ครูและมาตรฐานความลำบาก...


คนที่สบายมาก มักดิ้นรนและขวนขวายน้อย คนที่ดิ้นรนน้อย สมองก็ใช้เพื่อการพัฒนาชีวิตน้อย ความสบายในชีวิตนี้เองจึงเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษา

ปัญหาที่สำคัญที่สุดในชีวิตนี้ก็คือ "ปัญหาที่ไม่รู้ว่าปัญหามันคืออะไร...!!!"

เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาที่ยากที่สุด ก็คือ เราไม่ยอมรับว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมันเป็น "ปัญหา"

การจะแก้ไขปัญหาได้นั้น คือ เราจะต้องยอมรับสิ่งที่เรากำลังจะแก้ว่าเป็นปัญหา

คนเรานั้นไม่รู้จักยอมรับปัญหา จึงได้แต่ตั้งตา ตั้งหน้าทำอะไรต่ออะไรกันไปเรื่อย

การยอมรับความจริงจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

สำหรับการยอมรับว่าแก้ปัญหาไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องของการยอมแพ้ ท้อถอย หรือว่าจะงอมือ งอเท้าแล้วไม่ทำอะไรเลย

แต่การยอมรับว่าปัญหานั้นแก้ไม่ได้ จะทำให้เราเริ่มวิเคราะห์ให้ลึกหรือแยกส่วนออกไปได้ว่าอะไรที่แก้ได้ และอะไรที่แก้ไม่ได้

เมื่อเราสามารถแบ่งกลุ่มปัญหาออกได้อย่างชัดเจน เราก็จะสามารถเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาก่อนและหลังได้อย่างถูกต้อง

เมื่อเรารู้ว่าอะไรแก้ได้ ด้วยทรัพยากร คน เงิน กำลังที่มี เราก็พึงที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่นั้นแก้ปัญหาที่แก้ได้ก่อน

แต่ถ้าหากเรายังดิ้นหัวชนฝาว่าอะไรก็แก้ได้ แก้ได้ เราก็จะทุ่มเททรัพยากรลงไปอย่างกระจัดกระจาย ซึ่งมิต่างอะไรกับการตำน้ำพริกแล้วละลายลงในแม่น้ำ

การทำใจให้ยอมรับสถานการณ์ของปัญหาจุดเป็นสิ่งสำคัญที่ทุก ๆ คนต้องเริ่มทำเป็นจุดแรก ค่อย ๆ แก้ปมปัญหาไปทีละเปาะ ทีละเปาะ ตามกำลัง ตามแรงที่มี

"ต้องเอากำลังใจก่อน"

การแก้ปัญหาด้วยคนหมู่มากนั้น ถ้าหากจะหวังการแก้ปัญหาทั้งระบบ ต้องใช้เวลานานมากจึงจะเห็นผล เมื่อทำไปนานเข้า นานเข้า คนทำก็ท้อ เพราะไม่ได้เห็นหัว เห็นหาง หรือเห็นผลงานที่ทำไปสักที

ดังนั้น จะต้องเอากำลังใจจากความสำเร็จเล็ก ๆ นั้นค่อย ๆ หลอมรวมกันเป็นพลังที่จะสางปมการศึกษาในภาพใหญ่

การแก้ไขปัญหาแบบ "บนลงล่าง" คือการแก้ไขจากนโยบายลงมาสู่ผู้ปฏิบัตินั้น เราก็แก้กันมาหลายสิบปีแล้ว คนทำเขาก็ท้อแท้กันหมดแล้ว หากแต่จะทำแบบเดิมนั้น ก็รังแต่จะให้เกิดความเบื่อหน่ายในจิตในใจของผู้ปฏิบัติมากขึ้น

การให้ปุ๋ยทางใบกับต้นไม้ที่ระบบรากไม่แข็งแรง ก็รังแต่จะสร้างภาระครั้นเมื่อต้นไม้ใหญ่ขึ้น หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลมพายุโถมกระหน่ำ

แต่การลงไปแก้ไขปัญหาใต้ดินนั้น ผู้บริหารการศึกษามักไม่ชอบ เพราะไม่เห็นดอก ออกผล กล่าวคือ "ไม่เห็นผลงาน" จับเนื้อ ต้องตัวไม่ได้ สู้ไปฉีดใบ เร่งดอก แล้วเกิดผลงานใหม่ ๆ ตามวาระของตนที่ได้ดำรงอยู่จักดีกว่า

การแก้ไขปัญหาในวันนี้จึงกล่าวได้แต่เพียงว่า ต้องการคนที่ "เสียสละ" อย่างแท้จริง เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ถ้าหากแวดวงการศึกษามีหัวหรือผู้นำดี เป็นคนดี เป็นคนเสียสละ ขึ้นมาทำงานในวาระเต็ม ๆ สักวาระหนึ่ง เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีกว่านี้มาก

เมื่อได้ผู้นำดี ผู้นำคนนั้นจะเห็นคุณค่าของรากฝอยน้อย ๆ อย่างพวกเรา ที่จะคอยหล่อเลี้ยงและสร้างความมั่นคงให้กับลำต้น

ต้นไม้คือการศึกษาไทยนี้คงไม่ต้องมองไปถึงรากแก้ว เพราะรากแก้วของบ้านเรานั้นไม่ดี ถูกตัด ถูกตอนไปหมดแล้ว เพราะคนไทยเหยียบย่ำภูมิปัญญาการศึกษาของไทย เมื่อล้าหลัง ไม่ทันสมัย

เราไปปักชำ ตอนกิ่งการศึกษามาจากเมืองนอก การศึกษาบ้านเราจึงไม่มีรากแก้ว มีแต่รากฝอยน้อย ๆ กระจัดจายหาอาหารอยู่ในพื้นดินที่แตกระแหง ไส้เดือน กิ้งกือที่จะมาช่วยพรวนดินให้ก็ไม่ค่อยจะมี

คอยที่ถือจอบ ถือเสียบมาพรวนดินให้ก็จ้างมาทำงานแบบรายวัน พรวนรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง บางคนแทนที่จะช่วยให้ดินดีขึ้น กลับไปตัดรากฝอยน้อย ๆ ออกซะหมด คนทำงานดี ๆ ก็ท้อแท้ ปล่อยให้แต่วัชพืชที่เกาะกินน้ำเลี้ยงของลำต้นเจริญเติบโต

หรือนักการศึกษาบางคนเห็นความสำคัญของรากฝอย ก็ได้แต่นำวิตามินเร่งรากมารดให้ อัดฉีดเงินเข้ามา แต่ไม่อัดฉีดปัญญาให้กับคนดูแลสวน คนดูแลสวนก็รดปุ๋ยใหญ่เลย รากเน่าหมด

เน่าเพราะผลประโยชน์มันท่วม ทำโน่นก็ได้เงิน ทำนี่ก็มีเงิน เงินจึงมาล้างจริยธรรมคุณธรรมในหัวใจ

แทนที่จะชอนไชออกไปหาอาหารยังที่ไกล ๆ เพราะสร้างรากฐานคือความแข็งแรงให้ต้นไม้ ก็กลับงอมือ งอน้ำ รอปุ๋ยอยู่ใต้โคนต้นเนี่ยแหละ เดี๋ยวก็มีคนมาใส่ให้ ออกไปไกลเดี๋ยวเขาใส่ไม่ถึง

ก็ไม่ถึงจริง ๆ คนที่เจริญเติบโตได้ในทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่อยู่ใกล้นาย "ใกล้มากมีสิทธิมาก..."

 

ส่วน "ครู" แท้ ๆ ที่อยู่ "ไกลปืนเที่ยง" นั้นก็ได้แต่รอฟ้า รอฝน รอผลจากที่คนในเมืองนั้นตัดป่าไม้ไปทำเฟอร์นิเจอร์ แล้วฝนจะตกลงมาได้จากที่ไหน ตกลงมาก็มีแต่มลพิษ ครูดีในชนบทจึงต้องอยู่กันตามมีตามเกิด ถ้าอยากเข้าเมืองก็ต้องดิ้นรนเข้าหาผู้ใหญ่ที่ใหญ่ ๆ กัน

ระบบของสังคมไทยเป็นแบบนี้แล้ว เราจะแก้ไขอย่างไร จะให้คนดีต่อสู้ไปแล้วผู้ใหญ่ก็มีแต่ "น้ำคำ" ที่คอยให้กำลังใจกันหรือ

เม็ดเงินที่อัดฉีดลงมา ก็เข้ามหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ เกินครึ่ง (เกือบทั้งหมด) 

ครูเล็ก ครูน้อย ครูประถม ครูมัธยม ก็ต้องคอยฟ้า คอยฝนจากอาจารย์มหาวิทยาลัย (ใหญ่ ๆ)

ครูน้อย ๆ เขาก็มีชีวิต มีครอบครัว ต้องดิ้นรน ขวนขวาย จะไปโทษเข้าก็ไม่ได้ที่เขาจะต้องทำตำแหน่งเพื่อ "เอาชีวิตรอด"

เมื่อชีวิตของบุคลากรทางการศึกษาเป็นมากกว่า Double Standard จะไปหวังอะไรที่จะให้การศึกษาไทยพัฒนาในทางที่ดีขึ้น

ถ้าดีก็จะดีแต่ระดับบน ที่มีฟ้า มีฝน พร้อมทั้งเทศบาลอัดฉีด "น้ำเงิน" ลงมาให้

แต่ครูส่วนใหญ่ทั้งประเทศต้องอดอยาก ตรากตรำ พอเขาไปกู้ก็ว่า "ครูสร้างหนี้" ก็คนไม่มีจะให้ทำอย่างไร...?

ปัจจุบันเรามุ่งหวังกับอาจารย์มหาวิทยาลัยกันมาก ทั้งเงินค่าสอน ค่าตำแหน่ง งบประมาณการวิจัย แถมยังมีค่าตรวจผลงานทางวิชาการของครูประถมและมัธยมเข้าไปอีก ทำให้ชีวิตสบาย ๆ เพราะมีรายได้แบบทับถม

คนที่สบายมาก มักดิ้นรนและขวนขวายน้อย คนที่ดิ้นรนน้อย สมองก็ใช้เพื่อการพัฒนาชีวิตน้อย ความสบายในชีวิตนี้เองจึงเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษา

เมื่อสบายมาก ระบบสมองก็จะพัฒนาน้อยลงมากหรือแทบจะไม่พัฒนาเลย

และยิ่งความสบายมาผนวกกับกิเลสด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้สมองนั้นทำงานไปแต่ในทางที่เสื่อม คือ รู้จักแต่จะหาผลประโยชน์เพื่อซื้อความสบายให้ตนเอง

ถ้าแน่จริงต้องให้บุคลากรทางการศึกษา "ลำบาก" อย่างเสมอภาค มิใช่ให้โอกาสคนสบายมากดขี่คนที่ลำบาก

ครูที่ดีเป็นได้เพียง "ปูชนียบุคคล" ต้องอยู่บนหิ้งไม่มีสิทธิที่จะเป็นเดินห้าง

ถ้าผู้บริหารการศึกษายังไม่กระจายรายได้และอำนาจ ก็เป็นการยากที่จะพัฒนาระบบการศึกษาของไทย... 


หมายเลขบันทึก: 343092เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกดีๆ ให้แง่คิด

ขอบคุณค่ะ^__^"

แวะมาอ่านบันทึกดีๆ หนักๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท