เพิ่งรู้ว่าคำ ทะเลาะ มาจาก กลห


ขัดแย้ง บาดหมาง ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาท มุ่งร้ายกัน ถกเถียงกัน และอธิกรณ์ คือเรื่องที่ต้องจัดการให้เรียบร้อย

ในพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าทรงเรียกความขัดแย้งว่า “อธิกรณ์” โดยสารัตถะ มีความหมายถึง ”ปัญหา ข้อพิพาท และเรื่องที่ต้องอภิปราย” มีความหมายถึง เรื่องที่จะต้องจัดการให้เรียบร้อย[1] ในบาลี ได้กล่าวลักษณะของความขัดแย้งไว้ ๖ ประการ คือ ความบาดหมาง (ภณฺฑน) การทะเลาะ (กลห) การแก่งแย่ง (วิคฺคห) การวิวาท (วิวาท) การมุ่งร้ายกัน (เมธคา) การถกเถียงกัน (โวหาร) และอธิกรณ์จำแนกเป็น ๔ ประการ[2] คือ วิวาทาธิกรณ์ (การทะเลาะบาดหมางกัน) อนุวาทาธิกรณ์ (การกล่าวหาฟ้องร้องกัน) อาปัตตาธิกรณ์ (เรื่องอาบัติที่จะต้องจัดการให้เรียบร้อย) และกิจจาธิกรณ์ (เรื่องกิจที่จะต้องจัดการให้เรียบร้อย)

ที่น่าสังเกตคือ บาลีได้นิยาม วิวาทาธิกรณ์ ว่า ”ความบาดหมาง การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวต่างกัน ความกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ การด่าทอ นี้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์”[3] ซึ่งเป็นความหมายทั้งหมดของลักษณะอธิกรณ์ ทั้งนี้เพราะ “วิวาท” เป็นการที่จะก่อให้เกิดความร้าวฉานในหมู่สงฆ์ ทำให้สงฆ์แตกแยก

ลำดับของความขัดแย้ง พิจารณาจากบาลี ที่ได้ให้ความหมายรวบยอดแก่ วิวาทาธิการณ์ ว่า “ความบาดหมาง การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวต่างกัน ความกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ การด่าทอ”  ได้แสดงให้เห็นลำดับของความขัดแย้ง โดยเริ่มจากที่มองไม่เห็น (ก่อตัวในใจ) และแสดงออกมาตามลำดับ จนใช้ความรุนแรงทางวาจา และทางกาย มีพระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายลำดับการเกิดความขัดแย้งในทำนองเดียวกัน เช่นว่า “กลโหติ กายกลโหปิ วาจากลโหปิ. ปุริโม ปุริโม วิโรโธ วิคฺคโห. ปจฺฉิโม ปจฺฉิโม วิวาโท”[4] ซึ่งแปลความว่า การทะเลาะทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง แรกๆ ก็เป็นการแก่งแย่ง หลังๆ ก็เกิดการวิวาท


[4] มหานิทานสุตฺตวณฺณนา ทีฆนิกายฏฺฐกถา (สุมงฺคลวิลาสินี ๒) เล่มที่ ๕ หน้า ๑๕๙


[1] “อธิกรียนฺติ เอตฺถาติ อธิกรณานิ” สารตฺถ. ๒/๓๘๖/๔๓๐.(คัมภีร์สารัตถทีปนี)

[2] “อธิกรณํ นาม จตฺตาริ อธิกรณานิ วิวาทาธิกรณํ อนุวาทาธิกรณํ อาปตฺตาธิกรณํ กิจฺจาธิกรณํ” วิ.ม. ๑/๓๘๖/๒๙๒, ม.อุ.๑๔/๔๖/๕๕

[3]  “ตตฺถ ภณฺฑนํ กลโห วิคฺคโห วิวาโท นานาวาโท อญฺญถาวาโท วิปจฺจตาย โวหาโร เมธคํ อิทํ วจฺจติ วิวาทาธิกรณฺ” วิ.จู.(บาลี) ๖/๒๑๕/๒๔๕

หมายเลขบันทึก: 352565เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท