เรียนรู้จาก พรบ. การศึกษาแห่งชาติ : ๓. การศึกษาต่างจากการเรียนรู้



ตอนที่ ๑


ตอนที่ ๒

          ข้อความใน มาตรา ๔ วรรคสี่ ของ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ช่วยไขความแตกต่างระหว่าง “การศึกษา” กับ “การเรียนรู้” ดังนี้  “สถานศึกษา” หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา” 

          เนื่องจาก พรบ. เป็นกฎหมาย มีหน้าที่กำหนดหรือบังคับ   พรบ. จึงทำได้เพียงกำหนดสิ่งที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยได้อย่างเป็นทางการ คือการศึกษา   แต่การเรียนรู้เป็นเรื่องของวิถีชีวิตผู้คน   กฎหมายจึงไม่ควรเข้าไปกำหนด จนพลเมืองขาดความเป็นอิสระ

          สังคมปัจจุบันและอนาคตควรเน้นให้อิสระ หรือเสรีภาพ แก่พลเมือง ภายใต้หลักการว่าต้องไม่ใช้เสรีภาพนั้นในการทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือแก่สังคม

          การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ   แต่การเรียนรู้เป็นอำนาจอิสระเสรีของบุคคล และองค์กร

          ผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาในปัจจุบัน วัดที่ “การมีความรู้”  ในขณะที่สิ่งที่สำคัญกว่าการมีความรู้คือ “การมีฉันทะและทักษะ” ต่อการเรียนรู้   คนที่มีความรู้แต่ขาดฉันทะและทักษะต่อการเรียนรู้ จะไม่มีความสำเร็จในชีวิต   เพราะความรู้ที่มีจะเก่าและผิดในเวลาอันรวดเร็ว   กลายเป็นความรู้ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้   หรือก่อโทษเสียด้วยซ้ำ

          คุณประโยชน์ของการศึกษาคือการวางรากฐานของการเป็น “บุคคลเรียนรู้” (Learning Person) คือการมีฉันทะและทักษะต่อการเรียนรู้   สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในงานประจำและในการดำรงชีวิตประจำวัน   หรือที่เรียกว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง

          การเรียนรู้ส่วนใหญ่ในชีวิตของผู้คน จึงอยู่นอกระบบการศึกษา    ซึ่งภาษาทางการศึกษาเรียกว่า “การศึกษาตามอัธยาศัย”   ซึ่งแม้ผมจะเชื่อว่าอยู่นอกระบบการศึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบการศึกษาไม่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้นอกระบบฯ นี้   เพราะการศึกษาในระบบควรได้ทำหน้าที่วางรากฐานของการเป็นบุคคลเรียนรู้ 

          แต่ที่เป็นอยู่ ระบบการศึกษาไทยไม่ได้เน้นเรื่องนี้

 

 

 วิจารณ์ พานิช
๒๒ ก.พ. ๕๓
        

 


 

คำสำคัญ (Tags): #530309#การศึกษา#พรบ.
หมายเลขบันทึก: 342965เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท