จิตตปัญญาเวชศึกษา 125: MS-PCARE ตอน 2 "ดาวมหา'ลัย"


ดาวมหา'ลัย

ใน Workshop ระยะหลัง เราเริ่มนำเอาเทคโนโลยีเล็กๆน้อยๆมาเพิ่ม จากแต่เดิมที่จะไม่เน้นเครื่องมือ electronics ใดๆ (ยกเว้น iPod ไว้เปิดเพลง) ก็เริ่มมีฉาย clips บ้าง เปิดเพลงบ้าง คราวนี้เราเปิดเพลง "ดาวมหา'ลัย" ให้บรรดาอาจารย์แพทย์ฟัง แล้วปล่อยให้ท่านทั้งหลายคุยกันเอง

ใครไม่เคยได้ยินเพลงนี้ ก็จะเป็นเพลงลูกทุ่ง พูดไทยอีสานกันทั้งเพลง เนื้อหาเกี่ยวกับ "น้องดาว" ซึ่งเป็นลูกที่อยู่ที่บ้านนอก ได้เข้าไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ พอกลับมาเยี่ยมแม่ที่บ้าน น้องดาวก็ "ออกอาการ" ไม่คุ้น ไม่เคย ปรับตัวไม่ได้กับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก็บ่นออกมาอย่างนั้นอย่างนี้ แม่ก็รำคาญโต้ตอบกับน้องดาว

เนื้อเพลงและท่วงทำนองออกสนุกสนานแบบลูกทุ่งอีสานขนานแท้ ขนาดฟังดูเหมือนทะเลาะกัน แต่ก็ใช้สำบัดสำนวนประชดประชันเสียดสีได้คันๆมันๆขบขัน ฟังแบบเพลินๆก็ได้ ฟังแบบลึกๆก็น่าสนใจดี

อภิปราย

พอเราเปิดการสนทนาพูดคุยกัน เรื่องที่ธรรมดา ก็กลายเป็นไม่ธรรมดาไปอย่างรวดเร็ว (ทำกับอาจารย์แพทย์ซะอย่าง จะให้ธรรมดาได้อย่างไร ฮึ ฮึ)

เริ่มต้นก็มีคนว่าด้วยตามเนื้อหาสาระตรงๆของเพลงก็คือ เด็กสมัยนี้ พอได้มาเห็นสีสันเมืองหลวง ก็ลืมกำพืด ลืมรากเหง้าที่มาของตนเอง เคยขี่ควาย คุ้ยแมงกุดจี่ในขี้ควายมากิน ก็กลายเป็นคลื่นเหียนเวียนหัวจะอ้วกแตกอ้วกแตนทนไม่ได้ซะแล้ว ต้องเดิน shopping ที่ CenterPoint สยามปารากอน ทนซื้อเสื้อยืดตัวละ 99 บาท 199 บาทไม่ได้แล้ว ไม่สมศักดิ์ศรีดาวมหา'ลัย ดูสิ แม่ส่งไปเรียน กลับกลายเป็นเทวดาไปเสียฉิบ

ก็มีคนเห็นด้วยตามมา ยิ่งเรียนยิ่งทำอะไรได้น้อยลง เพราะสถานที่เรียน อย่างเช่นในโรงพยาบาล ก็ยิ่ง advanced centre เป็นตติยภูมิ คือเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ลงลึกไปเป็นโรคๆ ต้องตรวจพิเศษด้วยเครื่องมือเครื่องไม้ตรึมไปหมด ของธรรมดาๆนี่ไม่ต้องพูดถึง ไม่ได้ "international standard" เดี๋ยวนี้มี "evidence-based medicine" ที่มีอ้างอิง references มาจากการศึกษา วิจัย เพิ่มระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น แต่ในขณะที่การแพทย์เชิงประจักษ์หรือ evidence-based medicine นั้นจะพูดถึง 3 ปัจจัยคือ หลักฐานอ้างอิง (references) การใช้วิจารณญาณจากผู้เชี่ยวชาญ (expert's opinions to adjust to real context) และ ทางเลือกของบริบทคือทั้งองค์กรและผู้ใช้ (organization's and patients' preferences) บางทีคนสอนก็ไปติดกับการใช้หลักฐานอ้างอิงเท่านั้น ทำให้เป็น evidence-based ที่แห้งแล้ง ขาด options หรือทางเลือก หรือความรู้สึกของมนุษย์ไป

บ่นขั้นจังหวะ

นึกถึงข้อสอบนักเรียนปัจจุบันที่ผ่านมา ที่มีข้อสอบทางจริยธรรม ถามว่าถ้านักเรียนตั้งครรภ์จะทำอย่างไร และให้คำตอบเชิงปรนัย เป็น choices 4 ตัวเลือก มีให้เลือกเรียนไปเลี้ยงลูก ฟ้องตำรวจให้่จัดการกับพ่อ ทำแท้ง หรือ drop ชั่วคราว ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็น mentality ของคนออกข้อสอบ (และกรรมการเลือกข้อสอบ) ชัดเจน ว่าเรื่องคุณธรรม มี The Best Choice และสามารถตัดสินได้โดยไม่ต้องพิจารณาบริบท และข้อสำคัญคือ the best choice นั้น คนออกข้อสอบเป็นผู้รู้คำตอบ (เพราะเป็นคนให้คะแนน) ส่วนประเด็น controversy นั้นจะยอมรับว่ามีหรือไม่มี ในทางปฏิบัติไม่สำคัญ (เพราะเธอให้คะแนนไปเรียบร้อยแล้ว)

Theme ของเพลงใช้เนื้อหาที่ส่วนใหญ่จะ "โดน" ใจคนฟังอยู่แล้ว และการตีความก็มาเร็ว เข้าใจง่าย

แต่เนื่องจากเรามีสมาชิกเกือบสามสิบคน พอเวียนการสนทนาไปเรื่อยๆ "ความน่าจะเป็น" ก็เริ่มขยายออก

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เออ เรายังไม่ทราบตอนจบนี่นะ น้องดาวแกอาจจะเห่อๆแสงสีความฟุ้งเฟ้อก็ตอนนี้แหละ ในเนื้อเพลงแกก็ยังมาเดินตลาด มาไต่คันนา แต่แค่ทนไม่ได้เพราะแกไม่ได้ทำมานานแล้ว จะรีบด่วนตัดสินระบบ ตัดสินน้องดาวไปก็ใช่ที่ แกอาจจะกลับมา OK ก็ได้นา ถ้าให้ดีต้องมีเพลงตอนต่อไปตอนน้องดาวเรียนจบแล้วจะกลับหรือไม่กลับ ค่อยตัดสิน

แล้วก็มีเสียงจากอาจารย์ท่านที่มาจากอีสานเพิ่มเติมว่า เอ... อยากจะบอกว่าในเนื้อเพลงเนี่ยนะ น้องดาวกับแม่ก็ใช่ว่าจะทะเลาะอะไรกันรุนแรง สำนวนที่แม่น้องดาวว่าน้องดาวนั้น เป็นสำนวนอีสานแบบ "ของแท้" (authentic) ที่จะด่าลูกด้วยความรักด้วยการประชดประชันและคารมถึงใจแบบเนี้ยแหละ เขาสนทนากันธรรมดาๆก็เป็นไปได้นะ เราไปฟังแล้วรีบตัดสินว่าเขากำลังทะเลาะกัน อาจจะไม่ใช่ (แต่น้องดาวก็ออดอ้อนชวนตบตีไม่เบา ตอนว่า "แม่ไม่่เซนซิทีฟ ไม่เข้่าใจดาว มันไม่ใช่ง่ะ ยังงี้มันไม่ใช่" แม่สวนกลับ "เดี๋ยวกูก็ถีบ" ให้ความสะใจ และสนุกสนานที่ทั้งคู่ "เท่าทัน" และ "บทถึง" กันทั้งคู่)

พอบอกอย่างนี้ ผมก็รู้สึกถึงกระแสความเห็นที่ได้ค่อยๆเดินทางจาก "ความหมายผิว" ที่ฟังปุ๊บแปลว่าอะไร สื่อว่าอะไร มาเป็น "ความเป็นไปได้" ทีละน้อยๆ ยิ่งได้ฟังเบื้องลึกของภาษา ของการโต้ตอบของคนอีสานบ้านเฮาไปด้วย สิ่งที่คิดตอนแรกๆก็เริ่มถูกห้อยแขวนเอาไว้มากขึ้นเรื่อยๆ

อาจารย์อีกท่านบอกว่า ถ้าเรากลับไปคิดดู ตอนที่เราสอนลูก สอนหลานให้ตั้งใจเรียนนั้น เราพูดว่าอะไร? เราไม่ได้บอกลูกบอกหลานน่ะหรือว่่า "เรียนให้สูงๆ จะได้เป็นเจ้าคน นายคน?" ถ้าเป็นเจ้าคนนายคนนั้น เราหมายถึงจะให้กลับมากินกุดจี่ขี้ควายหรือไถนารึเปล่า? หรือว่าเราอยากให้เขาไปทำอะไร? บางที "profile ของเจ้าคนนายคน" นั้น อาจจะเป็นอย่างน้องดาวรึเปล่า? นี่เรียกว่าคิดอีกกรอบนึง ก็ฉุดให้คนอิึ้งไปอีกวูบ ถ้าเราห้อยแขวนการด่วนตัดสินไว้ชั่วคราว ตกลง ที่เราจะส่งลูกเรียนไปถึงขั้นมหาวิทยาลัยเนี่ย เราได้บอกลูกไปว่าอย่างไรบ้าง อะไรที่เราชี้ เรายกตัวอย่างให้ลูกว่าเรียนสูงๆแล้วมันดียังไง จะได้เป็นนายอำเภอ ได้รับราชการ ได้เป็นพ่อค้า ทนายความ วิศวกร ฯลฯ และ "package ของการเรียนสูงๆ" นั้นมันมีอะไรบ้าง? ที่น้องดาวกลับมาแสดงออกที่บ้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมการแต่งตัว การกิน การซื้อข้าวซื้อของ นั่นไม่ใช่สิ่งที่สิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยมีเป็นปกติน่ะหรือ? นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราพร่ำบอกลูกหลานให้ตั้งใจเรียน "สูงๆ" จะได้ไปอยู่ในสถานที่แบบนี้ ที่ใครๆเขาทำกันแบบนี้่น่ะหรือ?

คำนึง:

คำถามแว่บนึงวูบเข้ากลางแสกหน้า ถ้า "สมมติ" ว่าเพลงนี้่แสดงว่าแม่เสียน้องดาวไป ใครเป็นคน "ปูเส้นทาง" การสูญเสียนี้? และกระบวนการนี้เริ่มต้นเมื่อไร?

  • ตอนน้องดาวไปเรียนมหา'ลัย
  • ตอนน้องดาวสอบติด
  • ตอนน้องดาวถูกสั่งสอนให้เรียนสูงๆ จะได้เข้ามหา'ลัยได้
  • ตอนที่คุณค่า เป้าหมาย และความหมายของความดี ความสำเร็จ ถูกถ่ายทอดและให้ความหมาย?

และ "ใคร" เป็นคนมีส่วนมากที่สุด ที่หล่อหลอม​ "เหตุปัจจัย" ทั้งหมดมาสู่ขั้นตอนแห่งการ "สูญเสีย" อันนี้?

ปรากฏว่าพอคิดๆมาถึงตอนนี้ เกิด series ของคำถามอีกมากมาย

  1. จากเพลงนี้ ตกลงเป็น​ "แม่สูญเสียน้องดาว" หรือว่า "น้องดาวสูญเสียแม่" กันแน่? ตามเนื้อหาอาจจะเป็นประการแรก แต่ถ้าเรามองทางฝั่งน้องดาว ก็อาจจะสับสนไม่แพ้กัน ตกลงที่แม่ส่งไป "มหา'ลัย" ที่เต็มไปด้วยคนที่คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ ตามล่าหา popularity หาจุดเด่น และมีทักษะแห่งการ "แข่งขัน" ตัวน้องดาวเองก็ทำได้ประสบความสำเร็จ จนได้ตำแหน่ง "ดาวมหา'ลัย" มา แล้วทำไมแม่จึงโกรธ ทำไมแม่ไม่ภาคภูมิใจในสิ่งที่น้องดาวได้กลับมา?
  2. หรือว่า "สูญเสียทั้งคู่" หรือ "ไม่มีใครสูญเสีย (เพียงแค่ทำใจไม่ได้)" กันแน่? ดูเหมือนชะตากรรมที่ทั้งสองคนจะเดินแยกทางกัน ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่การมอบหมาย ปลูกฝัง ให้ "เรียนสูงๆ" โดยที่ความหมายของคำๆนี้ ไม่เคยถูก define กำหนด หรือพูดกันให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร แต่ถ้ามองว่าไม่มีใครสูญเสียก็อาจจะเป็นแค่ "ช่วงทำใจ" หรือ "ตถตา" มันเป็นเช่นนี้ แล้วเราควรหรือต้องทำอะไรต่อไปไหม?
  3. หรือมองอีกด้านหนึ่งเป็น "ได้ทั้งคู่" ได้ไหม? แม่ก็ได้ "ลูกสาวคนใหม่" ที่ไปชุบตัว เรียนสูงๆจากมหา'ลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ได้มาหมด ทั้งความคิด ความเชื่อ รสนิยม ความรู้ ทักษะ ฯลฯ เรียกว่ากลับมาเป็น "น้องดาวเด็กเทพฯ" เต็มตัว ส่วนดาวก็ได้ "แม่" ในอีกมุมมอง คือ เป็นแม่ที่ยังอยู่ในชนบท รอน้องดาว ยังบ่นเหมือนเดิม ยังติเหมือนเดิม อาจจะมีคำถามลึกๆคือ แม่คนนี้ยังเป็นแม่ที่รอคอยความสำเร็จของน้องดาวอยู่หรือไม่ ยังเป็นแม่ที่ยอมรับน้องดาวเป็นลูกที่แม่ส่งไปเรียนสูงๆหรือไม่?

แล้วก็มีอาจารย์สะท้อนต่อมาว่า "เธอเองก็เป็นดาวมหา'ลัย" เริ่มต้นก็สะท้านสะเทือนวงเลยทีเดียว แต่เธอก็ไม่ได้ guilt เพราะเธอทราบว่ามาเรียนอะไร และตอนนี้สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะให้สมกับที่มาเรียน ในความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ ปฏิสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ ครอบครัวใหม่ (ของเธอเอง) ลูกๆ ภรรยา สามี สิ่งแวดล้อมใหม่ที่ "เปลี่ยน" เธอ

เพราะ "การศึกษา" นั้น ต้องมี "การเปลี่ยนแปลง" เกิดขึ้น ใครที่ไม่หวังการเปลี่ียนแปลง ก็แปลว่า "ไม่มีการเรียนรู้" เพราะการเรียนรู้ที่แท้นั้น ไม่เพียงแค่เนื้อหาเรื่องราวที่เราเข้าใจ แต่จะส่งผลไปถึงกระบวนการวิธีคิด และพฤติกรรมด้วย ทีนี้เปลี่ยนไปแค่ไหนที่จะเกิดดีหรือไม่ดี ต้องพิจารณาให้ดีๆ ถ้าเราเอา "ความคาดหวัง" มาจับ ก็อาจจะไม่ตรงกับ "ดี/ไม่ดี" เสียทีเดียว แต่เป็น ดี/ไม่ดี ตามความหมายของเราเอง (เปรียบง่ายๆ ถ้าเราอยากให้ลูกเรียนหมอ มันดันไปเรียนวิศวะ เราอาจจะผิดหวัง แต่เราก็ไม่ถึงกับตีความว่า "ไม่ดี" เป็นต้น) ในกรณีนี้ "น้องดาว version จริง" กลับกลายมาเป็นอาจารย์แพทย์ ทำงานดูแลคนป่วยไข้ และสอนน้องหมอรุ่นใหม่ๆ ที่จริงก็เป็น "ดาวมหา'ลัย" อีก version หนึ่งเหมือนกัน วิถีชีวิตเปลี่ยนไปเกือบอย่างสิ้นเชิง มีความหมาย คุณค่า และพฤติกรรม การทำงาน รสนิยม อาหารการกิน เครื่องแต่งตัว แตกต่างไปจากเดิมทั้งหมด

มีเสียงสะท้อนต่อ ซึ่งกลายเป็นหัวใจของ workshop นี้ คือการเป็น coach ที่จะสอนนักศึกษาแพทย์สาระวิชา palliative care ก็คือ มีผู้ยกประเด็นว่า "แล้วถ้าดาว จะกลายเป็นดาวมหา'ลัยจริงๆล่ะ จะเป็นเช่นไร?"

นั่นคือ ถ้าดาวจะเป็น pretty มีอาชีพเต้นกินรำกิน ออก events แต่งชุดสั้นๆ วับๆแวมๆ หาเงินเลี้ยงตัวเอง และมีความสุข เราจะ OK ไหม เราจะยัง "รัก" ดาว และเคารพในสิ่งที่ดาวตัดสินใจว่านี่คือชีวิตเธอได้หรือไม่?

นี่เป็น "หัวใจของ palliative care" โดยแท้ เพราะที่สุดแล้ว The best possible quality of life ที่เราจะอยากให้เกิดนั้น ควรจะเป็นไปตามการรับรู้ และบริบทของคนไข้ ไม่ใช่มาจาก evidence มาจากคนส่วนใหญ่ และที่แน่ๆ ไม่ได้มาจากนิยามของหมอ ของคนอื่นๆ

ตกลงเรา "รักอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือรักแบบมีเงื่อนไข?" กันแน่?

เราจะรู้สึกว่าเราทำสำเร็จ ต่อเมื่อชีวิตของดาวเป็นไปตามวิถีที่ตัวเราเป็นผู้ approve เท่านั้นรึเปล่า? หรือว่าเราสามารถที่จะมองเห็นความงดงามที่คนๆหนึ่งตั้งวิถีชีวิตของตนเอง รู้ว่าตนเองต้่องการอะไร?

สะท้อน:

อยากจะแถมอีกนิด ที่จริงเนื้อหาทั้งหมดที่พูดกันในวันนั้นมีละเอียดมาก เป็นอีกบ่ายหนึ่งของ workshop ที่ทรงพลัง และประหลาดใจ (แกมดีใจ) ที่ผุดปรากฏขึ้นมา โดยพลังของสังฆะทั้งหมด

สำหรับเรื่องเล่่าต่างๆนั้น ที่เรารู้สึกดี ไม่ได้อยู่ที่คนเล่า หรือศิลปการเล่าเรื่อง เพราะนี่ไม่ใช่วณิพกพเนจร สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีนั้นมาจากตัวละครทุกๆคนในเรื่อง และทุกๆคนในที่นี้หมายถึงทุกคนจริงๆ ทั้งบทดี/ไม่ดี เลวร้าย/เห็นแก่ตัว เสียสละ/รัก/เกลียด ฯลฯ ทั้งหมดทำให้เกิดพลังและความรู้สึกอย่างที่เรามี  โดยส่วนตัวผมถึงรู้สึกแปลกๆทุกครั้งที่มีการ "ตัดสินเรื่องเล่า" ให้คะแนน หรือให้รางวัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การไปให้กับคนเล่า"

พวกเราที่เคยเข้า workshop สุนทรียสนทนามา จะทราบดีว่า "องค์ประกอบและบริบท" ของการสนทนามีส่วนอย่างมากกับคุณภาพ เมื่อคนฟังเป็นคนกลุ่มหนึ่งสามารถทำให้การเล่าเพิ่มคุณภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อเมื่อเปรียบเทียบกับคนฟังอีกกลุ่มหนึ่ง ความรู้สึกปลอดภัยหรือ safe zone ในขณะที่เล่าเรีื่อง ปราศจากแรงกดดัน การตัดสิน (เพื่อให้รางวัลหรืออะไรก็แล้วแต่) และข้อสำคัญคือ "การไม่ได้เล่าเพราะเพื่อตนเอง เพื่อความสวยงามของตนเอง แต่เป็นการเล่าเพราะเรื่องนี้สำคัญ มีค่า มีความหมายที่จะเล่า" ที่เป็นตัวช่วยกำหนดพลังของเรื่องเล่านั้นๆ

เรื่องบางเรื่องทรงพลัง เพราะทำให้เรามองเห็น "ความโชคดี" ของตัวเราเอง เมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ หรือความไม่ดี ความ "พร่อง" ของผู้อื่น ในโอกาสเช่นนี้ คือวาระที่เราเองควร "ขอบคุณ และกตัญญู" ต่อผู้คนที่มีส่วนทำให้เรารู้สึกดีในตนเองด้วย ขอบคุณขอทานที่ทำให้เรารู้สึกร่ำรวย ขอบคุณคนได้คะแนนที่โหล่เพราะเรารู้สึกเราเก่ง ขอบคุณผู้ที่หิวโหย เพราะทำให้เราทราบว่าการที่เรามาเลือกกินโน้นกินนี่ มันเป็นความ "หรูหรา" เหลือประมาณในสายตาของผู้อื่น การทำให้เรา​ "ฉุกคิด" และ "กระตุก" สติก่อนที่จะตื่นเพริดไปกับความคุ้นชินเดิม ส่ิงเหล่านี้แฝงอยู่ในเรื่องเล่าทุกเรื่องที่ "ทรงพลัง"

โจทย์สุดท้ายที่อยากจะให้ลองครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างแยบคายก็คือ ถ้าเราเป็นผู้หล่อเลี้ยง เป็น coach แล้วเราเจอครอบครัวของน้องดาว คือ ดาวกับแม่ เราจะช่วยเขาอย่างไร เราจะทำอย่างไร และเราจะ approach อย่างไร? ใครจะลองตอบ แลกเปลี่ยน หรือเสนอความเห็นเพิ่มเติม ก็จะเป็นกุศลอย่างยิ่งเทอญ

หมายเลขบันทึก: 348843เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2010 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออภัยที่ตอนแรกเขียนไม่สมบูรณ์ครับ พอดีสะดุดทางเทคนิกเล็กน้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท