จิตตปัญญาเวชศึกษา 133: ม.วลัยลักษณ์ ตอนสี่ "กรุณาอย่ามองฉันเป็นเพียงสารละลาย"


กรุณาอย่ามองฉันเป็นเพียงสารละลาย

กรุณาอย่ามองฉันเป็นเพียงสารละลาย

เงื่อนไขที่สำคัญสำหรับบทเรียนฐานใจก็คือ "การให้พื้นที่ปลอดภัย"

เพราะว่าใจคนเรานั้นบอบบาง และเชื่อมโยงกับตัวตน กับ self มาก เราจะมีแนวโน้มที่จะ "ปกป้อง" กันตัวเองไม่ให้รับบาดเจ็บพอๆกับหรือยิ่งไปกว่าการป้องกันตัวจากอันตรายทางกาย ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ "ใจ" ต้องการพื้นที่พิเศษ

มนุษย์เกิดมาเป็นสัตว์สังคม ทางกายภาพนั้นเราเป็น species สายพันธุ์ที่อ่อนแอมาก แมว หมา ลิง เสือ ฯลฯ ทันทีที่เกิดมาไม่กี่ชั่วโมงสามารถลุกขึ้นเดิน วิ่ง และในเวลาไม่กี่วัน-อาทิตย์ สามารถทำกิจกรรมออกล่า หาอาหารเลี้ยงตัวเองได้บ้าง มนุษย์นั้นใช้เวลาเป็นปีๆกว่าที่กายภาพของเรา และศักยภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร เติบโต ซ่อมแซม เรียนรู้ ใช้เวลานานมากกว่าสัตว์อื่นๆ แต่เรากลับถูกออกแบบมาให้เป็น "สัตว์สังคม" ที่สามารถดึงประโยชน์และความสามารถด้านนี้มาใช้ได้อย่างเต็มที่

มนุษย์จะหยิบยืมความสามารถที่ตนเองไม่มี หรือยังไม่มี มาจากคนรอบข้างเกือบตลอดเวลา ทำให้เรามีเวลาพอเพียงที่จะพัฒนาเฉพาะบางเรื่อง โดยอาศัยคนอื่นที่มีความสามารถเรื่องอื่นมาสนับสนุนเมื่อยามจำเป็นต้องใช้บางความรู้ ความสามารถที่ตนเองไม่ได้สนใจ หรือพึงพอใจที่จะมี ความจำเป็นด้านนี้ทำให้มนุษย์โดยทั่วไปจะกลัวการ "อยู่อย่างโดดเดี่ยว" มากที่สุด เมื่อจิตตกจากสาเหตุใดก็ตาม ความรู้สึกด้านลบที่มักจะอยู่ด้วยเสมอคือ "isolation (การแยกตนเองออกจากสมุหะ)" ห้องขังเดี่ยวจะถูกจัดเป็นห้องขังสำหรับโทษอุกฉกรรจ์ เพราะจะเป็นการทำให้เกิดความรู้สึกที่ทารุณ dehumanize ลดความเป็นมนุษย์ลงไปอย่างที่สุด

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งก็คือ มนุษย์มีแนวโน้มที่จะแสวงหา "การถูกยอมรับ" อยู่ตลอดเวลา ความเห็นของคนรอบๆข้าง ไม่ว่าจะรู้จักกันหรือไม่ จะสามารถส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด การรับรู้ของทุกคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ และเมื่อไรที่เรา "ถูกยอมรับ" เราก็จะเกิดความมั่นใจในตนเอง อบอุ่น สงบสุข สันติ ได้อย่างมากมายเช่นเดียวกัน

เมื่อเราผ่อนคลาย เราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราชอบที่สุด... ท่ามกลางผู้คน

เราโหยหาการสื่อสาร ความเข้าใจ การยอมรับ

มีเครื่องมืออันทรงพลังที่สุด.. คือ "การฟัง"

ความรู้สึก "ด้วยกัน" นั้น สวยงาม สงบ เหนือคำบรรยาย

จิตสงบ แม้อยู่ลำพังก็ไม่เหงา (alone but not lonely)

ความหมายของ "ด้วยกัน" นั้นไม่ใช่เฉพาะแค่กายภาพ มนุษย์มีสมองที่พิเศษพิศดาร ขนาดที่เราอยู่ตามลำพัง โดดเดี่ยว ก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกเหงา แต่ในทำนองกลับกัน บางครั้งในที่ที่แออัดยัดเยียด มีคนจำนวนมากรายล้อม เราก็สามารถเหงาได้สุดๆ เพราะ "ด้วยกัน" นั้น ไม่ใช่กายภาพ แต่เป็นสภาวะของจิตอันอบอุ่น มีที่พึ่งพิง มีที่ยึดเหนี่ยว และมีสังฆะของจิตเป็นพลัง

วาทะแห่ง workshop "กรุณาอย่ามองฉันเป็นเพียงสารละลาย"

ในการสะท้่อนเรื่องราวของความสุข และการรับรู้ มีน้องคนหนึ่งได้กล่าวประโยคขึ้นมาประโยคหนึ่ง ซึ่งโดนใจหลายๆคน (รวมทั้งกระบวนกรทุกคนด้วย) คือน้องเขาพูดว่า "กรุณาอย่ามองฉันเป็นเพียงแค่สารละลาย ฉันก็อยากจะเป็นของแข็ง มีตัวตน เพราะฉันมีตัวตน อยากอยู่ในสายตา ไม่ได้ถูกมองทะลุไป เหมือนอากาศธาตุ"

เป็นวาทะเรียบง่าย แต่ได้ภาพพจน์ ได้จินตนาการ และเหนืออื่นใด "ได้ความรู้สึก" อย่างแรง

"มองฉันเป็นสารละลาย" หมายความว่าอย่างไร?

สารละลายนั้น ประกอบด้วยตัวทำละลาย และตัวถูกละลาย เช่น น้ำเกลือ มีน้ำเป็นตัวทำละลาย มีเกร็ดเกลือเป็นตัวถูกละลาย ละลายเสร็จก็เป็นสารละลายใสไม่มีสี บอกไม่ได้ มองไม่เห็นเลยว่าในถ้วยนั้นมีเกลืออยู่หรือไม่ การมองคนเป็นสารละลายนั้นก็คือทำเหมือนไม่เห็น หรือไม่ให้การรับรู้ตัวตน มันจะรู้สึกบาดเจ็บมาก เพราะคนเราต้องการโหยหาการถูกยอมรับ หรืออย่างน้อย ก็รับรู้ว่าฉันนั่งอยู่ตรงนี้ ฉันมีอยู่ ฉันมีตัวตนนะ

เมื่อได้ยินคำเพรียกพร้องร้องหา "ความมีตัวตน" ออกมาดังๆ จึงเป็นเสมือนระฆังเตือนว่าความทุกข์ที่สุดกำลังก่อหวอด ก่อร่างสร้างตัวอยู่ในดวงวิญญาณหนึ่ง ท่ามกลางผู้คน ในหมู่แวดล้อมของคนที่เรียกตนเองว่า "เพื่อน" มันเป็นความประชดประชันที่เจ็บปวด และจริงแท้

เมื่อไรจึงเกิดปรากฏการณ์นี้ มีสามกรณี

  1. มีคนทำตัวเป็นผู้ทำละลาย หรือ
  2. มีคนทำตัวเป็นตัวถูกละลาย หรือ
  3. มีทั้งคนทำตัวเป็นผู้ทำละลายและผู้ถูกละลาย

ทั้งสามแบบจะลงเอยเหมือนกัน คือ คนบางคนสูญเสีย "การมีอยู่" ไป และเกิดความทุกข์

"ทำตัวเป็นผู้ทำละลาย" หมายความว่า เรากินพื้นที่คนส่วนใหญ่ ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าเรื่องของ "ฉัน" เป็นสิ่งสำคัญที่สุด จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จะเกิดอาการ "กินพื้นที่"​ ขึ้นมาทันที ต้องทำของฉันก่อน จะต้องฟังฉันก่อน เมื่อ "ฉัน" ใหญ่ขนาดนั้น ก็จะไม่เหลือพื้นที่ให้คนอื่นๆเลย คนที่มี self aggrandization หรือสร้างอัตตาสูงใหญ่มโหฬารจะเป็นอาการนี้ได้เยอะ

เวลามีคนไข้ไปหาหมอ หมอซักประวัติ ตรวจร่างกายเสร็จ ให้การวินิจฉัย แล้วก็เริ่มวางแผนการรักษา ปรากฏว่าพอคนไข้ฟังเสร็จ ก็บอกปฏิเสธการรักษา หมอได้ยินดังนั้นก็รีบอธิบายเพิ่ม เพราะคิดว่าตนเองยังอธิบายไม่พอ กลัวว่าคนไข่้จะฟ้อง หรือมีปัญหา ฯลฯ  ซึ่งในความเป็นจริง การปฏิเสธการรักษาอาจจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับหมอเลย แต่มีเหตุผลอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านอารมณ์ความรู้สึก ของคนไข้มาเป็นตัวผลักดันหลักๆ การที่เรารีบอธิบายตามหลักวิชาไปนั้น เป็นเพราะเรา focus ที่ตัวเรา มาตรฐานของเรา ไม่ได้กังวลหรือสนใจในความรู้สึกของคนไข้ ซึ่ง ณ ขณะนั้น ส่วนใหญ่แล้วคนไข้อุตส่าห์มาหาเราเพราะมีทุกข์ เมื่อฟังเราเสร็จแล้วปฏิเสธการรักษา เราคิดว่าทุกข์จะมากขึ้นหรือจะน้อยลง?

ถ้าหากทุกข์มากขึ้น และเรายังไม่เข้าใจว่าทำไมคนไข้จึงปฏิเสธการรักษา ทางที่ดี ก่อนจะเริ่มอธิบาย เราอาจจะควรพยายามทำความเข้าใจ และค้นหาอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดของคนไข่้เสียก่อนที่จะเริ่มอธิบายหลักวิชาของเรา เหตุผลบางอย่าง อารมณ์บางประการของคนไข้ อาจจะเป็นเรื่องที่เราเองก็นึกไม่ถึงก็ได้ ในที่นี้ถ้าเราเอาความคิดของเราเป็นหลัก เราอาจจะเผลอทำตัวเป็นตัวทำละลายไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

"ทำตัวเป็นตัวถูกละลาย" บางทีก็ไม่จำเป็นต้องมีคนที่เป็นตัวทำละลายเสมอไป คนที่ไม่ค่อยมี self confidence กลัว ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง ไม่มั่นใจ ก็อาจจะมีแนวโน้มทำตัวกลมกลืนไปกับ background จนคนมองไม่เห็นก็เป็นไปได้ ในโลกแห่งการขาดความเชื่อมั่น ก็เป็นโลกที่นำมาซึ่งความทุกข์ เพราะเราขาดสิ่งที่จะเป็นแรงผลักดัน หาสิ่งที่คนอื่นจะยอมรับในตัวเองไม่ได้ วัยรุ่นจะเป็นวัยที่เปราะบาง บางทีก็มองโลกในแง่ลบ ติดลบ บางคนจึงหาทางที่จะเรียกร้องความสนใจ หรือการมีตัวตนด้วยการทำตัวแปลกๆในสังคม หรือเลยเถิดไปถึงกับการทำตัว anti-social ฝืนสังคม แหกกฏ เพื่อเป็นการตะโกน "การมีอยู่" ของเขาให้คนอื่นๆได้รับรู้ มองเห็น และได้ยิน

ทั้งสองประเภทสามารถเป็นได้ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว บางคนก็กินพื้นที่คนอื่นอย่างไม่ตั้งใจ หรือยอมหลอมละลายไปกับพื้นที่ด้านหลังไปอย่างปริยาย แต่ก็มีคนที่จงใจกระทำด้วย  สิ่งที่เราควรทำบ่อยๆก็คือการสะท้อนตนเอง ว่า ณ​ขณะนี้ ฉันกำลังกินพื้นที่คนอื่นอยู่หรือไม่ ณ ขณะนี้ ฉันกำลังท้อแท้สิ้นหวัง และละลายตัวเองไปสู่ความ non-existence การไม่มีตัวตนหรือไม่

 

หมายเลขบันทึก: 358005เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยู่ๆผมก็นึกถึงคำว่า " โดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน " เพื่อนๆชอบพูดสมัยทำกิจกรรมนักศึกษา

มีพระที่เคารพท่านสอนว่าโดยแท้จริงมนุษย์รักตัวเองมากที่สุด จึงอยากให้เป็นที่รักและยอมรับทำให้เป็นเหตุเกิดพฤติกรรมต่างๆ

ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับเรื่องสารละลายที่อาจารย์เล่าหรือเปล่าค่ะ

เข้ามาอ่านและได้ความรู้ดีมากๆจากบล็อกอาจารย์สกลค่ะ

สวัสดีครับพี่อัจฉรา

บางทีอาจจะเป็นอาการแสดงของความไม่เข้าใจในเรื่อง "ความรู้สึก" ของคนก็ได้ครับ

เดี๋ยวนี้ถ้าเรามีทักษะในการสะท้อน ใคร่ครวญ ไตร่ตรองลดลง เราก็อาจจะต้องหันไปหาอะไรที่ "จับต้องได้" โดยสฬายตนะหยาบๆของเราแทน ดังนั้น sense of self appreciation นี้มันอาจจะต้องใช้โยนิโสนมนสิการมาจับ ถ้าจับไม่ได้ ก็ไปหาอย่างอื่น เช่น การ vote การฟังคำชมเชย หรืออาศัยกระจกจากคนรอบข้างมาบอกว่าเราเป็นเช่นไร เราเป็นยังไง

ความรู้สึกว่าตนเองเป็นสารละลายนั้น จะว่าไปก็เป็นการพึ่งพาการรับรู้ของ "ผู้อื่น" เข้ามาเสริม self ของเราเอง เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะในวัยที่เรากำลังตื่นเพริดกับประสาทสัมผัสที่เชื่อมภายนอกกับภายใน ต่อเมื่อเราเติบโตขึ้น เริ่มรู้จัก "โลกภายใน" มากขึ้น เราก็จะสามารถใช้กระจกภายในและกระจกภายนอกทั้งคู่

มนุษย์รักตนเองมาก แต่ก็ขึ้นกับว่า หลักฐานนั้น จะใช้จากกระจกภายนอก หรือกระจกภายในมากกว่ากัน ถ้าพึ่งภายนอกมากหน่อย ก็อาจจะลำบาก เพราะเราไปบังคับคนข้างนอกไม่ได้ อาจจะต้องใช้วิธีเขาชอบอะไร เราก็ต้องวิ่งตาม ตัดผมทรงนั้นๆ แต่งตัวแบบนี้ๆ พอเขาเปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยนตาม ถ้าพึ่งภายใน ก็ต้องพยายามทำให้ภายในของเรา "มีอะไร"​ ให้พึ่ง ก็ต้องมีประสบการณ์ ได้ทำอะไรมาก่อน ไม่งั้นมันก็จะมีแต่คำพูด ความคิด ไม่มีการกระทำ

ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมเยียนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท