เมื่อสหพันธรัฐเยอรมนีจะยุติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใน ค.ศ. 2020


พลังงานนิวเคลียร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ รวมทั้งพลังงานนิวเคลียร์เองก็มิใช่คำตอบของปัญหาโลกร้อน

ค.ศ. 2000 รัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมนี และพรรค SPD- The Social Democratic Party of Germany (Sozialdemokratische Partei Deutschlands) พร้อมด้วยพรรค Alliance’90/The Greens (Bündnis 90/Die Grünen) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ Jürgen Trittin (จากพรรค Greens) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และความปลอดภัยของนิวเคลียร์ (Ministry of Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety) ได้ลงนามในบันทึกความตกลงกับบริษัทพลังงานต่างๆ ที่จะยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ทั้ง 19 โรงทั่วประเทศในปี ค.ศ. 2020 โดยได้ออกกฎหมายยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ (The Nuclear Exit Law) จากการคำนวณในระยะเวลา 32 ปีของการทำงานตามปกติของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จะบอกได้อย่างแม่นย่ำว่าโรงงานเหล่านี้จะผลิตพลังงานได้เท่าใด ก่อนที่จะปิดตัวลง

 พรรค Greens ได้ยอมอ่อนข้อให้ในกรณีข้างต้นเพื่อยุติความขัดแย้ง แม้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะได้รับความนิยมอย่างสูงในเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1993 คนเยอรมัน ร้อยละ 71 สนับสนุนให้คงมีการใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และสร้างใหม่เพิ่มเติม แต่ถึง ค.ศ. 1999 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 81 เมื่อค.ศ. 1999[1]  Hence ได้กล่าวว่าในตอนแรกที่ประกาศนโยบายยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ออกมา มีคนเยอรมันเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่เห็นด้วย

                   โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ Stade และ Obrigheim ถูกปิดลงเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน  ค.ศ. 2003 และวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 ตามลำดับ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะถูกรื้อถอนในปี ค.ศ. 2007[2]

                   กลุ่มต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ (Anti-nuclear activities) ได้วิพากษ์นโยบายรัฐบาล
ในข้อนี้ พวกเขาบอกว่าสิ่งนี้ออกจะเป็นการรับรองการดำเนินการ มากกว่าการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ พวกเขาสนับสนุนให้ขยายระยะเวลาในการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีก และ
ได้วิพากษ์ว่าการห้ามสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเชิงธุรกิจซึ่งสิ่งเหล่านี้มิได้อยู่บนพื้นฐาน
ทางวิทยาศาสตร์  

                   พระราชบัญญัติแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Sources Act) ได้มีมาตรการทางด้านภาษีในการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน รัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมนีได้ประกาศให้นโยบายการปกป้องบรรยากาศโลก (Climate Protection) เป็นนโยบายหลัก โดยจะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 25 เปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 1990

                   การใช้พลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีสูงถึง 284 PJ ของพลังงานระดับปฐมภูมิ (Primary Energy)ที่ต้องการใช้งาน ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 5 เมื่อ ค.ศ. 1998 แต่เมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2006 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.9 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลเยอรมันวางไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 10 ในปี ค.ศ. 2010 และใกล้เคียงกับเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่วางไว้ ร้อยละ 12 ในปีเดียวกัน 

กลุ่มผู้ต่อต้านนิวเคลียร์ (Anti-nuclear activists) เห็นด้วยกับการดำเนินงานของรัฐบาลเยอรมันที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (Financial Guarantee) แก่ผู้ผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Energy Providers) แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้ มองว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนรองรับการกำจัดกากนิวเคลียร์ขั้นสุดท้าย โดยเฉพาะการกำหนดกฎระเบียบด้านความปลอดภัยที่ต่ำและเพิ่มภาษี เพื่อที่จะเร่งยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ทำให้การที่จะปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นี้มาพร้อมกับคำถามเรื่องความปลอดภัยของประชาชน อันเนื่องมาจากการขนย้ายกากนิวเคลียร์ทั่วเยอรมนี ซึ่งประเด็นที่กลุ่มผู้ต่อต้านยกมาอ้างนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ไม่เห็นด้วย 

ประเด็นการกำจัดกากของเสียจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โดยเฉพาะกากที่มีระดับกัมมันตรังสีสูงนี้ เป็นปัญหาของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก เนื่องจากยังไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่มีการดำเนินการจัดเก็บกากของเสียจากแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว และกากกัมมันตรังสีอื่นๆ ได้อย่างถาวร แนวทางที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง คือ การจัดเก็บทางธรณีวิทยา (Geologic Disposal) โดยกากของเสียจะถูกจัดเก็บในโพรงใต้ดินลึกหลายร้อยเมตร เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกากของเสียเป็นเวลานับหลายพันปี แต่การจัดการกากนิวเคลียร์ด้วยวิธีการดังกล่าวก็เริ่มมีปัญหาในบางประเทศ อาทิเช่น สถานที่กักเก็บกากนิวเคลียร์ที่เทือกเขายัคคา (Yucca Mountain) ในมลรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา  หรือหากจะสถานที่กักเก็บกากนิวเคลียร์ที่มีระดับกัมมันตรังสีสูงอย่างถาวรใต้ดินในระดับลึกอย่างแท้จริง เช่นกรณีของฟินแลนด์ ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง[3]   

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมนี ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า “การปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จะนำไปสู่การเกิดวิกฤติพลังงาน” เนื่องจากไม่สามารถหาพลังงานอื่นมาชดเชยได้เพียงพอ พวกเขาสนับสนุนว่ามีเพียงโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น ที่จะชดเชยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่มันก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันจากฟอสซิล สุดท้ายอาจจะต้องนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส  ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ถึงแม้ว่ารัสเซียจะถูกมองว่ามีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่ำกว่ายุโรปตะวันตก

ด้วยเหตุที่ราคาน้ำมันจากฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเด็นการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ถูกหยิบยกมาเป็นข้อถกเถียงอย่างมาก ในการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ. 2002
ผู้ลงแข่งขันชิงตำแหน่งมุขมนตรี (นายกรัฐมนตรี) ซึ่งมาจากพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democratic Union: CDU) /พรรคสหภาพสังคมคริสเตียน(Christian Social Union: CSU) Edmund Stoiber หนึ่งในผู้สมัครได้สัญญาว่าถ้าพรรคเขาชนะการเลือกตั้ง จะยกการปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในที่สุดผู้สมัครของพรรคเขาก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นมุขมนตรีคนปัจจุบัน คือ Angela Merkel ก็ได้ประกาศว่าเขาจะเจรจากับบริษัทพลังงานถึงกำหนดเวลาที่จะปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ความขัดแย้งเรื่องพลังงานนิวเคลียร์นำมาสู่ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการใช้พลังงานจากถ่านหิน ระหว่างพรรค CDU และพรรค SPU แต่ก็จบลงโดยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

สหพันธรัฐเยอรมนีมีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดย 2 ใน 3 ของพลังงานที่ใช้นั้นเป็นพลังงานที่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศ และเยอรมนีเป็นประเทศที่ใช้กระแสไฟฟ้ามากที่สุดในยุโรป ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลของเยอรมันจึงได้ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานจากแหล่งกำเนิดพลังงานต่างๆ อาทิเช่น จากแสงอาทิตย์  ลม ชีวมวล  น้ำ และความร้อนใต้พิภพ ยังผลให้เกิดการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 นอกจากนี้จำนวนของพลังงานที่สามารถผลิตได้ก็ได้ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(Gross Domestic Product: GDP)  รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้มีการใช้พลังงานที่ผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ให้ได้ครึ่งหนึ่งของประเทศในปี ค.ศ. 2050    

 

Matthias Machning, State Secretary ของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้แทนในการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจากออสเตรีย ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัทเวีย และนอร์เวย์  ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ได้กล่าวว่า “พลังงานนิวเคลียร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ รวมทั้งพลังงานนิวเคลียร์เองก็มิใช่คำตอบของปัญหาโลกร้อน[4]

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก็เป็นเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในโลกซึ่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันที่มาจากฟอสซิล ต่อมาจึงได้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ทดแทนการผลิตจากน้ำมันจนกระทั่งมีแรงกดดันทางการเมืองให้ยุติการผลิตด้วยพลังงานนิวเคลียร์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แต่ก็ยังลดลงได้ไม่มากนัก

พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เยอรมนีได้รวมการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์เข้ากับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พร้อมด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำมัน เพื่อที่จะลดการใช้ถ่านหิน ตามที่รัฐมนตรี  Jürgen Trittin, กล่าวไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2020 การดำเนินการนี้จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับ ค.ศ. 1990 เยอรมนี ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก ตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

นโยบายนี้ ของเยอรมนีได้รับการวิพากษ์ โดยเรียกว่า “ความขัดแย้งระหว่างการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ กับการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณต่ำ”  จากผลของความพยายามนี้ ทำให้สหพันธรัฐเยอรมนี ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำโลกในด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ในขณะเดียวกันเยอรมนีก็ยังคงพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน (Coal power) เป็นอย่างมาก[5] เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการของคนเยอรมัน ซึ่งสอดคล้องกับบทความของ บิล แม็กคิบเบน ที่กล่าวว่า “ณ เมืองแบร์กไฮม์ ประเทศเยอรมนี หอหล่อเย็นตั้งตระหง่านอยู่เหนือโรงไฟฟ้าถ่านหินนีเดอร์เอาส์เซม ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าตอบสนองความต้องการของประชากรมากกว่า 20 ล้านคน ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าร้อยละ 41 ของโลก ขณะเดียวกันก็เป็นที่มาของปรอท ซัลเฟอร์ไดออกไซค์และสารพิษอื่นๆ ปริมาณมหาศาลที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ”[6]

 

 

กราฟแสดงแหล่งพลังงานที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าของสหพันธรัฐเยอรมนี[7]

 

จากกราฟแสดงให้เห็นว่าสหพันธรัฐเยอรมนี ก็มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่คล้ายคลึงกับประเทศส่วนใหญ่ของโลก กล่าวคือ การผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ถูกผลิตจากน้ำมันซึ่งมาจากฟอสซิล (Traditional fossil fuel sources) พลังงานนิวเคลียร์ก็ถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศโดยมีอัตราการเติบโตสูงในช่วงทศวรรษ 1980 จนกระทั่งมีแรงกดดันทางการเมือง (Political pressure) ให้ลดการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ห้ามการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใหม่และให้ยุติการผลิตทั้งหมดในปี ค.ศ. 2020

 

แม้แวดวงวิชาการได้ยอมรับว่าพลังงานนิวเคลียร์ ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรืออันตรายแต่อย่างใด โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นหนึ่งในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ก็ไม่อันตรายอย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ หากหันกลับมามองประเทศไทย ที่รัฐกำลังดำเนินการศึกษา พร้อมๆ กับการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อจัดทำ Road map ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโดยดำเนินการให้ได้มาตรฐานสากล เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใช้งาน ซึ่งหากมีการก่อสร้างจริงก็คาดว่าจะได้รับประโยชน์ด้านพลังงานอย่างมากเช่นที่นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องออกมานำเสนอผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงไปได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าสารกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเดินเครื่องปฏิกรณ์นั้น ก็มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกใบนี้เช่นเดียวกับน้ำมัน รวมถึงความรอบคอบในการกำจัดกากกัมมันตรังสีที่เกิดจากการใช้งานให้มีความปลอดภัยสูงสุดด้วย.

 

 


[1] Results of a Survey About the Use of Nuclear Power in Germany (in %), http://www.kellogg.northwestern.edu/faculty/diermeier/ftp/atom/exhibit4.htm ค้นคืนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553.

[2] German nuclear energy phase-out begins with first plant closure, http://www.terradaily.com/2003/031114130333.jlvf6wjx.html  ค้นคืนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553.

[3] จอห์น เอ็ม. ดัทช์ และเออเนสต์ เจ. โมนิช. ทางเลือก พลังงานนิวเคลียร์. Scientific American ฉบับเดือนกันยายน 2549.

[4] Environment ministers do not consider nuclear power an instrument to answer the challenge of climate change. http://www.bmu.de/english/current_press_releases/pm/40073.php ค้นคืนเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2550.

[5] Roland Nelles. (2007). Germany Plans Boom in Coal Power Plants. http://www.businessweek.com/globalbiz/content/mar2007/gb20070321_923592.htm?chan=search, Retrieved 1 March, 2010.

[6] บิล แม็กคิบเบน. (2552). ความท้าทายด้านพลังงาน บทความในหนังสือวิกฤติ ทางรอด และอนาคตพลังงาน: Energy for tomorrow: Repowering the planet ของ National Geographic.
ศรรวริศา  เมฆไพบูลย์, ผู้แปล. กรุงเทพฯ: เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก. หน้า 64.

[7]http://en.wikipedia.org/wiki/File:Electricity_production_in_Germany.PNG, Retrieved 1 March, 2010. 

หมายเลขบันทึก: 352562เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท