ชีวิตที่พอเพียง : ๙๗๓. ลูกชายเป็นไข้เลือดออก



          เมื่อปีครึ่งมาแล้ว ลูกสาวอายุ ๓๕ เป็นไข้เดงกี่ชนิดเลือดไม่ออก ซึ่งผมเล่าไว้ที่นี่    มาคราวนี้ลูกชายอายุ ๓๐ เป็นชนิดเลือดออกค่อนข้างรุนแรง

          เย็นวันเสาร์ที่ ๒๐ ก.พ. ๕๓ ผมกำลังจะเลิกจากการประชุมของ NECTEC ที่บางแสน ภรรยาโทรศัพท์มาตามอย่างร้อนรน ให้ไปจัดการเรื่องลูกชายป่วยหนักอยู่ที่เชียงใหม่   โชคดีที่เมื่อโทรศัพท์ไปที่ มช. ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากหลายท่าน คือคุณปรีดา ศิริรังษี ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย   ผศ. นพ. ศุภชัย เชื้อรัตนพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภา   รศ. นพ. นิเวศน์ นันทจิต คณบดี   ได้รับเข้าไว้ตรวจหาสาเหตุที่มีไข้สูงและอ่อนเพลียมาก   โดยมี อ. หมอชัยวัฒน์ เป็นแพทย์เจ้าของไข้

          ตอนแรกสงสัยหวัด ๒๐๐๙   แต่หลังจากไข้สูงลอยอยู่ ๒ วัน พอไข้เริ่มลดก็เริ่มมีผื่นเลือดออก   เมื่อเจาะเลือดนับเกร็ดเลือดก็พบว่าต่ำอย่างน่าใจหาย คือเพียง ๒ หมื่นเศษๆ (ปกติ ๒ แสน)   จึงแน่ใจว่าเป็นไข้เลือดออก

          เราส่งพี่สาว (คนที่เคยเป็นไข้เดงกี่นั่นแหละ เพราะเขาคล่องแคล่ว) ไปนอนเฝ้า ๒ คืน    และพบว่าเพื่อนๆ ของตั้มเขาเก่งในการปฏิบัติดูแลผู้ป่วยกว่าเขามาก จึงล่าถอยกลับมา    เราสบายใจว่าตั้มได้รับการดูแลที่ดีทั้งจากโรงพยาบาล และจากเพื่อนผู้อารีของเขา    ระหว่างนั้นเราได้ข่าวว่าตั้มมีอุจจาระดำด้วย   แปลว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหาร    และได้รับเกร็ดเลือดถึง ๑๐ ถุง

          คืนวันศุกร์ที่ ๒๕ ก.พ. ตั้มโทรมาบอกว่าจะขอกลับมานอนพักที่กรุงเทพ   โดยกลับพร้อมผมซึ่งขึ้นไปประชุมสภามหาวิทยาลัย มช. ในวันที่ ๒๖   ผมจัดการซื้อตั๋วการบินไทยกลับเที่ยวเย็นวันที่ ๒๖ ด้วยกัน

          เช้าวันที่ ๒๖ ผมไปเยี่ยมตั้ม เห็นยังอ่อนเพลียและมีผื่นเลือดออกเป็นปื้นที่ขาอ่อนทั้ง ๒ ข้าง   ส่วนที่แขนจางไปแล้ว   ผมไม่ได้แสดงตัวกับพยาบาล และไม่ได้ขอดูแฟ้มประวัติผู้ป่วย   คือทำตัวเป็นญาติ ไม่ทำตัวเป็นหมอ 

         สายวันนั้นภรรยาโทรศัพท์มาบอกว่าแพทย์ประจำบ้านที่ดูแลตั้มโทรมาบอกว่า ความเข้มข้นของเลือดลดลง (แสดงว่ายังมีเลือดออกที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจำเลยก็คือกระเพาะอาหาร เพราะอุจจาระดำ)   และไม่อยากให้ออกจากโรงพยาบาล เพราะจะไม่ปลอดภัย   ผมบอกภรรยาให้แจ้งหมอว่าเมื่อออกมาแล้วจะไปเข้านอนใน รพ. ศิริราช สัก ๑ – ๒ วัน เพื่อให้ปลอดภัย   และได้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากศิริราช ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดี    เรานัดลูกสาว (คนเดิม) ให้ไปนอนเฝ้า โดยให้มาพบที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วพาตั้มไปเข้าโรงพยาบาลศิริราชเลย  

          ถึงศิริราชเกือบทุ่ม คนไข้บอกว่าไปกินข้าวเย็นกันก่อน   และอยากกินอะไรที่อร่อยหน่อย   เราไปจอดรถที่ที่จอดชั้น ๖ แล้วลงลิฟท์มา เดินมาที่ถนนพรานนก   ตั้มชวนเดินไปที่ร้านแถวท่าน้ำ   ผมถามว่าเดินไหวหรือ ตั้มว่าไหว เดินช้าๆ    ระหว่างทางเจอร้านข้าวต้มริมถนน   ตั้มเขาเลือกกินที่ร้านนี้    ผมจึงได้กินข้าวต้มริมถนนข้างศิริราชเป็นครั้งแรก   เคยนั่งรถผ่านและคิดว่าเราจะมีโอกาสกินอาหารร้านเหล่านี้ไหมหนอ   สมัยผมทำงานที่นี่เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน ยังไม่มีร้านริมถนนอย่างนี้ 

          ผมลองจับชีพจรคนไข้ ปรากฎว่าเต้นแรงและช้าพอๆ กับของผม (ผมเป็นคนชีพจรช้ามาก) และเมื่อประเมินความซีดโดยวิธี “แหกตา” คือดึงเปลือกตาล่างลงเพื่อดูความแดงที่เยื่อหุ้มตา    พบว่าซีดไม่มากนัก   ผมตัดสินใจทันที ชวนคนไข้กลับบ้าน ไปให้พี่สาวนอนเฝ้าที่บ้าน   เมื่อปรึกษา “หมอใหญ่” คือแม่ของตั้ม ก็ได้รับอนุมัติ   เราจึงกลับบ้าน   ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง คือไม่เป็นอันตราย   แต่สดวกสบายกว่าไปนอนโรงพยาบาลมากมายนัก   นานๆ จะได้ใช้วิชาแพทย์สักครั้ง ยังภูมิใจไม่หาย

        วันพุธที่ ๒ มี.ค. ภรรยาไปเจาะเลือดตั้มเอาไปตรวจ พบว่าความเข้มข้นของเลือดยังคงเดิม และจำนวนและสัดส่วนเม็ดเลือดขาวยังไม่ปกติ   แต่จำนวนเกร็ดเลือดขึ้นมาเกิน ๒ แสนแล้ว    แต่ตั้มยังบ่นเพลียมาก   พี่สาวบอกว่าตอนเขาเป็น แม้อาการจะไม่รุนแรงมาก แต่ความอ่อนเพลียอยู่นานเป็นเดือน  

         ตั้มไปเป็นวิทยากรด้านภาวนาที่สะเมิง เดินข้ามเขาไป ๒ ชั่วโมง ก่อนไปก็เริ่มมีไข้   แล้ว  ต่อมาไข้สูงขึ้นและรู้ตัวว่าหนักแน่   ตอนเดินมาขึ้นรถนั้นเขาบอกว่าไม่แน่ใจว่าจะเดินถึงไหม   และเล่าว่าตอนที่ไข้สูงมาก พยาบาลสนใจแต่จะทำให้ไข้ลง ไม่ได้สนใจว่าตัวผู้ป่วยจะเดือดร้อนแค่ไหน   คือเน้นรักษาไข้ ไม่ได้เน้นรักษาผู้ป่วย   และเมื่อรู้แน่ว่าเป็นไข้เลือดออกรุนแรง เกร็ดเลือดต่ำเพียง ๒ หมื่น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากเลือดออกในสมอง   หมอก็สั่งเจาะเลือดไปนับเกร็ดเลือดทุก ๒ ชั่วโมง   ไม่ได้หลับได้นอนทั้งคืน   จนเขาต่อว่าหมอ   ซึ่งผมขออภัยแทนมา ณ โอกาสนี้   เพราะหมอก็ทำไปโดยเป็นมาตรฐานการดูแล เพื่อความปลอดภัยของคนไข้    แต่มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นอย่างที่ลูกชายเขารู้สึก    

 

วิจารณ์ พานิช
๗ มี.ค. ๕๓

          
                    

หมายเลขบันทึก: 347223เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะคุณลุงหมอ

หนูขอให้คุณลุงหมอรักษาสุขภาพนะคะ และขอเป็นกำลังใจให้พี่ตั้มค่ะ

ตอนนี้หนูได้ย้ายโรงเรียนมาอยู่ในเมืองแล้วค่ะ

วันนี้หนูอยู่บ้านได้เขียนบันทึกใหม่ และกำลังคัดลอกจากสมุดหลายบันทึกค่ะ เพราะหนุเขียนทุกวันค่ะ

หนูขอให้คุณลุงหมอไปอ่านบันทึกของหนูด้วยนะคะ

http://gotoknow.org/blog/wittayasamphan/347221

ประสบการณ์ที่ได้รับโอกาสไปเฝ้าไข้...สิ่งหนึ่งที่เหนื่อยและเพลียมากคือ การไม่ได้พัก เพราะถูกรบกวนจากกระบวนการรักษา-พยาบาลอย่างที่เป็นมาตรฐาน...

มีครั้งหนึ่งคนไข้อยากจะนอนพักมาก กลางวันก็ไม่ได้นอน กลางคืนก็ไม่ได้กลับ....

กระบวนการของความมีชีวิตนี้...เราต้องหา "ความพอดี"...ของทั้งสองฝ่าย

เรียน อ.วิจารณ์ครับ

จากประสบการณ์ที่ไม่มีในตำรา เกี่ยวกับไข้เลือดออก เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องทุกประการ แต่ก็สังเกตุมานานแล้วว่า แนวโน้ม จะใช่ (รอการวิจัยยืนยัน)คือ

สามารถใช้สมุนไพรไทย ง่ายๆ ช่วยให้ฟื้นฟูกำลังได้ง่ายๆ เช่น บอระเพ็ด หรือ จันทลีลา

ประเด็น เกร็ดเลือด ต่ำ ยังทำนายการมีความเสี่ยงต่อเลือดออก ไม่ได้แม่นยำ หลายรายที่มีเกร็ดเลื โอดต่ำ สองสามหมื่น ก็ไม่มีปัญหาเลือดออก และบางรายที่เกร็ดเลือด แปดเก้าหมื่น แต่ก็มีอาการตกเลือดได้

ผมมีประสบการณ์ว่า ว่า การสังเกตุลิ้น แบบ แพทย์แผนจีน ว่า แดงจัด จะมีความเสี่ยงต่อการตกเลือด เมื่อเกร็ดเลือดต่ำ มากกว่า ผู้ที่มีลิ้นไม่แดง และความเข้มข้นเลือดปกติ ไม่มีโลหิตจาง

ทั้งนี้ลิ้นแดงจัด เมื่อเกร็ดเลือดต่ำ จะบ่งบอกความเสี่ยงที่จะมี ระดับอิเล็คโทรไลท์ โปตัสเซียม หรือ โซเดียม ผิดปกติ หรือ ขาดสารน้ำที่รุนแรงกว่า

ด้วยความเคารพ

เมื่อเดือนที่แล้ว คุณหมอก็สงสัยว่าลูกชายจะเป็นไข้เลือดออก แต่ทำไมไม่สั่งให้นอน รพ. คุณหมอใช้วิธีว่า ให้ไปเจาะเลือดซ้ำทุก ๆ สองวัน หรือเป็นเพราะคิดว่าบ้านไม่ไกลจากโรงพยาบาลหรือเปล่า แต่ตอนนี้หายเป็นปกติแล้วค่ะ ไม่ทราบว่าโรคนี้คนที่เคยเป็นแล้วจะกลับมาเป็นอีกหรือไม่

ขอบคุณค่ะ..ป่านนี้คุณตั้มคงแข็งแรงขึ้นมากแล้วนะคะ..เป็นข้อมูลที่น่าสนใจค่ะ..

          

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท