เมื่อหลานชายทำ Handy drive 4 G หาย


จากที่หนูเคยได้เขียนบันทึก สอนหลานเขียนบันทึกประจำวันและสวดมนต์ หนูมีข้อตกลงกับหลานชาย ป.2 ว่า ให้เขียนบันทึกประจำวันในสมุดและสวดมนต์โดยใช้แรงกระตุ้นเบื้องต้นเป็น Handy drive 4 G ที่เขาปรารถนานำมาใช้งาน หากทำครบ 1 เดือน เขาจะได้เป็นเจ้าของอย่างสมบูรณ์

 ขณะที่เริ่มทำหนูก็มีคำถามเกิดขึ้นในตนเองว่า “เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้หลานชายหรือไม่” ยังไม่ได้คำตอบ แต่หนูขอสังเกตพฤติกรรมไปก่อนทดลองดู หลังจากกลับมากรุงเทพไม่นาน

เมื่อเย็นวานได้รับโทรศัพย์จากหลานชายว่า

“น้าติ๋ว น้องตั้มเอา Handy drive ใส่กระเป๋าไปโรงเรียนด้วย แต่มันหาย”

หนูตอบทันทีตามความเคยชินว่า “ว่าแล้ว”

แล้วจิตหนูก็วกมาที่ลมหายใจ หยุดแว๊บหนึ่ง ใจสบายขึ้น แล้วก็ถามน้องตั้มกลับด้วยน้ำเสียงสบาย ๆ ว่า “แล้วครานี้เราจะทำยังไงดีนะ”

น้องตั้มเงียบไปแล้วโทรศัพย์ก็โดนตัดไป หนูโทรกลับไม่ได้เพราะว่าตังค์ในโทรศัพย์หมด แล้วก็มีนัดกับเพื่อทานข้าวที่หอเย็นนี้ใกล้เวลานัดแล้วด้วย แม้จะห่วงใยหลาน แต่คิดอีกที ลองปล่อยเวลาให้ดำเนินไปสักพักให้น้องตั้มได้ทบทวนในตนเอง แล้วค่อยมาช่วยกันแก้ไขอีกที

เย็นวันนี้หนูจึงโทรหาน้องตั้มอีกรอบ น้องตั้มเล่าให้ฟังว่า

“ช่วยกันหาแล้ว เพื่อน ๆ ในห้องก็ช่วยด้วย แต่ก็ไม่เจอ”

หนูถามว่า

"งั้นเอาไงดีนะ ถ้าน้องติ๋วซื้อให้อีกก็เท่ากับว่าซื้อให้ตั้งสองอัน จากสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาน้องตั้มน่าจะทำอะไรเพิ่มขึ้นดีไหมครับ”

หนูหยุดประเด็นไว้ที่ตรงนี้แล้วก็ถามน้องตั้มว่า

 “น้องตั้มยังเขียนบันทึกและสวดมนต์อยู่ไหมครับ”

“เขียนครับ แต่ว่าเมื่อวานน้องตั้มลืมสวดมนต์ วันนี้ก็เลยสวดเพิ่มเป็น 3 รอบ”

ทำให้หนูแว๊บขึ้นมากับตนเองว่า อืม ใช้ได้ เราเองก็ต้องเอาหลานชายเป็นตัวอย่าง ถ้ากิจวัตรใดไม่ได้ทำ ก็ทำเพิ่ม จึงถามต่ออีกว่า

“น้องตั้มเห็นบทสวดทำวัตรเย็นไหมครับ”

“เห็นครับตั้มก็อยากอ่านอยู่น้าติ๋ว”

“ดีเลย งั้นเอาอย่างนี้ ถ้าให้น้องตั้มอ่านบทสวดทำวัตรเย็นเพิ่มและนั่งสมาธิต่อสักห้านาทีหลังอ่านจบได้ไหม”

น้องตั้มดีใจแล้วบอกว่า

“เย้ ๆ ได้ครับ ๆ งั้นตั้มจะยืมโทรศัพย์แม่ มาตั้งนาฬิกาเพื่อจับเวลา

“งั้นก็ตกลงตามนี้ เริ่มเย็นนี้เลย”

 

 
จากการได้เรียนรู้ร่วมกับหลานชาย เหมือนเขาช่วยมาสะท้อนใจหนูเอง สะท้อนกิจวัตรประจำวันที่หนูบกพร่องควรจะลองปรับอย่างไร และการทำของหายของหลานชายครั้งนี้ ทำให้เขาได้รับโอกาสเพิ่มมากขึ้น หนูไม่ได้ต่อว่าเขาเพราะรู้สึกได้ว่าเขาเองก็มีความรู้สึกผิดในตนเองอยู่แล้ว แนวทางนี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นใดต่อไปค่ะ แต่ที่หนูมั่นใจคือ หนูตั้งใจให้ในสิ่งที่ดีที่สุดกับเขา โดยใช้สิ่งนอก ๆ เป็นเครื่องมือ ก็คงต้องค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ ปรับกันต่อไป งานนี้สอนให้หนูรู้ว่า ใจที่นิ่งเย็นไม่เพ่งโทษจะทำให้เราเห็นโอกาส และก่อนที่จะใส่รหัสอะไรลงไปในหลาน หนูต้องทำได้ก่อน แท้ที่จริงแล้วหนูไม่ได้สอนน้องตั้มหรอกค่ะ น้องตั้มนี่เองช่วยสอนหนู
หมายเลขบันทึก: 341808เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณค่ะ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ  ตะกี้หลานชายโทรมารายงานว่า

"น้องตั้ม พาน้องตาล (น้องสาว) มานั่งสมาธิด้วยกันด้วยน้าติ๋ว แล้วก็เข้ามานั่งสมาธิในห้องนอนใหม่ด้วย"

หนูรู้สึกประทับใจ ในความตั้งใจของเขาทั้งสองเลยค่ะ เหมือนยิงนัดเดียวได้นกสองตัวจริง ๆ เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท