นายกรัฐมนตรีเปิดงานสมัชชาการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง


วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้คือ คนไทยจะได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งเรื่องโอกาส คุณภาพมาตรฐาน และการมีส่วนร่วม( ดังนั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๑ คะแนนเฉลี่ยในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เราจะต้องยืนยันว่าต้องผ่านทุกวิชา และไม่ควรจะต่ำกว่าร้อยละ ๕๕)

นายกรัฐมนตรีเปิดงานสมัชชาการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน "สมัชชาการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง : คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษเรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากทุกภาคส่วนในสังคม ผู้นำทางศาสนา ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน สื่อสารมวลชน เข้าร่วมงานประมาณ ๓,๐๐๐ คน

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาถึง ได้เยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ เช่น พระบารมีปกเกล้า ปีนี้และปีต่อไป และนโยบายเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ และการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

รมว.ศธ.ได้กล่าวรายงานในพิธีเปิดว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑ ซึ่งสาระหลักในข้อเสนอดังกล่าวนอกจากจะกำหนดวิสัยทัศน์อันได้แก่ คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ และเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาภายในปี พ.ศ.๒๕๖๑ จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษาแล้ว ยังได้กำหนดกรอบแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาไว้ ๔ ประการ อันได้แก่ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพครู การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ

นอกจากนี้  ครม.ยังได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.) ซึ่งมี รมว.ศธ.เป็นประธาน และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการทั้งสองคณะ การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนั้น จะเป็นการปฏิรูปที่มีหลัก เป้าหมาย นโยบาย และตัวชี้วัดที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อต้องการให้การปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปที่วางรากฐานในการพัฒนาประเทศโดยให้ "คน" เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้พลเมืองของเราสนองตอบต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

การจัดงานสมัชชาครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายซึ่งมาจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ โดยในการจัดงานสมัชชาครั้งนี้ จะให้มีการตั้งองค์กรเอกชนที่เรียกว่า สสส.ทางการศึกษา เพื่อจะมาร่วมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเพื่อไปสู่เป้าหมาย การจัดสมัชชาครั้งนี้ยังมีการเสวนาในเรื่องต่างๆ ๒๑ เรื่อง การแสดง นิทรรศการ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการจัดงานสมัชชาว่า ถือเป็นวันสำคัญอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สำหรับเฉพาะวงการการศึกษาไทย แต่สำหรับสังคมไทย เพราะเชื่อมั่นว่าทุกคนมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และความเชื่ออย่างหนึ่งที่ว่า อนาคตของประเทศชาติจะต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนเป็นหลักสำคัญ และพร้อมที่จะเห็นระบบการศึกษาได้มีการพัฒนา มีความเข้มแข็ง และสามารถที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และวางรากฐานที่ดีที่สุดสำหรับเยาวชน สังคม และประเทศชาติของเรา

จากสภาพข้อเท็จจริงว่า ๑๐ ปีของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรกนั้น สิ่งหนึ่งที่ได้สร้างขึ้นมานอกจากความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจแล้ว จะต้องมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของกระบวนการการศึกษา โดยทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าไม่ใช่เฉพาะการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงการศึกษาตลอดชีวิต ที่ต้องผสมผสานกันระหว่างการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ มาใช้ในการสนับสนุนการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทุกคนจะต้องได้เรียนรู้และเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการปฏิรูปรอบสองต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าขยายโอกาสเรื่องการบริหารจัดการเกี่ยวข้องกับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่จะนำไปสู่ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาในข้อปฏิบัติที่ยังมีอยู่ ซึ่งรัฐบาลมีความชัดเจนในการพยายามเพิ่มวงเงินให้เพียงพอ โดยปรับปรุงการบริหารจัดการให้ดีขึ้น และตอบสนองเป้าหมายที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการของกองทุนกู้ยืม ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องคุณภาพ

สิ่งที่เป็นจุดอ่อน เช่น เรื่องการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยขยายผลจากความสำเร็จที่ได้มาจากกรณีของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไปสู่เรื่องการมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ สร้างระบบความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนการสอน หรือกระบวนการการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ

สำหรับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง มีเป้าหมายชัดเจนที่จะให้เยาวชนหรือคนที่ต้องการเรียนรู้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงเรื่องจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียน หรือต่อคนในชุมชนต่างๆ อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศเรื่องการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อที่จะส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าการอ่านนั้นจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในระยะเวลาประมาณ ๓ ปีข้างหน้า

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่มีความคาดหมาย ความคาดหวัง เป้าประสงค์ วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้คือ คนไทยจะได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งเรื่องโอกาส คุณภาพมาตรฐาน และการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่ายในการที่จะขับเคลื่อนงานทางด้านนี้ แต่ในขณะเดียวกันจะมีการสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ประมวลสภาวะปัจจุบันและปัญหาในอดีตเข้ากับการคาดการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการในอนาคตเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า "๔ ใหม่" ดังนี้

  • ใหม่ข้อที่ ๑ การปฏิรูปการศึกษาจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ซึ่งนอกจากเก่ง ดี มีความสุขแล้ว ยังจะต้องเพิ่มเรื่องการดำรงรักษาความเป็นไทยหรือเอกลักษณ์ของชาติไทยไว้ได้ และเท่าทันกับสถานการณ์ของโลกหรือสากล

  • ใหม่ข้อที่ ๒ การพัฒนาครูยุคใหม่ จะต้องผสมสานกับกระบวนการผลิตครู อาทิ โครงการครูพันธุ์ใหม่ และการอบรมครูประจำการให้มีความพร้อม

  • ใหม่ข้อที่ ๓ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ โดยสถานศึกษาทั้งที่เป็นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และศูนย์เรียนรู้สำหรับประชาชนโดยทั่วๆ ไป เช่น โรงเรียน ๓ ดี ศูนย์การเรียนรู้ซึ่งกำลังมีการพัฒนาขึ้นมาในระดับตำบลที่จะมีการบูรณาการงานหลายๆ ด้านเข้ามาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด เทคโนโลยีสารสนเทศ  Fix-it Center การพัฒนาอาชีพต่างๆ ซึ่งรัฐบาลต้องการจะผลักดันให้เกิดขึ้น ให้เป็นทั้งสถานศึกษา ให้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ที่จะต้องเกิดขึ้น อันเป็นเป้าประสงค์ที่สำคัญ

  • ใหม่ข้อที่ ๔ การพัฒนาการบริหารจัดการใหม่  ที่มุ่งเน้นทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อที่จะให้การบริหารสถานศึกษานั้นมีความเป็นอิสระมากที่สุด ควบคู่ไปกับการเน้นธรรมาภิบาล หรือความรับผิดชอบที่มากับอำนาจที่มีการกระจายลงไป ซึ่งเป้าประสงค์ที่ได้ประกาศทั้งหมดนี้ แม้จะเรียกว่าเป็น ๔ ใหม่ แต่ไม่ได้ขัดกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ได้เคยตั้งไว้ในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรก แต่ได้มีการเพิ่ม มีการต่อยอดให้เหมาะสมกับสิ่งที่ท้าทายสังคมไทย และคนไทยในปัจจุบันและอนาคตด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงบทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกที่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลายๆ ด้านได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในรอบนี้ ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนอย่างสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางและกลไกไว้แล้วคือ  คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน มี รมว.ศธ.เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองชุดจะมีบุคลากรที่มีความหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วม และจะมีตัวช่วยใหม่คือสิ่งที่เรียกว่า สสส.ทางการศึกษา ที่จะมีหน่วยงานที่เป็นลักษณะของหน่วยงานอิสระ ได้รับเงินอุดหนุนในเชิงงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำไปใช้อุดหนุนให้ภาคประชาสังคมที่เข้ามาทำงานสนับสนุนการศึกษานั้น สามารถนำไปปฏิบัติขับเคลื่อนหรือดำเนินการได้ในทุกภาคส่วน ในทุกพื้นที่ของประเทศ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา ได้มีการประชุมไปแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งล่าสุดแม้ว่าเราจะยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าการปฏิรูปการศึกษารอบนี้ได้เน้นว่า ต้องเป็นเรื่องของการปฏิบัติและความสำเร็จจริงๆ จึงตกลงกันว่า การปฏิรูปการศึกษารอบนี้ต้องมีตัวบ่งชี้ที่ชัดเจน แม้เราไม่สามารถที่จะวัดความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่เราตั้งไว้ออกมาเป็นตัวเลขได้หมด แต่อะไรที่วัดได้เราจำเป็นต้องวัด ต้องกำหนดเป้าหมาย และใช้เป็นเหมือนกับโจทย์หรือเป็นการบ้านที่เราจะต้องตรวจสอบเป็นระยะๆ ให้มองเห็นว่าเรายังเดินหน้าขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ไปช้าไปเร็วเพียงใด เพื่อที่จะให้สังคมและทุกภาคส่วนมีความมั่นใจว่ารอบนี้เราต้องมุ่งสู่ความสำเร็จจริงๆ

ยกตัวอย่างกรณีของตัวผู้เรียน เราก็ต้องตั้งเป้าที่เกี่ยวข้องกับตัวบ่งชี้เอาไว้ หลายตัวนั้นจะต้องวัดได้ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระวิชาหลัก เราจะปฏิรูปกันอย่างไรก็ตาม แต่ในการปฏิรูปการศึกษารอบที่สองนี้ หากเด็กของเราสอบสาระวิชาหลักในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว พบว่าสอบผ่านคะแนนเฉลี่ยเกินร้อยละ ๕๐ เพียงแค่วิชาภาษาไทย แต่วิชาอื่นต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ซึ่งคือความเป็นจริงในปัจจุบัน อย่างนั้นเราต้องฟันธงว่าการปฏิรูปของเราล้มเหลว

ดังนั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๑ คะแนนเฉลี่ยในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เราจะต้องยืนยันว่าต้องผ่านทุกวิชา และไม่ควรจะต่ำกว่าร้อยละ ๕๕ สิ่งนี้จึงเป็นตัวชี้วัดที่ต้องการจะยกเป็นตัวอย่างว่าครั้งนี้จะต้องมีการดำเนินการตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขที่วัดได้ ประเมินได้ ให้ทุกคนเห็นอย่างโปร่งใส เพื่อที่เราจะได้รู้ตลอดเวลาว่าการปฏิรูปการศึกษาในรอบนี้สำเร็จหรือไม่.

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/websm/2010/mar/078.html

หมายเลขบันทึก: 346035เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2010 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

พ.ศ.2561 ครูอ้อยเกษียณอายุราชการพอดีค่ะ

สวัสดีครับ พี่ครูอ้อย แซ่เฮ
เกษียณอายุราชการพอดีค่ะ
ไม่เป็นไรครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท