Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

กามฉันทะ ...สภาวะแห่งความติดใจ


พระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท : เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช พระวิปัสสนาจารย์ http://www.veeranon.com/

นิวรณ์ตัวที่ ๑ ในที่นี้ เรียกว่า กามฉันทะ 

กามในที่นี้ไม่ได้พูดเฉพาะกามที่เรียกว่า สามีภรรยา ที่อยู่ร่วมกันเท่านั้น

 

แต่กามในที่นี้ หมายถึง  สภาวะแห่งความติดใจ

ภาษาธรรมเรียกว่า เสพอารมณ์หรือเสพวัตถุจนติด

การเสพจนติด อย่างเช่นกามในทางรูป รูปที่เราเห็น

 

เมื่อเห็นแล้วอยากเห็นอีก เรียกว่า กามฉันทะนิวรณ์

เมื่อเห็นแล้ว หากไม่ได้เห็นอีกก็เกิดความทุกข์

ยกตัวอย่างเช่น บางคนพอได้ยินข่าวว่าดาราดังจากต่างประเทศจะมาแสดง

หรือมาปรากฏตัวที่เมืองไทย ต่างคนก็เสียสละปัจจัยไปดูดาราคนดังคนนั้น

เพราะความอยากเห็นเกิดขึ้นในใจ หากไม่เห็นก็เกิดความทุกข์นั้นเรียกว่ากามเกิดขึ้นแล้ว

กามมันกระสัน อยากจะเข้าไปดูและเข้าไปสัมผัส

อันนี้กามคือรูปทำให้เกิดกาม เรียกว่า กามทางรูป 

 

อย่างไรก็ตามรูปที่เกิดขึ้นเฉยๆ โดยไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการยึดถือ

เขาเรียกว่า สักแต่ว่ารูป หากมันไม่สามารถบัญชาจิตใจของเราได้

ตรงนั้นไม่ใช่นิวรณ์ แต่เป็นสักแต่ว่ารูปเฉย

ถ้ามีความอยาก มีความกระสัน อยากจะเจอ อยากจะเห็น ต้องดิ้นรนและต้องสละ

อันนี้เรียกว่า กามเกิดขึ้นแล้วกับตัวเรา มันยึดติดใจและครอบงำจิตใจของเราแล้ว

 

เช่น ขอยกตัวอย่างเด็กวัยรุ่น พอได้ทราบข่าวว่าดารานักร้องมาแสดงก็ต้องหนีโรงเรียนไปดูและไปเฝ้านักร้องคนนั้น หรือเหตุการณ์นักร้องชื่อดังคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งต้องหนีโรงเรียนไปให้กำลังใจและไปเฝ้าที่โรงพยาบาล ถ้าพ่อแม่ของตนเองป่วยจะมาหรือไม่ คิดว่าก็คงไม่แน่ว่าเขาอาจจะไม่มาก็ได้ นั่นเพราะเป็นกามกระสัน กามเกิดขึ้นแล้ว

 

สังคมบริโภคทำให้เกิดกาม เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมองลึกลงไป

กามตัวนี้นั้น มันเป็นตัวอันตรายที่สามารถทำลายผู้อื่นได้

ซึ่งจะขอยกตัวอย่างอธิบายให้ชัดเจนในเรื่อง ภรรยาหลวงและภรรยาน้อย

เมื่อฝ่ายภรรยาหลวงทราบข่าวว่าสามีของตนไปติดใจนักร้องสวยๆ

ถ้าไม่พอใจก็วางแผนหรือวางอุบาย เอาน้ำกรดไปสาดหน้าเขา

นั้นแหละเพราะกามเกิดความกระสัน ความหน่วงเหนี่ยว ความยึดถือ ความยึดติด

จิตเกาะติดเป็นตังเม มันเกิดความไม่พอใจหึงหวงขึ้นมาทันที

 

นั่นคือกามติดในรูป หรือรูปของกาม ตรงนี้คือส่วนของกามทางรูป

  

กามอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเสียงหรือ กามทางเสียง คือ อยากฟังเสียง

จึงต้องเสียสละเวลาหาปัจจัยไปซื้อมาฟัง

เมื่อฟังแล้วก็เกิดความอยาก บางครั้งพอไม่มีให้ฟัง จึงต้องดิ้นรนหามาฟัง

นี่คือกามทางเสียงหรือกามอีกอย่างคือกามทางกลิ่น

ซึ่งจะต้องซื้อกลิ่นหอมๆ มาดอมดม

การที่ต้องซื้อรสหรือซื้อกลิ่นดีๆ นี้  คือ 

กามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนุ่มนิ่ม

ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องการ

 

แต่กามทางหนึ่งคือ กามทางจิต มักเป็นที่กล่าวถึงในสังคมที่เกิดความวุ่นวายยุ่งเหยิง

อย่างเช่นข่าวผู้หญิงเอามีดไล่แทงเด็ก นั้นคือกามที่เกิดขึ้นทางจิต

เป็นกามอย่างหนึ่งที่กระสันแฝงด้วยความอาฆาตพยาบาท มันฝังรากลึก

 

ตัวกามนี้พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเปรยว่า

 

อุปมาเหมือนดั่งคนขีดไม้ลงบนพื้นดิน กับบุคคลขีดไม้ลงบนแผ่นหิน 

 

กามตัวนี้มันติดตรึงเหมือนดั่งสุนัขแทะกระดูก แทะเนื้อเค็มๆบ้างมันๆบ้าง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเนื้อนั้นไม่มี ถ้ามีก็เป็นเนื้อติดกระดูก

นั่นคือมันเป็นกามที่ติด พอมันได้ชิมได้แทะแล้ว

พอสุนัขตัวอื่นมา มันก็แย่งทำลายกันมนุษย์ก็ไม่ต่างกัน

ถ้ารู้ว่ามีใครมาแย่งของรักก็ต่อสู้ปกป้องของรักของหวงของตนจนขาดสติ

 

นี่คือ  กามคุณหรือกามนิวรณ์

ตรงนี้เรียกว่า อวิชชา มันติดยึดหน่วงเหนี่ยวไว้จนสลัดไม่ออก

 

ติดตามอ่านตอนต่อไปที่นี่ค่ะ

 

อิสระแห่งจิต

 

http://gotoknow.org/blog/mindfreedom

 

ขอให้เจริญในธรรมทุกท่าน

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 348213เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท