เพลงกล่อมลูกผูกพันด้วยรัก


เด็กรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกว่าตนนั้นไม่ได้อยู่เพียงลำพังแต่มีคนที่รักและห่วงใยอยู่ข้างๆคอยทนุถนอมซึ่งทำให้เด็กนอนหลับไปพร้อมกับความสุข

 

                      คนไทยเป็นผู้ที่รักความสนุกสนาน มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก  เมื่อมีเวลาว่างก็จะรวมกลุ่ม  หรือจับกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน แม้ขณะที่ทำงานก็มีการร้องรำทำเพลง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานคลายความเหน็ดเหนื่อย ทำให้เกิดความรักความสามัคคี  เห็นอกเห็นใจซึ่งกัน และกันช่วยเหลือเกื้อกุลกัน อีกทั้งคิดสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ๆ ขึ้น  

                      เมื่อมีบุตรหลานเวลาที่ร้องไห้  ก็จะมีการร้องเพลงปลอบให้หยุดร้อง ต่อมาจะร้องเมื่อต้องการกล่อมเด็กให้หลับเพราะสังคมในขณะนั้นพ่อแม่ต้องทำงานจึงมีความต้องการให้เด็กหลับ  และในอดีตนั้นไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มีเครื่องเสียงอำนวยความสะดวกเหมือนในปัจจุบัน  ซึ่งคนสมัยก่อนต้องมีการร้องปลอบเองจึงทำให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูกมากขึ้น  กอปรกับธรรมชาติของคนหรือสัตว์ต้องมีเพื่อนและมีคนรอบข้างซึ่งไม่สามารถที่จะอยู่ได้ตามลำพัง การร้องเพลงให้เด็กฟังจึงเป็นการทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกว่าตนนั้นไม่ได้อยู่เพียงลำพังแต่มีคนที่รักและห่วงใยอยู่ข้างๆคอยทนุถนอมซึ่งทำให้เด็กนอนหลับไปพร้อมกับความสุข

                      เพลงกล่อมลูก หรือเพลงกล่อมเด็ก มีผลต่อจิตใจและสังคมเป็นอย่างมากเพราะนอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินแก่เด็กแล้วยังสามารถอบรมสั่งสอน และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้เด็กด้วย เพราะเพลงกล่อมเด็กแฝงด้วยเนื้อหาที่ดี  ช่วยให้เด็กมีจิตสำนึกที่ดี  มีอารมณ์ที่แจ่มใสและเมื่อได้ฟังเพลงกล่อมตั้งแต่เด็กจนถึงจำความได้เด็กก็สามารถมีจิตสำนึกที่ดี  เกิดความกตัญญูขึ้นเพราะเพลงกล่อมเด็ก ได้สอดแทรกข้อคิดที่ดีและทำให้แม่กับลูกเกิดวามรู้สึกผูกพันกัน  ต่างจากปัจจุบันที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยลง เพราะต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับเงินจึงไม่มีเวลาสั่งสอนบุตรหลาน ด้วยการร้องเพลงกล่อมเด็ก 

                   เพลงกล่อมเด็กแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค  เช่น  ภาคเหนือ  เรียกว่า  เพลงอือจาจา  ภาคกลางเรียกว่าเพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงกล่อมลูก  ส่วนภาคใต้  เรียกว่า  เพลงชาน้องเพลงเปลเพลงน้องนอนหรือเพลงร้องเรือ  ส่วนภาคอีสาน  เรียกว่า  เพลงนอนสาหล่า(เพลงกล่อมลูก)  โดยเพลงกล่อมเด็กเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านประเภทใช้ภาษาเป็นสื่อถ่ายทอดจากปากต่อปาก จัดเป็นวรรณกรรม “มุขปาฐะ” เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านซึ่งมีบทบาทและหน้าที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน

                   ในสมัยก่อนเรามักได้ยินเพลงกล่อมเด็กอยู่เสมอ  ตามที่ต่างๆ  หรือตามชุมชนแต่ปัจจุบัน กลับเต็มไปด้วยเพลงที่มีเนื้อหาชิงรักหักสวาท แอบซุกแอบซ่อนรัก (...หลงรักคนมีแฟนแล้วมันผิดตรงไหน...ผิดตรงไหนยังไม่รู้อีก?....) จังหวะรุนแรงเร่งเร้า เขย่าประสาทเด็ก  เครื่องเสียงถูกนำมาแทนที่การกล่อมจากพ่อและแม่ ซึ่งเป็นสาเหตุเหตุให้เพลงกล่อมเด็กค่อยเลือนหายไป  ปัจจุบันเด็กบางคนไม่เคยฟังเพลงกล่อมเด็กเลย

                     ดังนั้น การประยุกต์เชื่อมโยง เนื้อหา และท่วงทำนองเพลงกล่อมเด็กให้เข้ากับยุคสมัยและรณรงค์เผยแพร่เพลงกล่อมเด็กให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมจึงน่าจะเป็นการสืบทอดและฟื้นฟูการ “กล่อมลูก” ให้กลับมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยอบรมขัดเกลาจิตใจของเด็กให้รู้จัก รักผูกพัน และเอื้ออาทรผู้คนรอบข้างอย่างยั่งยืนคู่สังคมไทยสืบไป

                                 คนนี้ที่ ๑ ของภาคอีสานค่ะ

                                 นส.ปิยวรรณ  จันทร์เสนา

เตรียมไปเมืองทองวันที่ ๑๘-๒๐เมย.๕๓ นี้

http://gotoknow.org/file/cruroj/Gom1.wma

(ฟังเสียง...ออมๆค่ะ)

เอ่ เอ้ อื่ออือ นอนสาหล่า

หลับตาแม่สิกล่อม อื่อ อื้อ

            ลูกคำแม่นี่เอ๊ยเอย........

ล่ะพ่อแม่ฮักลูกนี่หนักเกิ่งธรณี

ซิหาแนวมาซาเปรียบปูนบ่มีได้...

มดแม่บ่ให้ไต่ ไฮแม่บ่ให้ต้อง

แพงเจ้าดังหน่วยตา.......อื่อ อื้อ อื้อ

ลูกหล่าเอ้ย...กินบ่เป็นแม่กะป้อน

นอนบ่เป็นแม่กะกล่อม

               ลูกคำเอ้ย เอย

บุญคุณพ่อแม่นี่หนักกว่าสิงขร

ให้ฮ่ำฮอน สอนใจแต่หลังยังน้อย

คอยเอาความฮักตุ้มหุ้มห่อเฮามา

เติบโตตนกายาใหญ่มาเพียงด้าม

พอว่าเถิงคราวได้เป็นสาวและหนุ่ม

แม่พ่อหาเบิ่งไว้ไผสิซ้อนฮ่วมเฮียง

หวังให้ลูกได้ซ้อนคนดีศรีสง่า...คำเอ่ย

สืบสกุลเผ่าเซื้อเมืองบ้านพ่อแม่ตน

             อื่ออ้ออื้อ นอนสาหล่า...

ล่ะคำโบราณว่าไว้ให้ฟังเบิ่งเตือนใจ

แนวได๋ดีได๋งามให้เฮ็ดตามคองเค้า

กตัญญูลุงป้าอาวอาน้าบ่าว...

ฮักแผ่นดินแผ่นน้ำเมืองบ้านหมู่เฮา

     คำแพงเอ้ยเอ่ย นอนสาหล่า อื่อ อือ อือ

ล่ะจำไว้เดอเด้อหล่าทาริกา น้อยอ่อน

พ่อแม่สอนจือไว้อย่าหมายเว้าต่อความ

คิดถึงคุณเพิ่นเลี้ยงถนอมมาแต่ยังอ่อน

ถึงยามหลับยามนอนให้เจ้าเก็บดอกไม้

บูชาไหว้พ่อแม่โต...เด้อคำเอ้ยน้อ

เอ เอ้ อือ อื้อ นอนสาหล่า

                             www.cruroj.com

หมายเลขบันทึก: 344374เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2010 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ปัจจุบันหาฟังได้ยากมากเลยค่ะ แต่ละท้องถิ่นแทบจะสูญหายไปหมดแล้วตามกาลเวลา

ดีใจค่ะที่มีโครงการดีๆ แบบนี้ ^-^

ขอบคุณค่ะคุณP Baby ใช่ค่ะแทบจะไม่ได้ยินพ่อแม่กล่อมลูกแล้ว

                                   มีสุขสุขภาพแข็งแรงนะคะ

ขอบคุณมากนะคะท่านอาจารย์P ขจิต ฝอยทอง

  • ชื่นใจจังเลยได้ฟังเพลงกล่อมเด็กไก่เถื่อน ของชาวใต้
  • สมัยเป็นนักเรียน-นักศึกษาเพื่อนสนิทชาวใต้เยอะค่ะ
  • ไปศึกษาเรียนรู้ที่ ขจิต ฝอยทอง บ่อยค่ะ(ไม่ได้แสดงตน)
  • ขอบคุณอีกครั้งที่นำความรู้สาระดีๆให้ได้ไปเรียนรู้ค่ะ

หวังว่าคงจะไม่เลื่อนอีกนะคะ...อดไปตะลอนเดี่ยวรอบโลกนะเนี่ย!!!.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท