คาร์ล ไฮน์ริช มาร์กซ


คาร์ล ไฮน์ริช มาร์กซ (Karl Heinrich Marx) (5 พ.ค. ค.ศ. 1818 (พ.ศ. 2361) - 14 มี.ค. ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426)) เป็นนักคิดที่มีอิทธิพลอย่างสูงชาวเยอรมัน เขาเป็นทั้งนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และยังเป็นนักปฏิวัติ มาร์กซไม่ใช่เป็นแค่นักทฤษฎีทางสังคมและการเมือง แต่เขายังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มกรรมกรนานาชาติ (International Workingmen's Association) แม้ว่าในอาชีพของมาร์กซ เขาได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ ในลักษณะของนักข่าว และนักปรัชญา ผลงานหลักของเขาคือบทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่มองผ่านทางการปะทะกันระหว่างชนชั้น โดยกล่าวสั้น ๆ ได้ดังคำนำในหนังสือคำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ว่า: "ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาล้วนแต่ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น" งานเขียนของเขาเป็นแกนหลักของการเคลื่อนไหวในแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์, สังคมนิยม, ลัทธิเลนิน, และลัทธิมาร์กซ

วัยเด็ก
                 คาร์ล มาร์กซ เกิดในครอบครัวชาวยิวหัวก้าวหน้าในเมืองเทรียร์แคว้นปรัสเซีย (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเยอรมนี) พ่อของเขา เฮอร์เชล ผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่เป็นราไบ ทำอาชีพทนาย ชื่อสกุลเดิมของมาร์กซคือ "มาร์กซ เลวี" ซึ่งแปลงมาจากชื่อสกุลยิวเก่าว่า มาร์โดไค ในปี ค.ศ. 1817 พ่อของมาร์กซได้เปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาคริสต์นิกายลูเธอร์ซึ่งเป็นศาสนาประจำรัฐปรัสเซีย เพื่อรักษาอาชีพทนายเอาไว้ ครอบครัวมาร์กซเป็นครอบครัวเสรีนิยม และได้รับรองแขกที่เป็นนักวิชาการและศิลปินหลายคนในสมัยที่มาร์กซยังเป็นเด็ก

การศึกษา
                   มาร์กซได้คะแนนดีใน ยิมเนเซียม ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมปลายของรัฐปรัสเซีย เขาได้รางวัลจากวิทยานิพนธ์ระดับมัธยมปลายที่มีชื่อว่า "ศาสนา: กาวที่เชื่อมสังคมเข้าด้วยกัน" งานชิ้นแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้กับงานวิเคราะห์ศาสนาของเขาต่อไปในภายหลัง มาร์กซเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองบอนน์ในปี ค.ศ. 1833 (พ.ศ. 2376) เพื่อศึกษากฎหมาย ตามคำเรียกร้องของบิดา ที่บอนน์เขาเข้าชมรมนักเดินทางแห่งเทรียร์ (และบางช่วงยังได้เป็นประธานชมรม) ผลการเรียนของเขาเริ่มตกต่ำ เนื่องจากเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการร้องเพลงอยู่ในร้านเบียร์ ปีถัดไปพ่อของเขาจึงให้เขาย้ายไปยังกรุงเบอร์ลินเพื่อเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮล์ม (Friedrich-Wilhelms-Universität) ที่เอาจริงเอาจังด้านการวิชาการมากขึ้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้คือมหาวิทยาลัยฮัมโบล์ดท (Humboldt University of Berlin)

มาร์กซและกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่
                    ที่เบอร์ลิน มาร์กซเริ่มหันไปสนใจปรัชญาท่ามกลางความไม่พอใจของบิดา เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ที่มีอายุไม่มากที่เป็นที่รู้จักในชื่อ "กลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่" (Young Hegelians) ซึ่งนำโดยบรูโน บาวเออร์ (Bruno Bauer) สมาชิกหลายคนในกลุ่มพยายามโยงปรัชญาแนวหลังอริสโตเติลเข้ากับปรัชญาหลังเฮเกิล มักซ์ สเตอร์เนอร์ สมาชิกกลุ่มเฮเกิลรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง นำการวิพากษ์แบบเฮเกิลมาใช้เพื่อสร้างคำอธิบายที่แทบจะเป็นแบบสุญนิยม ว่าสุดท้ายแล้วอีโกนิยมคือเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ แนวคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของแทบทุกคนในกลุ่ม และมาร์กซได้โต้แนวคิดนี้บางส่วนใน Die Deutsche Ideologie (อุดมการณ์เยอรมัน)
                    เกออร์ก เฮเกิล (Georg Hegel) เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานในปีค.ศ. 1831 (พ.ศ. 2374) และในช่วงชีวิตของเขานั้น ได้เป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลทางวิชาการในสังคมเยอรมนีมาก กลุ่มที่เชื่อแนวคิดแบบเฮเกิล (รู้จักกันในชื่อว่า กลุ่มเฮเกิลขวา) เชื่อว่าลำดับการวิภาษทางประวัติศาสตร์นั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และสังคมปรัสเซีย ที่ถึงพร้อมด้วยการบริการพลเมือง มหาวิทยาลัยที่ดี การพัฒนาทางอุตสาหกรรม และอัตราการจ้างงานที่สูง เป็นผลสรุปของการพัฒนาการทางสังคมดังกล่าว กลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ที่มาร์กซสังกัดอยู่ด้วยนั้นเชื่อว่ายังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบวิภาษอีก และสังคมปรัสเซียในขณะนั้น ยังมีความไม่สมบูรณ์อีกมาก ทั้งนี้เนื่องจากสังคมยังมีความยากจน รัฐบาลยังคงใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มแข็ง และกลุ่มคนที่มิได้นับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเธอร์ยังคงโดยกีดกันทางสังคม
มาร์กซถูกเตือนมิให้ส่งวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮล์ม เนื่องจากคาดว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับที่นั่นเนื่องจากชื่อเสียงของมาร์กซ ว่าเป็นนักคิดแนวถอนรากถอนโคนในกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ มาร์กซจึงส่งวิทยานิพนธ์ของเขา ที่เปรียบเทียบทฤษฎีทางด้านอะตอมของดิโมคริตัสกับอีพิคารุสไปยังมหาวิทยาลัยเจนา ในปีค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) ซึ่งได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มาร์กซจบการศึกษา

อาชีพ
                       เมื่อบาวเออร์อาจารย์ของเขาถูกขับออกจากภาควิชาปรัชญาในปี ค.ศ. 1842 (พ.ศ. 2385) มาร์กซจึงเลิกสนใจปรัชญาและหันเหความสนใจไปยังการเป็นนักข่าว เขาได้เข้าทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung หนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าของเมืองโคโลญน์ อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์เล่มนั้นโดนสั่งปิดในปี ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) ซึ่งเป็นผลบางส่วนจากความขัดแย้งระหว่างมาร์กซกับมาตรการเซ็นเซอร์ของรัฐ มาร์กซกลับไปสนใจปรัชญา และหันไปเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมกับทำงานเป็นนักข่าวอิสระ ไม่นานมาร์กซก็ต้องเดินทางลี้ภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่มาร์กซต้องกระทำอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากการแสดงความเห็นแบบถอนรากถอนโคนของเขา
                   มาร์กซเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ที่นั่นเอง เขาได้ขบคิดเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเขากับบาวเออร์และกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ และได้เขียนบทความ ปัญหาชาวยิว (On the Jewish Question) ซึ่งเป็นบทวิพากษ์แนวคิดปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและการปลดปล่อยทางการเมือง ที่ปารีสเขาได้พบ ฟรีดริช เองเกิลส ผู้ซึ่งกลายเป็นผู้ร่วมงานกับมาร์กซไปตลอดชีวิตของเขา เองเกิลสได้กระตุ้นให้มาร์กซสนใจสถานการณ์ของชนชั้นทำงาน และช่วยแนะนำให้มาร์กซสนใจเศรษฐศาสตร์ เมื่อเขาและเองเกิลสถูกภัยการเมืองอีกครั้งอันเนื่องมาจากงานเขียน เขาย้ายไปยังเมืองปรัสเซล ประเทศเบลเยียม
                    พวกเขาได้ร่วมกันเขียนบทความชื่อ อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology) ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาของเฮเกิลและกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ หลังจากนั้นมาร์กซเขียน ความอับจนของปรัชญา (The Poverty of Philosophy) ซึ่งวิพากษ์ความคิดสังคมนิยมสายฝรั่งเศส บทความทั้งสองวางรากฐานให้กับ คำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) อันเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของมาร์กซและเองเกิลส. หนังสือ คำประกาศเจตนา ซึ่งสมาพันธ์คอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อพยพชาวเยอรมันที่มาร์กซได้พบที่ลอนดอนได้ร้องขอให้เขียน ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391)ปีนั้นเอง ในยุโรปได้เกิดการลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ กลุ่มคนงานได้เข้ายึดอำนาจจากกษัตริย์หลุยส์ ฟิลิปป์ในฝรั่งเศส และได้เชิญมาร์กซกลับปารีส หลังจากที่รัฐบาลคนงานล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392) มาร์กซย้ายกลับไปยังโคโลญน์ และได้เริ่มพิมพ์หนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ขึ้นมาใหม่ก่อนจะถูกสั่งปิดลงอีกครั้ง สุดท้ายมาร์กซจึงย้ายไปยังลอนดอน. ในปี ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) มาร์กซได้เขียนแผ่นพับ การปฏิวัติของหลุยส์โบนาปาร์ต (The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte) ที่วิเคราะห์เหตุการณ์ที่นโปเลียนเข้ายึดประเทศฝรั่งเศส. จากปี ค.ศ. 1852 ถึง 1861 ขณะที่อยู่ที่ลอนดอน มาร์กซทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวฝั่งยุโรปให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กทรีบูน (New York Tribune)

 

ช่วงปลายชีวิตของมาร์กซ
                    ที่ลอนดอน ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการโต้เถียงเรื่องการอ้างคำพูดของแกลดสโตนนี้ มาร์กซได้ทุ่มเทเวลาไปกับการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์และเชิงทฤษฎีสำหรับการเขียนหนังสือ ทุน (หรือในชื่อเต็มว่า ทุน: บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และชื่อภาษาเยอรมันว่า Das Kapital). มาร์กซตีพิมพ์เล่มแรกของชุดในปี ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410), สำหรับอีกสองเล่มที่เหลือนั้น มาร์กซไม่ได้เขียนให้เสร็จสิ้น แต่ได้รับการเรียบเรียงโดยเองเกิลสจากบันทึกและร่างต่าง ๆ และตีพิมพ์หลังจากที่มาร์กซเสียชีวิตลงแล้ว
                   ช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนนั้น ครอบครัวของมาร์กซค่อนข้างยากจน และยังต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากเองเกิลสเป็นระยะ ๆ มาร์กซเสียชีวิตที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426) ศพของเขาฝังที่สุสานไฮห์เกต (Highgate Cemetery) ที่ลอนดอน บนป้ายชื่อของเขาจารึกไว้ว่า: "กรรมาชีพในทุกพื้นถิ่น จงรวมพลัง!" ("Workers of all lands, unite!")

ชีวิตสมรส
                 เจนนี ฟอน เวสฟาเลน ผู้เป็นภรรยาของมาร์กซ มาจากครอบครัวราชการ ลุงของเธอคือไลออน ฟิลิปส์ บิดาของพี่น้องเจอราร์ดและแอนตันผู้ก่อตั้งบริษัทฟิลิปส์ในปีค.ศ. 1891 ครอบครัวมาร์กซมีลูกหลายคน แต่ก็มีหลายคนที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก เอลินอร์ มาร์กซลูกสาวของพวกเขา (1855-1898) ซึ่งเกิดในลอนดอน ก็เป็นนักสังคมนิยมที่ทุ่มเทและช่วยแก้ไขงานของพ่อของเธอ เจนนี มาร์กซเสียชีวิตในเดือนธันวาคมปีค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424)

ที่มา

http://www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=554.msg18699

หมายเลขบันทึก: 353105เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2010 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท