ราวกับพระพุทธองค์ทรง "ทั้งปลอบทั้งขู่" (2)


เมื่อเราได้ศึกษามาบ้างแล้ว ทำให้เรารู้ว่า มรรคมีองค์ ๘ หรือที่สรุปลงเป็นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการศึกษาและการปฏิบัติที่นอกจากจะพัฒนาปัญญาแล้ว ยังทำให้พ้นทุกข์ได้อีก จึงตั้งใจปฏิบัติโดยเริ่มที่การรักษาศีล

โดยในระยะเริ่มต้น อาจรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ ที่ถืออันเป็นการสำรวมกาย วาจาก่อน ต่อมา ก็เพิ่มการสำรวมทางใจ (ซึ่งทั้งหมดรวมเรียกว่าอินทรีย์สังวร) และอื่นๆ ขึ้นด้วย จนศีลในขั้นต้นได้ กลายเป็นอธิศีลสิกขาไป

ดร.วัชระ งามจิตเจริญ อธิบายความหมายของอธิศีลสิกขาไว้อย่างเข้าใจได้ง่ายๆว่า

อธิศีลสิกขา จึงหมายถึงการรักษาศีล แต่ไม่ใช่การรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ โดยทั่วไป หรือในศาสนาอื่น แต่ต้องเป็นการรักษาศีลที่ประกอบด้วย สมาธิ ปัญญา โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่นิพพาน

(ดร.วัชระ งามจิตเจริญ พุทธศาสนาเถรวาท หน้า ๓๙๘)

เมื่อรักษาศีลแล้ว การปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ดังพุทธพจน์นี้

ภิกษุ ท.! เมื่ออาทิตย์อุทัยขึ้น การขึ้นมาแห่งอรุณ (แสงเงินแสงทอง) ย่อมเป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตที่แลเห็นก่อน ; ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น : เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ของภิกษุ , ศีลสมบัติ (ความถึงพร้อมด้วยศีล ) ย่อมเป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตเบื้องต้น ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลแล้ว เธอต้องหวังข้อนี้ได้ คือว่า เธอจักอบรมอริยอัฏฐังคิกมรรคให้เกิดขึ้นได้ จักทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้มากขึ้นได้

ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลแล้ว ย่อมอบรมอริยอัฏฐังคิกมรรคให้เกิดขึ้นได้ ย่อมทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้มากขึ้นได้ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอบรมสัมมาทิฏฐิ ย่อมอบรมสัมมาสังกัปปะ ย่อมอบรมสัมมาวาจา ย่อมอบรมสัมมากัมมันตะ ย่อมอบรมสัมมาอาชีวะ ย่อมอบรมสัมมาวายามะ ย่อมอบรมสัมมาสติ และย่อมอบรมสัมมาสมาธิ ชนิดที่การนำออกซึ่งราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ เป็นผลสุดท้าย. ภิกษุ ท.! ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลแล้ว ย่อมอบรมอริยอัฏฐังคิกมรรคให้เกิดขึ้นได้ ย่อมอบรมอริยอัฏฐังคิกมรรคให้มากขึ้นได้.

บาลี พระพุทธภาษิต มหาวาร.สํ. ๑๙/๓๘/๑๔๐ ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่เชตวัน

(พุทธทาสภิกขุ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๒๒๔)

ตอนต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #อธิศีลสิกขา
หมายเลขบันทึก: 354025เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2010 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะพี่ณัฐ .. ธรรมะ จะช่วยเยียวยา ทุกสิ่งอย่าง ใช่ไหมคะพี่

มาอ่านเรื่องราวดีๆ และจะภาวนาค่ะ ... พี่ณัฐจ๋า ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณณัฐรดา : มีเรื่องราวดีๆ มาฝากกันอีกแล้ว ... สบายดีนะค่ะ ทางนี้อากาศร้อนมากๆ ค่ะ เหมือนจะหายใจไม่ค่อยทันเลย ...

สวัสดีครับ

‘ศีล’ ละการทำผิดทำบาปทางกาย ทางวาจา ‘สมาธิ’ ละการผิดทำบาปทางใจ ‘ปัญญา’ ละความเห็นผิด

แต่อินทรียสัวรศีล เป็นศีลในระดับอัตโนมัติ (พ้นจากเจตนา) ที่คุ้มครองรักษาจิตโดยสัมมาสติ ไม่ให้กิเลสถูกครอบงำเมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะสติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล เมื่อเกิดกุศล อกุศลก็จะไม่เกิดไม่ได้ เนื่องจากกุศลกับอกุศลจะเกิดร่วมกันไม่ได้

ตามที่ครูบาอาจารย์กล่าวไว้ว่า เมื่อมีสติอยู่เนืองๆ ก็เท่ากับทำความเพียรอยู่เนืองๆ (องค์ธรรมฝ่ายกุศลทั้งหมด รวมลงอยู่ในสติตัวเดียว องค์ธรรมฝ่ายกุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดสติเพียงตัวเดียว)

ขาดสติ ศีลก็ไม่เกิด, สมาธิก็ไม่เกิด. ปัญญาก็ไม่เกิด

ณัฐพงษ์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท