหมายดังกล่าวก็มิอาจครอบคลุมถึงลักษณะพิเศษต่าง ๆ ในการทำสัญญาของธุรกรรมที่มุ่งหาแหล่งเงินทุนมากนัก

   อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดของไทยที่กำหนดรายละเอียดในการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศไว้อย่างชัดเจนเป็นการเฉพาะ จึงทำให้แนว-ปฏิบัติทางการค้าของไทยบางอย่างยังไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสากลเหมือนกับหลักการในอนุสัญญาฯ (ที่ให้ความสำคัญกับการเอื้อต่อความคล่องตัวของธุรกรรมการโอนสิทธิมากกว่าที่กฎหมายภายในประเทศบัญญัติไว้) อันถือเป็นเจตนารมณ์สำคัญของความพยายามในการจัดทำร่างอนุสัญญาฯ

   เมื่อพิจารณาวิเคราะห์เปรียบเทียบแล้วเห็นว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศที่เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับอนุสัญญาฯ ก็จะมีความเหมาะสมกับระบบการค้าพาณิชย์มากกว่าการนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่อง “การโอนสิทธิเรียกร้อง” มาปรับใช้หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในประเด็นที่เกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องในทางการเงินในหนี้ทางการค้าระหว่างประเทศ อันจะช่วยลดปัญหาการตีความของบทบัญญัติของกฎหมายและทางปฏิบัติในการทำการค้า โดยเฉพาะการทำสัญญาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าการทำสัญญาเกี่ยวกับการค้าภายใน

   อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้ระบบการค้าของไทยในเวทีระหว่างประเทศมีความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะการมีกฎหมายที่ชัดเจนแน่นอนในการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจนั้นจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสนับสนุน อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องอาศัยธุรกิจการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศ ทำให้ธุรกิจขยายตัวไปตามความเจริญทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ที่ถือว่าเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือทางด้านการเงินที่สำคัญในการหาเงินทุนหมุนเวียนที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะความช่วยเหลือของสถาบันการเงินหลักที่มีอยู่ 

   ดังนั้น การที่กฎหมายกำหนด “ขอบเขตและนิยามการโอนสิทธิเรียกร้อง” ให้มีความชัดเจนเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดผลดีได้อย่างชัดเจน ในข้อที่ทำให้สามารถจัดระวางระบบและกฎเกณฑ์กติกาในการค้าพาณิชย์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพ ลักษณะ และความต้องการของกิจการค้าพาณิชย์ได้ อันจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุน    กิจการค้าพาณิชย์ของประเทศให้อยู่ในมาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นการกำหนดนิยามการโอนสิทธิเรียกร้องให้ชัดเจนเช่น ในอนุสัญญาฯ จึงย่อมเหมาะสมกว่านิยามการโอนสิทธิเรียกร้องในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[6]

  1.2 วิเคราะห์ข้อพิจารณาว่าด้วยลักษณะสิทธิที่จะโอน ในประเด็นการโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคต

  ประเด็นการโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตนี้ โดยหลัก สิทธิที่จะโอนภายใต้อนุสัญญานี้ ต้องเป็นสิทธิในหนี้เงินเท่านั้น ซึ่งสิทธิในหนี้เงินนั้นจะเป็นสิทธิที่มีอยู่แล้วก่อนหรือขณะทำสัญญาโอน (Existing Receivable) หรือสิทธิในหนี้เงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังทำสัญญาโอน (Future Receivable)

  โดยอนุสัญญาฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตไว้ใน ข้อ 8 (1) ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตสามารถกระทำได้หากมีการตกลงกัน โดยถือว่าหากระหว่างเข้าทำสัญญาโอนหนี้กันนั้นคู่สัญญาจะให้มีการโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตได้ก็ต้องมีการตกลงกันเอาไว้ในสัญญาที่ทำ

  ในขณะที่พิจารณาตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว (มาตรา 303 ถึง มาตรา 313) มิได้บัญญัติ เรื่อง การโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตไว้เลย

  มีเพียงแต่มาตรา 303 บัญญัติ ไว้ว่า “สิทธิเรียกร้องนั้น ท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้” นั้น ย่อมหมายความว่า หนี้ที่ใช้เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องนั้น จะต้องใช้เฉพาะระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้เดิมจะชำระให้คนอื่นไม่ได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนลูกหนี้เป็นการเฉพาะตัว ซึ่งหากเจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องนั้นไปแล้วจะทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ เนื่องจากไม่อาจบังคับให้เจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนตามหน้าที่ที่มีอยู่ได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เป็นสิทธิส่วนตัวของเจ้าหนี้โดยแท้ที่ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนนี้เท่านั้นจะชำระหนี้ให้กับคนอื่นไม่ได้

    นอกจากนี้ มาตรา 303 จะต้องอาศัยการตีความกฎหมาย และดุลพินิจของศาลประกอบว่าสิทธิเรียกร้องใดสามารถโอนกันได้บ้าง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นนั้น    พบว่า มีแนวคำพิพากษาฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ว่า “การโอนสิทธิเรียกร้องที่จะมีในอนาคตย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303” แต่สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่จะมีในอนาคตนั้นจะต้องแน่นอนและมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนจึงจะโอนได้[7] ซึ่ง    ตรงกันข้ามกับอนุสัญญาฯ การโอนสิทธิเรียกร้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในแต่ละประเภท  ของธุรกรรมนั้น สามารถกระทำได้ แม้ไม่มีมูลหนี้ หรือแม้เป็นแค่ความคาดหวังว่า จะได้กำไรในการทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สามารถโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตกันได้แล้ว

   เห็นว่า การที่ มาตรา 303 บัญญัติไว้ว่า “สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้” หากพิจารณาในเรื่องการทำการค้า การทำธุรกรรม หรือหนี้ทางการค้าที่ต้องอาศัยการโอนสิทธิเรียกร้องที่ต้องการความคล่องตัวแล้ว ผู้ศึกษาเห็นว่า ข้อกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ อาจจะไม่เหมาะสมต่อการทำการค้าและบริการธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เพราะการทำการค้าบางอย่างจะต้องอาศัยการโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตเป็น   ตัวช่วยในการประกอบธุรกรรมนั้น ๆ เช่น การโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตของสัญญา  แฟ็คเตอริ่งตามหลักสากลมิสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการโอนหนี้ในอนาคตได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำการค้าระหว่างประเทศนั้นเอง

    จากหลักการดังกล่าวมานี้ จึงมีข้อพิจารณาว่า เมื่อมีการทำสัญญาการค้าใด   ก็ตาม หากคู่กรณีมีการโอนหนี้ทางการค้าในอนาคตกัน สามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งหนี้ทางการค้าในอนาคตนั้น กฎหมายถือว่าหนี้นั้นยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถทำการโอนกันได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 303 ที่สภาพแห่งสิทธินั้นเองไม่เปิดช่องให้กระทำได้

    เมื่อมองด้านสภาพธุรกิจทางการค้าแล้ว มีหลายธุรกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมมีเงินทุนเพื่อมาใช้ประกอบธุรกิจ ในชั้นนี้ ขอยกตัวอย่าง สัญญาธุรกิจแฟ็คเตอริ่งซึ่งกำลังมีบทบาททางด้านการค้าที่สำคัญมากในปัจจุบัน เห็นได้ว่า โดยปกติของการทำแฟ็คเตอริ่งแล้วการโอนหนี้ทางการค้าในอนาคตสามารถกระทำได้ เพราะคู่สัญญาไม่ต้องเสียเวลามาทำสัญญาซื้อขายหนี้กันหลายครั้ง เป็นการเพิ่มความสะดวกในการทำสัญญาของทั้งสองฝ่าย

    ดังนั้น เพื่อปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศที่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจแฟ็คเตอริ่งและหรือธุรกรรมอื่น ๆ ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติทางการค้าสากล การมีบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อรองรับการโอนหนี้ทางการค้าในอนาคตก็ควรจะมีขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นในสัญญาที่ทำกันว่า สัญญาดังกล่าว เมื่อคู่สัญญาตกลงกันทำขึ้นแล้ว ข้อตกลงที่กำหนด   เอาไว้ในสัญญามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับว่าให้ทำกันได้ และอาจถือได้ว่าเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายด้วย อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจทางด้านการค้าสินค้า และการค้าบริการ โดยเฉพาะธุรกรรมทางด้านการเงินสอดคล้องกับหลักการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2549 นี้แล้ว เห็นควรจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการโอนหนี้ทางการค้าในอนาคตรองรับให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติสากลที่สามารถกระทำได้

    นอกจากนี้เห็นได้ว่า การกำหนดหลักการ เช่น ในอนุสัญญาฯ ที่ให้โอนหนี้ในอนาคตได้ การปรับใช้กฎหมายในอนุสัญญาฯ ย่อมเหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการทำการค้าระหว่างประเทศมากกว่าหลักการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในกรณีหากมีการโอนสิทธิเรียกร้องฯ ภายในประเทศรายใหญ่ที่เกี่ยวพันถึงสิทธิเรียกร้องภายในและระหว่างประเทศที่จะเกิดในอนาคต (A Bulk Domestic Assignment of Domestic and International Future Receivable) ซึ่งผู้เกี่ยวข้องไม่อาจกำหนดได้ว่า อนุสัญญาฯ จะใช้บังคับกับส่วนที่เป็นสิทธิเรียกร้องฯ ระหว่างประเทศหรือไม่ จะก่อให้เกิดปัญหาที่มาจากผลของความแตกต่างการอ้างสิทธิ (Implied Representations) ระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน รวมถึงฐานะทางกฎหมาย (Legal Position) ของลูกหนี้

   อย่างไรก็ดี การใช้บังคับหลักสิทธิดีกว่าภายใต้อนุสัญญาฯ นี้ จะไม่แตกต่างกัน เนื่องจากอนุสัญญาฯ ได้ครอบคลุมถึงความขัดแย้งทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องฯ ในประเทศ อันเป็นข้อดีของอนุสัญญา[8]

   ดังนั้น เห็นว่า หากประเทศไทยต้องการข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ฉบับนี้    หลักการโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตในอนุสัญญาฯ ย่อมจะเหมาะสมและเอื้อประโยชน์มากกว่าหลักการโอนสิทธิเรียกร้องของกฎหมายภายในที่มีอยู่ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด  


[1]โปรดดูประเภทของธุรกรรมเฉพาะ ในย่อหน้าที่สอง หัวข้อ 1.1.

[2]อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 2 (a).

[3]โปรดดูรายละเอียดในบทที่ 2 ในหัวข้อลักษณะสิทธิที่จะโอน.

[4]สำหรับคำว่า Refinancing หมายถึง การเปลี่ยนพันธบัตรหรือหุ้นใหม่แทนฉบับเก่า ซึ่งโดยปกติจะให้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลต่ำกว่า.

[5]วิลาวรรณ  มังคละธนะกุล, เรื่องเดิม, หน้า 14.

[6]อนุกรรมการดำเนินการจัดทำข้อเสนอการแยกคดีพาณิชย์ออกจากคดีแพ่ง, “แนวทางในการปรับปรุงระบบกฎหมายพาณิชย์และกระบวนการวิธีพิจารณาคดีพาณิชย์และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง,” เอกสารการประกอบสัมมนา, โรงแรมเซอราตัน จังหวัดเชียงใหม่, 28 สิงหาคม 2548.

[7]ฏีกาที่ 4306/2528.

[8]หนังสือตอบข้อหารือสำนักนโยบายการเงินในการพิจารณาอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในหนี้ทางการค้าระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยความอนุเคราะห์ของ นายบุญชัย  จรัญแสงสมบูรณ์ (ผู้อำนวยการ กลุ่มนโยบายระบบการเงินและระบบสถาบันการเงิน) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท