โรดแม็ป "แผนการปรองดอง 5 ข้อ" องค์ประกอบที่ 2 “การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่”........สร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาคในสังคมทำอย่างไร


การประชุมเชิงปฏิบัติการ "ระบบจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ" วันที่ 7 - 8 พ.ค. 53 ที่เชียงใหม่ จากการพูดคุยถึง โรดแม็ป” แผนการปรองดอง 5 ข้อนั้น  ดูเวทีจะให้ความสำคัญกับกระบวนการการปรองดองข้อที่ 2 เป็นพิเศษครับ คือหัวข้อ “การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่”  เพื่อสร้างความเป็นธรรม  ความเสมอภาคในสังคม  สวัสดิการสังคม การศึกษา สาธารณสุข อาชีพ  การมีรายได้ ที่ทำกิน หนี้สินอย่างเป็นรูปธรรม ตามคำแถลงของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย  ถึงการแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอยู่กับบ้านเมืองของเราในปัจจุบัน เมื่อวันที่3 พ.ค. เวลา 21.15 น. ณ ศาลากิตติสุข กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ดังความละเอียดของเรื่องนี้ว่า

องค์ประกอบที่ 2 ของกระบวนการของการปรองดอง คือ การปฏิรูปประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ข้อเท็จจริงมีรากฐานมาจากความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคม ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนที่มาร่วมชุมนุมมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับโอกาส ถูกรังแกจากผู้ที่มีอำนาจ  ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราปล่อยให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ เงื่อนไขเหล่านี้จะถูกดึงเข้ามา และสามารถสร้างความขัดแย้ง ไม่ใช่เฉพาะในทางการเมือง ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจะได้รับการดูแลด้วยระบบสวัสดิการที่ดี และมีโอกาสเท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุข มีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิต รวมไปถึงการที่พี่น้องประชาชนที่มีความทุกข์ร้อนเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่มีที่ทำกิน มีหนี้สินท่วมตัว หรือคนที่มีความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในทางใดทางหนึ่งนั้น จะต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ

ครับ หากคนอย่างนายกได้มีการแถลงเช่นนี้ด้วยความจริงใจแล้ว  นายกของประเทศไทยคนนั้น จะชื่ออะไร จะสังกัดพรรคไหน ชื่นชอบสีอะไร  จะมีเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไร จะมือเปื้อนเลือดหรือขาวสะอาด  ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องที่คนไทยเราทุกคนควรให้ความร่วมมือครับ มิใช่เพื่อนายกหากแต่เพื่อคนไทยทุกคนครับ

ทั้งนี้สำหรับการปฎิรูปภาคสังคม ตามกระบวนการการปรองดองข้อที่ 2 นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ เป็นวาระพิเศษ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 12-13 พ.ค. 53  เพื่อรวบรวมปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทั้งหมด โดยคณะกรรมการชุดนี้มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธานครับ ในวันนั้นจะมีตัวแทนจากภาคชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคีการพัฒนาด้านสังคมเข้าร่วมประชุมกันอย่างกว้างขวางครับ

ซึ่งการประชุมในวันนั้นคาดว่าแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง จะเป็นหัวข้อสำคัญของข้อเสนอการปฎิรูปภาคสังคม ตามกระบวนการการปรองดองข้อที่ 2  ทั้งนี้จังหวัดบูรณาการ และ จังหวัดจัดการตนเองนี้ ที่ประชุมเห็นว่า เป็นคำสองคำที่ไม่เหมือนซะทีเดียว /เชียงใหม่เคยมีความพยายามศึกษาการทำเป็นจังหวัดบูรณาการโดยความร่วมมือกับภาคีวิชาการ. แต่ยังไม่เกิดผลเพราะกระบวนการทำงานพยายามเชื่อมประสานแผนของจังหวัดและแผนของชุมชน  ประชาสังคมร่วมกันแต่การบูรณาการขึ้นอยู่กับตัวผู้ว่าฯ ผู้ว่ายังมีอำนาจสูงสุดถ้าเปลี่ยนผู้ว่ากระบวนการก็ไม่ต่อเนื่อง  ต้องเริ่มต้นใหม่ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจะเอาอย่างไร ดังนั้น ตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง อำนาจต้องอยู่กับท้องถิ่น มิใช่ผู้ว่าคนเดียว  เป็นทั้งอำนาจที่เป็นความรู้ และอำนาจเชิงอำนาจ(การบริหารจัดการ) จังหวัดจัดการตนเองต้องมีสองเรื่องนี้ โดยเฉพาะอำนาจเชิงอำนาจ(การบริหารจัดการ) เข้ามาโดยที่อำนาจเชิงความรู้ยังคงมีอยู่ชุมชนท้องถิ่น

การประชุมในช่วงบ่าย...เป็นการประชุมกลุ่มย่อยแบบสุนทรียสนทนาครับ  ผมเป็นผู้ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่ง   ผลการประชุมกลุ่มย่อยว่าด้วย โรดแม็ป “จังหวัดจัดการตัวเอง”และ "ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง" มีกระบวนการ/เครื่องมือนำทางอะไรบ้าง        

ความหมายการจัดการตนเอง?

  • การจัดการตนเอง คือ การบริหารจัดการร่วมกันทุกเรื่อง  การจัดการร่วมกับท้องถิ่นเพื่อการพึ่งตนเอง  การปกครองและการบริหารจัดการตนเอง (แผนชีวิตชุมชน) เศรษฐกิจชุมชน : การอยู่การกิน  การศึกษา : ที่เกิดจากวิถีชุมชนแล้วผสมผสานกับภายนอก วัฒนธรรม
  • การจัดการร่วมกันทุกภาคส่วน คือ ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ และภาคีการพัฒนา
  • การจัดการตนเองคือ บริหารจัดการภายใต้การเชื่อมปัจจัยที่อยู่รอบตัวเองเข้ามาสนับสนุน หรือการพึ่งตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ
  • การจัดการตนเอง คือ ชุมชนจัดการตนเองที่ไม่ถูกกระทำจากภายนอก (เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา) แม่ทาเด่นเรื่องเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ฯลฯ การทำให้ชุมชนไม่ตกภายใต้เงื่อนไขภายนอก
  • การจัดการตนเอง คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของตนเองจากทุนสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่  รวมถึงการสร้างสำนึกร่วม เพื่อสามารถปรับตัวได้ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

 เป้าหมาย/วิธีการจัดการพลังการขับเคลื่อนการจัดการตัวเองของขบวนชุมชนท้องถิ่น

  •  การเปลี่ยนวิธีคิด  “การเชื่อมั่นในพลังชุมชนท้องถิ่น”
  • ความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง
  • โครงสร้างการทำงานแบบ “รวมหมู่” / ความร่วมมือ เครือข่าย
  • ความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในพลังแห่งตน พลังของท้องถิ่น
  • มีกระบวนการทางความรู้การเรียนรู้ของตนเอง พร้อมที่แลกเปลี่ยนกับองค์กรภายนอก
  • มีอำนาจในการตัดสินใจ “รวมหมู่” ร่วมกัน
  • คุณค่าความหมายของชุมชนท้องถิ่น
  • โครงสร้างการจัดสรรงบประมาณแนวใหม่
  • ประชาธิปไตยแบบชุมชนท้องถิ่นบนฐานวิถีและวัฒนธรรม
  • การติดตามตรวจสอบร่วมถ่วงดุล/การสร้างเงื่อนไข

กระบวนการ/เครื่องมือ/เงื่อนไขการขับเคลื่อนการจัดการตนเอง

  1. ตั้งมั่น เชื่อมั่นและศรัทธา การสร้างคน-สำนึกร่วมบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น
  2. กระบวนชุมชนเข้มแข็ง
  3. การจัดการความรู้ชุมชนสู่การพัฒนา บนฐานพื้นที่รูปธรรม(พื้นที่เชิงปฏิบัติการ) การโยงการเรียนรู้เป็นเครือข่ายการเรียนรู้(ความรู้จริง-ทฤษฎี) สู่การเคลื่อนไหวทางสังคม
  4. การสื่อสารสังคม เคลื่อนไหวทางสังคม
  5. การสื่อสารสาธารณะเชื่อมพลังทุกภาคส่วน “สามัคคีประชาชาติ”
  6. การบริหารโครงสร้าง – การจัดการโครงสร้างแบบรวมหมู่เชิงสถาบัน(มีกติการ่วมที่ได้รับการยอมรับ)กลไกการขับเคลื่อน/โยงคน “คิดร่วม” กระบวนการการสร้างความสัมพันธ์เชิงสถาบันที่มีความสมดุล/ปรับเปลี่ยน/ปรับตัว
  7. ภาคีที่สนับสนุนมีบทบาทในการสนับสนุน เรียนรู้และเชื่อมโยงร่วมชุมชน การสร้างพื้นที่รูปธรรม /เชื่อม สร้าง ขยายความรู้ /การผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ/มีส่วนร่วมสนับสนุนในโครงสร้างการบริหารอย่างมีส่วนร่วม/ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งอย่างมีส่วนร่วม
หมายเลขบันทึก: 357587เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2010 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ดูดูก็ไม่แตกต่างไปจากเวทีสาธารณะของคุณ นาฏยา แวววีรคุปต์
คือได้แต่ตีฝีปากของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มาจิบน้ำชาพบกันตามวาระ
แล้วก็เลิกรากันไป ไม่ต่างกับกลุ่มสมัชชาประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด

เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ เห็นพูดกันมาทุกยุคสมัย
พอมีเหตุการณ์ก็ตื่นเต้นกันที เหมือนไฟไหม้ฟาง

"กระบวนการของการปรองดอง คือ การปฏิรูปประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น" ที่ยกมานี้
มันไม่เกี่ยวกับต้นเหตุของการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่ราชประสงค์
การชุมนุมที่ราชประสงค์เกิดขึ้นได้จากความต้องการของทักษิณ

การที่ชาวบ้านมานั่งชุมนุมที่ราชประสงค์นั้น เขาไม่รู้เรื่องกรณีการปฏิรูปประเทศ

กลุ่มประชาสังคมภาคพลเมืองตื่นเต้นคิดกันไปเอง

 

สวัสดีครับคุณมนัสนันท์P

ครับผมว่าแนวคิดจากเวทีที่เชียงใหม่ มีหลายอย่างคล้ายแนวคิด“สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย”  ซึ่งเวทีนี้ทราบมาว่าจะมีการจัดเวทีแกนนำจากทั่วประเทศทุกภาคส่วน ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ ณ ห้อง LT1 (จิ๊ด เศรษฐบุตร) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  งานนี้ทราบมาว่าเป็นการเปิดตัว “ สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” ด้วย   เวทีนี้ดำเนินรายการโดย นาตยา แวววีรคุปต์ ครับ

คุณมนัสนันท์ครับ การช่วยงานบ้านเมือง  คงต้องช่วยกันแบกหาม  ปรึกษาหารือกันไป  อาจจะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในเร็ววัน หากแต่ได้เรียนรู้ร่วมกันครับ

ขอบคุณครับ

อรุณสวัสดิ์วันพระค่ะท่านเทพฯ  

การเมืองใหม่ เป็นนิมิตหมายและจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จะดีหรือไม่อย่างไร ก็คงขึ้นอยู่กับ เราคนไทยทุกคนค่ะ ...  

การเมืองใหม่ที่ใสสะอาด บนพื้นฐานความถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ชาติส่วนรวม อย่างยั่งยืน อาจต้องใช้เวลานานๆๆ กว่าจะเหมาะสมลงตัว  

เพราะปัญหาสะสมฝังรากลึกมานานหลายทศวรรษ เราจำเป็นต้องปรับ เริ่มยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี พร้อมๆ กับการฟื้นคืน ชาตินิยมไทยไปทุกระบบด้วยค่ะ  

ต่อไปการเมืองควรเป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย เปิดใจ ในทุกวงการเสมือนเป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งในชีวิต จะช่วยลดปัญหาแตกต่าง 

... จะรอติดตามผลการประชุมอาทิตย์นี้นะคะ ขอบพระคุณสำหรับความคืบหน้าค่ะ ;)

 

 

 

 

 

ขอบคุณครับคุณปูP

“...ตามความรู้สึกของผม สถานการณ์บ้านเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่เรื่องของคู่กรณีที่ขัดแย้งช่วงชิงอำนาจกันเท่านั้น หากยังเป็นวิกฤตใหญ่ที่พัดพาผู้คนทั้งประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนยากที่จะวางเฉย หรือใช้ชีวิตไปตามปกติได้ สภาพเช่นนี้นับเป็นบททดสอบประเทศไทยและคนไทยทุกหมู่เหล่าว่ามีพลังแห่งสติและพลังปัญญามากน้อยเพียงใด เรามีวุฒิภาวะรวมหมู่พอที่จะฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่ หรือว่าเรื่องราวจะจบลงด้วยการแตกสลายของประเทศชาติในฐานะองค์รวม
ถามว่าทำไมผู้คนที่ไม่ได้เลือกข้างแบ่งสีจึงต้องแบกรับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองด้วย ทำไมเราจึงต้องไปแบกรับปัญหาที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น ต่อเรื่องนี้ผมคงต้องขออนุญาตเรียนว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่นั้น แม้จะมีลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและกลุ่มก้อนองค์กรที่เป็นรูปธรรมจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีด้านที่เป็นผลผลิตของทั้งโครงสร้างและรูปการจิตสำนึกของสังคมไทยโดยรวม เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและโดยอ้อมมาตั้งแต่ต้น ใช่หรือไม่ว่าที่ผ่านมานับสิบๆปีสังคมของเราได้ผลิตความไม่เป็นธรรมไว้ทุกหนแห่ง ใช่หรือไม่ว่าคนไทยเราเห็นแก่ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นสังคมที่ผลิตความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ว่าในเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวม อีกทั้งยังขาดแคลนกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งที่เหมาะสม สภาพเช่นนี้ทำให้สังคมของเรากลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ชอบแก่งแย่งชิงดี และเอาชนะกันอย่างขาดความเมตตาปรานี ซึ่งเป็นรากฐานของการเมืองแบบคับแคบเห็นแก่ตัว
กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งปวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากถูกขับเคลื่อนและห้อมล้อมไว้ด้วยบริบททางสังคม เช่นนี้แล้วการเมืองจึงเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากมิติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณในวิถีชีวิตของผู้คน ความเจริญทางการเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ในสังคมที่กำลังเสื่อมทรุดทางด้านวัฒนธรรมและแตกสลายทางจิตวิญญาณ......”

ปาฐกถาเนื่องในงานวันนักเขียน โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  เมื่อ 5 พฤษภาคม 2553 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์  จากhttp://www.facebook.com/photo.php?pid=3894619&id=133382594647

มาติดตามความคืบหน้าค่ะท่านเทพฯ หากยังอยู่ป่าคอนกรีต รักษาเนื้อตัว ได้เพียงส่งแรงใจ ค่ะ ... เชื่อมั่น ว่าสยามประเทศมีทางออก เสมอค่ะ

  หลังฝนพรำ ฟ้าย่อมกระจ่างใส ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับคุณปูP

มีเรื่องที่น่ายินดีครับ กับข่าวผลการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12-13 พ.ค. 53 ครับ

โดยสาระหลักของที่ประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ในครั้งที่ผ่านมานั้น คือ  การตอบรับแนวคิดการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น  ครับ ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ผมอยู่ที่แม่เปิน นครสวรรค์กับเวทีคนรุ่นใหม่ ผลการประชุมนี้ ผมทราบจากเพื่อนร่วมงาน คุณหมูแดงอวกาศ ที่เข้าประชุมด้วย

ผลการประชุมคณะกรรมการฯได้ให้ความสำคัญกับหลักการของการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีการจัดการตนเองจนสามารถจัดขบวนในการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากร ฟื้นสถาบันและองค์กรในชุมชนท้องถิ่นอย่างครอบคลุมทุกระบบเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มสมรรถภาพในการดำรงชีวิตของประชาชน ตั้งแต่ คน ผู้นำและองค์กร ที่ดินทำกิน ทรัพยากรป่าและน้ำ การศึกษา สุขภาวะ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม เศรษฐกิจและอาชีพ ตลอดจนการเมืองการปกครอง โดยต้องมีการปรับบทบาทของหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาสาธารณะประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ขององค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการตนเองให้ตอบสนองต่อชุมชนท้องถิ่น และการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้นำชุมชนท้องถิ่น 

นับเป็นนิมิตหมายและจุดเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านที่ดี ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

เปิดกว้าง อย่างโปร่งใส จริงจัง และ จริงใจ ได้เปิดโอกาสการมีส่วนร่วม ถือเป็นพื้นฐานประชาธิปไตย ... เชื่อมั่นว่า ถ้าพ่อแม่ ครู พระ และผู้นำในท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชุมชน คิดดี พูดดี ทำดี แล้ว จะเป็นตัวอย่างดีๆ ขยายผลต่อไปอย่างยั่งยืน ขอบคุณค่ะ

เรื่องที่ผมรู้สึกไม่สบายใจครับ

พยายามที่จะไม่แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองในยามนี้......ด้วยความเห็นของพี่น้อง มวลมิตรเราแตกต่าง กัน เราพุดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องนี้ได้ยากขึ้นเหลือเกิน

ผมเคยแสดงความคิดเห็นใน facebook ของคุณPor Siriluk Sriprasit ไปว่า ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับกระบวนการปรองดอง ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์โดยเฉพาะ ข้อ 2

แต่ผมรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งกับมาตรการปรองดองโดยการกระชับโอบล้อมพื้นที่การชุมนุม ห้ามส่งน้ำ ห้ามลำเลียงอาหารให้ผู้ชุมนุม(ถึงแม้รัฐบาลจะมองพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้ายก็ตาม)

ถึงวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าผู้ชุมนุมจะมีอาหาร มีน้ำที่เพียงพอได้กี่มื้อ....

แม้แต่นักโทษความผิดร้ายแรงที่ศาลได้พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต ก็ยังมีสิทธิ์ได้เข้าถึงน้ำและอาหารผมมีความเห็นว่าการตัดการลำเลียงน้ำ  อาหาร...เหมาะสมแล้วหรือเปล่า

แม้แต่นักโทษประหารยังมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงน้ำและอาหาร

ผมรู้สึกไม่สบายใจกับความสำเร็จของรัฐบาลในการใช้มาตรการกระชับโอบล้อมพื้นที่ในครั้งนี้เลย

คนที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเราทำกัน.........ขนาดนี้หรือ

บ้านเรายังคุยกันได้...เจรจาปรึกษาหารือกันได้อยู่หรือไม่.....

พร้อมๆ กับเพื่อนคนรู้จักก็ได้ส่งข้อคิดทัศนะจากเครือข่าย “ประชาไท” มาว่า.......

“...........สภาประชาชนปฏิรูปการเมืองที่พวกเขาเสนอมา ผู้เข้าร่วมก็คงเป็นเครือข่ายอุปถัมป์ค้ำชูของพวกเขา หน้าเดิมๆ คนเก่าๆ ที่ทำมาหากินกับพวกเขาเสมอมา และห่างเหินคนในหมู่บ้านตนเอง เป็นผู้นำลอยจากฐานมวลชน เพราะต้องยุ่งกับการประชุมสัมมนากินกาแฟ โรงแรมหรู ค่าเบี้ยเลี้ยงคุ้ม ที่พักอย่างดีมีทั้งแอร์และน้ำอุ่น มีคาเฟ่ฟังเพลงยามค่ำคืน ไม่ใช่ตากแดดทนฝน นอนตากยุงเหมือนคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์

และก็คงล็อบบี้กันเองภายใน เลือกกันเองว่าจะเอาใครเป็นกรรมการ 21 คน ประชาชนนอกเครือข่ายอำมาตย์ไม่เกี่ยว  เพราะการปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้นำโดยรัฐบาลอำมาตย์ เครือข่ายอำมาตย์ และอำมาตย์ภาคประชาชน คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า “ปฏิรูปประเทศไทยบนกองศพวีรชนไพร่” จะเป็นเช่นไร ?และ “กาลเวลาจะพิสูจน์ผู้คนด้วยเช่นกัน” .....”

 สภาพเช่นนี้นับเป็นบททดสอบประเทศไทยและคนไทยทุกหมู่เหล่าว่ามีพลังแห่งสติและพลังปัญญามากน้อยเพียงใด เรามีวุฒิภาวะรวมหมู่พอที่จะฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่ หรือว่าเรื่องราวจะจบลงด้วยการแตกสลายของประเทศชาติในฐานะองค์รวม

            ปาฐกถาเนื่องในงานวันนักเขียน โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท