Mind, Brain and Education



          วันที่ ๒๙ มี.ค. ๕๓ มีการประชุมให้คำแนะนำการขับเคลื่อนงาน MBE หรือการเชื่อมความรู้ด้าน neuroscience กับการเรียนรู้   โดยคราวที่แล้ว เมื่อ ๒ ธ.ค. ๕๓ คุยกันว่าน่าจะให้มี CoP ครู   ทั้งใน รร. ของรัฐและ รร. เอกชน   มีทั้งการพัฒนาความรู้ปฏิบัติ และการ ลปรร. วิธีดำเนินการไปสู่นักเรียน   มีการแนะให้ทำ เว็บไซต์ เผยแพร่ความรู้   และเผยแพร่เรื่องเล่าประยุกต์ใช้ความรู้    บันทึกก่อนๆ เรื่อง MBE ของผมอ่านได้ที่นี่

          วันนี้ทีมงานของ ดร. ประภาพรรณ จูเจริญ มานำเสนอหน้าตาของเว็บ   ใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือหรือพื้นที่เสมือนสำหรับให้เกิดการ ลปรร. ความรู้ปฏิบัติและความรู้ทฤษฎี   ผมให้ความเห็นว่า ต้องรู้จักใช้พื้นที่เสมือน   จากพื้นที่เสมือน เข้าสู่พื้นที่จริง ในภาคส่วนที่เข้าไม่ถึงพื้นที่เสมือน   ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภาคส่วนที่ใหญ่กว่าส่วนที่เข้าถึงพื้นที่เสมือนมาก

          วันนี้มีคนมาประชุมน้อยกว่าคราวที่แล้ว    โดยคนที่เป็นหลัก รู้เรื่องดีคือ ศ. นพ. ประเสริฐ บุญเกิด  กับ อ. สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์    คำอภิปรายของท่านทั้ง ๒ ทำให้ผมได้ความรู้มาก   จุดสำคัญที่อาจจะแตกต่างจากที่ทีม ดร. ประภาพรรณนำเสนอคือ MBE ไทยที่ทีมนี้เสนอดำเนินการไม่ได้เข้ามาในความว่างเปล่า มีคนดำเนินการอยู่แล้ว    ทั้งที่ดำเนินการถูกต้อง และดำเนินการบิดเบี้ยว    เราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เป็นตัวเติมเต็ม ขยาย เคลื่อน

          หน่วยงานที่ดำเนินการอยู่บ้างแล้วได้แก่ สถาบันวิทยาการการเรียนรู้, สกศ., สสส., มสส. – นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เน้นที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย ใช้ความรู้ด้าน neuroscience    หน่วยงาน/โครงการ อื่น อาจดำเนินการในชื่ออื่น แต่ซ้อนเหลื่อมกับ MBE 

          โครงการ MBE จึงควรดำเนินการอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงรอบทิศ   ดำเนินการมากกว่าเพียงใช้เว็บไซต์   เช่น เข้าสู่พื้นที่ที่เป็นทางการ เช่น สภาคณบดีศึกษาศาสตร์    เข้าสู่รายการทีวีด้านครอบครัว    ชมรมผู้ปกครอง   มายา (คุณสันติ)     


      มีงานเชิงรุกออกไปนอกพื้นที่เว็บไซต์   ได้แก่การออกไปโพสต์ในเว็บไซต์ครู  เว็บไซต์พ่อแม่ ฯลฯ    การให้บริการฝึกอบรมแก่วิทยากรในพื้นที่    การพิมพ์หนังสือจำหน่าย   การมีคอลัมน์ใน นสพ.  นิตยสาร   และรายการวิทยุ  ทีวี    ต้องทำให้เหมาะต่อการนำไปใช้ในบริบทที่ใช้ได้ทั่วไป   สรุปเป็นความรู้ที่หนักแน่นชัดเจน ป้องกันความสับสน   ทำเป็น ซีดี เผยแพร่จะได้กว้างขวางที่สุด

          ศ. นพ. ประเสริฐ ให้ความรู้แก่ผมว่า สมองเป็นอวัยวะเดียวที่ต้องการทั้งอาหารกายและอาหารใจ   อาหารใจเปลี่ยนไปตามอายุ   ง่ายที่สุดคือเรียนรู้คู่ความสุข   เรียนจากของจริงสู่สัญญลักษณ์

          ที่ประชุมเสนอว่า ต้อมองเป้าหมายให้ชัด ดร. สีลาภรณ์เสนอให้เน้นครู ส่วนพ่อแม่เป็นเป้าหมายรอง   ศ. นพ. ประเสริฐ บุญเกิด เสนอว่าควรเป็นเป้าหมายเป็นชุด หรือ continuum ทั้งครู พ่อแม่ และครอบครัว   มุ่งพัฒนาความรู้ความเข้าใจของครูให้ชัดเจน   การจัด content ให้น่าสนใจ และมีความก้าวหน้า   การมีความเข้าใจภาพรวมของ MBE ในสังคมไทย   และกำหนดบทบาทของโครงการ 

          ต้องการการสร้างคน สร้างครู เน้นครูที่ทำหน้าที่สนุก มีชีวิตชีวา เด็กเรียนอย่างมีความสุข จากการใช้ความรู้ MBE    ใช้ เว็บ เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์
สมองกับการเรียนรู้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้    หรือเป็นเสี้ยวหนึ่งของปรัชญาการเรียนรู้ของโรงเรียน  

          ระวังธุรกิจเข้ามาเชื่อมโยง อาศัยโฆษณาแฝง

          การเรียนวินัยเชิงบวก  ควรเป็นส่วนหนึ่งของ MBE

          ระหว่างประชุม ผมก็ฝึก MBE ของผมไปด้วย    คือทั้งฟัง จด สรุป และบันทึกเสียง แต่ลืมเอากล้องไปถ่ายรูป  

          ใกล้จะจบผมบอกที่ประชุมว่า ผมจับความได้ ๕ ประเด็น

๑.   โครงการ MBE เป็น part of the whole ของเรื่องสมองกับการเรียนรู้ของไทย   ต้องออกแบบกิจกรรมให้ MBE เชื่อมโยงและ synergy กับส่วนอื่นๆ


๒.   กิจกรรมเชิงตั้งรับ คือ website ซึ่งอาจตั้งชื่อ domain ว่า ThaiMBE.com (แต่ทีมงานอยากเอาไปแขวนไว้กับเว็บไซต์ของวิทยาลัยสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล)  ใช้หลักที่ได้รับคำแนะนำจากที่ประชุมคือ give & get   หลัก give บอกว่าต้องจัดให้ user-oriented โดยคุณปิยาภรณ์แห่งมูลนิธิสยามกัมมาจลแนะให้ดูตัวอย่างเว็บไซต์ของ Smithsonian Institute   หลัก get คือ ใช้เว็บไซต์เป็นที่รวบรวบ success story และโจทย์วิจัย 


๓.   ต้องมีกิจกรรมเชิงรุกออกไปนอกพื้นที่เสมือน   ออกไปโพสต์เชื้อเชิญตามเว็บ/ชุมชน อื่น   สื่ออื่น    รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่จริง


๔.   ทีมงาน  ควรมีครูเข้ามาเป็นทีม

๕.   ภาคี  หาภาคีร่วมงานให้กว้างขวางที่สุด เช่น สภาคณบดีศึกษาศาสตร์   สมาคมประสาทวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย  และอื่นๆ ที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว

          ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานในที่ประชุม ขอบคุณที่ผมช่วยสรุป   นานๆ จะได้รับบริการแบบนี้จากผม   เพราะตามปกติเมื่อประชุมด้วยกันมักจะเกิดเหตุการณ์ตรงกันข้าม คือ ดร. สีลาภรณ์ ช่วยสรุปให้ผม

          ผมสรุปกับตัวเองว่า โครงการ MBE จะทำงาน Knowledge Translation ความรู้ด้าน MBE ของโลก สู่สังคมไทย   ให้สังคมไทยรู้จักใช้ความรู้เกี่ยวกับสมอง ในการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน   ในการศึกษา  และในกิจกรรมต่างๆ ที่บ่มเพาะปัญญาในสังคม – เน้นที่ ปัญญาปฏิบัติ   กลับทางการศึกษาในปัจจุบันที่เรียนทฤษฎีหย่อนปฏิบัติ  เป็นเรียนจากปฏิบัติสู่ทฤษฎี

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ มี.ค. ๕๓
                     

หมายเลขบันทึก: 350530เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2010 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท