แผนการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาจิตสาธารณะนักเรียน3


แผนการจัดกิจกรรมรู้ใช้รู้รักษา เพื่อให้นักเรียนมีจิตสาธารณะในการใช้สิ่งของส่วนรวมค่ะ

แผนการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาจิตสาธารณะนักเรียน

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6                 

เรื่อง  รู้ใช้ รู้รักษา                                         เวลา 1  ชั่วโมง

สาระสำคัญ 

                สิ่งของส่วนรวมต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น ไม้กวาด  ไม้ถูพื้น  คอมพิวเตอร์  ลูกบอล  หนังสือห้องสมุด ฯลฯ เป็นสิ่งที่นักเรียนจำเป็นจะต้องใช้ร่วมกัน หากนักเรียนรู้จักใช้และดูแลรักษาสิ่งของทรัพย์สมบัติของส่วนรวมต่าง ๆ เหล่านี้อย่างถูกวิธี และทะนุถนอมจะทำให้สามารถยืนอายุการใช้งาน ก่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งยังสามารถช่วยประหยัดทรัพยากรของโลกได้อีกทางหนึ่ง

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

นักเรียนเข้าใจเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องใช้และดูแลรักษาสิ่งของของส่วนรวม  หลีก เลี่ยงการใช้ หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อของส่วนรวม  ถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้  เคารพสิทธิไม่ปิดกั้นผู้อื่นในการใช้ของส่วนรวมร่วมกัน  และไม่ยึดครองของส่วนรวมมาเป็นของตนเอง

จุดประสงค์การเรียนรู้

  1. นักเรียนสามารถบอกเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องใช้และดูแลรักษาสิ่งของของส่วนรวมของโรงเรียนให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
  2. นักเรียนหลีกเลี่ยงการใช้ หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อของส่วนรวม
  3. นักเรียนเกิดความตระหนักและถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้
  4. นักเรียนเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมร่วมกัน  ไม่ปิดกั้นผู้อื่นในการใช้  และไม่ยึดครองของส่วนรวมมาเป็นของตนเอง

สาระการเรียนรู้

การใช้และการดูแลรักษาสิ่งของ  สมบัติของส่วนรวมประกอบไปด้วย 

  1. การใช้ของส่วนรวมอย่างถูกวิธี  ทะนุถนอม ประหยัด  ใช้แล้วเก็บไว้ที่เดิม
  2. หลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อของส่วนรวม
  3. ถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้
  4. เคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมร่วมกัน  ไม่ปิดกั้นผู้อื่นในการใช้  และไม่ยึดครองของส่วนรวมมาเป็นของตนเอง

กิจกรรมการเรียนรู้

ชั่วโมงที่ 1

ขั้นนำ

  1. ให้นักเรียนสำรวจสภาพโต๊ะ+เก้าอี้ของตนเอง เช่น ความสะอาด  รอยขีดเขียน  ความแข็งแรง เป็นต้น มีโต๊ะ+เก้าอี้ของใครบ้างที่สะอาดไม่มีร่องรอยใดๆเลย  (ไม่มี)  ทำไมโต๊ะ+เก้าอี้ของนักเรียนจึงสกปรก มีรอยขีดเขียนเต็มไปหมด ใครทำให้เป็นเช่นนั้น  นักเรียนอยากได้โต๊ะเก้าอี้ที่สะอาดไม่มีร่องรอยขีดเขียนและแข็งแรงหรือไม่   ควรทำอย่างไร

ขั้นดำเนินกิจกรรม

  1. ครู ให้นักเรียนอ่านกรณีศึกษาเรื่องไม้กวาดหายไปไหน ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายตอบคำถาม ถ้านักเรียนเป็น “แก้ว” จะเก็บไม้กวาดไม้ถูพื้นไว้ในที่เก็บหรือไม่    เอมและเพื่อนควรแอบไปเอาไม้กวาดไม้ถูพื้นจากห้องอื่นที่ไม่มีคนอยู่หรือไม่ เพราะอะไร  เหตุผลสำคัญที่เราต้องใช้ไม้กวาดไม้ถูพื้นอย่างทะนุถนอม 
  2. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปเหตุผลสำคัญที่เราต้องใช้ไม้กวาดไม้ถูพื้นอย่างทะนุถนอม  จากนั้นครูนำสนทนาถึงสิ่งของส่วนรวมต่าง ๆ ในโรงเรียนนอกจากโต๊ะ+เก้าอี้  ไม้กวาดไม้ถูพื้นแล้ว  ยังมีสิ่งอื่น ๆ ใดอีกบ้างที่ใช้ร่วมกันอีก ความคิดเห็นของนักเรียนต่อการใช้สิ่งของเหล่านั้น
  3. ครูแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มโดยการสุ่มนับ 1 - 4  แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมาจับฉลากชื่อสิ่งของส่วนรวมที่ต้องใช้ร่วมกันในโรงเรียน  1. กลุ่มอุปกรณ์ทำความสะอาด    2. กลุ่มอุปกรณ์กีฬา    3. กลุ่มคอมพิวเตอร์   4. กลุ่มอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้  กระดาน เป็นต้น  5. กลุ่มการใช้ห้องสมุดและหนังสือ   แต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังนี้  สภาพปัจจุบันของสิ่งของที่กลุ่มของตนเองจับฉลากได้  หลักปฏิบัติที่ถูกต้องในการใช้และการดูแลรักษาสิ่งของนี้  สิ่งที่นักเรียนจะสามารถปฏิบัติได้ในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งของส่วนรวมดังกล่าว   แล้วบันทึกลงในใบงาน   
  4. นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเสนอความคิดเห็นของกลุ่มหน้าชั้นเรียน

ขั้นสรุป

ครูและนักเรียนร่วมกันสรุป   เพื่อให้นักเรียนเกิดความตระหนัก  เห็นคุณค่าของการใช้ และการดูแลรักษาสิ่งของส่วนรวมในโรงเรียน  ถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้  ได้แก่ การใช้ของส่วนรวมอย่างถูกวิธี  ทะนุถนอม ประหยัด  ใช้แล้วเก็บไว้ที่เดิม หลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อของส่วนรวม เคารพสิทธิของผู้อื่นในการใช้ของส่วนรวม  ไม่ยึดครองของส่วนรวมมาเป็นของตนเอง  และวิธีปฏิบัติรวมถึงมารยาทในการใช้สิ่งของของส่วนรวมร่วมกัน 

สื่อการเรียนรู้

1.  โต๊ะ เก้าอี้  ไม้กวาด  ไม้ถูพื้น

2.  กรณีศึกษาเรื่องไม้กวาดหายไปไหน

4.  ใบงาน

การวัดผลประเมินผล

วิธีการวัด

  1. สังเกตการปฏิบัติกิจกรรมรายบุคคล 
  2. สังเกตการปฏิบัติงานกลุ่ม
  3. ตรวจการใบงาน

เครื่องมือวัด

  1. ใบงาน
  2. แบบประเมินการปฏิบัติกิจกรรมรายบุคคล 
  3. แบบประเมินการปฏิบัติงานกลุ่ม

เกณฑ์การประเมิน

  1. ผ่านการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมได้ระดับพอใช้ ขึ้นไป
  2. ผ่านการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่มได้ระดับพอใช้ ขึ้นไป
  3. ตอบคำถามในใบงานได้ถูกต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำคือ พอใช้ ขึ้นไป

เอกสารประกอบการจัดกิจกรรมแนะแนวเรื่อง  รู้ใช้ รู้รักษา

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

เรื่องไม้กวาดหายไปไหน

                เย็นวันจันทร์ในห้องเรียนชั้น ป.6/1  เวรประจำวันกำลังทำความสะอาดห้องเรียน  แก้วและเพื่อนเป็นเวรทำความสะอาดวันนี้  เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วต่างก็เตรียมตัวกลับบ้าน

               ต้น   :  พวกเราเก็บไม้กวาดไม้ถูพื้นให้เรียบร้อยก่อนกลับบ้านกันนะ

                แก้ว :  ทำไมล่ะก็เอาวางไว้ตรงนี้ก็ได้ เดี๋ยวเวรวันพรุ่งนี้ก็ต้องมาใช้อยู่ดี

                โบ  :  ไม่ได้นะ ของพวกนี้เป็นของห้องนะ ใช้เสร็จก็ต้องเก็บให้เรียบร้อยสิ

                ไม้  :  ใช่ ๆ วางไม่เป็นระเบียบแบบนี้ถ้าเกิดใครมาเหยียบหักหรือหายไปแล้วจะเอาไม้กวาดที่ไหนใช้กันล่ะ

                ต้น :  เอามาใส่กล่องเก็บไม้กวาดไม้ถูพื้นแบบนี้ดีกว่า เวลาหยิบมาใช้งานก็สะดวกไม่เสียง่าย  และไม่เกะกะด้วย

               แก้ว :  ได้ งั้นเดี๋ยวเราจะเก็บใส่กล่องไว้ จะได้สะดวกเวลาหยิบใช้

                วันต่อมาเป็นเวรของกลุ่มป่าน  เมื่อมาถึงห้องเรียนป่านและเพื่อนก็จะนำอุปกรณ์ทำความสะอาดไปใช้ก็พบว่าไม้กวาดไม้ถูพื้นถูกเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  ก็พูดคุยว่า

                ป่าน :  เวรเมื่อวานเก็บไม้กวาดไม้ถูพื้นได้เป็นระเบียบดีจังเลย ทำให้ใช้ได้สะดวก ไม่หาย 

                ปอ  :  ดีนะ แต่ว่าไม้กวาดมีน้อยแล้วก็เก่าด้วยทำไงจึงจะทำให้ใช้ได้นานๆล่ะ

               ปลา :  เราต้องใช้อย่างทะนุถนอมสิ อย่าทำรุนแรงเวลาไม่ใช้ก็ต้องวางหงายขึ้นจะได้ไม่พังเร็วได้ใช้ได้นาน ๆ

             แป้ง   :  ไม้ถูพื้นก็เหมือนกัน และไม่ควรโยนถ้าหักขึ้นมาเดี๋ยวจะไม่มีใช้

             ป่าน  :  ดีจ้ะเรามาช่วยกันทำเวรเถอะ ส่งไม้กวาดมาให้ฉันด้วยอย่าโยนนะ เราต้องใช้ของ

   พวกนี้อย่างระวังจะได้ใช้ไปนาน ๆ

                ครูอำนวยพร ผ่านมาเห็นเด็ก ๆ ใช้ไม้กวาดอย่างทะนุถนอมก็กล่าวชมเชยที่นักเรียนรู้จักใช้ของส่วนรวมอย่างทะนุถนอม จะได้มีของเหล่านี้ใช้ไปได้นาน ๆ เป็นการช่วยโรงเรียนประหยัดเงินและช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

                วันศุกร์เป็นเวรของกลุ่มเอมมาทำความสะอาดแต่ปรากฏว่าไม่มีทั้งไม้กวาดและไม้ถูพื้น

               เอม :  ไม่มีไม้กวาดไม้ถูพื้นวันนี้เราก็ไม่ต้องทำความสะอาดกัน กลับบ้านกันนะ

               อั้ม  :  ไม่ได้นะ ไม่มีเราก็ต้องหาแล้วทำความสะอาดเพราะวันนี้เป็นหน้าที่ของเรา

                อู๋  :  จะทำได้ยังไง ฉันว่ากลับบ้านดีกว่า ไม่ใช่ความผิดของเรานี่

              โอ๋   :  เราก็ไปยืมของห้องอื่นสิ

             เอม   :  ใครมาขโมยของพวกเราไป เราก็ไปขโมยของบ้างสิเพื่อเอามาแทนของเราที่หายไป

ที่มาของเรื่อง : ศิริ แคนสา.  การพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา : กรณีศึกษาโรงเรียนคอนสวรรค์.  วิทยานิพนธ์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  2551

ใบงานการปฏิบัติกิจกรรมแนะแนว  เรื่อง  รู้ใช้ รู้รักษา

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

รายชื่อสมาชิกในกลุ่ม

1................................................................................................................เลขที่ ................

2................................................................................................................เลขที่ ................

3................................................................................................................เลขที่ ................

4................................................................................................................เลขที่ ................

5................................................................................................................เลขที่ ................

6................................................................................................................เลขที่ ................

คำชี้แจง ให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายและตอบคำถามลงในช่องว่าง

1. ถ้านักเรียนเป็น “แก้ว” จะเก็บไม้กวาดไม้ถูพื้นไว้ในที่เก็บหรือไม่ เพราะเหตุใด     ..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

2.เอมและเพื่อนควรแอบไปเอาไม้กวาดไม้ถูพื้นจากห้องอื่นที่ไม่มีคนอยู่หรือไม่ เพราะอะไร ..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

3.สภาพปัจจุบันของสิ่งของที่กลุ่มของนักเรียนจับฉลากได้ 

.......................................................................................................................................................... ..........................................................................................................................................................

4. หลักปฏิบัติพฤติกรรมที่ถูกต้องในการใช้และการดูแลรักษาสิ่งของนี้ 

.......................................................................................................................................................... ..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

.......................................................................................................................................................... ..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

5.สิ่งที่นักเรียนสามารถปฏิบัติได้ในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งของส่วนรวมนี้

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

เกณฑ์การประเมินใบงานกิจกรรมแนะแนวจิตสาธารณะ

เรื่อง รู้ใช้ รู้รักษา

คำชี้แจง  ครูผู้สอนพิจารณาคำตอบของนักเรียนแต่ละข้อและให้คะแนนตามเกณฑ์ดังนี้

ให้ 3 คะแนน       ตอบคำถามได้ถูกต้อง ชัดเจน ตรงประเด็น มีเหตุผลประกอบที่เหมาะสม

ให้ 2 คะแนน       ตอบคำถามได้ถูกต้อง แต่ไม่ค่อยชัดเจนขาดประเด็นย่อยบางประเด็น

ให้ 1 คะแนน       ตอบคำถามส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน  ขาดประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญ

หมายเลขบันทึก: 358863เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2010 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท