โรงเรียนกับชุมชน


มวลชนดังผนังทองแดงกำแพงเหล็ก

       ในวันนี้นปช.ยังคงยึดครองราชประสงค์ท่ามกลางการประณามของกลุ่มคนหลายฝ่ายกรณีเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬาฯไม่มีทีท่าว่าจะเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนย้าย ฝ่ายแกนนำมีความหวาดระแวงว่ารัฐบาลจะปราบ จึงมีปฏิกริยาป้องกันตัวที่นับวันจะนำตนเองไปสู่ความเสื่อม

       ไม่ว่าจะปิดถนน ปิดล้อมกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับตน  ค้นโรงพยาบาล  สร้างความรำคาญให้กับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง จนเสียแนวร่วมไปเป็นอันมาก ในที่สุดก็พ่ายแพ้ทางการเมืองในที่สุด

       ดังนิทานที่ว่ากวางตัวหนึ่ง หนีนายพรานและสุนัขไล่เนื้อไปซ่อนอยู่ในพุ่มไม้

ด้วยความรู้สึกหิวจึงกินใบไม้นั้น จนเกิดเป็นช่องโหว่ ให้นายพรานและสุนัขจับได้ในที่สุด ใบไม้นี้เป็นดังเช่นมวลชนทั้งหลายที่อยู่ในเมืองนั้นเอง

       การเข้ามาอยู่ในใจกลางกรุงเทพมหานครฯ แล้วสร้างความไม่พอใจให้ชุมชนเช่นนี้ ย่อมหนีไม่พ้นต้องออกไปในที่สุด

       คำว่า มวลชนดังผนังทองแดงกำแพงเหล็ก จึงเป็นคำกล่าวที่เป็นจริง เมื่อท้องถิ่นพื้นที่สนับสนุนแล้ว การส่งกำลังบำรุง หรือการข่าวก็เป็นไปได้โดยง่าย

     ปัญหาในภาคใต้เราก็พบกับปัญหานี้ การใช้ความคิดเห็นของตนเอง พวกตนเองมากไปโดยมองข้ามสภาพแวดล้อมเป็นหนทางแห่งความพ่ายแพ้

       การบริหารการศึกษาก็เช่นเดียวกัน การเข้าใจชุมชน เป็นด่านแรกที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการบริหารการศึกษา

    การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น มีปัจจัยอันเป็นเงื่อนไขการเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนที่จะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ 
               1 ท่าทีของผู้บริหารโรงเรียนและครู ท่าที ลีลา การกระทำที่แสดงออกต่อชุมชนว่ามีความจริงใจ และเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด การไม่แปลกแยกจากวัฒนธรรมชุมชน และแสดงออกถึงความเคารพในศักดิ์ศรีของชาวบ้าน จะเป็นกลไกนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี 
               2 การสร้างความคุ้นเคยกับสมาชิกของชุมชน ครูและผู้บริหารโรงเรียน ควรเข้าหา เข้าใจ เข้าถึง ชาวบ้าน หรือผู้นำชุมชนก่อน ทำอย่างไรให้เกิดความรู้ ความรัก ความสนิทสนม ก่อเกิดทั้งน้ำใจ ไมตรี ความมีสมานฉันท์เชิงญาติมิตร 
               3 ความเชื่อความศรัทธา ที่ชุมชนมีต่อโรงเรียน โดยเกิดจากการทำงานของผู้บริหารและครูในโรงเรียนที่เสียสละ อุทิศและทุ่มเท เพื่อบุตรหลานของชุมชน ผนวกกับการเป็น ตัวแบบต้นแบบ ที่ดี จนเป็นที่ ศรัทธา เชื่อถือ เชื่อมือ เชื่อมั่น ว่าเป็นที่พึ่งของบุตรหลาน และชุมชนได้ อันนี้จะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้วยดี 
               4 การให้บริการทางวิชาการ โดยทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นศูนย์รวมทางวิชาการ แหล่งรวบรวมข้อมูล ศูนย์รวมวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยมีครูเป็นผู้นำทางปัญญา สามารถตอบสนองความต้องการทางประชาชนได้เต็มศักยภาพ เช่น ห้องสมุด อิเลกโทรนิค แปลงสาธิตทางการเกษตร แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สวนสมุนไพร เป็นต้น 
                5 การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชุมชน ในรูปแบบกรรมการสถานศึกษาขึ้นพื้นฐาน การแสวงหาเครือข่าย เช่น Sister Schools เป็นต้น หรือมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันจัดการศึกษา พัฒนาโรงเรียน การจัดการเรียนการสอน ทั้งในรูปแบบ กำกับ ส่งเสริม สนับสนุน ปรับปรุง พัฒนา คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน 
                 6 การประชาสัมพันธ์ เป็นสิ่งจำเป็นที่โรงเรียนควรสร้างความเข้าใจที่ดีต่อชุมชน เพราะอาจมีบางสิ่งบางอย่างที่เข้าใจไม่ตรงกัน อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โรงเรียนควรมีรูปแบบประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายให้เข้าถึงชุมชนได้ทุกที่ ทุกเมื่อ ทุกโอกาส ที่เหมาะสม 
                 7 กิจกรรมที่โรงเรียนจัดต้องสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน มากกว่าที่โรงเรียนจะได้รับฝ่ายเดียว สำคัญต้องสอดคล้องกับปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ และชีวิตจริง 
    
                 การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนให้ยั่งยืนต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียน ต้องมุ่งมั่น จริงจัง และต่อเนื่อง จึงจะส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะกัลยาณมิตรอย่างยั่งยืน

        อ้างอิง

http://www.sing-area.net/mangmoom/modules.php?name=News&file=article&sid=426

หมายเลขบันทึก: 355438เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท