KRUJOY (ครูจ่อย)
นาย ทรงศักดิ์ เสือ ภูเก้าแก้ว

แผ่นดินไหวภัยธรรมชาติ


ที่น่ากลัว

 

                    ภาพแผ่นดินไหวเฮติ

                 แผ่นดินไหวที่จีน

15 เมืองเสี่ยงสุดหากเกิดแผ่นดินไหว

15 เมืองเสี่ยงสุดหากเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่...

  1.เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล GeoHazards International ประเมินไว้ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0ริกเตอร์ขึ้นไป จะทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 69,000 คน จากจำนวนประชากร 1 ล้านคน

  2.เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 55,000 คน จากประชาชนทั้งหมด 10 ล้านคน

  3.เมืองเดลี ประเทศอินเดีย จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 38,000 คน จากทั้งหมด 14 ล้านคน

  4.เมืองกีโต้ ประเทศเอกวาดอร์ จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 15,000 คน จากประชากร 1.8 ล้านคน

  5.เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จะสูญเสียประมาณ 13,000 ชีวิต จาก1.6 ล้าน

  6.เมืองอิสลามาบัด/ราวัลปินดี ประเทศปากีสถาน เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตประชากรประมาณ 12,500 คนจาก 1 ล้านคน

  7.เมืองซาน ซัลวาดอร์ ประเทศเอลซัลวาดอร์ มีประชากรประมาณ2.2 ล้านคน หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ จะสูญเสียต่อชีวิตประชาชนประมาณ 11,500 คน

  8. เมืองเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก อาจสูญเสียชีวิตประมาณ 11,500 คนจากประชากรประมาณ 2.2 ล้านค

 9. เมืองอิสเมียร์ ประเทศตุรกี ซึ่งเชื่อมโยงกับเมืองซาน ซัลวาดอร์และเม็กซิโก ซิตี้ อาจจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 11,500 คน จาก 3.5 ล้านคน

 10. เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 18.4 ล้านคนและจะเพิ่มถึง 24 ล้านคนภายในปี2568 เสี่ยงต่อการสูญเสียประมาณ11,000 คน หากเกิดแผ่นดินไหว 6.0ริกเตอร์

 11. เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะมีคนตายประมาณ 9,000 คน หากเกิดแผ่นดินไหว 6.0 ริกเตอร์ และอาจมากกว่า 140,000 คน หากความรุนแรงถึงระดับ 8.3 ริกเตอร์

 12. เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย จะสูญเสียประมาณ 8,000 คน เมืองกัวยาคิล ประเทศเอกวาดอร์ จะสูญเสียประมาณ 4,300 คน

 13. เมืองบันดุงประเทศอินโดนีเซีย เสี่ยงสูญเสียประมาณ 3,600 คน เมืองซานติเอโกประเทศชิลี เสี่ยงสูญเสียประมาณ2,700 คน

   ทั้งหมดเป็นตัวเลขไม่ทางการ ที่เกิดจากการประเมิน โดยวัดจากโครงสร้างอาคาร ทั้งนี้หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวป้องกันและรับมือกับปัญหาไว้อย่างดีแล้ว ตัวเลขความสูญเสียอาจจะน้อยกว่าที่ “คาดการณ์” ไว้

 

 

           รอยเลื่อน 13 แห่งในเมืองไทย

รอยเลื่อน 13 แห่งในเมืองไทยที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมีที่ไหนบ้าง???...

  1.  รอยเลื่อนแมจัน และแม่อิง ครอบคลมุจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ยาวประมาณ 130 กม. เคยเกิดแผ่นดินไหวไม่ตํ่ากว่า 10 ครั้ง

  2.  รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุมแม่ฮ่องสอนและตาก 

  3.  รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี ครอบคลุมตาก, กำแพงเพชรและอุทัยธานี ความยาว250 กม.เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6ริกเตอร์ เมื่อปี 2518

  4. รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม เชียงใหม่,ลำพูนและเชียงราย ยาว 55 กม.เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กบ่อยครั้ง

  5. รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุมลำปางและแพร่ ยาว 90 กม.เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริกเตอร์ เมื่อปี 2521

  6. รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุมลำปาง,เชียงรายและพะเยา ความยาวประมาณ115 กม. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3-4ริกเตอร์ ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง

  7. รอยเลื่อนปัว  ครอบคลุมน่าน

  8. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์  ครอบคลุมอุตรดิตถ์

  9. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์  ครอบคลุมกาญจนบุรีและราชบุรี ยาว250 กม. เคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วกว่า 1,000 ครั้ง

  10. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์  ครอบคลุมกาญจนบุรีและอุทัยธานี ยาวประมาณ500 กม. เกิดแผ่นดินไหวไม่น้อยกว่า100 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เคยแรงสุด 5.6 ริกเตอร์ เมื่อปี 2526

   11. รอยเลื่อนท่าแขก  ครอบคลุมหนองคายและนครพนม

   12. รอยเลื่อนระนอง  ครอบคลุมประจวบคีรีขันธ์,ชุมพร, ระนอง, และพังงา ความยาว270 กม. เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6ริกเตอร์ เมื่อปี 2521

   13. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย  ครอบคลุมสุราษฎร์ธานี, กระบี่, ภูเก็ตและพังงาเคยเกิดแผ่นดินไหวที่ภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง ในปี 2476, 2519 และ 2542


     

   ประเทศไทยให้จับตารอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ มหันตภัย

 

 




 

 

  จับตารอยเลื่อนเมืองกาญจน์ มหันตภัย''กรุงเทพฯ''ใกล้''เฉิงตู''
 

 

ปัญหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกับประเทศจีน ที่เมืองเฉิงตู ระดับความรุนแรง 7.8 ริกเตอร์ แรงขนาดที่แม้แต่ตึกสูงในกรุงเทพฯ ที่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในจีนหลายร้อยกิโลเมตร ยังได้รับแรงสั่นสะเทือน ก่อให้เกิดคำถามขึ้นกับคนไทยว่าจะมีโอกาสประสบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติแบบเดียวกับจีนได้หรือไม่  เพราะประเทศไทยเองก็มี "รอยเลื่อน" ของแผ่นเปลือกโลกและเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวถึง 13 จุด ไม่นับรอยเลื่อนกรุงเทพฯ ที่เป็นรอยเลื่อนที่เพิ่งค้นพบใหม่เมื่อไม่นานมานี้

วันนี้เรามาหาคำตอบจาก ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)  นักวิชาการที่เฝ้าติดตามปัญหาแผ่นดินไหว ซึ่งถือว่าเป็นภัยธรรมชาติที่สามารถก่อความเสียหายให้กับอาคารต่างๆ ได้ในพริบตา

คำถามแรกที่หลายคนสงสัย คือ  การเกิดแผ่นดินไหวของจีนจะทำให้ไทยได้รับผลกระทบและเกิดแผ่นดินไหวตามมาหรือไม่  ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า แผ่นดินไหวในจีนครั้งนี้จะไม่ทำให้ไทยเกิดแผ่นดินไหวถี่ขึ้น  แม้ว่าไทยจะอยู่ในแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนแผ่นเดียวกับจีน และแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนนี้จะมีแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลียและอินเดียคอยมุดดันอยู่ก็ตาม  แต่ปัญหาที่น่าจับตามองและน่าจะทำให้ประเทศไทยอาจมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ ก็คือรอยแตกร้าวที่มีตั้งแต่ขนาดกลางและขนาดเล็กที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศไทย  โดยเฉพาะในภาคเหนือ  รอยแตกร้าวเหล่านี้  แม้จะไม่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไปเหมือนจีน แต่ก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางประมาณ 5-6 ริกเตอร์ได้เช่นกัน

โดยมีข้อมูลปรากฏว่า  ถ้าหากรอยเลื่อนไหนเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป ก็จะทำให้เกิดการ "ไถลตัว" หรือตัวการทำให้เกิดรอยแตกร้าวไกลถึง 100 กม.ถ้าแผ่นดินไหวไม่เกิน 7 ริกเตอร์ ก็จะไถลตัวประมาณ  30-40 กม., หรือถ้าไหว  6 ริกเตอร์ การไถลตัวก็จะเกิดประมาณ 10 กม. และถ้าไหว 5 ริกเตอร์ก็จะไถลประมาณ 1 กม.

"ตรงไหนที่มีรอยเลื่อนมักจะมีรอยร้าวเป็นแนวใต้ผิว เพียงแต่รอยเลื่อนใหญ่จะโผล่บนผิวให้เห็น แต่รอยร้าวจะเกิดขึ้นภายใน  รอยร้าวพาดมาจากรอยเลื่อน  ตรงไหนเป็นรอยเลื่อนใหญ่ๆ   รอยพาดแตกร้าวจะเป็นทางยาว  เป็นสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ได้ หรือถ้ารอยเลื่อนไม่ใหญ่ รอยแตกอาจจะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เป็นแนวแบบไม่ต่อเนื่อง ถ้าเป็นอย่างนี้รอยเลื่อนตรงนั้นก็จะไม่ค่อยมีพลัง โอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ก็จะมีน้อย"

สำหรับประเทศไทยมีรอยเลื่อนใหญ่ที่สุดแถบภาคเหนือและกาญจนบุรี ซึ่งถือว่ามีรอยแตกพาดยาวเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังมาก เพราะเคยเป็นจุดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ มาแล้ว 5-6 ริกเตอร์ ทำให้เกิดการสะสมพลัง เกิดแรงเค้น แรงเครียดในตัวเอง ซึ่งหมายความว่าสักวันหนึ่งรอยเลื่อนเหล่านี้จะต้องมีการขยับตัวเพื่อลดการสะสมพลัง

"จากสถิติชี้ว่าความถี่การเกิดแผ่นดินไหวขนาด  7 ริกเตอร์ จะเกิดขี้น 200-300 ปี/ครั้ง รอยเลื่อนขนาด  6 ริกเตอร์  ความถี่โอกาสเกิดแผ่นดินไหวก็จะมีราว 50-60 ปีครั้ง หรือถ้าเกิด 5 ริกเตอร์ ความถี่ก็จะมีประมาณ 5-10 ปีครั้ง"

แล้ว "รอยเลื่อนกรุงเทพฯ" ที่เพิ่งค้นพบไม่นานมานี้ จะมีความเสี่ยงแค่ไหน ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับรอยเลื่อนกรุงเทพฯ  ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย  โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้ทุนสถาบันเอไอทีได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาถึงเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาอีกมาก เนื่องจากบริเวณจุดที่เกิดรอยเลื่อนกรุงเทพฯ  มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก ขนาดประมาณ  200  กม.X 200 กม. นอกจากนี้ ชั้นดินของกรุงเทพฯ ยังเป็นชั้นดินอ่อนมากที่มีความลึกมาก ซึ่งในเชิงธรณีวิทยาถือว่ามีความยากลำบากในการสำรวจ

อย่างไรก็ตาม   ดร.เป็นหนึ่งยืนยันว่า  มีข้อมูลบางประการที่บ่งชี้ว่ารอยเลื่อนกรุงเทพฯ  เป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง  จึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงในเรื่องของความเสี่ยงแผ่นดินไหว  แต่จุดที่น่าเป็นห่วง ก็คือรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ โดยเฉพาะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ที่เมืองกาญจน์ ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ แค่ประมาณ  300 กม. ซึ่งถือว่าอันตรายมีความเสี่ยงต่อกรุงเทพฯ เพราะเป็นรอยเลื่อนที่มีกำลัง สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ถึง  7.2-7.5 ริกเตอร์   และถ้าหากรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์มีการขยับตัวขึ้นเมื่อไหร่ ก็คิดว่าเมื่อนั้น กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างแน่นอน

ดร.เป็นหนึ่งชี้ว่า รอยเลื่อนเมืองกาญจน์น่ากลัวมากสำหรับกรุงเทพฯ  และอาจทำให้กรุงเทพฯ ตกที่นั่งซ้ำรอยเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศเม็กซิโก  โดยในปี 1985 เม็กซิโกเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขนาด 8.1 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางที่เกิดห่างจากเม็กซิโกซิตีประมาณ 350 กม. เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เม็กซิโกเสียหายมาก  บ้านเรือน  อาคารขนาดเล็กเสียหายประมาณ  2% แต่อาคารสูงเสียหายประมาณ  20%  มีผู้คนล้มตายเสียชีวิตประมาณ 1 หมื่นคน อาคารที่เป็นอาคารสำคัญ ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนอนุบาล พังทลายลงมาหมด

"เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เม็กซิโกเป็นกรณีศึกษา  ที่ทำให้โลกหันมาสนใจเรื่องโครงสร้างอาคารความแข็งแรงว่า จะรับมือกับแผ่นดินไหวได้หรือไม่  และเคยมีฝรั่งนักวิชาการจาก USGS ซึ่งเป็นองค์กรด้านการสำรวจทางธรณีวิทยาระดับสากล  เคยออกมาเตือนว่ากรุงเทพฯ  มีโอกาสที่จะตกอยู่ในสภาพเดียวกับเม็กซิโกได้ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนเมืองกาญจน์ ที่ห่างจากเราไปไม่เท่าไหร่" ดร.เป็นหนึ่งกล่าวและว่า ถ้าถามว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นกับไทยได้หรือไม่   จากสถิติพบว่าแผ่นดินไหวขนาด  7 ริกเตอร์ที่บอกว่าจะเกิดขึ้น 200-300 ปีต่อครั้งนั้น และการที่เราไม่เคยตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด  7 ริกเตอร์ในประเทศไทยเลยในช่วง 90 ปีที่ผ่านมานี้ จึงมิได้เป็นข้อพิสูจน์ว่า ประเทศไทยเราจะปลอดภัยจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

หากประมาณการว่ากรุงเทพฯ จะเสียหายมากแค่ไหน ถ้ารอยเลื่อนเมืองกาญจน์เกิดขยับตัว  ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า ด้านความเสียหายของตึกอาคารบ้านเรือนจะพังทลายเสียหายยับเยินเท่าไหร่ คงไม่สามารถชี้ชัดได้ เพราะในกรุงเทพฯ ยังไม่เคยมีการสำรวจความแข็งแรงของอาคาร ว่าจะมีความแข็งแรงพอที่จะรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้มากน้อยขนาดไหน  แต่ขณะนี้ทราบมาว่า กรมทรัพยากรธรณีกำลังเก็บข้อมูล  ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาก็เริ่มทำฐานข้อมูลเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติ  หรือสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติก็พยามยามที่จะสำรวจเก็บข้อมูล

แต่สิ่งที่พอจะประเมินได้อย่างหนึ่ง ก็คือความแรงของการสั่นไหว  สมมติว่าถ้ารอยเลื่อนเมืองกาญจน์ขยับตัวเกิดแผ่นดินไหวประมาณ  7.5  ริกเตอร์  ความแรงของอาการไหวก็จะมากกว่าที่เราเคยรู้สึก  ไม่ว่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่พม่า ที่เชียงใหม่ หรือที่จีนรวมกันมากกว่า 5-10 เท่า ซึ่งรอยเลื่อนเมืองกาญจน์นี้น่ากลัวมาก

ดร.เป็นหนึ่งชี้ให้เห็นว่า จากกรณีของจีนและปัญหารอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของเราในการเตรียมการรับมือและมีปัญหาที่รอแก้อยู่ และว่าสิ่งที่ทำได้คือ การเตรียมอาคารให้รับแรงสั่นสะเทือนไม่พังทลายลงมา  ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันเราจะมีกฎหมายรองรับเรื่องนี้ โดยมีกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนัก  ความต้านทาน  ความคงทนของอาคาร และพื้นที่ดินรองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว  พ.ศ.2550 แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และการบังคับใช้กฎหมายก็ยังอ่อนแอ  ไม่จริงจัง  การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปอย่างหลวมๆ  ไม่มีการตรวจสอบการออกแบบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

นอกจากนี้  กฎหมายควบคุมอาคารฉบับนี้  ยังมีปัญหากำหนดบังคับใช้เฉพาะแค่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 10 จังหวัด  คือ  ภาคเหนือ  9  จังหวัด กาญจนบุรีและกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศหรือครอบคลุมอาคารทุกๆ ประเภท  ทั้งๆ ที่โอกาสเกิดแผ่นดินไหวมีอยู่ตลอดเวลา  แม้แต่นอกรอยเลื่อนที่เป็นรอยร้าวก็ทำให้เกิดได้  การเน้นบังคับแค่อาคารสำคัญสถานที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน มิได้ครอบคลุมอาคารที่มีความสูงต่ำกว่า 15 เมตรลงมา

"จะเห็นได้จากแผ่นดินไหวที่เมืองจีน  อาคารบ้านเรือนขนาดเล็กเสียหายจำนวนมาก เพราะไม่ได้เตรียมการสร้างอาคารให้แข็งแรงไว้สำหรับแผ่นดินไหว  เมืองไทยก็เช่นกันไม่มีอาคารแข็งแรงสร้างด้วยคอนกรีตเสิรมเหล็กรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวได้"

ปัญหาการเตรียมการรับมือแผ่นดินไหวยังไม่ได้มีเฉพาะกฎหมายเท่านั้น  ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า การรับรู้และตื่นตัวต่อปัญหาแผ่นดินไหวของประเทศไทย  รวมทั้งตัวบุคลากรที่มีความรู้เรื่องนี้ยังมีอยู่น้อยมากอีกด้วย โดยเฉพาะพวกสถาปนิกและวิศวกร ยังไม่เข้าใจถึงวิธีการออกแบบอาคารให้มีแรงต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวได้ เพราะความรู้เรื่องนี้ยังไม่มีในหลักสูตรที่เรียน

"ถ้าวิศวกร  สถาปนิก  และเจ้าหน้าที่รัฐ  ก็ไม่ใส่ใจเรื่องนี้  สถาปนิกบางคนอาจออกแบบตึกเน้นความสวยงาม  ประโยชน์ใช้สอย  บางครั้งเลยไปตัด "กระดูกตึก" บางส่วนออกไป เช่น ตัดเสาบางต้นหรือลดตัวกำแพงบางจุด ตึกก็เลยสูญเสียความแข็งแรง รับแรงโยกตัวขแรงไหวไม่ไหว ซึ่งจริงๆ แล้ว  ทั้งสถาปนิกและวิศวกรจะต้องรับรู้ข้อมูลในพื้นฐานเดียวกันว่า การออกแบบและการสร้างต้องทำให้โครงสร้างพื้นล่างและกระดูกตึกแข็งแรงไว้ก่อน ซึ่งถึงแผ่นดินจะไหวแรงยังไงก็พอจะรับได้"

นักวิชาการรายนี้เสนออีกว่า  ในขณะที่กฎหมายยังไม่สามารถครอบคลุมบังคับใช้กับอาคารสร้างใหม่ทุกหลังให้แข็งแรงมีแรงต้านแผ่นดินไหวได้  การนำระบบประกันเข้ามามีบทบาท  ให้การประกันครอบคลุมความเสี่ยงแผ่นดินไหว  ก็น่าจะช่วยให้การสร้างอาคารตระหนักเรื่องความแข็งแรงมากขึ้น เช่น ในสหรัฐก็มีระบบประกันที่ครอบคลุมเรื่องแผ่นดินไหว  ในบ้านเราหากมีประกันความเสี่ยงอาคารการเกิดแผ่นดินไหวจริง ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมตระหนักความปลอดภัยเรื่องนี้มากขึ้น

"เวลานี้เรามีทั้งอาคารที่แข็งแรง  อาคารอ่อนแอ  และมีอาคารสร้างใหม่ออกมาเรื่อยๆ พวกบ้านจัดสรรอะไรต่างๆ  แต่ผู้บริโภค  ประชาชนไม่มีทางรู้เลยว่า อาคารพวกนี้แข็งแรงพอต้านแรงแผ่นดินไหวได้หรือไม่  ซึ่งถ้าหากสังคมตระหนัก ก็จะทำให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้จริงจัง ทั้งในแง่การบังคับใช้กฎหมาย  การออกแบบ  ผู้ขาย  ผู้สร้าง  ผู้ซื้อ ทำกันแบบครบวงจร เพราะเวลานี้ก็มีเทคโนโลยีคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง ทำให้ต้นทุนไม่เพิ่มพอๆ กับการสร้างแบบปกติ"

"ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ใครไม่สามารถคาดการณ์ได้ แม้บางคนจะบอกว่าประเทศไทยโชคดี ที่ไม่เคยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ  ที่ผ่านมาเคยมีคนบอกว่าประเทศไทยไม่มีไต้ฝุ่นแน่  แต่ประเทศไทยก็เคยเกิดไต้ฝุ่นมาแล้วคือพายุเกย์  หรือที่เคยบอกว่าประเทศไทยไม่มีสึนามิหรอก  ก็เคยเกิดมาให้เห็นแล้วเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า อะไรที่ไม่เคยเกิด ก็อย่าคิดว่าจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมรับมือไว้ตั้งแต่วันนี้" ดร.เป็นหนึ่งทิ้งท้าย.
 

 

 

 แหล่งที่มา :  X-Cite

คำสำคัญ (Tags): #อันตราย
หมายเลขบันทึก: 352559เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะที่ว่า อะไรที่ไม่เคยเกิด ก็อย่าคิดว่าจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมรับมือไว้ตั้งแต่วันนี้" ดร.เป็นหนึ่งทิ้งท้าย.
ทุกอย่างต้องเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆจะได้ไม่ต้องมีการสูญเสียสิ่งใดๆอีก ขอบคุณพี่ครูจ่อยที่นำเรื่องดีๆมา นำเสนอในวันนี้ รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

  • ขอบคุณครับคุณครูหมูจ๋า
  • ที่แวะมาเยี่ยม มาทักทาย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ภัยธรรมชาติเป็นมหันตภัยที่น่ากลัวที่สุด 
  • โชคดีมีสุขนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท