พ่อแม่ลูกรวม ๔ คน จบมหาวิทยาลัยพร้อมกันในหลักสูตรเดียวกัน


"หากกินเนสส์บุ๊คทราบเรื่อง อาจได้ลงในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์บุ๊ก (Guinness World Records)"

คุณอรวัต เสนะวัต ที่ทำงานอยู่ด้วยกันกับผมที่มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ได้ร่วมคณะเดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนนักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์เมื่อเดือนที่แล้ว ตามคำแนะนำของ ดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการมูลนิธิ คุณอรวัตได้เขียนบันทึกการเดินทางครั้งนี้ส่งอีเมลมาให้ผมอ่าน ผมอ่านแล้วเห็นว่ามีสาระดีน่าเผยแพร่ จึงขออนุญาตเธอนำมาเผยแพร่ในเว็บบล๊อกนี้เป็นตอนๆ

ตอนแรกเป็นเรื่องราวของพ่อแม่ลูกรวม 4 คนในครอบครัวเดียวกันที่เข้าเรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตพร้อมกัน แล้วจบปริญญาตรี เข้ารับพระราชทานปริญญาเป็นบัณฑิตเรียบร้อยแล้ว ในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ศูนย์เรียนรู้จังหวัดนครราชสีมา

ผมไม่ทราบว่าปรากฏการณ์แบบนี้ที่ที่พ่อแม่ลูกรวม ๔ คนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยพร้อมกันและจบพร้อมกันอย่างนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือในโลก มาก่อนหรือไม่ หากกินเนสส์บุ๊คทราบเรื่อง อาจได้ลงในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์บุ๊ก (Guinness World Records)

คิดถึงจำนวนคนที่เรียนจนจบปริญญาในประเทศต่างๆ แล้ว เคยอ่านพบเมื่อหลายปีก่อนว่าประเทศไทยมีประชากรจบปริญญาเพียงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรเท่านั้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์สูงกว่าเรามาก สิงค์โปร์และไต้หวันประชากรมากกว่าครึ่งจบปริญญา 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่งที่ตำบลหนองจะบกที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ หากได้รับการส่งเสริมให้เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของสังคมไทยได้ ก็น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมือง ดังที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี่ แบร จากพรรคแรงงาน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าเมื่อเป็นนายกฯ แล้วว่าจะทำอะไร เขาตอบว่าจะทำ 3 อย่าง คือ การศึกษา การศึกษา และการศึกษา

ครอบครัว ม.ชีวิต ที่ ต.หนองจะบก จ.นครราชสีมา

          เช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2553 ฉันมีโอกาสเดินทางไปพร้อมกับอาจารย์สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ และ อาจารย์สุมาลี สุนทรกิจพาณิชย์ ไปยังจังหวัดนครราชสีมา เพื่อไปพบกับนักศึกษาโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตครอบครัวหนึ่ง ซึ่งในครอบครัวนี้มีทั้งหมด 6 คน และ 4 ใน 6 คนนี้ คือนักศึกษาโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตซึ่งได้สำเร็จการศึกษาและได้รับพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกันในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

          บ้าน 2 ชั้น ร่มรื่นด้วยเงาของต้นมะม่วงหน้าบ้าน คุณจีราวรรณ ชัยวิรูญรัตน์ นายกหญิง แห่งองค์การบริหารส่วนตำบลนหนองจะบก อ.เมือง จ.นครราชสีมา ออกมาต้อนรับพวกเราพร้อมด้วยสามี “กำนันดำรงค์ ชัยวิรูญรัตน์” และลูกชาย “นายกิตติชัย ชัยวิรูญรัตน์”  สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ตัวใหญ่วิ่งกระดิกหางออกมาต้อนรับด้วยท่าทางเป็นมิตร

          ภายในบ้านอากาศกำลังสบายๆ เพราะทราบจากเจ้าของบ้านว่าเมื่อคืน ก่อนเรามาถึงฝนเพิ่งตก ทำให้วันนี้อากาศที่นี่ไม่ร้อนมาก เราจัดเก้าอี้นั่งล้อมวงคุยกัน โดยมีอาจารย์สุรเชษฐ เป็นคนคอยซักถาม อาจารย์สุมาลีช่วยเสริม ส่วนฉันทำหน้าที่บันทึกเสียงการสนทนาและจดประเด็นสำคัญๆ ที่เราได้คุยกันในวันนี้

          คุณจีราวรรณ เล่าถึงประวัติของตนเองให้ฟังด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี แต่ได้ย้ายมาอยู่โคราชตั้งแต่ปี 2504 ตามเพื่อนมาทำงานเป็นเด็กล้างจานที่ร้านอาหารฝรั่ง เพราะตอนนั้นมีสงครามเวียดนาม ได้เงินเดือน 40 บาท และก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ เป็นผู้ช่วยกุ๊ก เด็กเสริฟ และสุดท้ายเป็นแคชเชียร์ ซึ่งการเป็นแคชเชียร์ต้องเขียนภาษาอังกฤษ ก็เขียนไม่เป็นก็ไปซื้อหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ 75 ชั่วโมงมาอ่าน และซื้อดิกชินนารี่มาช่วยแปล หัดเขียนเองโดยที่ไม่มีครูสอน เวลาเขียนก็เขียนตัวพิมพ์ใหญ่ พวกฝรั่งที่มารับประทานอาหารที่ร้านเห็นก็หัวเราะแล้วก็ช่วยสอน จนกระทั่งสามารถเขียนเป็น เขียนชื่ออาหาร ชื่อเหล้า ชื่อเบียร์ หลังจากนั้นตำแหน่งบาร์เทนเดอร์ขาด ก็เลยได้เป็นทั้งแคชเชียร์และบาร์เทนเดอร์พร้อมกัน การเป็นบาร์เทนเดอร์มีเหล้าให้ต้องผสมเยอะ ก็ใช้จดภาษาอังกฤษปนภาษาไทยเพื่อให้จำได้ว่าเหล้าชนิดใดบ้างเมื่อผสมกันแล้วจึงจะมีรสชาติดี  และที่นี่เองที่ทำให้ได้รู้จักกำนันดำรงค์ผู้เป็นสามี

          ความที่เป็นคนรักการเรียน เมื่อแต่งงานมีลูกแล้ว คุณจีราวรรณ ก็ไม่ละความพยายามที่จะแสวงหาความรู้เพราะว่าจบแค่ชั้น ป.4 หลังจากที่ส่งลูก 4 คนไปโรงเรียนแล้วคุณจีราวรรณก็จะไปเรียนศูนย์ศึกษานอกโรงเรียนไปเรียนอาทิตย์ละ 2 วัน โดยแบ่งเวลาตอนเช้าขายแกงหน้าบ้าน พอสายๆ ถึงจะแต่งตัวไปเรียน ทำอย่างนี้ทุกวันจนกระทั่งเรียนจบชั้น ม.6

          คุณจีราวรรณเล่าต่อถึงตอนที่มีโอกาสได้มาเรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตว่า ตอนนั้นได้ทราบเรื่องการรับสมัครเรียนจากแผ่นพับที่อาจารย์ยงยศ ผู้ประสานงานในขณะนั้นนำไปแจกให้ เมื่อกลับมาอ่านที่บ้านอ่านแล้วก็สนใจ จึงได้ชักชวนสามีคือ กำนันดำรงค์ไปเรียนด้วยกันเพราะว่าขับรถไม่เป็นถ้ากำนันเรียนด้วยจะได้ไปด้วยกัน และได้ชักชวนลูกอีก 2 คนเรียนด้วยกัน ในที่สุดทั้งหมด 4 คน ก็ได้ไปสมัครเรียนในวันรับสมัครวันสุดท้ายได้ทัน คุณจีราวรรณยังเล่าต่อว่า ทั้ง 4 คน แทบจะไม่เคยขาดเรียนเลยถ้าไม่เจ็บป่วยจริงๆ เรียนกัน จนกระทั่งจบได้รับพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกันทั้ง 4 คน คุณจีราวรรณเล่าถึงบรรยากาศตอนไปรับพระราชทานปริญญาบัตรให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า ตอนไปเข้าแถวเตรียมรับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น ในแถว มีแต่นักศึกษาเด็กๆ ตนเองอายุเยอะที่สุด เด็กๆ เรียกแม่กันหมด

          วิชาที่เรียนมาได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันเยอะ เพราะเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ได้ความคิดวิธีการทำไร่ การแบ่งพื้นที่เพาะปลูกว่าควรจะลงพืชอะไรบ้าง เลี้ยงปลา เลี้ยงวัว 20 ตัว เพื่อเอาขี้วัวมาทำปุ๋ย ในไร่จะไม่ใช้สารเคมีเลย มะม่วงที่ปลูกจึงมีลูกใหญ่มาก บางลูกน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัม และได้ส่งขายที่แม็คโคร น้อยหน่าก็ได้ผลผลิตดีเพราะได้ปุ๋ยจากขี้วัวเช่นกัน มีการขุดสระไว้เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ในไร่ไม่ต้องกลัวหน้าแล้ง

          สำหรับตำแหน่งนายก อบต.นั้น คุณจีราวรรณเล่าว่า ก่อนที่จะมาเข้าเรียนโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต เคยได้เป็นนายกอบต.มาแล้ว 1 สมัย แล้วก็เว้นวรรคไป จนเมื่อปี 2552 ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกอบต.อีกสมัยหนึ่ง ส่วนกำนันดำรงค์ ได้เป็นกำนันตั้งแต่ปี 2522 จริงๆ ก็ต้องเกษียนแล้ว เพราะตอนนั้นเหลืออีกเดือนเดียวก็จะอายุ 60 ปี แต่เมื่อมีกฏหมายที่ให้อยู่ในตำแหน่งได้ 5 ปี จึงลาออก แล้วก็มาสมัครใหม่โดยเริ่มจากเป็นผู้ใหญ่บ้านก่อน แล้วผู้ใหญ่บ้านจะเลือกกำนัน ซึ่งก็ไม่มีคู่แข่ง จึงได้เป็นกำนันอีกวาระหนึ่ง จะเกษียนที่อายุ 65 ปี ซึ่งก็เหลือวาระอีกแค่ 3 ปี

          ในขณะคุณจีราวรรณกำลังเล่าเรื่องราวของตนเองนั้น ฉันก็เดินวนหามุมที่สวยๆ เพื่อจะได้ถ่ายรูปกลุ่มสนทนาได้อย่างถนัด ในใจก็คิดไปด้วยว่า ผู้หญิงคนนี้เก่งจริงๆ สามารถแบ่งเวลาให้ทั้งตัวเองและครอบครัวได้อย่างลงตัว ไม่ขาดตกบกพร่องเลย

          เมื่อคุณจีราวรรณเล่าเรื่องราวของตนเองจบ กำนันดำรงค์ก็เล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองให้พวกเราได้ฟังบ้าง เริ่มตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ กำนันดำรงค์เล่าว่า จริงๆ เป็นคนขอนแก่น แต่ได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2506 ซึ่งมาหลังคุณจีราวรรณ 2 ปี เข้ามาเป็นลูกน้องฝึกงานเป็นช่าง ได้เรียนการซ่อมแอร์ ซ่อมตู้เย็น พันไดนาโม ซ่อมพัดลม พันบัลลาต สมัยก่อนไฟ 110 โวลท์ ก็มาดัดแปลงพันบัลลาตเป็น 220 โวลท์ จากนั้นก็ออกมาทำเอง ตอนนั้นไม่ค่อยมีเงิน ได้รับความช่วยเหลือจากพี่ชายและญาติ ก็ไปเปิดร้านอยูที่สี่แยกมิตรภาพ ค่าเช่าเดือนละ 400 บาท จากนั้นก็หาเงินเพื่อซื้อห้องแถวเอง 1 ห้อง สองแสนกว่าบาท ลูกๆ ก็เกิดที่บ้านนั้น ตอนนี้ที่นั่นก็ยังอยู่ ชื่อร้านดำรงค์เครื่องเย็น ตัวเองเพิ่งหยุดทำเมื่อสิบกว่าปีมานี้เอง ตอนเจอคุณจีราวรรณนั้น ยังเป็นลูกจ้างอยู่ ทำงานอยู่ใกล้กัน เดินผ่านร้านอาหารที่คุณจีราวรรณทำงานทุกวัน สมัยคุณจีราวรรณยังเป็นเด็กล้างจาน และเป็นผู้ช่วยกุ๊ก กำนันก็จะไปคอยช่วยหยิบโน่นทำนี่ แต่พอคุณจีราวรรณได้เข้าไปอยู่ในร้านเป็นบาร์เทนเดอร์ ตัวเองก็เข้าไปเหมาเบียร์ในร้านหมด ตอนนั้นเบียร์ขวดละ 17 บาทยังไม่แพงเหมือนสมัยนี้ คุณจีราวรรณเล่าเสริมขึ้นมาว่า ฝรั่งที่ไปที่ร้านเป็นฝรั่งผู้ดี พวกขับเครื่องบิน เวลาทักทายจะไม่ยอมให้ฝรั่งจับมือ แต่จะสอนให้ฝรั่งรู้จักไหว้สวัสดีแบบไทยๆ แทน

          กำนันดำรงค์ชี้ให้ดูรูปภาพใส่กรอบเรซินที่แขวนอยู่บนฝาผนัง พร้อมกับเล่าต่อด้วยความภาคภูมิใจว่า นี่คือภาพคุณจีราวรรณตอนได้รับรางวัลเป็นสตรีดีเด่นระดับประเทศ  ฉันจึงเงยหน้ามองภาพนั้นตามคำบอก ภาพที่เห็นคือภาพสุภาพสตรีในชุดผ้าฝ้ายสีเขียวอมฟ้าซึ่งก็คือคุณจีราวรรณ ในมือถือโล่ห์รางวัลยืนยิ้มคู่กับคุณพิชัย รัตตะกุล คุณจีราวรรณเล่าเสริมว่า ตอนนั้นอยู่ในสมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ปีนั้นสตรีที่ได้รางวัลทั้งประเทศมี 40 คน คุณจีราวรรณได้ในสาขาสตรีพัฒนาดีเด่น

          ทั้งสองได้แต่งงานกันเมื่อปี 2513 มีลูกทั้งหมด 4 คน คนโตชื่อคุณวลัยวรรณ ปัจจุบันทำงานที่ อบจ.นครราชสีมา คนที่สอง คุณกิตติชัย เรียนช่างไฟฟ้า และมาเรียนปริญญาตรี ม.ชีวิต พร้อมคุณพ่อคุณแม่ ส่วนคนที่สามเป็นแพทย์ประจำตำบลชื่อคุณสุภาพร ซึ่งก็เป็นนักศึกษา ม.ชีวิต ด้วยอีกคนหนึ่ง และคนสุดท้าย เป็นช่างโยธา ชื่อคุณสุทธิพงศ์ ปัจจุบันนี้ ทุกคนได้เรียนสำเร็จระดับปริญญาตรีหมดแล้ว

          อีกคนหนึ่งที่พวกเราได้คุยด้วยคือ คุณกิตติชัย ลูกชายคนที่ 2 ของคุณจีราวรรณ คุณกิตติชัยเล่าเรื่องชีวิตการเรียนให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเรียน ม.ชีวิต ได้เรียนจบจากขอนแก่นบริหารธุรกิจ เรียนช่างไฟฟ้า จบมาหลายปีแล้วไม่ได้คิดจะเรียนต่อ พอจบ ปวส.ก็ทำงานรับจ้างเป็นช่างแอร์ ช่างไฟ จริงๆ ก็ไม่ได้คิดอยากเรียนต่อ ที่ตัดสินใจเรียนเพราะคิดว่าจะช่วยเสริมให้พ่อแม่และเห็นพ่อกับแม่อยากเรียนเท่านั้น แต่เมื่อเรียนไปแล้วระยะหนึ่งก็เห็นว่าตรงกับงานของของตัวเอง ได้นำสิ่งที่เรียนไปใช้ได้จริงกับการทำงาน เพราะทำงานชุมชนอยู่แล้ว เป็น พอช.ของ ต.หนองจะบก ได้เดินทางไปประชุมในชุมชนบ่อยๆ สิ่งที่พูดกันในที่ประชุม ก็คือสิ่งที่ได้เรียนมาแล้ว

          เวลามีการทำแผนชุมชน แผน 3 ปี แผน 5 ปี ทั้งกำนันดำรงค์ และนายกจีราวรรณก็จะลงพื้นที่ด้วยกัน แก้ปัญหาให้ชุมชนร่วมกัน ดูว่าชาวบ้านต้องการอะไร ก็เอามาเข้าแผนไว้ กำนันบอกว่าปัจจุบันนี้ได้เงินเดือนตำแหน่งกำนัน 7,500 บาท แต่ก็ไม่ค่อยพอเพราะภาษีสังคมมาก คุณจีราวรรณเล่าเสริมแบบติดตลกว่า เวลาชาวบ้านจะเชิญไปงานบวช งานแต่ง หรืองานต่างๆ ก็แยกซอง กำนัน 1 ซอง นายก 1 ซอง ทั้งๆ ทีอยู่บ้านเดียวกัน

          คุณจีราวรรณบอกว่า วิชาวิสาหกิจชุมชนที่เรียนมาได้นำมาใช้ประโยชน์มาก ที่อบต.จะมีงบประมาณช่วยพวกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโดยเฉพาะ กลุ่มขาดเหลืออะไรก็จงลงไปช่วย ในตำบลมีการทำกลุ่มอาชีพ 15 กลุ่ม ก็จะให้พัฒนาชุมชนลงไปดูว่าแต่ละกลุ่มต้องการอะไร ก็ต้องดูแลจัดให้ ต้องลงไปหาชาวบ้านไม่ใช่ให้ชาวบ้านมาหา

          จากการพูดคุยเรื่องการทำงานในตำแหน่งนายกอบต.ของคุณจีราวรรณ ฉันมองว่า คุณจีราวรรณ เป็นนักบริหารสมัยใหม่ที่มีความขยัน และวิสัยทัศน์ที่ดีมาก เพราะได้ทำโครงการต่างๆ ในชุมชนโดยให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมมากมาย เป็นการลดเรื่องอบายมุข ยาเสพติดในเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี โดยที่คุณจีราวรรณกล้ารับรองว่า ที่ ต.หนองจะบกนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดในหมู่เด็กวัยรุ่นเลย

          ที่ สำนักงาน อบต. คุณจีราวรรณได้ให้เด็กในชุมชน มาสมัครทำงานช่วงปิดเทอม เพื่อเป็นการฝึกวินัยและให้เด็กๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  ซึ่งมีเด็กๆ มาสมัครมากมายเกินความต้องการ งบประมาณที่ตั้งไว้นั้นก็ไม่พอที่จะรับเด็กๆ ที่มาสมัครได้หมดทุกคน แต่คุณจีราวรรณ ได้แก้ปัญหาโดยรับเด็กๆ ไว้ทั้งหมด แต่จำนวนวันทำงานจะลดลง เพื่อนำงบประมาณมาเฉลี่ยให้ทุกๆ คน ซึ่งผู้ปกครองและเด็กๆ ก็พอใจมาก

          นอกจากนั้น ยังให้เด็กได้มีบทบาทในชุมชน ด้วยการให้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพื้นฐานชุมชน โดยลงไปแต่ละบ้านเพื่อไปพูดคุยสอบถาม และที่สำนักงาน อบต. คุณจีราวรรณ ก็พัฒนาการบริการภายใน อบต. ให้เป็นที่ถูกใจแก่ชาวบ้าน มีชา กาแฟ ขนมไว้คอยบริการฟรี โดยคุณจีราวรรณเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง  เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ฝึกให้มีจิตใจรักการบริการ ยิ้มแย้มแจ่มใส ดูแลเอาใจใส่ชาวบ้านที่มาติดต่อ จนชาวบ้านเอ่ยปากชม

          อาจารย์สุมาลีได้ถามคุณจีราวรรณว่า ตอนที่เป็นนายกสมัยแรกยังไม่ได้เรียนโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต แต่เมื่อมาเป็นนายกในสมัยนี้ ได้เรียนโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตแล้ว รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง คุณจีราวรรณก็ตอบว่า เมื่อก่อนนั้นไม่มีหลัก แต่เรารู้ ในการพูด การเข้าหาประชาชน การทำแผน รู้ว่าต้องทำอย่างไร  แต่จะผิดหรือถูกก็ต้องศึกษา ต้องโทรปรึกษาทางอำเภอบ่อยๆ แต่พอได้เรียนแล้วไม่ต้องโทรไปปรึกษาอีกเลย เพราะว่ามีข้อมูล มีความรู้ มีหนังสือให้อ่าน ทำให้รู้หลักว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร ตามวิธีการตามขั้นตอน หาทางออกได้ โดยไม่ต้องไปถามใคร

          ก่อนจบการสนทนาของเรา ฉันจึงขออนุญาตถามคุณจีราวรรณสักหน่อยว่า มหาวิทยาลัยชีวิต แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างไรบ้าง คุณจีราวรรณตอบด้วยเสียงหนักแน่นว่า แตกต่างมาก มหาวิทยาลัยอื่นส่วนมากเน้นวิชาการ แต่มหาวิทยาลัยชีวิต เราอยู่ในชุมชน เวลาทำงานเราไม่ได้นั่งทำอยู่ในห้อง เราต้องลงพื้นที่จริง ไปดูของจริง ทำจริง หลักสูตรนี้เรียนแล้วทำให้ได้ใกล้ชิดชุมชน ได้รู้ความต้องการของชุมชน

          ในการเรียนต้องลงไปทำแผนแม่บทชุมชนกับหมู่บ้านหนึ่ง ชื่อบ้านกรีน มีร้อยกว่าหลังคาเรือน บ้านนี้ไม่มีโฉนดที่ดิน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ตั้งอยู่บนโนน มีผืนนาล้อมรอบ เมื่อก่อนนั้นที่นี่ปลูกผักใช้สารเคมี ทำให้ปลาในท้องร่องตายหมด คนในหมู่บ้านไม่มีใครกินผักที่ปลูกเอง ผักปลูกไว้เพื่อส่งขายอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ทุกบ้านสามารถกินผักได้อย่างปลอดภัย เพราะชาวบ้านหันมาใช้ปุ๋ยชีวิภาพแทนปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ ทำให้ในท้องร่องเริ่มมีปลานิล ปลาตะเพียน ปลาไส้ตันมากมาย ปัจจุบันนี้บ้านกรีนเป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว

          การเรียนมหาวิทยาลัยชีวิต ทำให้ความคิดเปลี่ยน นิสัยเปลี่ยน เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น รู้จักฟังมากขึ้น ถึงแม้ว่าคนที่พูดจะเป็นเด็กกว่าแต่ถ้าพูดดี พูดถูก ก็จะฟัง  ก่อนจบการสนทนาคุณจีราวรรณกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้มีสโลแกนประจำตัวคือ “ชีวิตที่เหลือ เพื่อชาวหนองจะบก”

 

หมายเลขบันทึก: 356161เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2010 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ..ท่านสุรเชษฐ์

  • ดิฉันเป็นสมาชิกใหม่ค่ะ
  • เรื่องราวและเนื้อหาในบล็อกของท่านเป็นความรู้ที่ควรศึกษาและติดตาม
  • ขอนุญาตนำเข้าแพลนเน็ทของจำเนียรวดี ชื่อ "ชุมชนเข้มแข็ง" นะคะ
  • ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
  • รักษาสุขภาพนะคะ

เป็นหลักศูตรที่ให้ "พลังชุมชน" จริงๆครับ

ขออนุโมทนาผู้เกี่ยวข้องทุกท่นครับบ

ขอบพระคุณ P ดร.ภิญโญ มากครับ ความเห็นสั้นๆ แต่เป็นกำลังใจมากครับ

อ่านแล้วชื่นใจมากๆ เลยครับ ผมได้สอนที่นครราชสีมาเช่นกัน ปลื้มใจและปลื้มปิติแทนลูกศิษย์มากๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท