หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

บทเรียนการพัฒนาโภชนาการ : กรณีศึกษา ร.ร.ชุมชนบ้านพรหมนิมิต


      แผ่นน้ำผืนเล็ก ๆ ในบ่อซีเมนต์ขนาดไม่ใหญ่นัก มีเพียงริ้วคลื่นบาง ๆ จากสายลมพัดเอื่อยอ่อย

      ทันที่ที่อาหารเม็ดถูกโปรยหว่านจากมือเด็กชายสองคน แผ่นน้ำในบ่อซีเมนต์ก็แตกกระเซ็นจากการดีดตัวโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อแย่งอาหารของบรรดาปลาดุกเกือบ ๑๐๐ ตัวในนั้น

      “อุ้ย ! นั่นไง ๆ ปลาดุก...”

      เสียงอุทานคนติดตามเด็กชายกระโดดถอยหลังหนีการกระเซ็นของน้ำแทบไม่ทัน ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยับกายเข้าใกล้บ่อเพื่อชมปลาดุกยื้อแย่งอาหารกันภายในบ่อ

      ทุกเช้าก่อนเข้าแถวขึ้นห้องเรียน จะมีนักเรียนอย่างน้อยวันละสองคนหมุนเวียนกันนำอาหารมาให้ปลาดุกที่บ่อนี้ เป็นปลาที่ทางโรงเรียนเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียน

      วันนี้พิเศษกว่าวันอื่นเนื่องจากมีแขกเยือนจากต่างถิ่นตามมาดูปลาดุกที่เลี้ยงไว้

 

      ตะวันเลื่อนไปจนใกล้จะตรงศรีษะอยู่รอมร่อ นักเรียนขึ้นห้องเรียนไปพักใหญ่แล้ว

      เลยจากบ่อปลาดุกไม่ไกล แขกเยือนคนเดียวกับที่พบที่บ่อปลาดุกเมื่อเช้านี้ ยืนพูดคุยอยู่กับแม่ครัวในโรงครัวของโรงเรียน เบื้องหน้าทั้งคู่คือหม้ออลูมิเนียมขนาดใหญ่ที่บรรจุน้ำมะพร้าว

      “น้ำตาลเยอะไปนะคะ น่าจะลดลงอีก...”

      คำแนะนำของแขกเยือนคนนั้น เมื่อได้พูดคุยและรับฟังส่วนผสมของน้ำมะพร้าวจากแม่ครัว

      “เด็กจะได้ไม่ทานหวานมากเกินไป โรงเรียนก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีก...”

      แขกเยือนกล่าวเพิ่มเติมถึงผลประโยชน์ที่โรงเรียนจะได้รับจากการลดต้นทุนค่าน้ำตาลในการจัดทำเครื่องดื่มจำหน่ายให้แก่นักเรียน

 

      “ดีแล้วค่ะ...”

      แขกเยือนกล่าวกับแม่ครัวและคุณครูผู้ดูแลโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน หลังจากการตรวจสอบปริมาณและสัดส่วนของอาหารกลางวัน

      ก่อนหน้านี้ แม่ครัวได้นำผัดกระเพราไก่ใส่ถั่วฝักยาว ซึ่งเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในเที่ยงวันนี้ ตักใส่ถ้วยเล็ก ๆ แล้วส่งให้แขกเยือน จากนั้นทีมแขกเยือนก็ช่วยกันคัดแยกส่วนผสมของกับข้าวในถ้วยใบนั้นแยกออกจากกัน เนื้อไก่แยกใส่จานใบหนึ่ง ส่วนบรรดาผักต่าง ๆ ทั้งถั่วฝักยาวและใบกระเพราตักแยกใส่อีกจานหนึ่ง แล้วชั่วตวงวัดตามวิธี จนกระทั่งได้คำตอบ

      แขกเยือนกล่าวชมแม่ครัวว่าสามารถปรุงอาหารได้ถูกต้องตามสัดส่วน ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ก่อนที่ทั้งทีมจะขอตัวเดินขึ้นไปพบกับผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ห้องรับรอง

 

      วันนี้ โรงเรียนชุมชนบ้านพรหมนิมิต มีโอกาสต้อนรับแขกเยือนจาก บริษัทไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เข้าเยี่ยมชม หลังจากที่โรงเรียนได้เข้าร่วม “โครงการประกวดแผนส่งเสริมโภชนาการดีอย่างยั่งยืนในโรงเรียน ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งสองข้างต้น  เพื่อรณรงค์ให้เด็กไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ กระตุ้นและผลักดันให้โรงเรียนเอาใจใส่ในการดูแลเรื่องการกินของนักเรียนให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักโภชนาการ

      โรงเรียนฯ ได้จัดทำ โครงการส่งเข้าประกวด ซี่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งให้ปฏิบัติงานตามแผนงานที่ได้เสนอไว้

      โรงเรียนชุมชนบ้านพรหมนิมิต ตั้งอยู่ที่บ้านพรหมนิมิต หมู่ ๔ ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น บนพื้นที่ ๓๓ ไร่ ห่างจากตัวเมืองเพียง ๑๔ กิโลเมตร เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ เป็นโรงเรียนขนาดเล้ก นักเรียนทั้งสิ้นเพียง ๑๐๗ คน มีครูประจำการรวมผู้บริหาร ๖ ตำแหน่ง ครูจ้างโดยรายได้โรงเรียน ๒ คน แม้โรงเรียนจะมีครบชั้นตั้งแต่ประถม ๑ – ๖ แต่จำนวนนักเรียนไม่มากรวมทั้งการขาดครู นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ และ ๖ ต้องเรียนรวมกันอยู่ในห้องเดียวกัน โดยครูประจำชั้นคนเดียวกัน

        นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ฐานะไม่สู้ดีนัก โดยมากประกอบอาชีพรับจ้างและเป็นเกษตรกรรายย่อย สำหรับผู้ปกครองที่ค่อนข้างมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีมักจะส่งลูกหลานไปเรียนในตัวเมือง ซึ่งห่างออกไปเพียงสิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น

        กล่าวได้ว่านักเรียนที่เข้ามาเรียนที่นี่ เป็นเด็กที่ไม่มีทางเลือกมากนัก เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวแร้นแค้น และจากการสำรวจภาวะโภชนาการ พบว่าเด็กนักเรียนที่นี่มีปัญหาทุพโภชนาการถึง ๙ คนจากจำนวนนักเรียนเพียงร้อยคนเศษ คิดเป็นเกือบร้อยละ ๑๐ ของจำนวนนักเรียน อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยพบว่าปัญหานี้เริ่มเบาบางลง จากความพยายามแก้ปัญหาของโรงเรียน ให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันทุกคน

 

        โรงเรียนนี้ เคยเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ในอดีตเป็นที่ตั้งของศูนย์อบรมข้าราชการครูและนักการภารโรงมาก่อน จึงมีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก หลังจากจำนวนนักเรียนลดลงไปเรื่อย ๆ อาคารสถานที่ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากจึงมิได้ถูกใช้งาน รวมทั้งบ่อซีเมนต์ลายบ่อที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอ่างใส่น้ำอาบสำหรับผู้มาเข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่แห่งนี้

      “เรามีบ่ออยู่แล้ว ควรใช้ให้เป็นประโยชน์...”

      อาจารย์คมกฤช บุญใหญ่ อดีตผู้บริหารโรงเรียน ที่ยังคงแวะเวียนมาช่วยเหลืองานที่โรงเรียนเป็นประจำ กล่าวถึงเหตุผลการเลี้ยงปลาดุก ส่งประกวดใน “โครงการประกวดแผนส่งเสริมโภชนาการดีอย่างยั่งยืนในโรงเรียน 

       การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นภาชนะใส่น้ำอาบสำหรับผู้เข้ามารับการอบรม เป็นกิจกรรมในโครงการฯ นอกจากการเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ให้แก่นักเรียนแล้ว ปลาดุกที่เลี้ยงก็จะกลายเป็นอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียนในโรงเรียนด้วย

      นอกจากการเลี้ยงปลาดุกแล้ว ทางโรงเรียนยังได้ส่งเสริมให้นักเรียนปลูกพืชผักสวนครัว โดยให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ แต่ก็มิได้ดำเนินการในพื้นที่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับน้ำที่จะนำไปรดพืชผัก แปลงผักที่นักเรียนร่วมกันปลูก มีแปลงผักบุ้ง ๒ แปลง แปลงผักคะน้าอีก ๓ แปลง

      สำหรับการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่นักเรียน ดำเนินการผ่านการบูรณาการเนื้อหาเข้าสู่กลุ่มสาระวิชา การจัดทำบอร์ดนิทรรศการ รวมทั้งการจัดรายการเสียงตามสายโดยแกนนำนักเรียน

      นอกจากนั้นทางโรงเรียนได้ใช้หนังสือคู่มือที่ทางโครงการแจกให้กับนักเรียนรายบุคคลตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความรู้และความตระหนักในการรับประทานพืชผักของนักเรียน

      การเข้าร่วมโครงการฯ ของโรงเรียน นอกจากจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักเรียนเพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีแล้ว ในส่วนของโรงเรียนได้มีการปรับปรุงรายการอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดทำเลี้ยงเด็กนักเรียนทุกคนให้มีส่วนผสมของผัก ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วย

      “ทางโรงเรียนจำกำหนดรายการอาหารให้แม่ครัว โดยจะให้มีผักเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น ถ้าเป็นผัดกระเพราก็จะให้ใส่ถั่วฝักยาวด้วย...”

      คุณครูมะลิวรรณ บุญใหญ่ ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าว

หมายเลขบันทึก: 342866เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รายการอาหารของโรงเรียน

มักจะประกอบด้วยผักหลายส่วนอยู่นะ

ก็มีผลหลายด้าน สุขภาพ ประโยชน์และประหยัดไง ..เน้น!

ขอบคุณบันทึกน่าอ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท