ภูมิปัญญาท้องถิ่น 3


การนำไปใช้

การนำความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการศึกษา

 

การศึกษา” (อ้างอิงจาก พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542) หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

 รุ่ง แก้วแดง (2540. หน้า 154) การศึกษาไทย หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ทำให้คนไทยสามารถพัฒนาชีวิตของตน สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีสันติสุข และสามารถเกื้อหนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้านการศึกษาจึงเป็นทั้งกระบวนการและเนื้อหา ในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมและเป็นการสร้างภูมิปัญญาให้แก่สังคม

 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา, 2543. ไม่มีเลขหน้า) ได้ให้ความสำคัญในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาไทยมาใช้ในระบบการศึกษา โดยระบุไว้ในมาตรา 7, 8, 9 และแนวการจัดการศึกษาในมาตรา 23 ดังนี้

 มาตรา 7 ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง
การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิหน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดตนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

 มาตรา 8 การจัดการศึกษาให้ยึดหลัก ดังนี้
1. เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน
2. ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
3. การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 มาตรา 9 การจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาให้ยึดหลัก ดังนี้
1. มีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ
2. มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา
4. มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาและการพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
5. ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา
6. การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพสถาบันการศึกษา สถานประกอบการและสถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น

 

มาตรา 23 การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ในเรื่องต่อไปนี้
1. ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. ความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ด้านการจัดการ           การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
3. ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา
4. ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาไทย เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
5. ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

 นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540
(สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ , 2541. หน้า 25 – 116) ได้ให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาที่จะส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ตามความในมาตรา 81 และ 289 ดังนี้

 มาตรา 81 รัฐบาลต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ

 มาตรา 289 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาอบรมของรัฐ แต่ต้องไม่ขัดต่อ มาตรา 43 และมาตรา 81 ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

 การจัดการศึกษาอบรมในท้องถิ่นตามวรรคสอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นด้วย

 สำหรับแนวทางในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ในการจัดการศึกษา ได้มีสถาบันการศึกษาและนักการศึกษาได้กำหนดแนวทางไว้ดังนี้

 กรมวิชาการ (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า) ได้จัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในปี 2539 โดยเสนอแนวทางการดำเนินการจัดการเรียนการสอน

 1. ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการจัดการเรียนการสอน มีการมอบหมายงานและกิจกรรมให้นักเรียนไปทำที่บ้าน ครูและชาวบ้านจะเป็นผู้ติดตามและประเมินผล
2. ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน โดยนำนักเรียนศึกษาจากแหล่งความรู้ในชุมชน
3. โรงเรียนและชุมชนประสานให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในโรงเรียนและชุมชน ในการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางนี้ กรมวิชาการได้เสนอวิธีการ ดังนี้
3.1 ควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างครูผู้สอน และปราชญ์ท้องถิ่น
     3.2 เน้นการศึกษา วิเคราะห์ ทำความเข้าใจวิธีคิด และความคิดของภูมิปัญญาท้องถิ่น
     3.3 นำกระบวนการ หรือความคิด แนวปฏิบัติของภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดเป็นกระบวนการเรียนการสอน
     3.4 เสริมสร้างกระบวนการคิดที่เป็นระบบ เป็นวิทยาศาสตร์
     3.5 ฝึกให้ผู้เรียนคิดหลายด้านหลายมุม คิดอย่างอิสระแล้วสรุปเป็นความรู้และประสบการณ์ที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิต
     3.6 ผสมผสานระหว่างความรู้สากลกับความรู้ท้องถิ่น
     3.7 เน้นที่กระบวนการมากกว่าผลผลิต
     3.8 ครูผู้สอนหรือปราชญ์ท้องถิ่นเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน

 ส่วนแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ได้เสนอ 4 แนวทาง คือ

 1. ครูผู้สอนเป็นผู้ควบคุมการใช้หลักสูตร โดยพิจารณานำหลักสูตรไปใช้ให้สอดคล้องกับกลุ่มประสบการณ์ ตามในหลักสูตรแม่บท โดยใช้ระบบเวลาจำนวนคาบเรียนตามที่กำหนดไว้ในแผนการสอนของกลุ่ม
ประสบการณ์นั้น ๆ
2. เน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง
3. นำบุคคลในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ความรู้กับผู้เรียน
4. สอดแทรกคุณธรรมค่านิยมต่าง ๆ ที่ปรากฏตามเนื้อหาของสูตรให้กับผู้เรียนทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายของหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียน
4.1 มีความรู้ ความเข้าใจในประวัติความเป็นมาของชุมชน
4.2 มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของชุมชน
4.3 สามารถพึ่งพาตนเองได้เกี่ยวกับการรักษาโรคเบื้องต้น
4.4 ตระหนักและยอมรับ สิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่ดีให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน
4.5 สามารถปรับปรุงและประยุกต์ใช้สิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่ดีให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน
4.6 มีความรัก ความภาคภูมิใจ และเข้าใจในบทบาทของตนที่มีต่อชุมชน

 สำหรับเนื้อหาของหลักสูตรเน้น 4 เนื้อหาคือ

1. ประวัติความเป็นมาของชุมชน
2. บุคคลสำคัญของชุมชน
3. พืชสมุนไพร ของชุมชน
4. ป่าไม้ของชุมชน

 การดำเนินการตามหลักสูตรและแนวทางดังกล่าวข้างต้นโดยที่มีผู้รู้ท้องถิ่นผู้ทรงภูมิปัญญา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ 3 ประการ คือ

1. พัฒนาหลักสูตรและท้องถิ่นร่วมกับโรงเรียน หรือหน่วยงานในท้องถิ่น
2. วางแผนการจัดการเรียนการสอนร่วมกับครูผู้สอน
3. ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการดำรงชีวิตให้กับผู้เรียน

 

การนำเอาองค์ความรู้ท้องถิ่นมาเป็นปัจจัยในการประกอบการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวดที่ 1 มาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 9 นั้น เป็นการสอดคล้องกับความมุ่งหมายของหลักสูตร เพราะนอกจากจะขจัดข้อจำกัดของโรงเรียนได้ การมีส่วนร่วมของบุคคล ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ที่เป็นการสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุน ให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนจะเลือกใช้วิธีใดจะเหมาะสมกับการพัฒนาหลักสูตร ตามความต้องการของท้องถิ่น มีนักการศึกษาหลายท่าน ได้นำเสนอไว้ ดังนี้

 ทัศนี สุภเมธี (ม.ป.ป.) ได้กล่าวถึงการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นสามารถทำโดยการปรับแผนการสอน สื่อการเรียนเนื้อหา และวิธีการสอนของครู ดังนี้

 1. การปรับ หมายถึง การปรับเนื้อหา สาระและมวลประสบการณ์ในหลักสูตรแกนกลางให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของท้องถิ่น
2. การขยาย หมายถึง เนื้อหาใดที่ท้องถิ่นรู้จักกันดีก็ควรให้ผู้เรียนได้เรียนลึกลงไปอีก
3. การเพิ่ม หมายถึง เนื้อหาบางเนื้อหา เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นที่ควรรู้แต่คนในท้องถิ่นอื่นไม่จำเป็นต้องรู้

 กรมวิชาการ (2532) ได้ให้ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น คือ

1. การปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเสริม
2. การปรับเพิ่มรายละเอียดเนื้อหาจากหัวข้อที่กำหนดให้ในคำอธิบายรายวิชา
3. การจัดเนื้อหารายวิชาขึ้นใหม่
4. การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน
5. การจัดทำหนังสือเรียน คู่มือครู หนังสือเสริมประสบการณ์ คู่มือการเรียนการสอน แบบฝึกผัด ฯลฯ

สงบ ลักษณะ (อ้างจากปฏิรูปการศึกษา, 2542. หน้า 6) ได้เสนอเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นไว้ ดังนี้

 หลักสูตรท้องถิ่น คือ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงทางสังคม วัฒนธรรมเศรษฐกิจ และสนองความสนใจ ความต้องการของผู้เรียน และของท้องถิ่น

 หลักสูตรท้องถิ่น จะพัฒนาโดยท้องถิ่น ในขณะที่หลักสูตรระดับชาติพัฒนาโดยคณะ-กรรมการที่กระทรวงแต่งตั้ง และกรมวิชาการเป็นผู้ประสานงาน

 คำว่า ท้องถิ่น ตามความหมายของหลักสูตร พ.ศ.2533 ได้แก่หน่วยงาน ต่อไปนี้

1. โรงเรียน
2. กลุ่มโรงเรียน
3. อำเภอ
4. จังหวัด
5. เขตการศึกษา
6. กรมต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ
7. หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องหรือสนใจเรื่องการจัดการจัดการศึกษาท้องถิ่นเหล่านี้มีสิทธิ
พัฒนา หลักสูตรท้องถิ่น

 ในต่างประเทศ มีคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกับหลักสูตรท้องถิ่น คือ

1. Scholl – Base Curriculum
2. Community – Base Curriculum
3. Tailored – Mode Curriculum

 

การพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นทำได้ 6 วิธี คือ

1. สร้างรายวิชาเพิ่มเติม ในประเภทวิชาเลือก
2. จัดทำคำอธิบายรายวิชาเพิ่มเติม ใช้มากกับระดับประถมศึกษาที่กำหนดวิชาในลักษณะ กลุ่มประสบการณ์พิเศษและ กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ
3. ปรับรายละเอียดของเนื้อหา โดยการลดหรือเพิ่มเติมรายละเอียดของเนื้อหา ในทุกประเภทของวิชาไม่ว่าเป็นวิชาบังคับ หรือวิชาเลือกที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแม่บท
4. ปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือจัดกิจกรรมเสริม ในทุกวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแม่บท
5. จัดทำสื่อการเรียนขึ้นใหม่ เช่น ทำหนังสือเรียน หนังสือเสริมประสบการณ์ เอกสารประกอบการเรียนการสอน แบบฝึกหัดคู่มือครู ฯลฯ ใช้กับวิชาที่มีอยู่แล้วในหลักสูตรแม่บทหรือใช้กับวิชาที่จัดขึ้นใหม่
6. ปรับปรุงสื่อการเรียน เลือกใช้สื่อการเรียน โดยการปรับปรุงสื่อที่มีอยู่แล้วให้เหมาะสมกับท้องถิ่น หรือเลือกใช้สื่อ    ต่าง ๆ ในท้องถิ่นหรือเลือกใช้กับสื่อต่าง ๆ ในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้

 ผลดีของหลักสูตรท้องถิ่น

1. ช่วยให้การเรียนรู้มีความหมายและเรียนรู้ได้เร็ว เพราะเรียนรู้จากชีวิตจริงใกล้ตัวในท้องถิ่นที่มีโอกาส
เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
2. ช่วยให้การเรียนรู้เกิดประโยชน์ เกิดความรู้ความเข้าใจในสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม นิทานพื้นเมือง
ศิลปะ อาชีพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น
3. ช่วยทำให้เกิดความรัก ความภูมิใจในท้องถิ่น เห็นคุณค่าของดีของมีค่าในท้องถิ่น รักท้องถิ่นพอใจอยากช่วยพัฒนา ท้องถิ่น ไม่ทิ้งท้องถิ่น
4. ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย สนองความสนใจและความต้องการของท้องถิ่นและของผู้เรียนซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ดีสนองความอยากรู้อยากเห็น
5. ช่วยทำให้สูตรการเรียนการสอน ปรับเปลี่ยนได้ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม ในยุคข้อมูลข่าวสาร สังคมเปลี่ยนเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีใหม่ทุกวัน หลักสูตรแม่บทมักเก่าล้าสมัยไม่ทันเหตุการณ์ หลักสูตรท้องถิ่นที่จัดทำโดยโรงเรียนจะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ทันสมัยตลอดเวลา
6. ช่วยทำให้มีผลต่อการนำไปใช้ในชีวิตจริง เช่น หลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับวิชาชีพ การทำศิลปะหัตถกรรมในท้องถิ่นเรียนแล้วนำไปประกอบอาชีพได้ทันที เป็นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการมีงานทำ

 รัตนะ บัวสนธ์ (2535. หน้า 98) ได้กล่าวถึง การถ่ายทอดภูมิปัญญาในรูปของการจัดการเรียนการสอน ซึ่งแบ่งได้เป็น2 วิธีการใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ครูเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งเป็นไปตามลักษณะกิจกรรมที่ได้จากการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น นั้นคือ ครูเป็นตัวแทนของปราชญ์ท้องถิ่น ทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งได้รับการกำหนดเป็นหลักสูตรแล้ว
2. ปราชญ์ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนแทน รวมทั้งให้ทำหน้าที่ประเมินผลการเรียนของนักเรียนด้วย

ดังนั้นการถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านในโรงเรียน มีหลายวิธี ได้แก่

1. การถ่ายทอดความรู้โดยตรงต่อครูผู้สอน
2. การถ่ายทอดความรู้โดยตรงให้กับนักเรียน
3. ให้คำปรึกษาหารือ แนะนำให้กับครูผู้สอน
4. ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนร่วมกับครูผู้สอน

ประเวศ วะสี (2543. หน้า 60 – 63) ได้กล่าวถึง เรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อแก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน โดยโรงเรียนควรมีความสัมพันธ์กับชุมชน ดังนี้

 1. เรียนรู้จากชุมชน

    1.1 จากคนในชุมชน
   1.2 จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
   1.3 จากเรื่องของชุมชน
   1.4 จากการทำงานในชุมชน

 2. สร้างความรู้เกี่ยวกับชุมชน

    2.1 เรียนรู้จากชุมชน

2.1.1 เรียนรู้จากคนในชุมชน ในชุมชนมีผู้รู้ด้านต่าง ๆ มากมาย มากกว่าครูที่สอนท่องหนังสือมากนัก เช่น ผู้รู้ทางเกษตรกรรม ทางช่าง ศิลปิน ผู้รู้ทางศาสนา หมอพื้นบ้าน นักธุรกิจรายย่อย ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ ผู้นำชุมชนที่เป็นนักคิด นักศีลธรรม มีปัญญาและความดี มากกว่าใครต่อใครตั้งเยอะแยะในระดับสูง ๆ ถ้าเปิดโรงเรียนสู่ชุมชนให้ทั้งครูและนักเรียนได้เรียนรู้จากครูในชุมชน จะมีครูมากมายหลากหลาย เป็นครูที่รู้จริงทำจริงจะทำให้การเรียนรู้เข้าไปเชื่อมโยงกับการปฏิบัติจริง การเรียนรู้จะสนุกไม่น่าเบื่อหน่าย ที่สำคัญจะเป็นการปรับระบบคุณค่า เดิมการศึกษาของเราสอนให้ดูถูกคนที่มีค่าเหล่านี้ ดังกล่าวแล้วในตอนก่อน เมื่อผู้รู้ในชุมชนเหล่านี้กลายเป็นครู ก็จะเป็นการยกระดับคุณค่า ศักดิ์ศรีและความภูมิใจของชุมชนอย่างแรง เป็นการถักทอทางสังคม
2.1.2 เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ควรจะสำรวจและสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเพิ่มขึ้น ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นทุ่งนา ป่าเข้า แหล่งน้ำวัด แหล่งอนุรักษ์ป่า แหล่งอนุรักษ์สัตว์ กลุ่มอาชีพต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์ตำบล ทุกตำบลควรสร้างพิพิธภัณฑ์ของตนเองเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม การสร้างความรู้หรือการวิจัย ซึ่งจะกล่าวถึงถัดไปก็จะเพิ่มแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
2.1.3 เรียนรู้จากเรื่องของชุมชน การเรียนควรจะเรียนเรื่องของชุมชนให้มากที่สุด เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา การแพทย์พื้นบ้าน
2.1.4 เรียนรู้จากการปฏิบัติงานในชุมชน ครู และนักเรียน ควรจะเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติงานจริงในชุมชน เช่น ทำการเกษตร หัตถกรรม แปรรูปอาหาร งานช่าง ธุรกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน การแพทย์แผนไทย แบบที่ ดร.โกวิท วรพัฒน์ เรียกว่า โรงเรียนทำมาหากินจะได้ทำงานเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็น มีอาชีพ แก้ปัญหาเศรษฐกิจและเป็นการพัฒนาศีลธรรมไปด้วยในตัว ศีลธรรมเกิดจากการดำเนินชีวิตร่วมกันแต่ไม่เกิดจากการท่องวิชาศีลธรรม

  2.2 สร้างความรู้เกี่ยวกับชุมชน ข้อบกพร่องอันฉกาจฉกรรจ์ของระบบการศึกษาไทย คือ เป็นระบบที่ไม่สร้างความรู้ เป็นระบบที่ท่องความรู้เก่าจึงไม่มีปัญญามองเห็นปัจจุบันและอนาคตสร้างคนที่ไม่รู้ความจริงขึ้นมาเต็มประเทศซึ่งย่อมถูกสถานการณ์และการรุกรานเข้ามากระแทกชัดจนฟุบและวิกฤต ฉะนั้นการปฏิรูประบบการศึกษาไทย จะต้องทำให้เป็นระบบการศึกษาที่สร้างความรู้ได้

จากแนวคิดของนักการศึกษาข้างต้น คณะผู้ศึกษาได้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาไทยกับภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา การศึกษาและภูมิปัญญาไทยมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมาแต่ช้านาน อย่างแยกกันไม่ออก การจะพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน ควรจัดการเรียนรู้อยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาไทย โดยบูรณาการกับภูมิปัญญาสากลได้อย่างเหมาะสม ตามแนวการจัดการศึกษาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และ รัฐธรรมนูญแห่งราช-อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ให้ความสำคัญไว้ในการจัดการศึกษาที่จะส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

 สำหรับแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนควรมุ่งเน้นให้โรงเรียนประสานงานกับชุมชนในการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน ในการกำหนดเนื้อหาเพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา สภาพการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เกิดความ-ตระหนักและยอมรับสิ่งที่มีคุณค่าจนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นตนเองอันจะนำมาซึ่งความเข้าใจในบทบาทของตน ที่ควรมีต่อชุมชนและทำประโยชน ์ให้กับชุมชนต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 356030เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท