จิตตปัญญาเวชศึกษา 128: เด็กในวันนี้


เด็กในวันนี้

วันนี้นั่งอ่านบทความในอดีต แล้วก็มาถึงบทความหนึ่ง ไม่ได้เขียนเอง แต่ขอมาจากจิตวิวัฒน์ เขียนโดยอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ซึ่งจบลงด้วยบทแปลของกวีชิลีผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม กาเบรียล มิสตรัล (Gabriela Mistral) แล้วเกิดแรงบันดาลใจ

เราสำนึกความผิดมามากครั้ง
ความพลาดพลั้งพานพบมาหลายหน
แต่บาปอันมหันตโทษของผู้คน
คือทิ้งเด็กต้องผจญความเดียวดาย
อีกเมินผ่านธารทองของชีวิต
ทุกสิ่ง สิทธิ์ปรารถนาวิญญาณ์หมาย
เราอาจคอยเวลาเฝ้าท้าทาย
แต่เด็ก สายเกินนักจักรอไว้
ทุกเวลาก่อร่างและเลือดเนื้อ
จิตสำนึก โอบเอื้อเพื่อเติบใหญ่
สำหรับเด็กมิอาจรอ “วันต่อไป”
ชื่อ เด็กไซร้แม่นมั่นคือ “วันนี้”

“We are guilty of many errors and many faults, but our worst crime is abandoning the children, neglecting the fountain of life. Many of the things we need can wait. The child cannot. Right now is the time his bones are being formed, his blood is being made, and his senses are being developed. To him we cannot answer ‘Tomorrow,’ his name is today.”

Su Nombre es Hoy (His name is "Today")

เราทุกคนมีมฤดกตกทอด ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหนก็ตาม เราจะท้ิงร่องรอยว่าครั้งหนึ่ง "มี" เราอยู่บน planet earth แห่งนี้เสมอ เพราะจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ทุกๆคนจะมี imprint หรือร่องรอยต่อชีวิตอื่นๆด้วยเสมอ โดยเฉพาะกับเด็กๆ

ไม่เฉพาะแค่ลูกหลาน แต่ผู้เยาว์เหล่านี้มองหาแบบแผน แนวทางเดิน และมองไปที่ผู้ที่โตกว่า มาก่อน อยู่ตลอดเวลา การเป็น "นักเรียน/ครู" ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน จ่ายค่าเทอม หรือนั่งในห้องเรียนเท่านั้น หาก "พฤติกรรมการเรียน การสอน" เกิดขึ้นตลอดเวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กัน ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งว่า หากสังคมที่แวดล้อมเราเป็นเช่นไร เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราเองก็ "มีส่วน" ในการทำให้เกิดสิ่งที่เป็นอยู่ด้วย และหากเรา "ปฏิเสธ" เรื่องนี้ เราเองที่จะไม่เข้าใจ และหาทางแก้ปัญหาแบบไม่ตรงจุด ไม่ตรงเหตุ เพราะมันถูกเบี่ยงเบนไปตั้งแต่แรก

ใน workshop ที่ผมเคยเข้าไปมีส่วนร่วม กิจกรรมหนึ่งคือ "กลับสู่วัยเยาว์" เป็นช่วงที่ให้ผู้เข้าร่วมสงบสติอารมณ์ ผ่อนคลาย แล้วลองรำลึกนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ สมัยที่ยังเป็นเด็ก ทำอะไร เห็นอะไร รับรู้อะไร รู้สึกอะไร เสร็จแล้วลองนำมาเล่าให้เพื่อนๆฟัง บางครั้งขณะที่ได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ เราแทบจะสามารถ "มองเห็น" เงาเลือนรางของเด็กผมแกละ ซนๆ นั่งซ้อนคนที่อยู่เบื้องหน้า ทำให้เรา "เข้าใจ" บุคลิกที่มาความคิดและพฤติกรรมตอนนี้ ในปัจจุบันนี้ ของคนๆนี้ได้อย่างมากมาย imprint อะไรบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่กับประสบการณ์ตรงในอดีต จะว่าไป เป็นบทเรียนที่ทรงพลัง เหนือกว่าเนื้อหาสาระในห้องเรียน ในโรงเรียน อีกมากมายนัก

ในกระดาษหน้าแรกของตำราแพทยศาสตรศึกษาเล่มหนึ่ง มีเขียนไว้ว่า "We are learning while you least expect it." เป็นคำของนักศึกษาแพทย์ที่เขียนบอกอาจารย์แพทย์ไว้ หมายความว่า การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ได้เกิดขึ้นตอนเฉพาะที่ครู "จัดฉาก" ไว้เท่านั้น แถม ยังเป็นการเรียนที่เฉพาะหน้า ที่นำไปใช้จริง ได้แก่ ไม่ว่าครูอาจารย์จะพูดว่าอะไรในชั้นเรียนจริยธรรม จริยศาสตร์ แต่สิ่งที่นักเรียนจะทำ จะเชื่อ ก็คือต่อเมื่ออาจารย์ได้แสดงออก กระทำจริง ณ แผนกผู้ป่วยนอก ข้างเตียงคนไข้ ตอนคุยกับญาติ เพราะตอนนั้นเองที่นักเรียนกำลัง "เห็น" ว่า เออ หมอจริงๆเขาทำกันอย่างนี้ คิดกันอย่างนี้ และพูดกันอย่างนี้ (ส่วนที่เกิดขึ้นในห้องเรียนนั้น เป็นเอาไว้ตอบสอบเท่านั้น) ถ้าไม่ระวังและไม่ทราบอย่างนี้ ครูอาจารย์ก็จะ "ถูกจับได้" เรียกว่า off-guard คือการ์ดตก เผอเรอแสดงให้นักเรียนรู้ว่าที่จริงๆแล้วที่พูดไปครูเชื่อในสิ่งที่พูดมากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่เรา "กระทำ" ทุกๆวันนี้่ ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนของสังคมจริงๆ ที่จะเกิดขึ้นใน generations ต่อๆไปอย่างแท้จริง และอย่างที่ว่า เด็กนั้นจะ "สังเกต" ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้เฉพาะบางอย่างที่เราต้องการ อยาก ให้สังเกต แต่ทุกๆอย่างที่เกิดขึ้น และบางทีก็จะไปเพ่งเล็งตรงอะไรที่เราไม่ทันนึก ไม่ทันระวังสังเกต และจับมาเป็นประเด็น เป็นตัวหลักไปได้อย่างรวดเร็ว

ครั้งหนึ่ง ผมเคยสอนแสดงการสนทนากับคนไข้และญาติ ในกรณีที่คนไข้และญาติไม่อยากออกจากโรงพยาบาล เราก็จะสนทนาหาเหตุว่าทำไม เขาต้องการจะให้เราสอน เราช่วยเหลืออะไรบ้าง เพื่อที่เขาจะได้กลับไปทำที่บ้านถูก ผมก็จัดให้มีคนไข้จำลอง แล้วก็ลองสัมภาษณ์ให้ดู พอทำเสร็จ ก็ถามนักเรียนทีี่ล้อมวงดูว่าเมื่อสักครู่เห็นอะไรบ้าง เด็กตอบว่า "เห็นอาจารย์พยายามไล่คนไข้กลับบ้านอยู่ครึ่งชัวโมงค่ะ!!!"

เราก็อึ้งไปวูบ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เคืองอะไรเด็ก แต่นี่คือ "การรับรู้" ที่ authentic ว่าเขารับรู้่แบบนี้ แม้ว่าคนอื่นจะเห็นว่ามีการเรียนเรื่องการสัมภาษณ์ที่เป็นองค์รวม แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิด "มุมต่าง" ที่อาจจะเป็นเรื่องราวตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราคาดหวังอยู่ได้ตลอดเวลา ถ้าหากเราไม่ตรวจสอบ ถาม หรือให้เด็กสะท้อนให้ดี ภายหลังเราอาจจะแปลกใจได้มากๆว่า เอ.. เขารับ เขาเรียนเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อไร และจากใคร

เหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นบทเรียนภาคปฏิบัติที่สำคัญ ที่เราอาจจะต้องดูแลและไม่ได้คิดถึงเพียงแค่ว่าแพ้ชนะ เพราะผมคิดว่าแพ้หรือชนะจากเหตุการณ์แบบนี้ ไม่มีทาง justify ถูกหรือผิดไปได้ แต่เป็นบทเรียนเรื่อง "เหตุปัจจัย" ความซับซ้อนของความสุข/ทุกข์ที่มีการให้นิยาม ความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และข้อสำคัญก็คือ ทั้งฝ่ายที่อาจจะแพ้หรือชนะนั้น ได้ "บทเรียนชีวิต" อะไรไปบ้าง ลูกหลานของเรากำลังได้บทเรียนอะไรไปบ้าง

ถ้าเราไปแปลง่ายๆว่าใครชนะคือถูก ใครแพ้คือผิด นั่นจะเป็นการส่ง wrong message ที่มีผลกระทบยาวไกล เพราะทั้งสองมิติ ไม่ได้สะท้อน value ซึ่งกันและกัน มีบ่อยครั้งที่ชนะคือทรราชย์ แพ้คืออ่อนแอ (ทางกายภาพ) แต่เข้มแข็ง (ทางจิตวิญญาณ) ในเวลาเดียวกัน อย่างที่มหาตมะคานธีได้แสดง "อหิงสา" (ฉบับถูกต้อง ดั้งเดิม ไม่ใช่แค่ lip service หรือ catch-phrase ประจำวันนี้) ว่าทำอย่างไรจึงจะเรียก

บทเรียนสำหรับลูกหลานของเรา ก็คือ เหตุการณ์ปัจจุบัน ยังไงๆ เราก็อยู่ในสังคม เราไม่ได้อยู่ในโลกสมมติ ฉะนั้น คงจะหลีกเลี่ยงที่เราจะให้ความเห็น ตีความ และตัดสินเรื่องราวต่างๆให้รุ่นต่อๆไปของเราฟัง นี่จะกลายเป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบว่าเราจะทำกันอย่างไร แสดงกันอย่างไร และพูดกันอย่างไร อย่าได้ด่วนตัดสิน มักง่าย เอาฉบับง่ายๆไปก่อนก็แล้วกัน แต่จะกลายเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะทำให้เห็นว่ามนุษย์นั่นซับซ้อน สุขหรือทุกข์มีหลายมิติ และความต่าง สามารถเป็นได้ทั้งความสวยงาม ความน่าเกลียดน่ากลัว แต่เราเองที่จะเป็นคนเลือกว่าจะเอา version ไหน ที่จะกลายเป็นตัวเราในอนาคต

ถ้าไม่ทำเพื่อตนเอง ก็ขอให้ทำเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป

หมายเลขบันทึก: 353049เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2010 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทำจิตให้มอง 2 ด้านและภาวนาให้จบลงด้วยดีค่ะ

คงต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ค่ะ

เข้ามาทักทายอาจารย์ค่ะ

บทความไว้อาลัย นศพ. คนนั้นหรือคะ ?

ด้วยรักค่ะ .. และเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท