Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานางฝาและบุตร : ตัวอย่างการจัดการสิทธิของคนชาติพันธุ์มานิก (ซาไก) ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐ


ในส่วนที่เกี่ยวกับนางฝา จึงกล่าวได้ว่า รัฐไทยย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของนางฝา ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนหรือมหาชน

ข้อเท็จจริง

ปรากฏตามแบบสอบถามที่บันทึกโดยนายชุมพล โพธิสาร นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหิดลว่า  นางฝาเป็นบุตรของนายสังหรือที่เรียกกันว่า “เฒ่าสัง” กับนางบ๊ะ ซึ่งเป็นคนเผ่าซาไกหรือมานิกซึ่งอาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิมบนภูเขาบรรทัด ซึ่งทอดยาวในภาคใต้ของประเทศไทย บุพการีบอกว่า นางฝาเกิดที่หมู่บ้านควนไม้ดำ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า เกิดเมื่อไหร่ บิดาเป็นผู้ทำคลอดให้แก่นางฝา ดังนั้น นางฝาจึงไม่มีเอกสารที่ออกโดยรัฐเพื่อรับรองการเกิดของนางฝา

เดิมบิดามารดาของนางฝามีวิถีชีวิตด้วยการหาเผือกหามันและล่าสัตว์เล็กๆ มาเป็นอาหาร ตามแนวทางสืบทอดที่บรรพบุรุษดำเนินมานับร้อยปี และค่อนข้างที่จะตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวซาไกหรือมานิกลุ่มนี้เพิ่งเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนบริเวณใกล้เคียง ในระยะเวลาประมาณ ๓๐ – ๔๐ ปีมานี้ ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวนั้น ชนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักและถูกรบกวนค่อนข้างน้อย เนื่องจากความทุรกันดารของเส้นทางและสภาพป่าทึบที่เป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมภายนอก

ข้อมูลจากแบบสอบถามดังกล่าวระบุอีกว่า นางฝาเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมดซึ่งมี ๗ คน และเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ นางฝาอยู่กินฉันสามีภริยากับนายประดิษฐ์หรือ “นายดำ” ปักษี โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกัน

ปรากฏตามทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยที่ออกโดยอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรังว่า นายประดิษฐ์ ปักษี เป็นคนสัญชาติไทย

เดิมนายดำเป็นพรานป่าล่าสัตว์ และได้มาพบกับชาวมานิก (ซาไก) กลุ่มของนายสัง บิดาของนางฝา ณ ทุ่งหญ้าคา หมู่ ๒  ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง  ในปัจจุบัน ครอบครัวของนายประดิษฐ์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันได้แก่ ทำสวนยางพารา หาของป่า

นายประดิษฐ์และนางฝามีบุตรรวมกันทั้งหมด ๙ คน ดังนี้ (๑) นายศักดา ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ (๒) นางวรรณดี ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ (๓) นางสาวราตรี ปักษี  ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ (๔) นางสาวอำพัน ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ (๕) นายวัฒนา ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ (๖) นางสาวจันทิมา ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ (๗) ด.ญ.สาวิตรี ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ (๘) ด.ช.ธวัชชัย ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ และ (๙) ด.ญ.ไพลิน ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑

ในปัจจุบัน ครอบครัวของนายประดิษฐ์และนางฝาทั้งหมดอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๔๐๑ หมู่ ๒ คานไม้ดำ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

แบบสอบถามของนายชุมพลระบุอีกว่า บุตร ๔ คนหลังยังประสบปัญหาความไร้รัฐเพราะไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรแต่อย่างใด  เฉพาะแต่บุตร ๕ คนแรกของนางฝาและนายประดิษฐ์ได้รับการแจ้งเกิดและการเพิ่มชื่อในสถานะ “คนสัญชาติไทย” ในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ด้วยความช่วยเหลือของอาจารย์สุรินทร์ ภู่ขจร

ในส่วนของนางฝานั้น แบบสอบถามของนายชุมพลระบุด้วยว่า ไม่สามารถหาผู้ที่สามารถเป็นพยานรับรองการเกิดได้ เนื่องจากนางฝาเกิดอยู่ในป่า และ “เฒ่าสัง” บิดาผู้ทำคลอดได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งเฒ่าสังและนางบ๊ะ บุพการีทั้งสองของนางฝาก็ประสบความไร้สถานะตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเช่นกัน อย่างไรก็ดี มีบุคคลหลายคนที่อาจเป็นพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือได้สำหรับประเด็นการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของนางฝา ตลอดจนชาวซาไกหรือมานิกลุ่มของนางฝา

---------------------------------------------------------------

รัฐไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของนางฝาหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

---------------------------------------------------------------

โดยการปรากฏตัวของข้อ ๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ทุกๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด. (Everyone has the right to recognition everywhere as a person before the law.)”  เราจึงทราบว่า วิชานิติศาสตร์ทั่วโลกมีความชัดเจนว่า มนุษย์ย่อมมีสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to recognition of legal personality) ซึ่งสิทธิดังกล่าวมีได้ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน (Recognition of Personality under Private Law) และ (๒) การรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน (Recognition of Personality under Public Law)

แม้ว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะไม่มีสถานะเป็นบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะไม่มีสถานะเป็นสนธิสัญญาที่ผูกพันรัฐที่ยอมรับในช่วงแรกของการประกาศ แต่ในระยะเวลาต่อมาที่มีการทำกติการะหว่างประเทศ ๒ ฉบับเพื่อสร้างความผูกพันกับรัฐที่ยอมรับในรูปแบบของสนธิสัญญา ปฏิญญานี้ก็เริ่มต้นมีสถานะเป็นบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศประเภทสนธิสัญญา และเมื่อเวลาผ่านมาไปมากขึ้น ก็มีการยอมรับมากขึ้นในสถานะของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและหลักกฎหมายทั่วไป

ประเทศไทยได้ภาคยานุวัติต่อกติกาทั้งสองฉบับที่ขยายผลของปฏิญญาฯ กล่าวคือ (๑) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖ และ (๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.๑๙๖๖ ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชน

สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายภายใต้ข้อ ๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ จึงได้รับการยืนยันอีกครั้งโดยข้อ ๑๖ แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙

ในส่วนที่เกี่ยวกับนางฝา จึงกล่าวได้ว่า รัฐไทยย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของนางฝา ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนหรือมหาชน

---------------------------------------------------------------

 หากเป็นหน้าที่ของรัฐไทยที่จะต้องกระทำเช่นนั้น มีกฎหมายภายในของรัฐไทยที่รองรับหลักกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวมาหรือไม่ ? อย่างไร ?

---------------------------------------------------------------

กฎหมายภายในที่รองรับหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของนางฝานั้นอาจถูกจำแนกได้เป็น ๒ ลักษณะเช่นกัน กล่าวคือ

ลักษณะแรก ก็คือ สถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนซึ่งย่อมเป็นไปตามกฎหมายเอกชนของรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยว หรือหากบุคคลมีจุดเกาะเกี่ยวกับหลายรัฐ การกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนสำหรับบุคคลที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ก็ย่อมจะต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “กฎหมายขัดกัน” สำหรับประเทศไทย ก็คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ 

ในข้อเท็จจริงของนางฝา เราไม่พบว่า นางฝามีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐต่างประเทศใดเลย แม้จะยังไม่มีการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะใดสถานะหนึ่ง รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐที่พบตัวนางฝา ย่อมจะต้องยอมรับให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคลในการกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนของนางฝา ซึ่งประเด็นสำคัญก็มีอยู่ ๒ เรื่อง ก็คือ (๑) การเริ่มต้นสภาพบุคคล (๒) ความสามารถ และ (๓) การสิ้นสุดสภาพบุคคล

ลักษณะที่สอง ก็คือ สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนซึ่งย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี โดยทางปฏิบัติ นานารัฐมักเรียกกฎหมายที่รัฐใช้ในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนว่า “กฎหมายการทะเบียนราษฎร (Civil Registration Law)” ซึ่งการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนมีอยู่ ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การรับรองคนเกิด (๒) การรับรองคนอยู่ และ (๓) การรับรองคนตาย สำหรับประเทศไทย กฎหมายการทะเบียนราษฎรที่มีผลในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔

ในส่วนที่เกี่ยวกับนางฝา จึงตอบได้ว่า (๑) หากฟังข้อเท็จจริงว่า นางฝาเกิดในประเทศไทย รัฐไทยก็ต้องรับรองการเกิดให้แก่นางฝา (๒) หากฟังข้อเท็จจริงว่า นางฝาอาศัยอยู่ในประเทศไทย รัฐไทยก็จะต้องรับรองการอาศัยอยู่ให้แก่นางฝา และ (๓) หากฟังข้อเท็จจริงว่า นางฝาตายในประเทศไทย รัฐไทยก็ต้องรับรองการตายให้แก่นางฝา

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เพื่อมิให้บุคคลตกเป็นคนไร้รัฐ รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ย่อมมีหน้าที่รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนให้แก่บุคคลที่มีสัญชาติของตนหรือมีภูมิลำเนาบนดินแดนของตน หรือรัฐเจ้าของดินแดน (Territorial State) ก็ไม่อาจปฏิเสธที่จะรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนให้แก่คนไร้รัฐที่ปรากฏตัวบนดินแดนของตน

ในส่วนของนางฝานั้น เมื่อยังพิสูจน์ข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า นางฝาและบุพการีเกิดในประเทศไทยอันทำให้ได้สัญชาติไทย การลงรายการสัญชาติไทยให้แก่ครอบครัวของนางฝามิได้ แต่การรับรองรายการสถานะบุคคลของนางฝาในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ย่อมเป็นไปได้ เพราะนางฝาน่าจะประสบปัญหาความไร้รัฐ เพราะไม่พบว่า นางฝามีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐไทยจะต้องบันทึกนางฝาในเอกสารทะเบียนประวัติตามทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภท “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” เป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ เป็นไปได้โดยอำนาจของมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ นั่นเอง

---------------------------------------------------------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า บุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

---------------------------------------------------------------

จะเห็นว่า สถานะคนสัญชาติหรือสถานะคนต่างด้าวในประเทศไทยของบุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ ๙ คน เป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน ด้วยว่า เป็นเรื่องระหว่างรัฐและเอกชน จึงเป็นนิติสัมพันธ์ของเอกชนตามกฎหมายมหาชน โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ซึ่งในกรณีตามคำถามนี้ เป็นการถามถึงสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติไทยกับบุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ทั้ง ๙ คน สิทธิดังกล่าวจะมีอยู่หรือไม่ย่อมเป็นไปตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทย มิใช่กฎหมายลาว

เมื่อสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตเป็นสัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้น โดยหลักการ กฎหมายไทยที่กำหนดเรื่องสิทธิในสัญชาติไทยประเภทนี้ก็คือกฎหมายที่มีผลในขณะที่บุคคลนั้นเกิด เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่นโดยกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสัญชาติซึ่งเกิดขึ้น ๒ ครั้ง ก็คือ (๑) การคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยผลของมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ (๒) การคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยผลของมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๑

โดยพิจารณาวิวัฒนาการของกฎหมายสัญชาติไทย เราอาจสรุปเงื่อนไขของการได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาออกเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

ลักษณะแรก ก็คือ บุคคลย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาเพราะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิดเท่านั้น เราพบว่า โดยการตีความของศาลฎีกาโดยผ่านแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นต้นมา เงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปสำหรับการได้สัญชาติไทยประเภทนี้โดยการเกิดภายใต้กฎหมายลายลักษณ์อักษรก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ อันหมายถึง

  • สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา ๓ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖
  • สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๕  
  • สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๕ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๙  
  • สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘
  • สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

ลักษณะที่สอง ก็คือ ย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาเพราะบิดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิด ไม่ว่าบิดาจะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เราพบว่า เงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปสำหรับการได้สัญชาติไทยประเภทนี้ใน ๒ ช่วงของวิวัฒนาการของกฎหมายสัญชาติไทย กล่าวคือ

  • มูลนิติธรรมประเพณี
  • มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบ มาตรา ๗ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๑

ดังนั้น จะเห็นว่าก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑  บุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ทั้ง ๙ คน ย่อมไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา เพราะไม่มีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยกำหนดในขณะที่เกิด กล่าวคือ ไม่ปรากฏว่า บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทย เนื่องจากนายประดิษฐ์และนางฝามิได้จดทะเบีบยสมรสกันตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม บุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ทั้ง ๙ คนย่อมมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน หากฟังได้ว่า บุคคลทั้ง ๙ คน เกิดในประเทศไทย หรือนางฝามารดาเป็นคนเกิดในประเทศไทย และหากนางฝามารดาสามารถพิสูจน์ความเป็นคนสัญชาติไทยได้แล้วอีกด้วย บุคคลทั้ง ๙ คนก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ตีความคำว่า “บิดา” ในมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ให้หมายถึงทั้งบิดาตามข้อกฎหมายและตามข้อเท็จจริง และยังกำหนดให้การตีความนี้มีผลย้อนหลังไปใช้กับบุคคลที่เกิดก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

การกำหนดดังกล่าวย่อมมีผล ๒ ประการ กล่าวคือ

ในประการแรก บุคคลที่ไม่ได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาในขณะที่เกิด ย่อมได้รับผลดีจากการกำหนดให้การตีความนี้ย้อนหลังไปในอดีตด้วย กล่าวคือ บุคคลดังกล่าวจะเริ่มมีสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ มีผล กล่าวคือ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ อันเป็นวันที่ถัดจากวันที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ในราชกิจจานุเบกษา

ในประการที่สอง บุคคลที่เกิดตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ จากบิดาตามข้อเท็จจริงที่มีสัญชาติไทย ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทย เฉกเช่นเดียวกับบุคคลที่เกิดจากบิดาตามข้อกฎหมายที่มีสัญชาติไทยที่เป็นมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม การร้องขอใช้สิทธิย่อมจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ดังนั้น หากบุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ทั้ง ๙ คนใช้สิทธิตามมาตรา ๗ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อเข้ารับการพิสูจน์ให้ได้ว่า นายประดิษฐ์เป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งกำลังจะออกมา และเมื่อการพิสูจน์เสร็จสิ้นลงและประสบความสำเร็จที่จะพิสูจน์ได้ตามกล่าวอ้าง บุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ ๙ คน ย่อมจะมีสถานะเป็น “คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยการเกิด”

ปัญหา ก็คือ กฎกระทรวงดังว่า ยังไม่แล้วเสร็จ แม้ ๒ ปีผ่านไป หลังจากมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ แต่เมื่อสิทธิตามมาตรา ๒๑ เป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐสภา บุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ทั้ง ๙ คนย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาแล้วตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผล แต่เมื่อเนื่องจากกฎกระทรวงยังไม่ถูกประกาศใช้ บุตรของนางฝาและนายประดิษฐ์ทั้ง ๙ คนจึงไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยดังกล่าวได้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวงดังกล่าวและดำเนินการตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม มีนักกฎหมายสัญชาติหลายท่านเสนอแนะว่า บุตรของบิดาสัญชาติไทยที่จะตกอยู่ภายใต้กฎกระทรวงก็คือ บุตรตามข้อเท็จจริงของบิดาเท่านั้น หากบุตรที่มีสถานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาในวันที่แสดงตนเพื่อใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา บุตรนั้นก็สามารถใช้สิทธิในสัญชาติไทยนี้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอกฎกระทรวง ซึ่งมุ่งใช้กับบุตรที่ไม่อาจเข้าสู่สถานะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาสัญชาติไทย

ดังนั้น เราจึงอาจแนะนำให้นายประดิษฐ์ไปร้องขอจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนางฝา หรือไปร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมาย เพื่อให้บุตรนั้นมีสถานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายประดิษฐ์ในขณะที่ใช้สิทธิเพิ่มชื่อในทะเบียนคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย ในกรณีที่นายทะเบียนของอำเภอปะเหลียนไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนรับรองบุตรหรือเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านในสถานะคนสัญชาติไทย กรณีก็คงจะต้องมีการอุทธรณ์ในกระบวนการพิจารณาของฝ่ายปกครองในระดับที่สูงขึ้นไป อาทิ จังหวัดตรัง และกรมการปกครอง และหากกระบวนการยุติธรรมในกระทรวงมหาดไทยไม่อาจจัดการกรณีนี้ได้ ก็จะต้องใช้กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล ซึ่งศาลที่มีเขตอำนาจในประเด็นทั้ง ๓ นี้ ก็คือ ศาลปกครอง

อาจสรุปในที่สุดได้ว่า การจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของบุตรของนางฝาเป็นสิ่งที่ทำได้โดยกฎหมายไทยที่มีผลในปัจจุบัน

---------------------------------------------------------------

 ในระหว่างที่ยังกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของนางฝามิได้ และหากนายประดิษฐ์และนางฝาร้องขอจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยต่อนายอำเภอปะเหลียน โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า นายอำเภอดังกล่าวมีหน้าที่จดทะเบียนสมรสให้แก่บุคคลทั้งสองหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

---------------------------------------------------------------

กรณีที่นายประดิษฐ์และนางฝาร้องขอจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยต่อนายอำเภอปะเหลียน ย่อมเป็นกรณีอันถือเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ไม่ว่ากรณีจะมีลักษณะภายในหรือระหว่างประเทศ กรณีก็ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ซึ่งก็ได้แก่ กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมาย  กล่าวคือ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘  

โดยพิจารณา พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘  นายอำเภอปะเหลียนไม่อาจปฏิเสธสิทธิในการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยของนายประดิษฐ์และนางฝา การปฏิเสธสิทธิดังกล่าวย่อมมีผลเป็นการปฏิเสธสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอันมีสถานะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การปฏิเสธสิทธินี้จึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้โดยกฎหมาย

ขอให้ตระหนักว่า การจดทะเบียนสมรสนั้นมิใช่ “อำนาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่นายทะเบียนสมรส” หากแต่เป็น “อำนาจหน้าที่” ดังนั้น  เมื่อนายประดิษฐ์และนางฝาพิสูจน์ได้ว่า บุคคลทั้งสองมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของกฎหมายเอกชนว่าด้วยครอบครัวอันอาจสมรสได้ตามกฎหมายไทย เจ้าหน้าที่ก็มี “หน้าที่ตามกฎหมาย” ที่จะต้องรับจดทะเบียนสมรสให้ เมื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิเสธที่จะรับพิจารณาคำขอจดทะเบียนสมรส การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดอาญาฐานเจ้าพนักงานไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ขอให้สังเกตว่า กฎหมายมิได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนสมรสให้บุคคลโดยอ้างเหตุที่นางฝายังมีสถานะเป็นคนไร้รัฐ จะเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยเหตุทางชาติพันธุ์และภาษา จึงเป็นการกระทำที่น่าจะขัดต่อมาตรา ๓๐ แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชนของมนุษย์ทุกคนในประเทศไทย

อีกประการหนึ่ง สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของมนุษย์ยังได้รับการยืนยันโดยข้อ ๑๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๒๓ แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ดังนั้น หากนายอำเภอปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสให้แก่นายประดิษฐและนางฝา การปฏิเสธนี้ย่อมทำให้รัฐไทยมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย

----------------------------------------------------------------------

กรณีศึกษานางฝา  : คนชาติพันธุ์มานิก (ซาไก) ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ภาคที่ ๒

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=509&d_id=508

มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบ มาตรา ๗ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๑
หมายเลขบันทึก: 345440เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2010 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โห อาจารย์ปักหลักถ่ายเทความรู้เรื่องนี้อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ

เราคนอ่านพลอยได้เป็นนักเรียนวิชาของอาจารย์ไปด้วย

สวัสดีค่ะ ครูบา 

ฮิฮิ...ยังไม่เกษียณอายุนะคะ ยังต้องทำงานต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท