อุบัติเหตุสงกรานต์


ก็โรงบาลไม่รายงานมา แล้วอำเภอจะมีตัวเลขรายงานได้ยังงัย อ้าว ! นี่แหละเขาเรียกว่า แม่ไม้มหาดไทย

        อยากเขียนเรื่องอุบัติเหตุในช่วงเทศการไว้เพื่อทบทวนความทรงจำ ตลอดเวลาในการทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในอดีต ผมแทบไม่ได้ไปไหนเลยในช่วงเทศกาล โดยมีสาเหตุหลักใหญ่ๆอยู่ ๒ ประการ ประการแรกก็คือไม่มีหมออยู่เวร บางครั้งน้องที่มาอยู่ด้วยก็อยากกลับบ้านหรือไปเที่ยว เราก็ต้องยอม อีกประการหนึ่งคือมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุหมู่ ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมหลุดออกจากวงจรดังกล่าว แต่ก็ยังติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับความสูญเสียช่วงเทศกาลนี่อยู่

       ผมจำได้ว่า เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินผมมีเหตุให้ต้องปะทะคารมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่หลายครั้ง ถึงขนาดผมต้องลงไปไกล่เกลี่ยก็มี ประเด็นสำคัญก็คือการรายงานผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขมีระบบรายงานช่วงเทศกาลก่อนที่จะดึงฝ่ายต่างๆเข้ามาร่วมมานานหลายปี ผมเข้าใจว่าเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วเกิดความคิดว่าถ้าฝ่ายที่มีอำนาจเข้ามาร่วมสั่งการคงจะทำให้การป้องกันความสูญเสียมีประสิทธิภาพมากขึ้น

      แต่เมื่อศูนย์รวมการรายงานข้อมูลไปตกอยู่กับฝ่ายปกครอง เราก็เจอแม่ไม้มหาดไทย ทุกๆรอบจะมีคำสั่งแปลกๆ จากที่ประชุมอำเภอ เช่น

-ให้รายงานเฉพาะอุบัติเหตุที่เป็นคดี (มีชาวบ้านกี่คนที่อยากเป็นคดี และมีตำรวจกี่นายที่อยากได้คดีเยอะๆ)ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นแนวทางระดับชาติไปแล้ว ซึ่งการไม่เป็นคดีก็มีผลต่อการใช้สิทธิ พรบ.ตามมาอีกด้วย

-ให้รายงานเฉพาะผู้บาดเจ็บที่มีคู่กรณี ล้มเองไม่นับ

-ให้รายงานเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล

        ขั้นตอนสำคัญ โรงพยาบาลห้ามรายงานเองต้องผ่านการกลั่นกรองของศูนย์อำเภอ หรือนายอำเภอก่อนทุกครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งอำเภอเราไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ แต่กลางที่ประชุมอำเภอมีคนถามว่าแล้วญาติเขาที่ประสบอุบัติเหตุหายไปไหน ผมได้นำเสนอที่ประชุมเพื่อที่จะอธิบายถึงปัจจัยเสี่ยงสามเส้าของอุบัติเหตุ(ตัวบุคคล หรือพฤติกรรมมนุษย์ เช่น วินัยจราจร จิตสำนึกส่วนบุคคล วัฒนธรรมบนท้องถนน ยานพาหนะ เช่น การออกแบบยานยนต์ การแต่งเพื่อเพิ่มสมรรถนะ การขาดการบำรุงรักาตรวจสอบสภาพพร้อมใช้งาน สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะถนน เช่น จุดอันตราย ไฟส่องสว่าง พื้นถนนที่ชำรุด สัญญาณจราจรไม่ชัดเจน เป็นต้น)ซึ่งปัจจัยต่างๆต้องได้รับการวางแผนการแก้ไขก่อนช่วงเทศกาล คราวนั้นผมถูกเบรก ด้วยลีลาของท่านประธานว่า ก็โรงบาลไม่รายงานมา แล้วอำเภอจะมีตัวเลขรายงานได้ยังงัย อ้าว ! นี่แหละเขาเรียกว่า แม่ไม้มหาดไทย

      ดูตัวเลขสถิติปีนี้จาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ) ซึ่งโรงพยาบาลเป็นผู้กรอกข้อมูล มีหลายอย่างน่าสนใจ เช่น

-วันที่เปรียบเทียบกัน ไม่ใช่วันที่ แต่เป็นลำดับวันที่เฝ้าระวัง

-ข้อมูลก็ยังเป็นการเปรียบเทียบยอด ที่ในใจผู้เก็บอยากให้มันลด แม้จะ ๑ คนก็ยังจะได้ออกข่าวดีใจ

-ไม่มีข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนป้องกันครั้งหน้า(อาจมีแต่ไม่ได้นำเสนอ) ชวนให้คิดว่า ปีที่แล้วเท่านั้น ปีนี้เท่านี้ แล้วปีหน้ายังงัย?

ลองช่วยกันดูครับ

 

ฟังการแถลงข่าวของศูนย์ฯที่มีคนใส่เสื้อกั๊กมาพูดแล้ว รู้สึกเซ็งๆครับ

หมายเลขบันทึก: 352518เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สิ่งหนึ่งที่ประชาชนไม่เคยทราบก็คือ ในวันที่ไม่ใช่เทศกาล มีการตายจากอุบัติเหตุจราจรเท่าไร

เพราะที่จริงคนไทยเราตายกันทุกวันอยู่แล้ว

หากไม่บอกว่าธรรมดาตายวันละกี่คนอยู่แล้ว เราจะไปโทษนางสงกรานต์ท่าน อย่างไม่ยุติธรรมนะครับ

แต่ท่านก็ไม่เคยโวยสักที ในเรื่องที่ถูกใส่ความเช่นนี้

มีครั้งหนึ่ง นานมาแล้วที่โรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่ง รายงานไปที่ สสจ ว่าในเดือนนั้นมีไข้เลือดออก ๕๐๐ (ห้าร้อย) ราย ทาง สสจ ก็นำตัวเลขไปรวมกับข้อมูลจากโรงพยาบาลชุมชนอีกหลายแห่ง แล้วเดือนนั้น สสจ ก็รายงานกระทรวงว่าทั้งจังหวัดมีไข้เลือดออก ๓๐๐ (สามร้อย) ราย ผมก็คุยกับ ผชพว ว่าทำไมตัวเลขจึงเป็นเช่นนั้น ท่านบอกว่า เมื่อท่านทบทวนรายงานแล้ว ไม่น่าจะใช่ ผมจึงบอกว่า กู (ผม) เป็นคนดูแลคนไข้ คุณ (มึ.) จะมาว่าไม่ใช่อย่างไร อย่างน้อยตัวเลขที่จังหวัดรายงานจะต้องไม่น้อยกว่าที่ผมรายงาน (ประนีประนอมที่สุดแล้ว) เพราะหากข้อมูลผิดพลาดแบบนี้ อีกสี่ห้าปี คนทำงานเปลี่ยนไป ก็จะไม่รู้อะไรเป็นอะไรแล้ว ท่านก็กรุณาบอกให้ผมทราบเพิ่มอีกหน่อยว่า หากตัวเลขมากไป เลขานุการรัฐมนตรีจะโทรมาหาท่านว่าทำไมทำงานไม่ดี ผมบอกว่านั่นเป็นเรื่องของคุณ

แม่ไม้สาธารณสุขเป็นยังไงมั่งครับ

ที่จริงทางมหาดไทยท่าน accurate มากนะครับ อย่างช่วงหวัดนก สามารถนับไก่ทั้งอำเภอได้เป็นตัวเลขหลักหน่วยเลย เช่น ๑,๔๓๒,๒๔๗ ตัว แล้วจะไปว่ามหาดไทยนับเลขไม่เก่งได้อย่างไร

(ที่จริงการพูดส่อเสียดก็ผิดศีลข้อ ๔)

แหะ แหะ แม่ไม้เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

ทุกวงวิชาชีพต่างมีศิลปะเป็นของตนเอง

ที่โรงพยาบาลก็มีประสบการณ์ทั้งสองเรื่องเลยค่ะ ที่ได้ข้อมูลเพิ่มของอำเภอแก่งคอยปีนี้พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุคนดื่มสุราน้อยกว่าคนไม่ดื่มสุราค่ะ (36:64) หรือว่าการรณรงค์เมาไม่ข้บของเราได้ผล (คิดอย่างเข้าข้างตัวเอง)

ตัวเลขน่าสนใจนะครับ

ลองหาข้อมูลอุบัติเหตุวันปกติมาเทียบได้ไหมครับ

ว่าปกติคนเกิดอุบัติเหตุนั้น ดืม่และไม่ดื่มร้อยละเท่าใด

ทำเป็นงานวิจัยเล็กๆได้อันหนึ่งเชียวครับ

5555+ แม่ไม้มหาดไทย..5555+

ห้ามรายงานเองต้องผ่านการกลั่นกรองของกำนันก่อนทุกครั้ง

มีอยู่ครั้งหนึ่งตำบลเราไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ แต่กลางที่ประชุมอำเภอ..

มีคนถามว่าแล้วญาติเขาที่ประสบอุบัติเหตุหายไปไหน?

??ทำไมต้องมีอะไรแบบนี้ด้วย..เมื่อไรจะยอมรับความจริงแล้วแก้ไข

นี่เป็นสิ่งหนึ่งของความขลังของวิชาชีพ...ต้องยืนให้มั่นหากต้องไปอยู่กับท้องถิ่นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท