+การเตรียมพร้อมทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา (V-Net)


การเตรียมพร้อมทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา (V-Net)

 

ไล่เลี่ยกับการสอบ โอเน็ต ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาก็ได้ทดลองทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา (Pre V-net) นับเป็นครั้งแรกที่ สอศ. ได้ดำเนินการ และในที่สุดก็อาจจะเป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาจะต้องดำเนินการเป็นปกติ  ถึงแม้ตอนนี้ สถานศึกษาก็ยังไม่รู้ทิศทางชัดเจนและผู้เรียนเองยังไม่รู้ว่าจะนำผลการทดสอบไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

 

แต่แนวโน้มเรื่องนี้ ก็มีทิศทางที่ดี ในข้อที่ว่า  จะเป็นอีกกิจกรรมที่ส่งเสริมให้พัฒนาการอาชีวศึกษา ด้านผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ที่เราจะได้รับรู้และพยายามหาทางแก้ปัญหาให้ตรงจุดที่สุด ทั้ง ๆ ที่ผ่านมา เรื่องเหล่านี้สังคมก็ตอบคำถามแทนหรือถูกกำหนดโดยสังคมไปเรียบร้อยแล้ว  ดังนั้น จึงต้องฝากความหวังต่อไปยัง คนที่เข้ามาทำงานอาชีวศึกษาว่าจะทุ่มเทหรือทำต่อเนื่องงานเหล่านี้มากน้อยเพียงใด  สำหรับหัวข้อนี้ จะไม่บ่นต่อ ว่าจะเกิดอะไรกับวีเน็ต  แต่จะมาช่วยกันว่า จะเตรียมตัวกันอย่างไรในปีการศึกษาหน้า หากมีการปูพรมใช้กับทุกสาขางาน เริ่มต้นที่

 

 Photobucket
สนามสอบ pre v-net วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่

 

กำหนดแผนงานระดับ อศจ.   กำหนดปฏิทินการทำงานของ อศจ. จะต้องเตรียมไว้ให้พร้อม ได้แก่  จัดประชุมแจ้งการดำเนินงานหรือสร้างความเข้าใจ  การแต่งตั้งคณะกรรมการทำงาน  จัดส่งรายละเอียดข้อมูล  จัดทำข้อสอบ จัดเก็บข้อสอบ  การรับข้อสอบ  การสอบรวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม การสอบวีเน็ตนั้นจะต้องต้องครอบคลุม ทั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน   ดังนั้น จะต้องกำหนดแผนหรือแนวทางเผื่อไว้กับสถานศึกษาเอกชนที่อยู่ใน อศจ.  ด้วย

 

การกำหนดแผนงาน  สำหรับปีการศึกษาต่อไป หากจัดทำแผนปฏิบัติงานไปเรียบร้อยแล้ว ต้องปรับแผนใหม่เตรียมไว้ให้พร้อม กำหนดเป็นตารางปฏิทินการทำงานของสถานศึกษา โดยดูจากข้อมูลย้อนหลัง ช่วงของการสอบโอเน็ตของแต่ละปีมาประกอบ  เช่น ปีนี้โอเน็ตสอบวันอาทิตย์ (21 ก.พ.)  และ pre V-net ถูกกำหนดสอบวันจันทร์ (22 ก.พ.)

 

กิจกรรมของสถานศึกษา   การส่งรายชื่อนักเรียน/นักศึกษาตามเวลาที่กำหนดโดยหน่วยงานส่วนกลางที่รับผิดชอบ (สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ)  รวมถึงระบบที่สามารถแจ้งตอบรับรายชื่อนั้นได้ เนื่องจากการทดลองทดสอบฯ ครั้งนี้ บางสถานศึกษาไม่สามารถทดสอบได้เนื่องจากไม่มีรหัสรายชื่อของนักเรียน/นักศึกษา  การจัดสถานที่สอบ การจัดสอบ หากสถานศึกษาต้องใช้เป็นหน่วยกลางในการจัดสอบ รวมถึงระเบียบที่ครอบคลุมสำหรับใช้ในการจัดสอบ  การแจ้งนักเรียน/นักศึกษา  เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาจะต้องประชาสัมพันธ์ ให้ทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อจะให้จำนวนผู้สอบครบตามเป้าหมายที่กำหนด  รวมถึงให้นักเรียน/นักศึกษาเห็นความสำคัญของการสอบ อย่างน้อยก็เป็นการวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เกณฑ์ร่วมกันทั้ง สอศ.

 

Photobucket 
สนามสอบ pre v-net  วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่

 

ผู้สอน  สถานศึกษาต้องแจ้งให้ผู้สอนได้ทราบและเข้าใจรายละเอียดวิธีการเพื่อจะได้ช่วยประชาสัมพันธ์ และหากต้องทำหน้าที่คุมสอบจะได้รับรู้ขั้นตอนปฏิบัติ  รวมถึงเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้สอนได้เอาใจใส่ในการจัดการเรียนการสอน ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติให้ตรงกับมาตรฐานวิชาชีพตามสาขางานที่กำหนด

 

ผู้เรียน  ผลการสอบวีเน็ตในระยะแรก  เนื่องจากยังอยู่ในช่วงทดลองใช้เครื่องมือ และยังต้องผ่านกระบวนการจัดทำข้อสอบ หรือในระยะต่อไป ก็จะต้องมีคลังข้อสอบเพื่อจะได้ข้อสอบที่ดีที่สุด  ดังนั้น การเตรียมพร้อมให้นักเรียน/นักศึกษาที่จะสอบได้ทราบเรื่องดังกล่าว และเห็นถึงความสำคัญของการทดสอบ อย่างน้อยก็เท่ากับมีสนามให้ได้ทดลองซึ่งเป็นข้อสอบที่มาจากส่วนกลาง จะได้เทียบเคียงกับนักเรียน/นักศึกษาในระดับชั้นเดียวกัน ต่างชั้น ต่างสถาบัน  ซึ่งต่อไปก็ขึ้นอยู่กับว่า นโยบายที่ทางส่วนกลางจะกำหนดว่า ผลจากวีเน็ตจะนำไปใช้ประโยชน์แก่ตัวนักเรียน/นักศึกษาอย่างไร ซึ่งจะจูงใจให้เกิดความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำข้อสอบเพื่อเป็นการแข่งขันกับตัวเองหรือมีเหตุผลอื่น ๆ  มากกว่า สอบแล้วไม่รู้ว่า จะนำไปใช้อะไร เพราะฉะนั้น จะตั้งใจหรือไม่ก็ได้  รวมถึงหลักเกณฑ์ระเบียบวิธีการสอบจะต้องใช้แนวทางที่สอดคล้องกับระเบียบเรื่องการสอบอย่างเคร่งครัด

 

ข้อสอบ  ในระยะแรก ข้อสอบจะเป็นการเลือกคำตอบ และกระดาษคำตอบจะต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการตรวจ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้สอบจะต้องใช้ดินสอสำหรับระบายคำตอบหรือเลขรหัส  หากบางสถานศึกษา ไม่เคยได้ฝึก การทำข้อสอบแบบนี้ จะทำให้ผู้สอบเกิดความสับสนได้ เรื่องเล็กน้อยแบบนี้ อย่าได้ละเลย  ข้อสอบส่วนใดใช้ปากกาหรือส่วนใดใช้ดินสอ จะต้องแจ้งหรือฝึกไว้เป็นการล่วงหน้า หรือการนำวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการสอบมาให้พร้อม   ในอนาคต ข้อสอบอาจจะไม่ใช่การเลือกตอบแต่ต้องลงมือปฏิบัติ ซึ่งสถานศึกษาจะต้องจัดเตรียมเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเช่นกัน

 

 

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนที่สถานศึกษาจะต้องเตรียม ถึงแม้ว่า ปีนี้เป็นเพียงปีแรกที่ใช้การทดลองทดสอบเฉพาะสถานศึกษานำร่อง แล้วท้ายที่สุด การทดสอบก็จะต้องมีแนวทางเช่นเดียวกันกับการทดสอบ โอเน็ต ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ซึ่งที่นี่ ยังไม่ลงรายละเอียดลึกในตัวข้อสอบที่ว่า จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร  จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เท่ากับหรือน้อยกว่าหน่วยงานอื่น เหมือนที่โดนอยู่ ณ ขณะนี้ หรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามกัน...

 

 

 

 

นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์  ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่  5   มีนาคม  2553
จากการสังเกตการทดลองทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา  อศจ. เชียงใหม่ วันที่ 22  กุมภาพันธ์  2553 และขอขอบคุณสำหรับข้อมูลคณะผู้บริหาร ครูที่คุมสอบ เจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ วิทยาลัยการอาชีพฝาง  วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการเชียงใหม่ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 342719เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท