การประชุมอาจารย์คลินิกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ

                         การประชุมอาจารย์คลินิก ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ

                         การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ณ ห้องประชุมสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์คลินิกได้มีโอกาสนำเสนอประสบการณ์และเทคนิคการสอนภาคปฏิบัติ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์คลินิกด้วยกัน และนำไปสู่ Best practice ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) Best practice in clinical teaching และ 2) Best practice in fundamental nursing care teaching สรุปสาระการนำเสนอของอาจารย์มีดังนี้

                        

ประเด็น เรื่อง Best practice in clinical teaching

                         อาจารย์ผ่องศรี จิตมโนวรรณ  กล่าวถึงเทคนิคการจูงใจนักศึกษาเข้าสู่บทเรียน เพื่อให้นักศึกษาเกิดความสนใจและมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน โดยการเกริ่นนำเรื่องที่จะสอนด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน

                         อาจารย์โศภิต มิตรานันท์ กล่าวถึงกระบวนการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในการฝึกปฎิบัติ เริ่มตั้งแต่ 1) การเตรียมเอกสารประกอบการสอนต้องมีความละเอียดรอบคอบ เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้เป็นแนวทางในการเตรียมตัว 2) การเตรียมความรู้ในการขึ้นฝึกปฏิบัติ ควรมีการเตรียมความพร้อมเป็นรายบุคคล 3) บทบาทอาจารย์ประจำหอผู้ป่วยในการสอน ต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงให้นักศึกษาเข้ากับบุคลากรในหอผู้ป่วยได้ จัดประสบการณ์ให้นักศึกษาได้อย่างเหมาะสมกับสภาพหอผู้ป่วย สอนโดยใช้การสาธิตและประเมินโดยการสาธิตย้อนกลับ การสะท้อนคิดในเรื่องความรู้ ข้อบกพร่องสิ่งที่นักศึกษาปฏิบัติ 4) การเซ็นสมุดประสบการณ์ ควรมีการซักถามความรู้กับประสบการณ์ที่ได้ เพื่อประเมินว่านักศึกษาได้เรียนรู้จริงหรือไม่ มีประเด็นอะไรที่อาจารย์ต้องเพิ่มเติมให้นักศึกษา และ 5) ควรมีการสอดแทรกการมีคุณธรรม จริยธรรม มารยาท ในขณะฝึกปฏิบัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณธรรมที่ดีของพยาบาล

                         อาจารย์วิภาดา ศรีมันทยามาศ  เน้นถึง 1) การพัฒนานักศึกษาให้รู้จักการสังเกตแนวปฏิบัติของหอผู้ป่วย การประเมินผู้ป่วย 2) การสอนในหอผู้ป่วยเฉพาะทาง อะไร คือ สิ่งที่นักศึกษาต้องรู้ 3) การใช้ประเด็นคำถามในการ Feedback ให้เพื่อนร่วมแสดงความคิดเห็น 4) นักศึกษาที่มีการเรียนรู้ช้า อาจารย์ต้องให้เวลา ให้กำลังใจ การเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ เพื่อให้นักศึกษาได้ทบทวนความรู้เดิมและเพิ่มเติมประสบการณ์ใหม่

                         อาจารย์พรสวรรค์ เชื้อเจ็ดตน กล่าวถึง 1) การให้กำลังใจและการให้ความมั่นใจแก่นักศึกษา 2) การให้ประสบการณ์นักศึกษาโดยเน้นการพัฒนาความรู้และเพิ่มพูนทักษะตาม requirement 3) อาจารย์ต้องมีความพร้อมในการแก้ปัญหาของนักศึกษา 4) อาจารย์ต้องมีวิธีการฝึกนักศึกษาในการคิดวิเคราะห์หาสาเหตุแก้ปัญหาที่เกิดเฉพาะหน้าได้ และ 5) อาจารย์ต้องไวต่อปัจจัย หรือ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับนักศึกษาขณะฝึกปฏิบัติงาน

                         อาจารย์วีระกิต์ เกียรติเจริญสุข เน้นเรื่อง 1) การสร้างสัมพันธภาพระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา นักศึกษากับบุคลากรในหอผู้ป่วย และอาจารย์กับบุคลากรในหอผู้ป่วย มีความสำคัญ 2) อาจารย์ควรสอนนักศึกษาให้มีการบูรณาการการประเมินผู้ป่วยและการปฏิบัติการพยาบาลเข้าด้วยกัน เช่น การเช็ดตัวผู้ป่วยเป็นการพยาบาลที่สามารถประเมินผู้ป่วยได้พร้อมกัน และ 3) อาจารย์ต้องปกป้องอันตรายที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา

                         อาจารย์สถิตย์ วงศ์สุรประกิต กล่าวถึง 1) การเป็นตัวแบบทางด้านวิชาการ (idol) โดยการกระจายความรู้ทางวิชาการไปสู่บุคลากรในหอผู้ป่วย 2) เน้นให้นักศึกษานำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน 3) อาจารย์ใช้เทคนิคการ Try and error เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ในบางเรื่อง 4) อาจารย์ควรส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาต่างสถาบันที่มาฝึกปฏิบัติในแหล่งฝึกเดียวกัน 5) อาจารย์ต้องมีความรู้ในวิวัฒนาการของวิชาชีพ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของวิชาชีพ

                         อาจารย์พงษ์ภัทร์ รัตนสุวรรณ เน้นเรื่อง 1) การสร้างสิ่งแวดล้อมในหอผู้ป่วยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา ตั้งแต่ในการนำนักศึกษาขึ้นฝึกในวันแรก เช่น อาจารย์ต้องไม่ทำให้นักศึกษาตกใจหรือตื่นกลัว อาจารย์ควรมีความเอื้ออาทรต่อนักศึกษา 2) สัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักศึกษากับอาจารย์จะทำให้บรรยากาศในการเรียนการสอนผ่อนคลาย ช่วยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ได้ดี

                         อาจารย์ภาวดี วิมลพันธุ์ เพิ่มเติม 1) อาจารย์ควรเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านวิชาการและด้านวิชาชีพ 2) อาจารย์ต้องเป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาได้ 3) อาจารย์ต้องใจกว้างและต้องมีการพัฒนาตนเอง 4)อาจารย์ควรทำความเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของนักศึกษา และจัดประสบการณ์ตามวัตถุประสงค์วิชา และ 4) อาจารย์ต้องมีความจริงใจและเอื้ออาทรต่อนักศึกษา

                         อาจารย์ทัศนีย์วรรณ กันทากาศ เพิ่มเติม 1) การสร้างบรรยากาศเชิงวิชาการในหอผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ด้านวิชาการระหว่างอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรในหอผู้ป่วย และ 2) การเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักศึกษา เช่น ความตรงต่อเวลา เนื่องจากนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่อาจารย์แสดงออก หรือ ปฏิบัติ

                         อาจารย์ปรางวลี อนุภาพวิเศษกุล เน้นเรื่อง 1) การเตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนขึ้นฝึกปฏิบัติ ทั้งด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ควรมีการฝึกปฏิบัติที่ห้อง LRC ก่อน 2) อาจารย์ที่สอนในคลินิกแต่ละท่านควรทำความเข้าใจในเรื่องการทำหัตถการณ์การพยาบาลให้ตรงกัน เพื่อป้องกันความสับสนของนักศึกษา และ 3) การประเมินผลโดยการออกข้อสอบที่เป็นสถานการณ์ จะฝึกทักษะในการวิเคราะห์ วางแผนของนักศึกษาได้

 

ประเด็น เรื่อง Best practice in fundamental nursing care teaching

                         ขอบเขตของการนำเสนอในหัวข้อ Best practice in fundamental nursing care teaching ครอบคลุมใน 3 ด้าน ได้แก่ การสอนในห้องเรียน การสอนในห้องปฏิบัติการ และการสอนปฏิบัติในแหล่งฝึก สรุปประเด็นจากการนำเสนอของอาจารย์แต่ละท่านได้ ดังนี้

                         อาจารย์โศภิต มิตรานันท์ กล่าวถึง 1) อาจารย์ต้องมีความยืดหยุ่นในการสอนการทำหัตถการณ์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พิจารณาโดยใช้เหตุผล โดยมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้นักศึกษาสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม 2) ระยะเวลาของการฝึกปฏิบัติวิชา fundamental of nursing ควรนานพอ อย่างน้อย 1 เดือน และฝึกติดต่อกันตลอดสัปดาห์ เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและเกิดทักษะ

                         อาจารย์สถิต วงศ์สุรประกิต เน้นเรื่องเนื้อหาในภาคทฤษฎี ควรมีเนื้อหาที่ครอบคลุมสามารถนำสู่การปฏิบัติได้และครอบคลุมถึงเรื่องการพยาบาลด้านจิตสังคมด้วย

                         อาจารย์ภาวดี วิมลพันธุ์ กล่าวถึงเรื่องการเพิ่มชั่วโมงการสอนภาคทฤษฎี เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการสอนเนื้อหาให้ครอบคลุม

                         รองศาสตราจารย์ ดร.สายพิณ เกษมกิจวัฒนา กล่าวถึงเรื่องการจัดทำคู่มือขนาดพกพา ที่มีเนื้อหาโดยสรุปที่จะต้องใช้ในการฝึกปฏิบัติ

                         อาจารย์ผ่องศรี จิตมโนวรรณ เน้นเรื่องขอบเขตการฝึกปฏิบัติการพยาบาลพื้นฐาน ควรครอบคลุมในเรื่องการดูแลความสุขสบายของผู้ป่วยด้วย

                         อาจารย์วีระกิต์ เกียรติเจริญสุข เน้นขอบเขตการปฏิบัติการพยาบาลพื้นฐาน ควรให้ความสำคัญกับการจัดการความไม่สุขสบายของผู้ป่วย ภาพลักษณ์ของผู้ป่วย และวิธีการปฏิบัติการพยาบาลที่มีหลายเทคนิคแต่หลักการเดียวกัน

                         อาจารย์วิภาดา ศรีมันทยามาศ เพิ่มเติมเรื่อง 1) การสอนทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏบัติในห้องปฏิบัติการ ควรมีการจัดสภาพการณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้ 2) อาจารย์ควรให้เหตุผลประกอบการสอน หรือ ขั้นตอนการทำหัตถการณ์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางในการคิดเชิงเหตุเชิงผลมากกว่าการจำ 3) การเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อควรบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการพยาบาลพื้นฐานด้วย

                         อาจารย์ทัศนีย์วรรณ กันทากาศ เน้นเรื่องความยืดหยุ่นของอาจารย์ในการสอนภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษาสามารถปรับตัวและเกิดการเรียนรู้ได้         

หมายเลขบันทึก: 359261เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการผลิตพยาบาล เพราะเป็นการบูรณาการความรู้ที่เรียนในภาคทฤษฎีทั้งหมดมาใช้ ครูภาคปฏิบัติจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยให้นักศึกษาสามารถดึงเอาความรู้ทั้งหมดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอนให้นักศึกษาเกิดกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ เกิดการสะท้อนคิดด้วยตนเองเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองเผชิญอยู่ โดยให้ครอบคลุมในทุกด้าน การสอนภาคปฏิบัติ ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้นักศึกษาทำงานเป็นเท่านั้น แต่เป็นการสร้างพยาบาลในรุ่นต่อๆ ไป สิ่งที่ครูต้องถามตนเองคือ "สังคมเราต้องการพยาบาลอย่างไรที่จะดูแลสุขภาพของประชาชนในอนาคต"

เป็นกำลังใจให้อาจารย์ทุกท่าน ที่จะสร้างสรรค์พยาบาลในอุดมคติในอนาคตนะค่ะ

^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท