ภาษาไทยวิไลกว่าที่คิด


หยิบจากตำรา

ภาษาไทยวิไลกว่าที่คิด

                       

                        ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน  มีขนบธรรมเนียม  ประเพณี  วัฒนธรรม  และมีภาษาไทยคงอยู่คู่ชาติไทย  ให้คนไทยในชาติได้ใช้ตลอดมา  นับเป็นเอกลักษณ์แสดงความเป็นไทยให้ปรากฏ  ภาษาไทยจึงนับเป็นศักดิ์ศรีที่ชาวไทยควรที่จะอนุรักษ์ไว้(สุจริต   เพียรชอบ. ๒๕๔๐ : ๒) ความงดงามของภาษาไทยนั้นถ่ายทอดเป็นข้อพึงสังเกตได้จากถ้อยคำที่เรียบเรียงมาจากหัวข้องานเขียนของสุจริต  เพียรชอบ  (สุจริต   เพียรชอบ. ๒๕๔๐ : ๒-๔)ซึ่งได้อธิบายถึงภาษาไทยว่าเป็นศักดิ์ศรีของชาติไทยโดยหัวข้อในงานเขียนนั้นร้อยเรียงเป็นคำประพันธ์ได้ดังนี้

                                            “ ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ

                                         งามพิลาสไพเราะเสนาะแสน

                                        ใช้สื่อสารไปทั่วทั้งดินแดน

                                         แม้นแว่นแคว้นใกล้ไกลก็ใช้กัน

                                                เป็นภาษาราชการงานทุกสิ่ง

                                         ได้พึ่งพิงช่วยให้ไทยสมานฉันท์

                                         เป็นเอกลักษณ์ของชาติที่สำคัญ

                                         ใช้สืบสานวัฒนธรรมตลอดมา”

 

                จากคำประพันธ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าภาษาไทยย้อมมีความสำคัญทั้งในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นเครื่องมือให้คนในชาติทั้งหลายได้ใช้สื่อสารกันด้วยเหตุนี้  “ภาษาไทยจึงวิไลกว่าที่คิด”   คนที่ใช้ภาษาไทย  คนที่ได้ยินภาษาไทย  เข้าใจว่าภาษาไทยมีความวิไลมากน้อยเพียงใด  ในยุคปัจจุบันการกล่าวถึงคุณค่าทางวรรณศิลป์ในงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองแทบหาความวิไลในด้านศัพท์มิได้เลย  ทั้งนี้เนื่องจากศัพท์ภาษาไทยที่เกิดจากการสร้างสรรค์นั้นเกิดขึ้นเพียงเพื่ออนุโลมให้ถ้อยคำสวยงาม  ไพเราะในด้านเสียงและความหมายที่เรียกกันว่า “กวียานุโลม” 

                ภาษาไทยนั้นฉายแสงประกายความงดงามวิไลตามานับตั้งแต่กำเนิดลายสือไทยเป็นปฐม  ด้วยเหตุที่มีมหาราชทรงพระนามว่า  พ่อขุนรามคำแหง  ได้ประดิษฐ์อักษรและสลักบันทึกไว้ในศิลาทราย  ภาษาไทยก็เริ่มถือกำเนิดในรูปของอักษรแต่นั้นมา 

                ความงดงามของภาษาไทยมิใช่อยู่ที่การใช้ศัพท์ยาก  หรือการบรรจงเลือกเฟ้นคำมาอธิบายความให้ลึกซึ่งกินใจเพียงเท่านั้น  ภาษาไทยแสดงความวิไลออกมาทั้งในด้านรูปแบบคำประพันธ์  ศักดิ์ของคำ  น้ำเสียง  การเปรียบเทียบ  กล่าวคือ  วรรณกรรมไทยส่วนใหญ่ต้องอาศัยปัจจัยดังกล่าวเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับงานเขียน

               

    “โสนเกลื่อนน้ำก็ช้ำกลีบเฉา             สะแกต้นเก่าก็แตกกิ่งกอ

พระพือลมกราวจะหนาวแล้วหนอ          วะหวิวขลุ่ยคลอประเลงเพลงรัก

     กระเองไม้ขอนกระดอนตำข้าว         เขย่งตำข้าวกระตึกตึกตัก

เพราะแรงสาวเหยียบขยันเยื้องยัก        สะเทิ้นคำทักสิหนักใจสาว

    กระดังวงเดือนก็เกลื่อนข้าวกอง        กระต่ายหมายปองประคองฝัดข้าว

ระรื่นรื่นลมประพรมพัดพร้าว                สิหนาวสู้หนาวมิผลักสองแขน

    กระไอข้าวหอมก็หอมยิ่งนัก             เพราะแรงสาวรักเพราะแรงสาวแหน

เมล็ดข้าวเอ๋ยมิเคยขาดแคลน              มิมีใครแม้นมิเหมือนเจ้าเลย”

                                                       ( เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์)

 

          จากบทประพันธ์ข้างต้นเราจะได้เห็นความอ่อนละมุนของภาษาไทยที่ถ่ายทอดกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านผ่านคำประพันธ์ประเภทฉันท์(เปษณนาทฉันท์)  ซึ่งคำประพันธ์

ประเภทฉันท์เป็นลักษณะคำประพันธ์ที่มีกฏเกณฑ์เคร่งครัดยิ่งนัก  ยากที่จะรังสรรค์ให้อ่อนหวานงดงามได้  ด้วยเพราะฉันเป็นคำประพันธ์ที่มีที่มาจากบทสวดในศาสนา  แต่เมื่อ “ฉันท์”  ซึ่งรับอิทธิพลจากประเทศอินเดียมาสู่อารยธรรมไทย  ภาษาไทยก็สามารถใช้คำเพื่อให้เกิดความงดงามมากกว่าความน่าเกรงขาม  ทั้งยังแสดงถึงความสามารถของกวีอีกด้วย

                ความวิไลของภาษาไทยยังมีงานเขียน  การพูด  การอ่าน  การออกเสียง  ที่ล้วนแล้วแต่เป็นข้ออธิบายความงดงามของภาษาไทยได้อย่างไม่น่าแปลกใจเลย  ด้วยความงดงามเช่นนี้คนไทยจึงมีจิตใจที่ดีงามและพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรมมาแต่โบราณและจะยังคงเป็นเช่นนั้นสืบต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 348732เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2010 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท