Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

งานธรรมจักรบูชา อินเดีย ตอนที่ ๑


อนุโมทนาสาธุการ งานธรรมจักรบูชา วันที่ ๑-๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณ สังเวชนียสถาน พุทธคยา อินเดีย

การไปอินเดียของอาตมาในครั้งนี้ถือเป็นเรื่อง Amazing เป็นเรื่องของกึ่งอายุพระพุทธศาสนา  และมีเรื่องน่าตื่นเต้นหลายเรื่อง  หากใช้สำนวนโวหารแบบโลก  เพื่อความเข้าใจแบบง่ายๆ  ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการที่อาตมาเคยเดินทางไปประเทศอินเดีย  เพื่อประกอบศาสนกิจจากหลายๆ ครั้งที่ผ่านมานับสืบเนื่องมาตั้งแต่ในอดีตนั้นได้มาแสดงผลรวมกันในครั้งนี้ก็ว่าได้  จึงได้ปรากฏผลดังกิจนิมนต์จากมหาโพธิสมาคมในอินเดีย  ซึ่งได้ให้มีการจัดอบรมกรรมฐานอย่างเป็นรูปแบบ  มีกลุ่มเป้าหมาย  วัตถุประสงค์ที่ชัดเจน  ที่จัดให้มีขึ้นที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น (สังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า)  ซึ่งยังไม่เคยมีการจัดอย่างนี้มาก่อน  ครั้งนี้จึงเป็นการจัดงานใหญ่ครั้งแรกของมหาโพธิสมาคมของอินเดีย (Maha  Bodhi  Society  of  India)  มีพระในท้องถิ่นมาร่วมมากมาย  ซึ่งในรัฐพิหารอินเดีย  คาดว่า  มีพระเหล่านี้อยู่หลายร้อยคน  ฉพาะที่พุทธคยาคงจะมีไม่น้อยกว่า ๒๐๐ – ๓๐๐  คน  พระเหล่านี้ทุกท่าน  อาตมาเชื่อว่า  ท่านคงอยากเป็นพระสงฆ์ที่ดี  แม้ยังปฏิบัติไม่ค่อยถูกต้องตามพระธรรมวินัย  แต่มีความปรารถนาเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา  ซึ่งในเมื่อเขาอยากเป็นพระ  อาตมาจึงมีคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบว่า

“ทำไมเราไม่ช่วยให้เขาเป็นพระที่ดี  ถูกต้อง  ตามพระธรรมวินัยเล่า...”

            เมื่อท่านเหล่านี้ไม่เข้าใจถึงคุณสมบัติฐานะของความเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา  จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นพระเหล่านี้ยืนหรือเดินถือขันหรือบาตร  เพื่อขอปัจจัยไทยทานตามรายทางสู่พระศรีมหาโพธิ์  เพื่อรอรับทานจากชาวพุทธที่จาริกปพุทธคยา  ซึ่งไม่ต่างไปจากในกาลสมัยของพระเจ้าอโสกมหาราชที่ต้องทำหน้าที่แยกพวกพราหมร์ที่แผลกปลอมเข้ามาบวชออกไปจากพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๓ สมัยนี้ก็ไม่ต่างไปจากสมัยนั้นที่มีคนเข้ามาบวช  เพื่อหวังลาภสักการะจากพุทธศาสนาหรือจากอานิสงฆ์ของพระศรีมหาโพธิ์กันมาก  โดยไม่ได้เข้าใจถึงสัจธรรมของการอุปสมบทในพระพุทธศาสนาหรือจุดมุ่งหมายของการบวชในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง  จากสภาพการณ์ที่มีผู้คนจากทุกสารทิศหลั่งไหลเข้าไปสู่สังเวชนียสถานฯ  ด้วยความเคารพศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา  จึงทำให้เกิดลาภสักการะมากมาย  อันเป็นปรากฏการณ์ทางวัตถุนิยมในกระแสความเชื่อเรื่องบุญคุณความดีในพระพุทธศาสนา  จำทำให้ตำบลเล็กๆ อย่างพุทธคยาได้เปลี่ยนแปลงเติบโตเป็นศุนย์เศรษฐกิจจนรัฐบาลของรัฐพิหาร  ได้ให้ความสนใจมากขึ้นกับเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว  เพราะก่อให้เกิดรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศอินเดียจำนวนมากโดยเฉพาะในรัฐพิหาร  จนเดี๋ยวนี้มีโรงแรมมากมาย  ทั้งๆที่สมัยหนึ่งเป็นท้องทุ่งนาริมแม่น้ำเนรัญชราเป็นถิ่นที่อยู่ของพวก Dravidians  ที่เป็นชนพื้เมืองผิวดำในวรรณะต่ำและมีฐานะยากจนอยู่อาศัยทำนาปลุกผักตามฤดูกาล  ดังนั้น  จึงไม่แปลกที่จะมีคนท้องถิ่นหันมานิยมห่มผ้ากาสาวพักตร์คล้ายๆกับนักบวชหรือพระสงฆ์ในพระศาสนา  หรือจึงไม่แปลกที่คนในท้องถิ่นมีความนิยมอยากจะเป็นพระ  หรือจึงไม่แปลกที่มีชาวอินเดีย  คนท้องถิ่นจะสนใจที่จะเข้ามาศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น  จึงพบว่า  พระที่อาตมากล่าวถึงข้างต้นนั้น  จึงมีทั้งเข้ามาบวชอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง  พวกที่บวชถูกต้องกับมหาโพธิสมาคมหรือจากวัดนานาชาติก็คงมีอยู่บ้าง  แต่ไม่มากนัก  ส่วนพวกที่บวชอย่างไม่ถูกต้อง  แล้วมาเดินขอทานอย่างที่เห็นก็มีกันอยู่ทั่วไป  ซึ่งมักถูกพวกเรามองด้วยสายตาที่ดูถูกตำหนิว่าเป็นพระปลอมบ้างหรือมาขอทานบ้าง  อาตมามองเรื่องนี้แล้วคิดว่า 

ทำไมเราไม่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวให้เป็นไปในทางบวกต่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาของเราโดยเฉพาะในเขตชมพูทวีป?  

            การเดินทางไปครั้งนี้ตามกิจนิมนต์ที่ได้รับอาราธนา  เพื่อไปให้ธรรมปฏิบัติสั้งสอนหลักธรรมในพระพุทธศาสนาต่อพระท้องถิ่นและจากนานาชาติตลอดจนถึงประชาชนโดยทั่วไป  จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง  อันจะเป็นการเปิดประตูให้พระท้องถิ่นให้ได้มาเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย  จึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับพระพุทธศาสนาที่จะเดินทางต่อไปเบื้องหน้า  ตามที่ชาวพุทธปรารถนาอันเป็นไปตามพุทธพยากรณ์  นอกจากเรื่องดังกล่าวนั้น  การเดินทางไปอินเดียของอาตมาครั้งนี้  จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อรองรับงานมาฆบูชาที่จะจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในกึ่งพุทธกาล ณ  วัดเวฬุวันมหาวิหาร  ในวันที่ ๒๖-๒๘ กุมภาพันธ์นี้

            หากลองมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งแคว้นมคธในอดีต  พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระศาสนาอย่างยิ่งใหญ่  ผู้คนในชมพูทวีปส่วนมากมีฐานะยากจน  จึงมีศาสนาเป็นที่พักพิงทั้งทางกายและทางจิตมาทุกสมัย  สมัยใดที่ศาสนารุ่งเรืองมีพระราชาคอยอุปถัมภ์  ศาสนาก็จะเป็นที่ต้องใจของชาวเมือง  พระพุทธศาสนาจึงมีคำสั่งสอนให้พระสงฆ์สันโดษ  พระสงฆ์นั้นห้ามร่ำรวยวัตถุแบบชาวโลก  เพื่อป้องกันจุดๆนี้  เมื่อวัดร่ำรวยเมื่อใด  ก็จะมีคนเข้าวัดมากหลากหลายรูปแบบเจตนาซึ่งจะมีอยู่จำพวกหนึ่ง  คือไปกินอยู่กับวัด  หรืออาศัยวัดเป็นที่พึ่งพิงทางด้านวัตถุ  ไม่มีอุดมการณ์ทางธรรม  ซึ่งสวนกระแสกับพระพุทธศาสนาที่แท้จริงที่มุ่งเน้นการพักพิงทางจิต  ละวางออกจากความเกี่ยวเนื่องในวัตถุกามทางโลก  แม้แต่พระราชายังสละราชสมบัติออกบวช  ไม่มีการก่อกอดวัตถุกามติดตัวให้หนักจิตหนักใจต่อไป  ดังนั้น  พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย  จึงประกาศหลักกหารให้เปลื้องวัตถุกามทิ้ง  ห้ามไม่ให้พระแตะต้องมุ่งหมาย  เกี่ยวเนื่อง  แสวงหาลาภสักการะเกินความพอเหมาะ  ขาดความพอดี  ไม่รู้จักพอเพียง  มักน้อย  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในสังคมปัจจุบัน  เพราะฉะนั้นพอวัดรวย  คนยากจนไร้ศาสนาก็เข้ามาแอบแฝงปลอมเป็นพระดังในสมัยพระเจ้าอโศกที่มีปลอมเข้ามาบวช  จนต้องคัดทิ้งออกไปถึง ๖๐,๐๐๐  คน  ตามหลักฐานที่ปรากฏในการสังคายนา

            ปมปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันก็เช่นเดียวกับที่ปรากฏในอดีต  เพียงแต่เป็นปัญหารกร้างที่ถูกทอดทิ้ง  ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยามายาวนาน  แม้ในทุกวันนี้เรามีพระไทย  พระนานาชาติมากมายเดินทางเข้าไปในอินเดีย  แต่ด้วยความขาดการจัดความสัมพันธ์ในองค์กรของสงฆ์เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความมากนิกาย  มากสมาคม  และมากหมู่คณะ  หลากหลายอาจารยวาท  จึงทำให้เราไม่รู้ว่าจะควบคุมหรือแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร  และจากการที่เราขาดความเป็นหนึ่งแห่งสงฆ์ในรูปของสภาสงฆ์  ไม่ว่าจะเป็นมหายานหรือเถรวาทนั้น  จึงเป็นปัญหาทางสังคมในพระพุทธศาสนาที่มีความหลากหลายในแนวความคิดและวิธีการปฏิบัติในความมีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน  เราจะเห็นความจริงว่า  พระพุทธองค์มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับองค์กรสงฆ์หรือคณะสงฆ์มากที่สุด  ทั้งนี้เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาหรือเพื่อรักษาพระธรรมวินัยให้สืบเนื่องต่อไปอย่างมั่นคง  ไม่เปลี่ยนแปลง  สูญหายไปไหน  จึงได้มีสภาสงฆ์เกิดขึ้นเพื่อปกครองตนเองด้วยเสียงข้างมากของสงฆ์อันเป็นรูปแบบสำคัญของพระพุทธศาสนา  จริงๆแล้วในพระพุทธศาสนาของเรานั้นเป็นสังฆาธิปไตยโดยมีพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญแม่บทในการปกครอง  ดังนั้น  เมื่อขาดองค์กรสงฆ์ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวด้วยพระธรรมวินัยเดียวกัน  จึงส่งผลต่อพระพุทธศาสนาให้อ่อนแอลง  เพราะมีผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องและบุคคลเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนกาฝากในพระพุทธศาสนา  อันทำให้ผู้คนในชมพูทวีปเข้าใจพระพุทธศาสนาและภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ผิดเพี้ยนไป  คิดว่าพวกภันเต (พระสงฆ์) ทั้งหลายร่ำรวยเงินทอง  เพราะมีภันเตบางรูปเล่นทำมาหากินเหมือนกับคนกับคณะทัวร์ที่หลั่งไหลเข้าไปในเขตพุทธภูมิ  จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้พวกคนจนๆ  อยากเข้ามาเป็นพระในฤดูกาลท่องเที่ยง  อย่างไรก็ตาม  ก็ต้องขอขอบคุณมหาโพธิสมาคมของอินเดียที่พยายามเชื่อมสัมพันธ์โยงใยกับพวก Local  monks และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้ที่เข้ามาถือความเป็นพระเหล่านี้ได้มาปฏิบัติกรรมฐานร่วมกับพระสงฆ์  อุบาสก-อุบาสิกาจากนานาชาติ

 พระอาจารย์อารยะวังโส

 

มีต่อตอนต่อไปค่ะ

 

อ่านงานธรรมจักรบูชา อินเดีย ตอนที่ ๒  ได้ที่นี่ค่ะ

  

http://gotoknow.org/blog/arayawangso/344805

 

อ่านงานธรรมจักรบูชา อินเดีย ตอนที่ ๓  ได้ที่นี่ค่ะ

 

http://gotoknow.org/blog/arayawangso/354313

  

อ่านงานธรรมจักรบูชา อินเดีย ตอนที่ ๔  ได้ที่นี่ค่ะ

http://gotoknow.org/blog/arayawangso/354365

 

อ่านลิขิตธรรมของหลวงพ่ออารยะวังโส  ได้ที่นี่ค่ะ

http://gotoknow.org/blog/arayawangso/344511

 

หมายเลขบันทึก: 344722เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการพระอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

เข้ามาอนุโมทนาสาธุครับ

ขอบคุณน้องโยคีแพรภัทรที่นำเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอๆ

พระอาจารย์ได้นำศาสนาพุทธกลับสู่ชมพูทวีปแล้ว

ท่านมีความมุ่งมั่นเต็มที่ครับ เชื่อว่าวันข้างหน้าพุทธศาสนาจะต้องเจริญอีกครั้งหนึ่งแน่นอน

ขอบคุณค่ะ พี่โยคี

ด้วยความเชื่อมั่นเช่นกันค่ะ ว่าพระอาจารย์จะนำพระพุทธศาสนาให้เจริญอีกครั้งหนึ่งแน่นอนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท