พระราชพิธี : ศรีสัจจปานกาล หรือ พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และคำประกาศถวายสัตย์สาบานในสมัยรัตนโกสินทร์


           พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล คือพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา (บ้างเรียกพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัจจา) เป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์สำหรับแผ่นดินสืบเนื่องมาแต่โบราณ มีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจ สูงสุดและเป็นศูนย์กลางของพระราชอาณาจักร มีรูปแบบที่จัดขึ้นเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้สัตย์สาบาน ประเภทหนึ่งที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ส่วนในทางปฎิบัติของการถือน้ำนั้นเป็นการเอาคมศาสตราวุธต่าง ๆ มาทำพิธีสวดหรือสาปแช่งด้วยการโอมอ่านลิลิตโองการแช่งน้ำ ถือว่าเป็นพิธีระงับยุคเขนของบ้านเมือง (เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๕๒๓ : ๒๒)  พระราชพิธีนี้เชื่อว่ามีมาก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นที่แพร่หลายใน ดินแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังมีหลักฐานจารึกที่กรอบประตูศิลาของโบราณสถานพิมานอากาศในเมืองนครธมว่า เป็นคำสาบานของพวกข้าราชการที่เรียกว่า พระตำรวจ ถวาย สัตย์สาบานต่อพระเจ้าศรีสูริยวรมันที่ ๑ (ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร, ๒๕๔๖ : ๓๑)

           ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นมีหลักฐานวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำ ใช้เป็นประกาศคำถวายสัตย์ในพระราชพิธีถือน้ำ พระราชพิธีดังกล่าวนี้ยังประกอบในโอกาสต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชพิธีถือน้ำเมื่อออกสงคราม นอกเหนือไปจากที่กระทำเป็นประจำทุกปี ๆ ละสองครั้ง ในสมัยอยุธยาข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาย้ายไปที่วิหารพระ มงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วใช้ดอกไม้ธูปเทียนไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร เป็นเทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้วจึงเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน หากผู้ใดไม่สามารถเข้ามาถือน้ำในกรุงศรีอยุธยาได้ จะประกอบพระราชพิธีถือน้ำที่วัดอารามใหญ่ ๆ ในท้องที่นั้น

          พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยอยุธยาจะประกอบพระราชพิธีนี้ในวาระต่าง ๆ ๔ วาระด้วยกันคือ (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, ๒๕๓๙ : ๑๑๘ – ๑๔๘)

          - พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยสิริราชสมบัติ กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต พระบรมโอรสาธิราชผู้สืบราชสมบัติ ปรงโปรดเกล้าฯให้มีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงนุสานุวงศ์ ข้าราชกาล เจ้าหัวเมืองน้อยใหญ่มาเข้าเฝ้ายังพระราชวังเพื่อดื่มน้ำถวายสัตย์สาบานแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินองศ์ใหม่

         - พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปี อันประกอบด้วยเดือนห้าและเดือนสิบ  ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการตรวจสอบบรรดาข้าราชกาลและเจ้าหัวเมืองต่าง  ๆ หากผู้ใดไม่เข้ามาร่วมพิธีก็จะถือว่าเป็นกบฏ  อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่ข้าราชการด้วย

         - พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสงคราม เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินและประเทศชาติที่กำลังจะเสียสละชีวิตในการออกสงคราม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังให้แก่เหล่าทหาร เพราะน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้นถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วย

         - พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในทางการเมือง ถือเป็นพิธีช่วยประสานไมตรีและสร้างความมั่นคงทางการเมืองของบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ จะประกอบพระราชพิธีก็ต่อเมื่อเห็นว่า หัวเมืองนั้นแสดงความกระด้างกระเดื่องมีแนวโน้มจะแข็งเมือง

          ในสมัยรัตนโกสินทร์กำหนดปีหนึ่งนั้นให้ประกอบขึ้น ๒ ครั้ง คือ ใน วันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๕ และ วันแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๑๐  การถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในกรุงรัตนโกสินทร์ มี ๕ อย่างคือ (สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๓๐๗)

           ๑. ถือน้ำเมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติ เป็นพิธีจร

           ๒. ถือน้ำสำหรับผู้ที่ได้รับราชกาลอยู่แล้ว ต้องถือน้ำปีละ ๒ ครั้ง เป็นพิธีประจำ ท้ายพระราชพิธีพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เข้าสู่เดือน ๕ ครั้งหนึ่ง และพิธีสารท เดือน ๑๐ ครั้งหนึ่ง

          ๓. ถือน้ำสำหรับผู้ซึ่งมาจากเมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่บรมโพธิสมภาร เป็นพิธีจร

          ๔. ถือน้ำสำหรับทหารซึ่งถืออาวุธอยู่เสมอ ต้องถือน้ำทุกเดือน เป็นพิธีประจำ ประกอบขึ้นในวันขึ้น ๓ ค่ำของทุกเดือน

          ๕. ถือน้ำสำหรับผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการ ต้องถือน้ำทุกเดือน เป็นพิธีจร

          ในโครงพระราชพิธีทวาทศมาสพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราปปรปักษ์ (๒๕๔๕ : ๒๔) กล่าวไว้ว่า

 

                                “เดือนห้าให้ตั้งราช                 พิธีมี

                น้ำพระพัฒสัตย์วาที                                ทุกผู้

                ในพระอุโบสถศรี                                   รัตนศาส ดานา

                พราหมณ์ชาติโหรารู้                               แช่งน้ำชุบพระแสง”

 

                การพิธีถือน้ำประกอบขึ้นที่วักพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์เงิน รัชกาลที่ ๑  พระชัย รัชกาลที่ ๕ พระชัยเนาวโลหะน้อยสำหรับนำเสด็จพระราชดำเนิน พระปริยัติธรรมสามพระคัมภีร์ และเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระแสงศรสาม พระแสงพอกเพชรรัตน์ พระแสงต่าง ๆ สำหรับจุ่มลงในหีบมุขบรรจุน้ำตั้งอยู่หน้าโต๊ะหมู่พระพุทธรูป มีพระชันหยก เทียนสำหรับพระราชพิธี พระถ้วยแก้วโมราจานรองกรอบทองคำประดับเพชร เครื่องต้นสำรับหนึ่ง ริมฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีม้าเท้าคู้ทองเหลือง ตั้งหมอน้ำเงินสิบสองหม้อ ขันสาครตั้งข้างล่างสองขัน โยงสายสิญจน์ถึงกันตลอด พระสงฆ์ ๓๘ รูปเจริญพระพุทธมนต์ 

                พระมหาราชครูอ่านโองการแช่งน้ำ เมื่ออ่านโองการจบ เจ้ากรมพราหมณ์พฤฒิบาศเชิญพระแสงดาบออกจากฝัก ชุบน้ำในหม้อเงินและขันสาครทุกใบไปพร้อม กับที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ดนตรีประโคม  เมื่อชุบพระแสงศาสตราเสร็จ พระมหาราชครูแห่น้ำที่ชุบพระแสงลงในเครื่องโมราเครื่องต้น เจือกับน้ำพระราชพิธีพราหมณ์ จากนั้นเจ้ากรมพฤฒิบาศรับพระขันหยกไปเท เจือปนในหม้อเงินและขันสาคร

                พระมหาราชครูพิธีนำน้ำมาถวายพระเจ้าแผ่นดินเสวย ซึ่งแต่เดิม ผู้ที่ถือน้ำนั้นจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าหัวเมืองประเทศราชทั้งหลาย ข้าราชการเท่านั้น มาครั้งรัชกาลที่ ๔ ทรงเริ่มที่จะถือน้ำด้วย เป็นการแสดงถึงความซื่อสัตย์ต่อการบริหารประเทศและอาณาประชาราชทั้งหลาย  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยเสร็จ จึงเป็นลำดับของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าหัวเมือง และบรรดาข้าราชกาลตามลำดับศักดินาที่มีตั้งแต่ ๔๐๐ ขึ้นไป ส่วนบรรดาพวกที่อยู่ไกลจากเมืองหลวงจะประกอบพระราชพิธีถือน้ำในวันเดียวกันนี้ที่อารามหลวง อนึ่งถ้าผู้ใดขาดการถือน้ำจะมีโทษถึงตายยกเว้นแต่ไข้ป่วย (สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๓๐๙)

                คำประกาศถวายสัตย์สาบานในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในรัชการที่ ๕  มีดังนี้

 

                “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตยาธิฐานสบถสาบานถวายแต่พระเจ้าอยู่หัวจำเพาะพระพักตร์ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ด้วยข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำราชกาลฉลองพระเดชพระคุณโดยสัจสุจริต ซื่อตรง แต่ความสัจจริง มิได้กบฏประทุษร้าย มิได้เอาน้ำใจไปแผ่เผื่อไว้แก่ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน เพื่อจะให้กระทำประทุษร้ายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถ้ามีการศึกยกมากระทำแก่พระนครก็ดี พระพุทธเจ้าอยู่หัวจะใช้ข้าพระพุทธเจ้าไปกระทำสงครามแห่งใด ตำบลใดก็ดี ถ้าข้าพระพุทธเจ้าเกรงกลัวข้าศึกมากกว่าเจ้า ไม่ทำการเอาชัยชนะข้าศึกได้ ขอให้เทพยเจ้าอันรักษาโลกในมงคลจักรวาฬ หมื่นโกฎิจักรวาฬแสนโกฏิจักรวาฬ มาเข้าดลพระทัยพระเจ้าอยู่หัว ให้ตัดหัวผ่าอกข้าพระพุทธเจ้า แต่ในปัจจุบันขณะเดียวนี้เถิด อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นแก่จักษุได้ฟังแก่โสต รู้ว่าผู้อื่นคิดกบฏประทุษร้ายด้วยความทุจริตผิดด้วยพระราชบัญญัติ แล้วนำเอาเนื้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ ถ้าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ ตั้งอยู่ในความสัจสาบานดุจกล่าวมานี้ ขอจงภูมิเทวดา อารักษเทวดา อากาศเทวดา รุกขเทวดา ท้าวจตุโลกบาล ท้าวอัฐโลกบาล ท้าวทัศโลกบาลอันมีฤทธิ์สิทธิศักดิ์ลงสังหารผลาญชีวิต ฯ ข้า ฯ ให้ฉินทภินทะพินาศ ด้วยอุปะปีฬก, อุปเฉทคกรรมุปะฆาฏด้วยอัสนีบาตรสายฟ้าฟาด ราชสัตถาวุธดาบ องครักษ์จักรนารายณ์ กระบือเสี่ยว ช้างแทง เสือสัตว์อันร้ายในน้ำในบก จงพิฆาฏอย่าให้ปราศจากปัญจวีสติมหาภัย 25 ประการ และทวดึงส์ กรรมกรณ์ 32 ประการ ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัจจาธิษฐานนี้แล้ว จงบันดาลให้เกิดฝีพิษ ฝีกาลอติสารชราพาธ ฉันนะวุติโรคร้าย 96 ประการ ให้อกาลมรณภาพตายด้วยความทุกข์เวทนาลำบากให้ประจักษ์แก่ตาโลกใน 3 วัน 7 วัน แล้วจงไปบังเกิดในมหานรกหมกไหม้อยู่สิ้นแสนกัลป์อนันตชาติ ครั้งสิ้นกรรมจากที่นั้นแล้ว แล้วจงไปบังเกิดในภพใด ๆ อย่าให้ข้าพระพุทธเจ้าพบพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ซึ่งจะมาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เลย ถ้าข้าพระพุทธเจ้าตั้งในกตัญญูกตเวที ความสัจสุจริตโดยบรรยายกล่าวมาแต่หนหลัง ขอจงภูมิเทวดา อารักษเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดา ท้าวจัตุโลกบาล ท้าวอัฐโลกบาล ท้าวทัศโลกบาล เทวดาผู้มีฤทธิ์สิทธิศักดิ์ จงช่วยอภิบาลข้าพระพุทธเจ้าให้เจริยศรีสวัสดิ์โดยบรรยายอันกล่าวมานั้นจงทุกประการ ข้าพระพุทธเจ้ารับพระราชทานน้ำพิพัฒสัจจาธิษฐานแล้ว จงให้ข้าพระพุทธเจ้าบังเกิดสุขสวัสดิภาพพ้นจากฉันนะวุฒิโรค ๙๖ ประการ เจริญอายุวรรณะสุขพละ ให้ถึงแก่อายุบริเฉทกำหนดด้วยสุขเวทนา ดุจนอนหลับแล้ว และตื่นขึ้นในดุสิตพิมาน เสวยทิพยสุไขสวรรย์สิ้นแสนกัลป์อนันตชาติครั้นข้าพระพุทธเจ้าจากสวรรค์เทวโลกแล้ว ลงมาในมนุษย์โลกจงได้พบพระพุทธเจ้าพระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า แล้วเสร็จแก่พุทธภูมิ อรหัตภูมิ พ้นจากสารทุกข์ด้วยความสัจสุจริตกตัญญูนั้นเถิด” (ดูใน เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๔๒๓ : ๒๓)

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

อ้างอิง

เบญจมาศ พลอินทร์. วรรณคดีขนบประเพณีพระราชพิธีสิงสองเดือน. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ๒๕๒๓.

บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ, กรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ :โอเดียนสโตร์. ๒๕๓๖.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. “ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวการปฏิบัติในสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง .” โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์. ๒๕๓๕.

หมายเลขบันทึก: 344375เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2010 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อยากรู้จังว่า คณะรัฐมนตรีสมัยนี้ ยังประกอบพิธีนี้อยู่หรือเปล่านะ และถ้าประกอบจริง พวกเขากลัวกันบ้างหรือเปล่า ผู้รู้ช่วยแจ้งแถลงไขด้วยครับจะเป็นพระคุรอย่างสูง

lol... คงไม่มีใครถือแล้วละมังครับ "ขอสาบานต่อหน้าพระ" กลายเป็นคำกล่าวของคนทำผิดที่ไม่มีทางแก้ตัวมากกว่าเพื่อไม่ให้คนทำผิด (-:

ขอขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ ค่ะ ค้นข้อมูลได้ละเอียดมาก และเพลงเพราะมากจริง ๆ ค่ะ

ขอบคุณสำหรับสาระดีนะครับ

น้ำประกอบพิธีที่ตักจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่อ่างทองด้วยล่ะครับ

เพลงเพราะดีครับ

รวบกวนช่วยอธิบายการนำเพลงมาใส่ด้วยได้ไหมครับ ผมทำไม่เป็น ขอบคุณล่วงหน้าครับ

อธิบายได้ละเอียดด้วยดีจังค่ะ+มีอ้างอิงด้วย

ขอแนบลิงค์ที่เกี่ยวข้องไว้ตรงนี้ด้วยนะคะ (เผื่อใครสนใจอยากค้นต่อ)

http://www.baanjomyut.com/library/thai_literature/ongkranchengnam.html

ในอดีตเป็นพิธีแช่งให้จงรักต่อองค์กษัตริย์ (ขอม-->สมบูรณาญาสิทธิราช) แต่ความหมายของพิธีนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ ร.4 เสวยน้ำสาบาน เป็นนัยว่าจะซื่อตรงเช่นกัน และสมัย ร.9 อีก 2 ครั้ง ในวโรวาสพระชนมายุครบ 60 พรรษาและ 72 พรรษา

หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ --> http://www.naewna.com/news.asp?ID=257746

และตามไฟล์แนบค่ะ

ขอบพระคุณมาก ๆๆๆๆ อย่างสูงเลยครับ

จะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท