แนวคิด multiversity กับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทย


สถาบันอุดมศึกษาในรูปแบบปัจจุบันต้องปรับตัว ร่วมมือกับ “ชุมชนวิชาการ” ในรูปแบบอื่นๆ ในการสร้างสรรค์วิชาการ เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม ในภารกิจ “สร้างสรรค์ปัญญา”

แนวคิด multiversity

คำ multiversity เริ่มปี 1963 โดย Clark Kerr ซึ่งตอนนั้นเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย   โดยชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยมีภารกิจหลายด้าน  และมีความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกอย่างซับซ้อน   อ่านข้อสรุปคำบรรยายของท่านที่นี่     

ผมกำลังศึกษา/ทำความเข้าใจความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างอุดมศึกษากับสังคม   ค้นไปค้นมาก็พบบทความข้างบน   และเกิดความเข้าใจว่า อุดมศึกษาไทยตามหลังอเมริกันอยู่ ๕๐ ปีในหลากหลายมิติ   และเกิดความเข้าใจว่าในช่วงเวลา ๕๐ ปี อุดมศึกษาไทยได้เปลี่ยนผ่านจาก อุดมศึกษาสำหรับคนเรียนเก่งเพียงส่วนน้อย (elitish) สู่อุดมศึกษาเพื่อปวงชน (mass)  สู่อุดมศึกษาเพื่อทุกคน (universal coverage)   ซึ่งมุมมองแบบนี้ ต้องนับรวม วชช. กับอาชีวศึกษาเข้ามาอยู่ใน “อุดมศึกษา” ด้วย   โดยอาจเรียกเสียใหม่ว่า “หลังการศึกษาขั้นพื้นฐาน” (post-secondary)

นี่คือหลักการหรือแนวคิดด้านความแตกต่างหลากหลายของอุดมศึกษา    แม้ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็ต้องมีความแตกต่างหลากหลาย   จึงต้องมอง university ใหม่ ว่าในยุคใหม่เป็น multiversity

คำศัพท์นี้บรรจุในดิกชันนารีแล้ว  อ่านความหมายใน American Heritage Dictionary, 2000 ได้ที่นี่   และใน Merriam Webster On-line Dictionary ที่นี่   

คำ multiversity ถูกนำไปใช้ในความหมายที่กว้างออกไป   โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมหาวิทยาลัยตามความหมายเดิม คือไม่จำเป็นต้องประสาทปริญญา   และ Wikipedia ถึงกับเอาไปใช้เป็น Wikiversity   

ผมนึกถึงคำ “ประสาทปัญญา” คู่กับ “ประสาทปริญญา”  

ความหมายของสถาบันอุดมศึกษาในยุคปัจจุบันดูจะนิยามกว้างออกไป   เป็นชุมชนวิชาการ ที่นักวิชาการรวมตัวกันเรียนรู้ สอน วิจัย รับใช้สังคม และเล่นสนุก   ความเป็น “ชุมชน” ในสมัยปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินและอาคารให้มาอยู่ร่วมกัน   สามารถเป็น “ชุมชนเสมือน” ใน cyber space ได้   มองอย่างนี้รู้สึกว่าสถานะของสถาบันอุดมศึกษาตามรูปแบบที่เป็นอยู่กำลังถูกท้าทายนะครับ   คือคนจำนวนหนึ่งจะสามารถดำรงชีวิตนักวิชาการ สนุกกับกิจกรรมทางปัญญา ได้ดีโดยไม่ต้องเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยตามรูปแบบเดิมก็ได้ 

ทำให้ผมสงสัยว่า การปฏิวัติสารสนเทศได้เปิดอิสระให้แก่สังคม   จน “วิชาการ” ไม่เป็นสิ่งผูกขาดโดยสถาบันอุดมศึกษาอีกต่อไป   

เมื่อไม่มีทางผูกขาด สถาบันอุดมศึกษาในรูปแบบปัจจุบันก็ต้องปรับตัว   โดยร่วมมือกับ “ชุมชนวิชาการ” ในรูปแบบอื่นๆ ในการสร้างสรรค์วิชาการ เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม ในภารกิจ “สร้างสรรค์ปัญญา”   

เว็บไซต์ ของ Community Organizers Multiversity ที่ฟิลิปปินส์ บอกผมว่า นี่คือสถาบันที่ประกาศตัวว่าเป็นชุมชนเรียนรู้ภาคประชาชน   เป็นการใช้ชื่อ multiversity ในอีกความหมายหนึ่ง   เป็นความหมายที่ผมใฝ่ฝันและเคยเขียนบันทึกไว้ใน KM ภาคประชาสังคม หรือกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชน / การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวบ้าน นั่นเอง   และมีกิจกรรมการเรียนรู้ของชาวบ้านที่ค้นได้ทาง อินเทอร์เน็ต มากมาย เช่น ศูนย์มหาวิชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุทรสงคราม,   เสถียรธรรมสถาน, หอจดหมายเหตุพุทธทาส   ผมเอาเว็บไซต์เหล่านี้มาลงไว้เป็นตัวอย่าง    กิจกรรมทางปัญญาของชาวบ้านหรือภาคประชาชนที่ไม่ปรากฎใน cyber space ยิ่งมีมากกว่า   จุดสำคัญคือสถาบันอุดมศึกษาในรูปแบบตระหนักว่ามี “ความรู้” หรือ “ปัญญา” อยู่ในกิจกรรมหรือแหล่งนั้นๆ หรือไม่   และจะเข้าไปร่วมกิจกรรมทางปัญญาอย่างไร

Multiversity ในความหมายหนึ่ง (ตามอคติของผม) คือ มหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมทั้งในรูปแบบเดิม และเป็นทางการ   และริเริ่มสร้างสรรค์บทบาททางปัญญาใหม่ๆ ตามการเคลื่อนไหวของสังคม    มหาวิทยาลัยใดปรับตัวเป็น multiversity ไม่เป็น ก็จะล้าหลัง

วิจารณ์ พานิช

๑๕ เม.ย. ๕๓   

หมายเลขบันทึก: 351703เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2010 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท