เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

แก้ไขปัญหาเด็กติดเกมด้วย สมาธิ


 

ในปัจจุบันปัญหาเรื่องเด็ก(หรือวัยรุ่น)ติดเกมส์กำลังเป็นปัญหาสำคัญของสังคมที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายกำลังปวดหัวและหาทางแก้ไขกันอยู่ เพราะเมื่อเด็กติดเกมส์แล้วก็ทำให้เสียทั้งสุขภาพ เสียนิสัย เสียเวลา เสียการเรียน โง่เขลา และสุดท้ายก็เสียอนาคต ซึ่งถ้าสังคมเรามีเด็กติดเกมส์มากๆ สังคมเราก็คงจะล่มจมลงในไม่ช้าเป็นแน่ ซึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องเด็กติดเกมส์นี้ ทางพุทธศาสนาจะมีหลักในการแก้ปัญหาไว้เป็นขั้นตอนดังนี้ คือ
๑. ต้องรู้ว่าเกมส์นั้นคืออะไร?
๒. ต้องรู้จักว่าเกมส์นั้นมันมีอำนาจอะไรที่ดึงดูดให้เด็กติด?
๓. ต้องรู้ว่าโทษจากการเล่นเกมส์นั้นมีอย่างไรบ้าง?
๔. ต้องรู้วิธีการที่จะหลุดพ้นจากการติดเกมส์ว่าทำอย่างไร?
จากข้อที่ ๑ นั้น เกมส์ก็คือการเล่นที่เป็นการแข่งขันหรือต่อสู้เพื่อเอาชนะกัน ที่อาศัยเครื่องเล่นที่มีจอภาพแสดงการเล่น และมีอุปกรณ์การเล่น เช่น มือจับที่มีปุ่มกด และโยกได้ หรือแป้นพิมพ์ หรือเมาส์ เป็นต้น ซึ่งเครื่องเล่นเกมส์นั้นก็มีแตกต่างกันไป เช่น เครื่องเล่นเกมส์เพลย์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยขณะเล่นจะมีภาพแปลกๆและสวยงาม รวมทั้งมีเสียงที่น่าฟังอยู่ด้วย โดยภาพที่ปรากฏบนจอนั้นจะเคลื่อนไหวไปตามการบังคับของอุปกรณ์ที่ใช้บังคับ ซึ่งเครื่องเล่นเกมส์นี้เป็นเทคโนโลยี่ขั้นสูงที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาตามความต้องการของผู้ที่ติดเกมส์ทั้งหลาย ซึ่งเกมส์ที่เล่นนั้นก็มีมากมายหลายชนิด เช่นเกมส์การแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ หรือเกมส์ที่ต้องใช้ความคิด เป็นต้น แต่ที่นิยมกันมากก็คือเกมส์ต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรง คือทำร้ายกัน หรือฆ่ากันโดยใช้อาวุธต่างๆ
ส่วนข้อที่ ๒ นั้น อำนาจหรือแรงดึงดูดใจจากเกมส์ที่ทำให้เด็กที่ติดนั้นลุ่มหลงติดใจจนยอมแม้กระทั่งละทิ้งอนาคตของตัวเองได้นั้นสรุปแล้วก็คือ “ความสุข” หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “ความสนุก” หรือ “ความมัน” หรือ “ความเพลิดเพลิน” หรือความ “ตื่นเต้นเร้าใจ” ที่เกิดจากการได้เห็นภาพและได้ยินเสียงจากเกมส์ที่เล่นอยู่ ซึ่งมันเหมือนกับว่าผู้เล่นนั้นได้เข้าไปเล่นเกมส์นั้นในจอภาพจริงๆ หรือเป็นตัวแสดงในเกมส์ที่เล่นอยู่ ยิ่งถ้าเป็นเกมส์ออนไลน์คือได้เล่นหรือได้แข่งขันกับผู้เล่นหรือผู้แข่งขันคนอื่นที่อยู่ห่างไกลได้ก็จะยิ่งมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
เมื่อเกมส์ยิ่งสนุก เด็กก็ยิ่งติดใจหลงใหลอยากเล่นอีกมากยิ่งขึ้น เมื่อติดใจหลงใหลมาก ก็ทำให้เลิกได้ยาก พอเล่นเกมส์นี้ใหม่ๆมันก็สนุกมาก แต่พอเล่นไปนานๆ ความสนุกนั้นมันก็จะค่อยๆจืดจางลง หรือลดลง แต่ความอยากเล่นกลับไม่จืดจางหรือลดลงตาม มันกลับอยากเล่นเกมส์ใหม่ๆที่สนุกเท่าเดิมหรือมากขึ้นไปเรื่อยๆ มันจึงเป็นวัฎจักรที่หยุดได้ยาก หรืออาจหยุดไม่ได้เลยสำหรับคนที่มีจิตใจอ่อนแอ ซึ่งความรู้สึกจากการติดเกมส์นี้นักวิจัยบอกว่ามันเหมือนกับการติดยาเสพติดชนิดร้ายแรง เช่น แอมเฟตตามีน(ยาบ้า)เลยทีเดียว คือพอไม่ได้เสพยา หรือไม่ได้เล่นเกมส์ก็จะรู้สึกอยากเสพยาหรืออยากเล่นเกมส์อย่างมากขึ้นมาทันที ซึ่งก็จะทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไรอย่างมาก หรือทุกข์ทรมานใจอย่างมากจนอาจจะคลุ้มครั่งสามารถทำร้ายผู้อื่น หรือทำร้ายตนเอง หรือทำอะไรก็ได้เพียงเพื่อให้ได้เสพยาหรือเล่นเกมส์อีก ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและความอดทนในการละเลิกอย่างมากจึงจะทำให้ความรู้สึกอย่างนี้หายไปได้
ในเรื่องความสนุกจากการเล่นเกมส์นี้ เราต้องสอนเด็กให้รู้ว่า แท้จริงความสุขจากการเล่นเกมส์นั้น มันก็เป็นเพียงแค่ “ความรู้สึก”อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมอง ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นมาจากภาพที่เห็นทางตา และเสียงที่ได้ยินทางหูเท่านั้นเอง ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง ที่เราเรียกว่าเป็นความสนุก หรือความมัน หรือความเพลิดเพลิน หรือความตื่นเต้นเร้าใจ คือเมื่อมีแสงจากจอภาพพุ่งเข้ามายังระบบประสาทของลูกตา แล้วก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าอ่อนๆไหลจากลูกตาไปตามเส้นประสาทแล้วไปยังสมอง ซึ่งสมองก็จะนำเอาภาพที่เห็นนั้นและเสียงที่ได้ยินนั้นมาประมวลเปรียบเทียบกับข้อมูลหรือความทรงจำที่มันมีอยู่ แล้วจิตก็จะแปลภาพ(คือจินตานาการหรือคิดปรุงแต่งขึ้นเอง)ที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยินนั้นให้เป็นความรู้สึกที่น่าพอใจหรือเป็นความสุขขึ้นมาทันที
เรียกง่ายๆว่าอาศัยภาพและเสียงมากระตุ้นระบบประสาทของสมอง(หรือจิตใจ)ทำให้เกิดความสุขหรือความสนุกขึ้นมา เมื่อมีการกระตุ้น สมองก็จะสร้างความสุขขึ้นมา พอหยุดกระตุ้น สมองก็หยุดสร้างความสุข แต่เมื่อสมองติดใจในความสุขที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้นแล้ว พอไม่มีสิ่งมากระตุ้นให้เกิดความสุข สมองก็อยากที่จะมีความสุขนั้นอีก ดังนั้นสมอง(หรือจิตใจ)จึงสั่งให้ร่างกายแสวงหาหรือไปเล่นเกมส์ต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อสนองความอยากหรือความต้องการความสุขของสมอง เรียกว่าร่างกายตกเป็นทาสของสมองหรือจิตใจนั่นเอง
ดังนั้นสรุปแล้วก็คือ “เด็กๆติดความสุขที่สมองสร้างขึ้นมาเองโดยอาศัยสิ่งภายนอกมาช่วยกระตุ้น” คือภาพและเสียงจากเกมส์นั้นไม่ได้เป็นตัวความสุขโดยตรง แต่มันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความสุขเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นการศึกษาระบบการทำงานของสมองหรือจิตใจ ที่จะช่วยให้เด็กได้เข้าใจว่า แท้จริงสิ่งที่ตนเองกำลังลุ่มหลงติดใจอย่างยิ่งอยู่นั้นมันเป็นเพียง “ความรู้สึกที่น่าพึงพอใจชั่วคราว”ที่สมองสร้างขึ้นมาเองโดยอาศัยภาพและเสียงจากการเล่นเกมส์มาเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เด็กได้มองเห็นความจริงที่ว่างเปล่าหรือไม่ได้อะไรจากการเล่นเกมส์เลยนอกจากจำได้ว่าการเล่นเกมส์นั้นให้ความสุขอย่างมาก และความจำนี้เองที่จะคอยกระตุ้นให้จิตใจเกิดความอยากที่จะไปเล่นเกมส์อีก ซึ่งนี่ก็คืออาการติดเกมส์ที่เหมือนติดยาเสพย์ติดที่มีโทษร้ายแรงทั้งหลายนั่นเอง
ส่วนข้อที่ ๓ คือโทษหรือผลเสียจากการเล่นเกมส์นั้น ถ้าเรามองอย่างผิวเผินก็เหมือนกับว่าการเล่นเกมส์นั้นเป็นเพียงแค่การเล่นที่สนุกสนานไม่เห็นจะมีโทษหรือผลเสียอะไร แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะพบว่าการเล่นเกมส์นี้มีโทษหรือผลเสียมากมายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งแก่ตัวเด็กเองและแก่สังคมโดยรวม ซึ่งก็จะสรุปได้ดังนี้
๑. เสียสุขภาพ คือการนั่งเพ่งจอภาพนานๆก็จะเกิดผลเสียกับร่ายกายหรือดวงตา เช่นปวดเมื่อย สุขภาพอ่อนแอ ปวดหัว หรือทำให้ดวงตาเสื่อมสภาพเร็ว คือทำให้ตาฝ้าฟางและอาจจะทำให้ระบบสายตาเสียหายจนสายตาพิการได้ อีกทั้งรังสีจากจอภาพนั้นก็มีโทษแก่ร่างกายด้วย เป็นต้น ซึ่งข้อนี้ยังเป็นเพียงโทษเล็กน้อยเท่านั้น
๒. เสียนิสัย การเล่นเกมส์นั้นจะสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัวอย่างเช่น เด็กที่ติดเกมส์มักจะมีนิสัยเกียจคร้าน ขาดความรับผิดชอบ เด็กบางคนเมื่อติดเกมส์มากๆเมื่อพ่อแม่ไม่ให้เงินไปเล่นเกมส์ก็จะลักขโมยเงินพ่อแม่ที่แม้จะยากจนและจำเป็นจะต้องใช้เงินนั้น เด็กก็จะไม่สนใจว่าพ่อแม่จะเดือดร้อนอย่างไร เพื่อเอาเงินไปเล่นเกมส์ ซึ่งก็สร้างปัญหาให้กับครอบครัวอย่างมาก หรือเด็กบางคนเมื่อพ่อแม่ห้ามไม่ให้เล่นเกมส์หรือกักขังหรือทำโทษ เด็กก็จะโกรธ หรือไม่พอใจพ่อแม่อย่างรุนแรง ซึ่งก็อาจถึงขั้นทำร้ายพ่อแม่ได้ หรือบางคนอาจจะเสียใจถึงขั้นประชดชีวิตด้วยการทำร้ายตัวเองก็ได้ หรือเกมส์ประเภทที่ทำร้ายกัน หรือฆ่ากันอย่างเหี้ยมโหดก็จะทำให้ผู้ที่เล่นนั้นสั่งสมนิสัยใจร้ายหรือเหี้ยมโหดเอาไว้ในจิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็จะทำให้ผู้เล่นนั้นมีนิสัยขาดเมตตา หงุดหงิดง่าย ใจร้าย และโมโหง่าย แล้วผลที่ตามมาก็คือเมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดโทสะเขาก็จะขาดสติและเกิดโทสะขึ้นอย่างรุนแรง แล้วก็สามารถทำร้ายผู้อื่น หรือฆ่าคนอื่นได้อย่างง่ายดายเพราะรู้สึกเหมือนกับได้เล่นเกมส์ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ก็มีให้เห็นทางสื่อต่างๆอยู่บ่อยๆ ทั้งในและต่างประเทศ
เกมส์จึงเปรียบเหมือนปีศาจร้ายที่มาครอบงำจิตใจเด็กให้ติดให้ลุ่มหลงแล้วก็ทำให้เด็กโง่เขลา ไร้ความคิด ไร้สติปัญญา เห็นแก่ตัว ก้าวร้าว ใจร้าย เอาแต่ใจตัวเอง ดื้อรั้น เกียจคร้าน ไม่อดทน ขาดความรับผิดชอบ ฟุ่มเฟือย คือจากเด็กที่มีนิสัยดีก็เปลี่ยนมาเป็นเด็กที่มีนิสัยเลวได้เพราะติดเกมส์
๓. เสียทรัพย์ คือการเล่นเกมส์นี้ก็ต้องใช้ทรัพย์แลกเปลี่ยน ซึ่งคนทีร่ำรวยก็อาจซื้อหามาเล่นได้โดยไม่ทำให้เดือดร้อน ส่วนคนที่มีทรัพย์น้อยก็ต้องไปอาศัยเช่าเครื่องเล่นตามร้านที่คนเห็นแก่ตัวเขาเปิดให้บริการ ซึ่งถ้าค่าบริการแพงเด็กก็ไปเล่นน้อยหรือเล่นไม่นาน แต่ถ้าค่าเช่าถูก เด็กก็จะยิ่งเล่นมากหรือเล่นนาน เด็กบางคนอาจเล่นเกมส์ติดต่อกันได้เป็นวันๆโดยไม่ได้พักผ่อนก็มี ซึ่งเงินที่พ่อแม่หามาได้เพื่อให้ลูกเอาไปกินขนมลูกก็เอาไปเล่นเกมส์จนหมด หรือเงินที่พ่อแม่หามาด้วยความยากลำบากเพื่อให้ลูกเอาไปใช้จ่ายในการเรียน ลูกก็กลับเอาไปเล่นเกมส์จนหมดโดยไม่รู้ตัวเหมือนคนไม่มีความคิด หรือเหมือนคนปัญญาอ่อนที่คิดอะไรไม่เป็น หรือคิดเป็นอย่างเดียวคือจะเล่นแต่เกมส์อย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตว่าต่อไปมันจะเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอย่างไรก็ไม่สนใจ
คือเหมือนกับว่าจิตใจของเด็กที่ติดเกมส์นั้นจะมืดบอด ไม่มีแสงสว่างของสติปัญญาอยู่เลยสักนิด เด็กจะคิดได้แต่เพียงว่า “ช่างมันขอให้ได้สนุกจากการเล่นเกมส์นี้อย่างเดียวก็พอใจแล้ว ถึงแม้จะต้องแลกด้วยการตกเป็นทาสตลอดชีวิต หรือถูกเอาไปฆ่า เอาไปทรมาน เอาไปข่มเหงรังแกอย่างไรก็ยอม” ซึ่งนี่คือจุดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะมันทำให้เด็กสามารถทำได้ทุกอย่างแม้การกระทำนั้นจะผิดหรือจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตอย่างไรก็ยอม เพียงเพื่อแลกกับการได้เล่นเกมส์ที่ตนเองชอบเท่านั้น
๔. เสียเวลา คือเด็กที่ติดเกมส์นั้นจะเอาแต่นั่งเล่นเกมส์เพียงอย่างเดียว ไม่ยอมทำอะไร ยิ่งถ้าพ่อแม่บังคับลูกไม่ได้ ลูกก็จะได้ใจและจะไม่ยอมทำอะไรเลยนอกจากเล่นเกมส์ทั้งวันทั้งคืนจนกระทั่งร่างกายทนไม่ไหวจึงจะไปพักผ่อน พอตื่นมาก็จะมาเล่นเกมส์ต่อทันที ซึ่งนี่ก็คือการทำให้เสียเวลาที่จะเอาไปทำสิ่งที่จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เด็กบางคนก็เรียนไม่จบก็ทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆไปเป็นปีๆโดยไม่ได้อะไรเลยเพราะมัวแต่ไปเล่นเกมส์ หรือคนที่กลับตัวได้แต่ก็ต้องเสียเวลามาตั้งต้นเล่าเรียนใหม่ ซึ่งก็ต้องใช้ความอดทนและความพากเพียรหนักขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็อาจจะตามเพื่อนๆไม่ทัน หรืออาจจะท้อถอยจนละเลิกการเรียนไปอีกก็ได้
๕. เสียปัญญา คือการที่เด็กเอาเวลาไปเล่นเกมส์นั้นก็จะทำให้เด็กเสียเวลาในการเรียน การทำการบ้าน และการอ่านหนังสือหรือเสียเวลาในการศึกษาสิ่งที่จะทำให้เกิดความรอบรู้ในด้านต่างๆแก่ตนเอง ซึ่งก็ย่อมที่จะทำให้เด็กนั้นโง่เขลา หรือไม่มีความรู้เท่าเพื่อนที่ไม่ติดเกมส์ ซึ่งเมื่อโง่เสียอย่างเดียวชีวิตก็หาความสุขความเจริญที่มั่นคงยั่งยืนไม่ได้
๖. เสียอนาคต คือถ้าเสียสุขภาพ ก็จะทำให้เสียโอกาสที่จะมีความก้าวหน้าในการเรียนหรือในหน้าที่การงานได้ ส่วนเด็กที่ความรู้ต่ำหรือโง่เขลาเพราะไม่ได้เรียนก็ย่อมที่จะได้ทำแต่งานที่ต่ำลงตามไปด้วย จึงทำให้ชีวิตตกต่ำหรือไม่เจริญก้าวหน้าอย่างคนที่เขามีการศึกษาทั้งหลาย คือทำให้ต้องทนทำงานที่ต่ำต้อยหรือหนักแต่ว่าได้เงินน้อยไปจนตลอดชีวิต ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าเด็กนั้นได้ “ขายอนาคตให้กับปีศาจเกมส์”ไปเสียแล้ว
ส่วนบางคนที่ติดเกมส์มากๆแต่ไม่มีเงินมาเล่นเกมส์ เมื่ออยากเล่นเกมส์มากๆก็อาจจะกระทำสิ่งเลวร้ายหรือไม่ดีงามขึ้นมาและสร้างปัญหาให้กับสังคมได้ เช่น ถ้าเป็นเด็กผู้ชายก็อาจลักขโมย หรือขายยาเสพติด เพื่อเอาเงินไปเล่มเกมส์ แต่ถ้าโตหน่อยก็อาจถึงขั้นจี้ปล้นหรือก่ออาชญากรรมอื่นๆได้โดยง่าย ซึ่งก็จะทำให้สังคมประณามและถ้าถูกจับได้ก็จะถูกลงโทษทำให้เสียอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย
ถ้าเป็นสาววัยรุ่นเมื่อติดเกมส์มากแต่เกียจคร้านที่จะทำงาน สุดท้ายเมื่อไม่เห็นมีโอกาสทางอื่นก็จะอาศัยร่างกายหาเงินมาเล่นเกมส์ด้วยการเกาะผู้ชายเพื่อให้เขาเลี้ยงดูและให้มีโอกาสได้เล่นเกมส์ แต่ก็ไม่นานเพราะนิสัยติดเกมส์และเกียจคร้านก็จะทำให้เกิดปัญหาและถูกทอดทิ้ง ซึ่งก็ต้องเที่ยวหาเกาะผู้ชายใหม่เรื่อยไป และเมื่อหาผู้ชายเกาะไม่ได้แล้วก็จะถึงขั้นขายตัวเพื่อจะได้มีเงินมาใช้ดำรงชีวิตและเล่นเกมส์ ซึ่งการเกาะผู้ชายหรือการขายตัวนั้นก็เสี่ยงกับการติดกับโรคติดต่อทางเพศที่ร้ายแรงเช่น ซิฟิลิส หนองใน หรือ โรคเอดส์ได้โดยง่าย ซึ่งก็ย่อมที่จะทำให้เสียอนาคตไปอย่างน่าเสียดายเพราะเพียง “แค่อยากเล่นเกมส์” เท่านั้นเอง
เกมส์จึงจัดเป็นภัยหรือสิ่งเลวร้ายที่ทำลายครอบครัวและสังคมประเทศชาติอย่างเงียบๆโดยเราอาจจะไม่รู้ตัว ดังนั้นถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองคนใดมีลูกหลานที่ยังไม่ติดเกมส์ ก็ต้องระวังอย่างหนักที่จะไม่ให้เด็กไปเริ่มเล่นเกมส์ เพราะถ้าเด็กติดแล้วจะเลิกได้ยากเหมือนติดยาเสพติดชนิดร้ายแรง ส่วนเด็กที่ติดแล้วก็ต้องรีบหาทางแก้ไขให้เด็กหลุดพ้นจากอำนาจของ “ปีศาจเกมส์”อย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสายเกินไป
ส่วนข้อที่ ๔ คือวิธีการที่จะหลุดพ้นจากการติดเกมส์นั้นจะสรุปอยู่ที่การพิจารณาให้เห็นถึงโทษจากการติดเกมส์อย่างจริงจังจนเกิดความกลัวต่อโทษนั้น แล้วก็หันมาฝึกสมาธิเพื่อให้จิตมาติดอยู่ในความสุขจากสมาธิแทน
ในขั้นนี้ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า “มนุษย์ทุกคนที่เกิดมานั้นต้องการความสุข” ซึ่งเมื่อใครได้รับการปลูกฝังให้ติดใจลุ่มหลงในความสุขจากสิ่งใดแล้ว เขาก็จะติดใจลุ่มหลงความสุขจากสิ่งนั้นเรื่อยไปและละเลิกได้ยาก นอกเสียจากว่าเขาจะได้รับความสุขใหม่ๆที่ดีกว่าเก่ามาให้ติดใจลุ่มหลงแทน เขาก็จะเปลี่ยนไปติดใจลุ่มหลงในความสุขใหม่นั้นแทน
การเล่นเกมส์นั้นมันก็ทำให้เกิดความสุขอย่างมากแก่จิตใจอย่างหนึ่ง แต่ความสุขจากการเล่นเกมส์นี้เราก็รู้ว่ามันมีโทษมาก ดังนั้นเราก็ต้องละเลิกและหาความสุขใหม่ที่ไม่มีโทษมาให้จิตใจติดแทน ซึ่งความสุขที่ไม่มีโทษนี้ก็หาได้จากการเรียน และการทำงานที่เด็กที่ไม่ติดเกมส์ทั้งหลายเขามีกันอยู่ แต่เด็กที่ติดเกมส์นี้ย่อมที่จะไม่ชอบเรียน ไม่ชอบทำงานเพราะเขาจะรู้สึกเป็นทุกข์แทนที่จะรู้สึกเป็นสุข ดังนั้นจึงอาจจะต้องใช้การบังคับและใช้เวลามาก กว่าจะเปลี่ยนให้เด็กที่ติดเกมส์เปลี่ยนมาติดในการเรียนหรือการทำงานได้ ซึ่งก็อาจจะทำไม่ได้เลยก็ได้ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองขาดสติปัญญาและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กไม่ได้ ซึ่งข้อนี้นับเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะมองข้ามไม่ได้ เพราะถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองก็ยังลุ่มหลงติดใจในอบายมุขต่างๆ เช่น การดื่มสุรา ติดสิ่งเสพติด เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ฟุ่มเฟือย หรือชอบกระทำสิ่งที่ไม่ดีงามหรือชั่วร้ายอยู่เป็นประจำ เป็นต้นอยู่แล้ว เด็กก็จะเอาเป็นตัวอย่าง คือเด็กจะไม่เชื่อคำสอนของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองทำตัวไม่น่าเคารพเชื่อถือให้เด็กเห็นก่อน เด็กจะมองว่า “ดีแต่สอนแต่ตัวเองก็ทำไมได้”
การให้เด็กมาหาความสุขจากการเล่นกีฬาหรือการทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่สังคมแทนนั้นก็นับว่าดีที่ควรสนับสนุนให้มีมากๆเพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาเด็กติดเกมส์ได้มากเลยทีเดียว คือการแก้ปัญหาเด็กติดเกมส์นี้จะต้องแก้กันในทุกๆด้านช่วยกัน จึงจะได้ผลเต็มที่
ยังมีความสุขอย่างหนึ่งที่นอกจากไม่มีโทษแล้วยังมีประโยชน์ต่อชีวิตอย่างมากด้วย ซึ่งนั่นก็คือความสุขจากสมาธิ ถ้าเด็กหรือแม้คนโตๆแล้วก็ตามสามารถมีความสุขจากสมาธิได้ เขาก็จะติดใจในความสุขจากสมาธิ ที่เป็นความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินทองหรือสิ่งของมาแลกเปลี่ยน ซึ่งความสุขจากสมาธิจะเป็นความสุขที่สงบ ที่แม้จะเป็นสุขที่ดูธรรมดาหรือเรียบง่าย ไม่น่าตื่นเต้นโลดโผนเหมือนความสุขจากการเล่นเกมส์ หรือจากการเสพความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น และทางผิวกายก็ตาม แต่ก็เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน สงบ ประณีต และลุ่มลึกอย่างที่สุด ซึ่งความสุขจากสมาธินี้ถ้าใครมีแล้วก็จะทำให้ติดใจและจะไม่สนใจความสุขอื่นที่เสพกันทางดา หู จมูก ลิ้น และทางผิวกาย อย่างเช่นความสุขจากเรื่องทางเพศหรือจากเกมส์เลย
ทำอย่างไรจึงจะมีสมาธิ? สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือหมายถึงจิตที่ตั้งใจจดจ่ออยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ซึ่งความตั้งใจนี้เราก็มีกันอยู่แล้วในการเรียน หรือการทำงานทั้งหลายนี่เอง เพียงแต่ว่าเราอาจจะมีกันไม่สมบูรณ์เท่านั้น คือพอเราตั้งใจคิด หรือพูด หรือทำ จิตก็จะเริ่มมีสมาธิขึ้นมาทันทีโดยอัตโนมัติ อย่างเช่นเมื่อเราตั้งใจคิดเลข หรือทำอะไรที่ต้องตั้งใจ จิตก็จะเกิดสมาธิขึ้นมาทันที เป็นต้น
การฝึกสมาธินี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบก็ได้ คือเราสามารฝึกจากการเรียน การทำงาน การคิดค้น หรือการเพ่งพิจารณาธรรมะก็ได้ โดยการตั้งใจทำสิ่งต่างๆนี้ให้มั่นคงเท่านั้น ก็เรียกว่าเป็นการฝึกสมาธิแล้ว โดยสิ่งที่จะแสดงว่าเราเริ่มมีสมาธิหรือยังก็คืออาการที่จิตของเราสงบ ไม่ดิ้นรนฟุ้งซ่าน และมีความสุขสงบประณีต พร้อมทั้งมีสติอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสมาธินี้มีประโยชน์อย่างมากในการเรียน ถ้าเด็กมีสมาธิเด็กก็จะเรียนเก่ง ถ้าคนทำงานมีสมาธิก็จะทำงานได้ดี หรือนักคิดนักเขียน นักพูดถ้ามีสมาธิก็จะคิด หรือเขียน หรือพูดได้ดี
สำหรับคนที่ต้องการฝึกสมาธิอย่างมีรูปแบบนั้นก็ทำได้ โดยการฝึกกำหนดลมหายใจเข้าและออกของเราให้ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา โดยก่อนอื่นก็ต้องหาที่สงบๆไม่มีสิ่งรบกวนเพื่อฝึกก่อน แล้วปฏิบัติดังนี้
(๑) ในการฝึกใหม่ๆควรใช้อิริยาบถนั่ง เพราะทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่าอิริยาบถอื่น เมื่อชำนาญแล้วจะใช้อิริยาบถใดก็ได้ ซึ่งการนั่งนั้นใหม่ๆก็ควรนั่งแบบนั่งขัดสมาธิ(คือนั่งขัดสมาธิตัวตรงเหมือนพระพุทธรูป) ส่วนจะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ ถ้าลืมตาแล้วฟุ้งซ่านก็ให้หลับตา แต่ถ้าหลับตาแล้วง่วงนอนก็ให้ลืมตามองทอดสายตาลงต่ำไม่ใช่มองเพ่ง
(๒)ให้เอาสติหรือจิตมาจับหรือมาเพ่งดูที่อาการหายใจของร่างกายตลอดเวลา ระวังอย่าให้จิตหลุดไปจากการเพ่งที่ลมหายใจ ถ้าเผลอสติจนจิตหลุดจากลมหายใจไปคิดเรื่องอื่นแล้วรู้สึกตัวก็ให้รีบกลับมากำหนดลมหายใจใหม่ทันที ซึ่งนี่ก็เป็นการเอากิริยาการหายใจของร่าง กายนี้มาเป็นสิ่งยึดเกาะ หรือเป็นเครื่องเคาะจังหวะ เพื่อไม่ให้จิตเลื่อนลอยจนขาดสมาธิ และต่อไปนี้ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราก็จะต้องมีการกำหนดลมหายใจควบคู่ไปด้วยเสมอ
(๓) ให้บังคับลมหายใจให้เบาและยาวอยู่เสมอ เพราะจะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย
(๔) ให้มีการนับลมหายใจ หรือท่องคำที่ชอบอยู่ในใจ หรือตั้งใจคิดไปพร้อมๆกับกำหนดลมหายใจไปด้วย เพื่อให้จิตมีงานทำ หรือมีสิ่งรับรู้จะได้ไม่ดิ้นรนฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่น หรือถ้าไม่ได้คิดอะไรจิตก็จะเผลอตัวจนหลับได้
การที่จิตมีสมาธิไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องหยุดความคิดได้ ดังนั้นเมื่อเรายังไม่สามารถหยุดความคิดได้ เราก็ต้องหาอะไรที่ดีงามมาให้จิตคิด โดยเราอาจจะใช้การนับลมหายใจเป็นคู่ๆก็ได้ เช่นนับ ๑ เมื่อหายใจออก เมื่อหายใจเข้าก็ไม่นับ พอหายใจออกใหม่ก็นับ ๒ เช่นนี้ไปเรื่อยจนครบ ๑๐๐ (หรือจะเท่าไรก็ได้) เมื่อครบแล้วก็มาตั้งต้นนับใหม่ แต่ถ้าเผลอหลงลืมจุดใดก็ให้มาตั้งต้นนับใหม่
หรือใครอาจจะใช้การท่องคำอะไรที่ดีงามหรือเตือนสติตนเองไปพร้อมๆกับกำหนดลมหายใจขณะที่ออกหรือเข้าก็ได้(คือใครจะท่องขณะลมหายใจออก แต่พอหายใจเข้าก็หยุดก็ได้ หรือใครจะท่องขณะลมหายใจเข้า แต่พอลมหายใจออกจะหยุดก็ได้) เช่นคำว่า อย่าโง่, อย่าบ้า, ว่างเปล่า, ไม่ได้อะไรเลย, หรือ บ้าเกมส์ชีวิตจะฉิบหาย เป็นต้น
หรือใครจะใช้วิธี การตั้งใจคิดหรือพูดในเรื่องที่ดีงามเฉพาะขณะที่หายใจออก แต่พอหายใจเข้าจะหยุดคิดก็ได้ ซึ่งเรื่องที่ดีงามนั้นก็ได้แก่เรื่องการเรียน การเขียน หรือการทำงาน หรือการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือแม้การตั้งใจคิดในเรื่องเกี่ยวกับโทษและภัยจากเกมส์นี้ก็ได้ ซึ่งการคิดพิจารณาธรรมะ หรือการพูดหรือบรรยายธรรมะก็จัดเป็นการคิดที่ดีงามและยังเป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์อย่างถาวรอีกด้วย
เคล็ดลับที่จะฝึกให้เกิดสมาธิได้ง่ายๆก็คือ ให้เราคิด หรือพูด หรือทำอะไรก็ได้ที่ดีงามหรือเป็นประโยชน์ เช่นการอ่านหนังสือ การเรียน การพูด หรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือการทำงาน เป็นต้น และเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกชอบด้วยจึงจะทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย โดยเฉพาะการฝึกพูดอย่างตั้งใจนั้น จะทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้ผู้พูดได้ใช้ความคิด จึงเท่ากับทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาพร้อมๆกันด้วย เราจึงควรส่งเสริมให้เด็กฝึกพูดมาตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อว่าเมื่อโตขึ้นเด็กจะได้เป็นเด็กที่มีทั้งสมาธิและปัญญา(เรื่องนี้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “ดับทุกข์โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์” จากทางเวปไซต์ www.whatami.8m.com )
ในการฝึกใหม่ๆจิตก็ย่อมที่จะดิ้นรนฟุ้งซ่านเป็นธรรมดาเพราะมันไม่เคยถูกบังคับ ซึ่งก็ต้องอาศัยความอดทนฝึกไปอย่าท้อถอย ถ้าเราสามารถกำหนดลมหายใจได้ต่อเนื่องนานๆโดยไม่ขาดตอน ไม่นานจิตก็จะค่อยๆอ่อนโยนลง คือ สงบ เยือกเย็นไม่ดิ้นรนฟุ้งซ่าน ควบคุมได้ง่าย และจะเกิดความรู้สึกเบาสบาย ปลอดโปร่งแจ่มใส พร้อมกับมีความสุขที่สงบเกิดขึ้นมาด้วย ซึ่งนี่คืออาการขณะที่จิตเกิดสมาธิ และเมื่อยิ่งเพ่งหรือกำหนดลมหายใจต่อไปเรื่อยๆอย่างมั่นคง จิตก็จะค่อยๆมีความสงบตั้งมั่นมากยิ่งขึ้น หรือมีสมาธิมากยิ่งขึ้น
ประโยชน์จากการมีสมาธิโดยตรงก็คือ(๑)ทำให้ความทุกข์ใจทั้งหลายดับลง(ชั่วคราวขณะที่จิตมีสมาธิ) (๒)ทำให้เกิดความสุขที่สงบ ประณีต ซึ่งเป็นความสุขที่เหนือความสุขจากพวกกามารมณ์หรือเรื่องทางเพศ และเหนือความสุขจากการเสพวัตถุ(รวมทั้งเกมส์ด้วย) รวมทั้งเหนือความสุขจากเรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียงทั้งหลายด้วย จนสามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากการติดในความสุขเหล่านี้ได้ ส่วนประโยชน์โดยอ้อมก็คือทำให้มีสติสมบูรณ์ มีความจำดี และมีความคิดดี ซึ่งก็จะทำให้การเรียน หรือการทำงาน หรือแม้การปฏิบัติธรรมของนักปฏิบัติธรรมดีขึ้นหรือเจริญขึ้นได้
สมาธิที่เกิดขึ้นใหม่ๆนั้นจะตั้งอยู่ได้ไม่นาน คือพอมีเรื่องหรือสิ่งต่างๆภายนอกมากระทบจิต สมาธิมันก็จะหายไปได้ง่ายๆ ดังนั้นถ้าเราต้องการที่จะให้จิตของเรามีสมาธิอยู่เสมอนั้น เราจำเป็นที่จะต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ หรือเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย แต่พื้นฐานที่จะทำให้จิตสามารถฝึกให้เกิดสมาธิได้ง่ายก็คือผู้ฝึกจะต้องเป็นคนที่มีความปรกติสุข คือเป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ชอบทำความชั่วและเป็นคนรักความสงบ ไม่ชอบเรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ ซึ่งนี่คือสิ่งจำเป็นที่จะขาดไม่ได้ ถ้าใครที่ชอบทำความชั่ว ไม่รักความสงบ ชอบพูดเรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ ก็จะฝึกให้เกิดสมาธิได้ยาก
จากเรื่องสมาธินี้ถ้าเราเข้าใจหลักการแล้วเราก็สามารถนำไปฝึกฝนเพื่อละเลิกความลุ่มหลงติดใจในความสุขที่มีโทษอื่นๆได้ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องการติดเกมส์เพียงอย่างเดียว เช่น จากการดื่มสุรา ติดสิ่งเสพติด หรือติดการพนัน ติดสิ่งฟุ่มเฟือย หรือติดหนัง ติดละคร ติดคุย ติดเล่น หรือแม้แต่การติดในเรื่องกามารมณ์ทางเพศ หรือติดกิน ติดนอน ติดวัตถุ หรือติดในเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้นก็ได้ สมาธิจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชีวิตของเราทุกคน ถ้าชีวิตขาดสมาธิ ชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์
จึงขอฝากให้ทุกคนนำเอาเรื่องสมาธินี้ไปศึกษาและนำเอาไปทดลองปฏิบัติ รวมทั้งช่วยกันป้องกันและสั่งสอนอบรมลูกหลานของเราให้พ้นจากภัยเกมส์ก่อนที่จะสายเกินไป และช่วยกันเผยแพร่เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม รวมทั้งแก่ประเทศชาติหรือแม้แต่ของโลกกันต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 351240เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2010 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท