Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

งานธรรมจักรบูชา อินเดีย ตอนที่ ๔


อนุโมทนาสาธุการ งานธรรมจักรบูชา วันที่ ๑-๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณ สังเวชนียสถาน พุทธคยา อินเดีย

สำหรับโครงการที่ ๓  ซึ่งเกิดขึ้นต่อมาในวันที่ ๖ – ๗ กุมภาพันธ์ คือ ธรรมยาตรา  มหาโพธิสมาคมได้ขอให้อาตมาเป็นผู้นำคณะธรรมยาตราในครั้งนี้อีกเช่นกัน  คือ  เป็นผู้นำคณะพระนานาชาติออกจาริก  เดินไปตามเส้นทางจากพระศรีมหาโพธิ์ (พุทธคยา)  สู่พระนครราชคฤห์จุดสิ้นสุด ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร  ใช้เวลา ๒ วัน กับ ๑ คืน  โดยหลังจากเสร็จสิ้นสักการบูชาพระศรีมหาโพธิ์แล้ว  อาตมาก็ถือธงนำกองทัพธรรมตั้งขบวนยาวเหยียด ๗๐๐ – ๘๐๐  คน  ที่มีพระนานาชาติมากมายเข้าร่วม  มีประเทศเกาหลีเป็นสปอนเซอร์  ที่รับภาระค่าใช้จ่ายสูง  มีค่าอาหาร เป็นต้น  มีสื่อมวลชน  โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  มาทำข่าวกันมากมาย  เพราะเป็นครั้งแรกของชาวพุทธที่เกิดธรรมยาตราในพุทธภูมิชมพูทวีปกึ่งพุทธกาล  ขบวนธรรมยาตราได้เดินตัดข้ามแม่น้ำแนรัญชราแล้วข้ามแม่น้ำโมหณี  ซึ่งปัจจุบันแห้งเป็นทะเลทรายจึงเดินยากมาก  เพราะทรายยุบตัว  เพื่อมุ่งหน้านำขบวนไปให้ถึงดงคสิริ  ซึ่งตามแผนกะว่าจะใช้เวลา ๓ ชั่วโมง  แต่เราเดินใช้เวลาเพียง ๒ ชั่วโมง  เพราะอาตมาเดินเร็ว  และเป็นผู้ถือธงนำขบวนไปโดยตลอดตามภาระที่ได้รับมอบหมาย  โดยกำหนดรับประทานอาหารกันที่ภูเขาดงคสิริ

 

            จากดงคสิริ  บางคนก็ขึ้นรถไป  แต่ส่วนใหญ่ก็เดินตามขบวนไป เพราะคิดว่าใกล้  เนื่องจากมีข้อมูลแจ้งว่ามีระยะทางเดินเพียง ๔ กิโลเมตร  แต่ปรากฏทางมันยาวเหยียดอ้อมไปมาจนน่าจะมากกว่า ๑๐ กิโลเมตร  ท่ามกลางฝุ่น  ความร้อน  และหลงทางด้วยอีกต่างหาก  จนไปออกที่หมู่บ้านโบดากาเร่ (แปลว่า  หมู่บ้านของพุทธะ)  เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยประทับเมื่อครั้งนำกองทัพธรรมสู่พระนครราชคฤห์  แม้จะเป็นการเดินที่หนักหนาสาหัสกับคณะ  โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเดินทางไกล  แต่ก็แปลกใจที่ทุกคนกลับแข็งแรง  แถวผู้คนที่เดินยาวเหยียดปราณ ๑ กิโลเมตร  ธงฉัพพัณรังสี  ฉายแสงนำขบวนโบกสะบัดไปทั่วขบวน  โดยเฉพาะในยามเดินตัดผ่านทุ่งนาในอินเดีย  ให้หวนนึกถึงกาลสมัยที่พระพุทธองค์ทรงนำพระสงฆ์สาวกออกโปรดสัตว์ทั้งหลาย  โดยขบวนธรรยาตราที่อาตมานำทัพครั้งนี้ได้เคลื่อนผ่านหมู่บ้านต่างๆ  และเมื่อทะลุออกถนนใหญ่ก็ได้มีชาวบ้านเป่าปี่ตีกลองต้อนรับอยู่บนถนนอย่างใหญ่โต  บนคออาตมามีคนถวายพวงมาลัยจนเต็มคอ  ต้องมีสติควบคุมจิตไม่ไปยินดีในลาภสักการะเหล่านั้น  โดยบางหมู่บ้านเป็นชาวบ้านที่นับถือศาสนามุสลิมมาคอยต้อนรับและเมื่อถึงตรงจุดที่เราจะขึ้นรถเพื่อไปเจเที่ยน  คือ ลัฏฐิวัน  หรือสวนตาลหนุ่ม  ที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากคยาสีสะ  มาประทับที่สวนตาลหนุ่มแห่งนี้  ในอดีตซึ่งพระเจ้าพิมพิสารพร้อมข้าราชบริพารจำนวน ๑๒ นหุต มาเข้าเฝ้า  เพื่อทูลเชิญพระองค์เข้าสู่พระนครราชคฤห์  และในครั้งนั้น ณ ลัฏฐิวันแห่งนี้  ได้เกิดพระอริยเจ้าตั้ง ๑๑๐,๐๐๐  และเกิดผู้ที่ถึงพระไตรสรณคมณ์อีก ๑๐,๐๐๐  รวมเรียกว่า ๑๒ นหุต  โดยพระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาธรรม  อันมีมหานาราทสูตรและอริยสัจ ๔ ที่นี่  ยังให้เกิดพระอริยบุคคลชั้นต้นมากมาย ณ  แผ่นดินแห่งนี้  ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “เจเที่ยน”

 

ในคืนที่พวกเราไปพัก (๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) อากาศหนาวมาก  สถานที่พักเป็นโรงเรียนเล็กๆ  ในขณะที่ผู้เข้าพักมีจำนวนมาก  รัฐบาลอินเดียจัดชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธ ๑ หมวด ไปรักษาการดูแลตลอดทาง  เพราะเคยมีพระเดินทางไปแล้วโดนปล้น  เส้นทางที่เดินเป็นเส้นทางผ่านหมู่บ้านคนจน  พระอินเดีย พระทิเบต ฯลฯ  ก็นอนเรียงรายตามหน้าอาคาร  แต่เขาก็อดทน  เข้มแข็งและมีความสุข  พวกพระไทย  คนไทยก็ได้นอนในห้องอาคารเรียนสะดวกสบายตามฐานะ  ทั้งโรงเรียนมีห้องน้ำ ๒ ห้อง ต้อนรับผู้คนจำนวนมาก  จึงไม่ต้องคิดว่าเกิดอะไรขึ้น

 

อนึ่งจากพิจารณาดูความจริงก็จะทราบว่าคนอินเดียให้ความชื่นชอบเรื่องธรรมยาตรากันมาก  จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ลงข่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์  และออกโทรทัศน์กันตลอดทุกระยะทางที่เดิน  ดังที่เราเคยเห็นพวกฮินดูเดินตามถนนและเห็นเขาถอดรองเท้าเดินกันมากมาย  เพื่อไปบูชาเทพเจ้าของเขา  และนี่เป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนาในกึ่งพุทธกาลที่จัดให้มี “ธรรมยาตรา”  จากเจเที่ยนก็เดินทางต่อไปยังพระนครราชคฤห์  โดยนึกในใจว่า  นี่เป็นเส้นทางเดินของพระพุทธเจ้าในอดีตจากลัฏฐิวัน  สู่เวฬุวัน ฯ  เป็นเส้นทางป่า  ครั้งนี้ทำให้อาตมามองเห็นอาณาเขตของพระนครราชคฤห์ที่มีลักษณะเป็น loop  กว้างใหญ่คล้ายรูปอะมีบา  มีภูเขาสบภูเขาต่อกันตลอด แต่ละเทือกเขายาวเป็นสิบกว่ากิโลเมตรและภายใน loop  ที่กว้างใหญ่ไพศาลของภูเขาเหล่านั้น  เป็นเมืองมหานครที่ยิ่งใหญ่ที่เราเดินไม่ทั่วถึง  เส้นทางจากลัฏฐิวันจนถึงตัวเมืองเวฬุวันจนถึงตัวเมืองเวฬุวันนั้นไม่ต่ำกว่า ๑๐ กิโลเมตร  ใจจริงอาตมาอยากถอดรองเท้าเดิน  แต่เส้นทางก็เต็มไปด้วยหินและหนาม  เดี๋ยวนี้เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านชาวป่าใช้  พอเดินไปได้พักหนึ่งรองเท้าของอาตมาก็ขาด  อาตมาก็เลยถอดรองเท้าทิ้ง  แล้วเดินเท้าเปล่านำทัพเหยียบหินและหนามไปจนเข้าสู่ตัวเมืองราชคฤห์  ท่านสีวลีเป็นพระผู้ใหญ่ของศรีลังกา  พอเห็นอาตมาถอดรองเท้า  ท่านก็เลยถอดเดินด้วย  หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ว่ากูรูยีถอดรองเท้าเดินนำธรรมยาตรา  เมื่อไปถึงที่หมาย  เขาก็เตรียมการต้อนรับที่ถ้ำของพระเจ้าพิมพิสาร  โทรทัศน์มาทำรายงานข่าวออกไปทั่วอีกเช่นกัน

 

จากจุดที่พักที่ถ้ำสมบัติพระเจ้าพิมพิสารก็ออกเดินต่อไปสู่ภูเขาคิชฌกูฏเพื่อขึ้นรัตนคีรี  เพื่อจะได้กราบสักการบูชาสันติสถูปที่ตั้งอยู่บนยอดเขา  เดินในป่าก็หนักหนาแล้ว  ยังมาเดินต่อบนถนนร้อนๆ  แบบไม่ใส่รองเท้า  อาตมาก็ห่วงเหมือนกันว่า  เท้าเราคงยับเยิน  เพราะรู้สึกเจ็บมาก  แต่ก็ได้นำคณะขึ้นภูเขาคิชฌกูฏแบบไม่ต้องพัก  อาตมาเกือบเป็นลม  ทุกคนหน้ามืดกันหมดเพราะเร่งเดินในขณะที่อากาศร้อน  ปีนภูเขาสองลูกใหญ่ๆจากคิชฌกูฏสู่รัตนคีรีอีกลูกหนึ่งซึ่งกลับลงมาเดินเท้าต่อเข้าเวฬุวันฯ คาดว่าอีกประมาณ ๘-๙ กิโลเมตร  วัดเวฬุวันฯ  ก็เปิดประตูต้อนรับ  สิ่งที่เกิดขึ้นมีการทำข่าวไปทั่วชมพูทวีปประกาศศาสนกิจภายใต้การนำของพระสงฆ์ไทยที่เป็น Forest monk และตอนนี้ที่ราชคฤห์เปลี่ยนแปลงไปมาก  รัฐบาลอินเดียที่เป็นฮินดูให้ความสนใจจัดสรรงบประมาณมาทุ่มปรับปรุงเวฬุวัน  เพื่อรองรับงานมาฆบูชาโลก  ที่จะจัดให้มีขึ้นใน ๒๖-๒๘ กุมภาพันธ์นี้  ถนนทางเดินภายในเวฬุวันฯ  ถูกปรับเป็นถนนซิเมนต์ ในวันนี้อาตมามีกุฏิหลังแรกที่วัดเวฬุวันฯ เรียบร้อยแล้ว เป็นกุฏิหลังแรกที่บูชาพระคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าในวัดเวฬุวันมหาวิหารแห่งนี้

 

สภาพในวันนี้วัดเวฬุวันฯ  ของพระพุทธเจ้าได้ถูกปรับปรุงพัฒนาให้เกิดสภาพใหม่อย่างสวยงามและที่สำคัญทางหน่วยงานราชการของอินเดียได้มาหารือว่า  หากทางเรามีความประสงค์  เขาก็พร้อมจะทำเรื่องขอคืนพระพุทธรูปโบราณสมัยพระเจ้าอโศก  จากพิพิธภัณฑ์กลับมาประดิษฐานที่เวฬุวัน  โดยขอให้เราสร้างศาลาให้  ทางเราตอบตกลงด้วยความยินดีเพื่อบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทปาฏิโมกข์เป็นหนึ่งวิหาร  มีพระพุทธรูปเก่าแก่มาประดิษฐานไว้  ดร.อุปสัมปทา  กล่าวว่า  “ นับแต่ Forest monk – Guruji  จากประเทศไทยมาพักอยู่ที่เวฬุวันฯ  รัฐบาลของเขาได้ให้ความสำคัญกับตำบลเล็กๆแห่งนี้  หันมาทุ่มเทพัฒนาการวัดเวฬุวันฯ อย่างเข้มแข็งมากอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน”

 

จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลอินเดียได้ให้การสนับสนุนการจัดงานมาฆบูชาโลกที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร  นครราชคฤห์ (แคว้นมคธในอดีต) ในระหว่าวันที่ ๒๖- ๒๘ กุมภาพันธ์  พุทธศักราช ๒๕๕๓  จึงใคร่ของแจ้งข่าวสารสู่ศรัทธาชาวไทยสาธุชนทุกท่าน  เพื่อร่วมอนุโมทนาสาธุการและมีส่วนร่วมในงานบุญดังกล่าว  เพื่อทำการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องต่อไป  และหากพระสงฆ์ อุบาสก-อุบาสิกาคณะใดประสงค์ที่จะไปร่วมงานมาฆบูชา ณ วัดเวฬุวันฯ ในครั้งนี้  ก็สามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์  ถนนศรีอยุทธยา  หรือจดหมายเข้ามาที “ธรรมส่องโลก” ก็ได้  จึงขอจบการบอกกล่าวเล่าเรื่องเพื่อร่วมกันอนุโมทนาสาธุการ ณ บัดนี้

 

ขอเจริญพร

พระอาจารย์อารยะวังโส

 

 

 อ่านรายละเอียดตอนที่ผ่านมาได้ค่ะ

  

 อ่านงานธรรมจักรบูชา อินเดีย ตอนที่ ๑  ได้ที่นี่ค่ะ

 

 http://gotoknow.org/blog/arayawangso/344722 

 

อ่านงานธรรมจักรบูชา อินเดีย ตอนที่ ๒  ได้ที่นี่ค่ะ

  

http://gotoknow.org/blog/arayawangso/344805

 

อ่านงานธรรมจักรบูชา อินเดีย ตอนที่ ๓  ได้ที่นี่ค่ะ

http://gotoknow.org/blog/arayawangso/354313

 

อ่านลิขิตธรรมของหลวงพ่ออารยะวังโส  ได้ที่นี่ค่ะ

   

http://gotoknow.org/blog/arayawangso/344511

 

หมายเลขบันทึก: 354365เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2010 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะสำหรับเรื่องเล่าดีๆ ชวนติดตามมาก..เสียดายว่าไม่มีรูปประกอบ จึงต้องหลับตานึกภาพเองค่ะ..

                          

ขอโทษนะคะที่ไม่มีรูปประกอบบันทึก

แพรไม่ได้ไปร่วมงานด้วย ก็เลยไม่ได้ถ่ายภาพไว้ค่ะ

ต้องขอความอนุเคราะห์จากญาติธรรมที่ได้ร่วมเดินทางไปในงานนี้ด้วยนะคะ

ช่วยอัพโหลดภาพประกอบให้ญาติธรรมทั้งหลายที่ได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้

อนุโมทนาสาธุด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีอีกครั้งค่ะอาจารย์  ประทับใจ ชื่นชม อาจารย์สาวคนงาม เปี่ยมธรรมะ ระดับนักธรรมเอก ด้วยใจจริง ค่ะ

มาบันทึกนี้ ยิ่งชอบๆ หลงใหลเส้นทางสายพุทธภูมิอินเดียมานานมากๆ ค่ะ งานธรรมจักรบูชา ยิ่งน่าเลื่อมใส

ชื่นชมยินดี และขอเป็นกำลังใจ กับบทบาทหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ ของอาจารย์ในการเผยแผ่ศาสนาให้แก่คนรุ่นใหม่ เพื่อดำรงไว้อย่างยั่งยืน ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณนะคะคุณปู

สำหรับคำชมและกำลังใจในการทำงานเผยแผ่ธรรมเพื่อสังคมต่อไป

มีกำลังใจพิมพ์บันทึกต่อมากขึ้นเลยค่ะ 555

โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท