ไปติดตามตรวจสอบประเมินผลและนิเทศการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของจังหวัดนนทบุรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการชุดที่ 1 เที่ยวนี้ พบว่าหลายโรงเรียนพยายามใช้ระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการบริหารของโรงเรียนให้เป็นองค์รวมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก ส่วนใหญ่ยังติดที่รูปแบบมากกว่าเนื้อหา ยังขาดความตระหนักและความพยายามในการพัฒนาตามระบบ QA อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
จึงมีข้อคิด ข้อเสนอแนะในการพัฒนาตามระบบ QA ที่เขากำหนดรูปแบบการประเมินว่า ต้องอิงเกณฑ์และอิงสถานศึกษา ให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนในการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(SBM)ให้เป็นระบบและต่อเนื่องพอสังเขป ดังนี้
1.โรงเรียนควรวิเคราะห์ผลการประเมินภายในสถานศึกษาและผลการประเมินภายนอกของ สมศ.แต่ละมาตรฐาน /ตัวชี้วัด ว่าตนเองยังอ่อนยังแก่ตรงไหน(จุดเด่น จุดด้อย) โดยเฉพาะข้อเสนอแนะในทุกประเด็น เป็นสารสนเทศของสภาพปัจจุบันปัญหา หรือปัญหาความต้องการจำเป็น(NA) สำหรับการปรับปรุงพัฒนา(Act)ในโอกาสต่อไป
2.จัดองค์กร โครงสร้าง และระบบบริหารภายในที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาทุกมาตรฐานให้เป็นองค์รวม กำหนดให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบ และมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมทุกมาตรฐานและตัวชี้วัดเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งระบบโดยมีแผนกลยุทธ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน
3.การวางแผนกลยุทธ์(หรือแผนพัฒนา/แผนปฏิบัติการตามรูปแบบที่โรงเรียนถนัด)นั้น จะต้องนำผลจากการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการจำเป็นในข้อที่ 1 มาเป็นฐานในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ทางเลือกในการแก้ปัญหา/พัฒนา และเลือกทางเลือกที่ถือว่าเป็นกลวิธีที่ดีที่สุด(best practice) เป็นกิจกรรม/งาน/โครงการ ที่มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และวิธีดำเนินการที่ชัดเจน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ยังอยู่ในขั้น Plan(P) ซึ่งต้องแสดงความตระหนัก(awareness)ให้เห็น
4.จากนั้นก็ลงมือดำเนินการ(Do) ซึ่งต้องมีระบบกำกับติดตาม สนับสนุนส่งเสริม ตรวจสอบ นิเทศ และประเมินผล เป็นระยะๆ ขั้นตอนนี้ต้องแสดงความพยายาม(attemp)ซึ่งโรงเรียนเรายังขาดระบบและข้อมูลตรงนี้ที่ชัดเจน ยังปล่อยให้ต่างคนต่างทำกันอย่างอิสระ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ผู้บริหารต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิด "แพลนแล้วก็นิ่ง" และไม่ให้สายเกินแก้ ถ้าการวางแผน/โครงการมีรายละเอียดครอบคลุมการกำกับติดตามฯก็จะทำให้การกำกับติดตามฯมีแนวดำเนินงานที่ชัดเจนด้วย
5.ขั้นประเมินผลการดำเนินงาน(Check) ขั้นนี้ก็สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งที่พบหลายแห่งยังให้ความสำคัญเฉพาะการจัดทำเอกสารสรุปรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการ บางแห่งมีการสรุปตามแบบที่กำหนดไว้หนึ่งโครงการหนึ่งหน้า ซึ่งไม่ระบุว่าบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายทีเป็นรูปธรรมอย่างไร แล้วนำมารวมเป็นเล่ม เป็นการประเมินสรุปรวม(Summative) ซึ่งไม่มีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์สู่การปรับปรุงพัฒนา(Act)แผนที่ต่อเนื่องได้ เพราะเรายังขาดความจริงจังในการดำเนินการตามขั้นตอนที่ 4 มาก่อน การตรวจสอบและการประเมินควรดำเนินการมาเป็นระยะๆ(formative) ไม่ใช่มาสรุปรวมครั้งเดียว และแม้แต่การสรุปรวมก็ต้องสามารถตอบได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้สามารถประเมินแบบอิงสถานศึกษาได้ว่า บรรลุหรือไม่บรรลุ รวมทั้งบอกเรื่องความตระหนัก และความพยายามได้ด้วย
นี่คือวัฒนธรรมคุณภาพตามวงจร PDCA ที่เราต้องช่วยกันดูแลให้เป็นระบบและต่อเนื่อง ถือเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการและวิจัยพัฒนาที่อยู่ในชีวิตจริง และควรค่าแก่การยกย่องอย่างยิ่ง...
หนูชอบอ่านงานวิชากรของอาจารย์ทำให้ได้รับความรู้อีกมากเลยค่ะ
ขอให้อาจารย์รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ จะได้เขียนบทความดีๆให้อ่าน
ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
มนัสวัณณ์ บ้านสมเด็จฯ
ขอบคุณครับที่ยังระลึกถึงกัน ตอนนี้ผมไม่ได้สอนที่บ้านสมเด็จแล้วครับ
ผมเป็น ศน.รุ่นน้อง ( หลายหลายรุ่น ) ของท่าน ศน.ธเนศ ได้มีโอกาสอ่านบทความของท่าน ศน. มีประโยชน์มากครับ...อยากให้บรรดา ท่าน ผอ.กลุ่มนิเทศฯ ( หน.หน่วย ศน. ) ในบางสพท. ได้พัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการบ้าง หลายเสียทั้ง สตรี และสตังค์....ครับท่าน ศน.
ขอบคุณในความเห็น เรื่องการพัฒนาตนเองเป็นหัวใจของการเป็น ศน. โดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่บริหาร(หัวหน้า) คงต้องมีภาวะผู้นำทางวิชาการอย่างยิ่ง จึงจะมีบารมี เป็นที่ภูมิใจและเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวเขต ชาวโรงเรียน และเพื่อน ศน. มีทักษะเชิงมนุษย์ และทักษะเชิงวิชาการที่กลมกลืนกันอย่างเป็นธรรมชาติครับ