วิพากษ์วัชรยานจากฐานปรัชญาเถรวาท


ปรัชญาเถรวาท
           สถาบันนาโรปะ สหรัฐอเมริกา  ซึ่งก่อตั้งโดยมหาคุรุชาวธิเบต  ท่านเซอเกียม ตรุงปะ รินโปเชมีอิทธิพลมากต่อปัญญาชนในสังคมไทย  แต่ที่ผมอยากนำเสนอต่อพวกเขาคือทัศนะที่ปฏิเสธเถรวาท และมองพวกเถรวาทเป็นพวกที่ตื้นในพุทธปรัชญาอันสุขุมลึกซึ้งแบบวัชรยาน
 
        หากเรามองตามประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดีย  แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ 
         1. 500 ปีแรก  เป็นยุคคำสอนดั้งเดิมซึ่งเป็นต้นแบบของเถรวาท
         2. พ.ศ. 500-1,000 เป็นยุคของพุทธศาสนาแบบมหายาน
         3. พ.ศ. 1,000-1,700 เป็นยุคของพุทธศาสนาแบบวัชรยานและพุทธตันตระ
 
      นักปราชญ์พุทธมองว่ามันเป็นลักษณะวิวัฒนาการของพุทธศาสนาตามการเจริญและขยายตัวในเชิงปริมาณของพุทธศาสนาในแง่ของสังคมเท่านั้น  ไม่ใช่เป็นวิวัฒนาการทางแนวคิดหรือปรัชญาแต่อย่างใด  เพราะคำสอนที่บริสุทธิ์และบริบูรณ์ได้ถูกแสดงและอธิบายอย่างชัดเจนโดยพระพุทธองค์ตลอด 45 พรรษาอยู่แล้ว  เพราะฉนั้นจึงไม่มีอะไรที่ต้องวิวัฒนาการต่อไปอีกในแง่พุทธปรัชญา
 
      แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงปรัชญาจากยุคเถรวาทดั้งเดิมสู่มหายานก็เพื่อรองรับการเติบโตและขยายตัวของชาวพุทธ  จึงต้องยกหลักโพธิสัตว์ที่เน้นกรุณาขึ้นมาแทนหลักอรหันต์ที่เน้นปัญญาและความบริสุทธิ์ส่วนตน  ความสำเร็จของมหายานทำให้พุทธศาสนาขยายตัวครอบคลุมอินเดียทั้งประเทศ  แต่เถรวาทก็ยังยึดที่มั่นอยู่ในบางพื้นที่เพื่อรักษาคำสอนที่บริสุทธิ์  ความสำเร็จของมหายานทำให้พุทธศาสนาต้องปะทะกับศาสนาพราหมณ์ที่ยังมีผู้นับถืออยู่มากและมีปรัชญาที่ลึกซึ้งเพราะมีวิวัฒนาการมามากกว่า 5,000 ปี 
 
       เพื่อต่อสู้กับศาสนาพราหมณ์ที่พัฒนามาเป็นฮินดูที่แข็งแกร่ง  นักปราชญ์ชาวพุทธจึงปรับกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญโดยการคัดสรรปรัชญาที่ดีที่สุดของเถรวาทและมหายาน  มาเป็นพุทธศาสนาที่เรียกว่า วัชรยาน  วัชระ คือ เพชรที่ตัดสิ่งที่มิใช่แก่นออกไป  ทำให้พุทธศาสนายืนหยัดต่อสู้กับฮินดูมาได้อีก 500 ปี ซึ่งในช่วงนี้คำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าได้ถูกทำให้เป็นทฤษฎีชั้นสูงสำหรับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยนาลันทา เท่านั้น  ทำให้หลักปฏิบัติหรือวินัยถูกทอดทิ้ง  เมื่อไม่มีหลักปฏิบัติมารองรับ พุทธศาสนาวัชรยานจึงดึงหลักปฏิบัติของฮินดูเข้ามาเป็นฐานนั่นคือ โยคะและตันตระ
 
         ดังนั้นใน พ.ศ. 1,500 จึงเกิดลัทธิพุทธตันตระ  ซึ่งเป็นลัทธิที่ตรงกันข้ามกับคำสอนดั้งเดิมทุกอย่าง  เพราะเป็นการผสมกันระหว่างพุทธกับพราหมณ์ที่มีปรัชญาตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง  แต่มันเกิดขึ้นจากนักวิชาการที่ไม่สนใจหลักวินัย แต่ปราดเปรื่องในวิชาการ  มันจึงเป็นการผสมมั่ว  จับแพะชนแกะ ต่อมาพุทธตันตระยอมรับหลัก ม.5 (เมถุน  เมรัย มังสะ  มัสยา มุทรา)  จึงเป็นตัวทำลายพุทธศาสนาให้กลายเป็นศาสนาชั้นต่ำและถูกทำลายให้สิ้นซากไปโดยมุสลิมในเวลาต่อมา
 
        หรือจะดูประวัติพุทธศาสนาในธิเบตเอง  วัชรยานที่เข้าไปตอนแรกนำโดยท่านคุรุปัทมสัมภวะ ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนาลันทา  และเป็นต้นสายนิกายฌิงมะ  แต่เพราะไม่มีรูปแบบการปฏิบัติที่ชัดเจน(วินัย)  จึงทำให้ในช่วงหลังเกิดความเสื่อมโทรม  ทำให้พระมหาเถระกติษะเข้าไปฟื้นฟูโดยยึดวินัยเป็นหลักและท่านก็เป็นต้นสายเคลุกปะ ที่ครอบครองตำแหน่งดาไลลามะ  ทำให้วัชรยานยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบัน
 
       สถาบันนาโรปะที่ก่อตั้งโดยท่านมหาคุรุ เซอเกียม ตรุงปะ รินโปเช  เป็นสายฌิงมะปะที่เน้นทฤษฎี  ทราบว่าท่านมีภรรยาถึง 9 คน  ผมเคยอ่านหนังสือที่เขียนโดยภรรยาคนที่ 9 ของท่านซึ่งเป็นชาวอเมริกัน
 
       ทีนี้มาดูแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ของสถาบันนาโรปะบ้าง  ผมก็เห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีเยี่ยม  แต่ผมก็ยังมองเห็นว่ามันไม่ได้แตกต่างจากหลักการของเถรวาทเลย  เพียงแต่ใช้ศัพท์สำนวนที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง นั่นคือ
 
     1.การเรียนรู้แบบบูรณาการและผสานสรรพศาสตร์  (Integrative & Transdisciplinory  Learning)
     2.การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง  (Experiental  Learning)
     3.การเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใน  (Tranformative  Learning)
 
      ข้อที่ 1 ก็คือ  อธิปัญญาสิกขา  หรือ การเรียนรู้ในปัญญาอันยิ่ง  ปัญญาอันยิ่งในที่นี้คือการบูรณาการความรู้ (knowledge) เพื่อการรู้แจ้ง (wisdom) ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม
 
      ข้อที่ 2 ก็คือ อธิสีลสิกขา  หรือ  การเรียนรู้ในศีลหรือข้อปฏิบัติอันยิ่ง  ศีลหรือวินัยก็คือหลักปฏิบัติทางกายเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพภายนอกของปัจเจกบุคคล และ ระเบียบของสังคม
 
       ข้อ 3 ก็คือ  อธิจิตตสิกขา  หรือ  การเรียนรู้ในจิตอันยิ่ง  ได้แก่การเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา เพื่อพัฒนาคุณภาพของจิตอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในคือความสงบสันตินั่นเอง
 
        ที่ผมนำเสนอมิได้ต้องการให้มายึดติดแบบเถรวาทเท่านั้น  แต่อยากเห็นปัญญาชนไทยบางคนอย่ามองพุทธศาสนาเถรวาทอย่างคับแคบ  โดยติดอยู่แค่เปลือกกะพี้ของเถรวาท  อย่าลืมว่าตลอดเวลา 2,500 ปี พุทธศาสนาเถรวาทได้พัฒนาปรัชญาแนวคิดมาอย่างต่อเนื่อง  คัมภีร์อภิธรรมคือหลักฐาน แต่ผมก็ยอมรับครับว่ามีคนไม่มากที่แตกฉานในอภิธรรม  เพราะมาติดที่กำแพงใหญ่คือภาษาบาลีชั้นสูง
 
       จริง ๆ แล้วเถรวาทในเมืองไทยก้มีการแปรเปลี่ยนตามสังคมอยู่แล้วครับ  สังคมเกษตรกรรมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็เป็นเถรวาทแบบดั้งเดิมผสมไสยศาสตร์  สังคมอุตสาหกรรมหรือชนชั้นกลางในเมืองก็จะเป็นเถรวาทที่ผสมกับมหายานของจีน  ส่วนสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศหรือนักวิชาการ ก็เป็นเถรวาทที่ผสมกับวัชรยานคือเน้นที่ทฤษฎี  หรือจะดูพระพุทธรูปของเถรวาทที่ผสมวัชรยานก็ให้ดูพระปางทรงเครื่อง  พระพุทธชินราช  พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  และพระพุทธรูปประจำองค์พระพุทธยอดฟ้าฯ พระพุทธเลิศหล้าฯ เป็นต้น 
 
        ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอความคิด  เพื่อการสร้างสรรค์ของผม  เพราะต้องการเห็นความเจริญก้าวหน้าและการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมไทยของพุทธศาสนาทุกนิกาย
 
นาย บรรพต  (แคไธสง) บุญนิธิ
 
หมายเลขบันทึก: 342791เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ท่านเซอเกียม ตรุงปะ รินโป เป็นฆาราวาสครับ ไม่ใช่พระ

วัชระยาน ในไทยเริ่มจากท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ วัชระยาน คือสายปฏิบัติของมหายาน ซึ่งขั้นตอนวิธีการเป็นความลับ

เรียกว่า มันตรยาน แต่ที่เราสามมารถศึกษาพุทธได้แบบเปิดเผย เรียกว่า สูตรยาน การปฏิบัติของวัชระยานเคร่งครัดมากและปฏิบัติไม่ได้เลยถ้าไม่มีอาจารย์

ชาวเถรวาทมักมองว่าในสมัยพุทธกาลเป็นเถรวาอย่างเดียว จริงๆแล้วไม่ใช่

พระพุทธองค์ได้ ตรัส3เรื่องใหญ่ๆ ไว้3วาระ เรื่องแรกเป็นทางเถรวาท เรื่องสองเป็นทางมหายานโพธิจิต เรื่องที่สามเป็นเรื่องวัชรยาน

วัชรยานพระพุทธเจ้าสอนศิษย์ในหมู่แคบเท่านั้น

พุทธตันตระเป็นศาสตร์ขั้นสูงเป็นการใช้กิเลศเพื่อละกิเลศ ในการปฏิบัติหากมีราคะจริตแม้แต่นิดเดียวนรกทันที จึงต้องกักตัวบำเพ็ญมาอย่างดีและมีครูบาอาจารย์กำกับ และศาสตร์นี้บรรลุเร็วบรรลุชาตินี้ด้วยปัญญา

จะสังเกตุง่ายๆ พระวัชรยานร้อยละ 80% สังขารมักไม่เน่าเปื่อย อาจารย์บางท่านสังขารหดลงเหลือฟุตเดียว

และ สังฆราชคณะสงฆ์จีนนิกายในไทยก็ สังขารไม่เน่าทุกรูปมี2รูปที่พระราชทานเพลิงศพ

ฉนั้นสิ่งที่ท่าน ศึกษามาไม่ใช่แก่นสารของวัชรยานเลย เพราะวัชรยานเป็นนิกายลับ เป็นศาสตร์ขั้นสูง ท่านไม่มีทางทราบแก่นสารได้ จนกว่าท่านจะได้ปฏิบัติในสายวัชรยาน

ขอบคุณมากครับสำหรับการแสดงความคิดเห็น แต่ผมก็ยังยืนยันในทัศนะส่วนตัวที่ได้แสดงไปแล้ว จริง ๆ แล้วถ้าท่านไปศึกษาปรัชญาของฮินดู หรือลองไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวฮินดูที่อินเดีย ท่านจะเข้าใจแนวคิดของวัชรยานได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดของดะไลลามะ หรือพระลามะ ระดับ รินโปเช ก็คล้ายกับแนวคิดเรื่อง อวตารของฮินดู แต่ดะไลลามะเป็นการอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แต่หลักการของวัชรยานคือการนำเอาปรัชญาพราหมณ์มารับใช้พระพุทธศาสนา

เป็นบทความที่ดีครับ และได้อ่านข้อคิดเห็นของท่านผู้เกียตริเช่นกัน ต่างก็มีความยึดมั่นถือมั่น รวทถึงผมก็ด้วย ผมไม่รู้ว่าเถรวาทที่ลึกซึ้งคือะไร หรือวัชรยานที่ลึกซึ้งคืออะไร ผมกำลังศึกษาทางวัชรยาน แบบเปิดใจศึกษา ไม่เชื่อตามคนอื่น ขอศึกษาก่อน ผมสงสัยว่า ทำไมเราต้องเชื่อเรื่องศาสนาและหลายคนส่วนใหญ่จะต้องนับถือศาสนาตามพ่อแม่หรือตามใบเกิด เราน่าจะศึกษาเมื่อเราโตขึ้นมาหาสิ่งที่เหมาะสมเเล้วเดินตามนั้นดีกว่า อะไรเหมาะก็พอเเล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท