ความสำคัญของโรงรับจำนำ


       การรับจำนำในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ[1] ปรากฏตามหลักฐานในรัชสมัยพระบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา ตามพระราชกำหนดที่ออกในปี พ.ศ. 2234 เรื่อง การควบคุมการรับจำนำ กำหนดให้การรับจำนำกระทำในเวลากลางวัน และการให้จำนำกันจะให้เฉพาะคนที่รู้จักกันดี
       ในปี 2438 ได้ออกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2438 กำหนดให้ ผู้ที่จะตั้งโรงรับจำนำต้องขออนุญาต เนื่องจากมีการกำหนดค่าธรรมเนียม ระยะเวลาการใช้ใบอนุญาต การกำหนดเวลาจำนำและไถ่ถอน การกำหนดให้จัดทำตั๋วจำนำ และบัญชีไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจำนำ
       ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2498 มีการจัดตั้งโรงรับจำนำของรัฐเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อย่อว่า “โรงรับจำนำของรัฐ” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับประชาชนและให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยรับจำนำในอัตราที่ถูกกว่าโรงรับจำนำเอกชน
       และในปี พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานธนานุเคราะห์” สังกัดแผนกธนานุเคราะห์ กองสวัสดิการสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย รับนโยบายไปจัดตั้งสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนและยากจน หรือผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถแก้ปัญหาทางการเงิน ในระยะสั้น ๆ ได้ โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงนัก
       เนื่องจากสถานธนานุบาลมิได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อการแสวงหากำไร อย่างการดำเนินธุรกิจการค้าทั่ว ๆ ไป และต่อมาได้ขยายการจัดตั้งสถานธนานุบาลขึ้นในภูมิภาค เนื่องจากเห็นว่าหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น    มีงบประมาณของตนเองที่สามารถจัดตั้งสถานธนานุบาลเองได้ โดยให้ทดลองจัดตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2503 และ ปี 2504 จัดตั้งที่นครสวรรค์ อุดรธานี และหาดใหญ่
       ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ โดยแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติหลัก จำนวน 4 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2517 , พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2526 และพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534          
       โรงรับจำนำแบ่งออกเป็น 2 ประเภท[2] คือ
        1) โรงรับจำนำดำเนินการโดยเอกชน โดยอาจอยู่ในรูปของธุรกิจแบบ
เอกชนคนเดียวเป็นเจ้าของหรือรูปของห้างหุ้นส่วน
        2) โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยรัฐบาล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
            2.1) สถานธนานุเคราะห์ เป็นโรงรับจำนำที่ได้รับเงินทุนจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ รวมกับกำไรสะสมและเงินกู้จากธนาคารออมสิน ดำเนินกิจการโดยกรมประชาสงเคราะห์
            2.2) สถานธนานุบาล เป็นโรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเทศบาล ได้รับเงินอุดหนุนเริ่มแรกจากกองทุนส่งเสริมการสุขาภิบาลและกองทุนบำเหน็จการครองชีพ
            ดังนั้น ในการดำเนินการโรงรับจำนำของเอกชนและโรงรับจำนำของรัฐบาลจะคล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันที่สถานที่ประกอบกิจการ

[1] ประวัติโรงรับจำนำจากเว็บไซด์  http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=klongrongmoo&month=042009&date=11&group=2&gblog=38
 [2] เศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร  มหาวิทยาลัยตะวันออกเฉียงเหนือ
(ออนไลน์) บทที่ 9 , www.econ.neu.ac.th
หมายเลขบันทึก: 343033เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท