ม.ทักษิณ ร่วมอนุรักษ์ สืบสานประเพณี และฟื้นฟูการไถนาด้วยควายและวัว (ตอนที่ 1)


ม.ทักษิณ ร่วมอนุรักษ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยีการผลิตข้าวพื้นเมืองจังหวัดพัทลุง สืบสานประเพณี และฟื้นฟูการไถนาด้วยควายและวัว

วิทยาลัยภูมิปัญญา ม.ทักษิณ ร่วมอนุรักษ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยีการผลิตข้าวพื้นเมืองจังหวัดพัทลุง  สืบสานประเพณี และฟื้นฟูการไถนาด้วยควายและวัว

พระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชปฏิสันถารเมื่อครั้งเสด็จฯ พิธีอัญเชิญแม่โพสพคืนนา จังหวัดอ่างทอง ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยชาวนา ที่เดี๋ยวนี้หันมาทำนาโดยใช้เครื่องจักรกันมากทั้งๆ ที่น้ำมันแพง หากยังใช้ต่อไปจะทำให้ลำบากมาก ทรงเห็นชาวนาใช้เครื่องจักรปลูกข้าว รับสั่งว่าน่าเสียดาย ต่อไปน้ำมันแพงชาวนาจะแย่ ควรหันกลับมาใช้ควาย พระองค์ทรงสนพระทัยควายมาก ทรงอนุรักษ์เรื่องควายมานานแล้ว เพราะน้ำมันแพง ทรงอยากให้กลับมาใช้ควาย จะได้ไม่ต้องใช้น้ำมัน... ”

ดังนั้นคณะทำงานภายใต้ โครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยีการผลิตข้าวพื้นเมืองจังหวัดพัทลุง  และคณะทำงานของอาศรมภูมิปัญญาการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยีชุมชน วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มีความตระหนัก และความตื่นตัวในการส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู  ภูมิปัญญาการทำนา โดยเฉพาะการฟื้นฟูการไถนาด้วยควาย จึงได้มีการประชุมคณะทำงานขึ้นในวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ณ วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เพื่อร่วมคิด ร่วมวางแผน กำหนดการจัดกิจกรรมการฟื้นฟูการไถนาด้วยควายขึ้น

เมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2552   นายวินัย  ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง  พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ  สายธนู  อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ  และคณะผู้บริหาร  พนักงาน ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนทะเลน้อย เข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูการไถนาด้วยควายและวัว  ณ แปลงต้นแบบการผลิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (บริเวณอาคารท่าเรือ) วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ   โดยมีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษา รวบรวม ความรู้วิถีชีวิตชาวนากับภูมิปัญญาเทคโนโลยีการไถนาด้วยควาย ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และชุมชนในจังหวัดพัทลุง ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู วิถีชีวิตชาวนากับภูมิปัญญาเทคโนโลยีการไถนาด้วยควาย และเพื่อเกิดการทำงานแบบการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยทักษิณ

                จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา อาชีพการทำนาจึงเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบนี้มาเป็นเวลานาน และมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิต        ซึ่งส่งผลให้สังคมวัฒนธรรมของชาวบ้านในดินแดนแถบนี้มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น          การประกอบอาชีพทำนาในอดีตเป็นการทำเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันเป็นหลัก มีรูปแบบและวิธีการสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จากการสัมภาษณ์ชาวนาในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ชาวนามีการใช้วัวหรือควาย โดยเฉพาะควายเป็นแรงงานในการทำนาทุกกระบวนการตั้งแต่    การเตรียมดิน ใช้มูลเป็นปุ๋ย เป็นพาหะเทียบเกวียนบรรทุกของไปนา นวดข้าว บรรทุกข้าวกลับบ้าน ดังนั้น ชาวนาสมัยก่อนจึงมีความผูกพันกับควาย เปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว และอีกประการหนึ่ง ควายถือเป็นสัตว์ที่บ่งชี้ถึงลักษณะพื้นที่ของชุมชนทะเลน้อยที่เป็นป่าพรุ มีหญ้าจำพวกต้นกระจูด หญ้าปล้อง ซึ่งเป็นหญ้าที่ควายชอบ จะสังเกตเห็นบรรดาฝูงควาย หากิน เล่น อยู่ในน้ำเมื่อในอดีต

                ปัจจุบัน เมื่อความเจริญของบ้านเมืองเข้ามาทำให้รูปแบบการทำนาแบบเดิมได้เปลี่ยนไปเพื่อการค้ามากยิ่งขึ้น มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์การทำไร่ไถนา หรือจะเป็นสารเคมีต่างๆ ในการกำจัดศัตรูพืช หรือใช้ไล่แมลง และเร่งการเจริญเติบโต มีการนำปุ๋ยเคมีแทนมูลวัว ควาย วิถีชีวิตความผูกพันกับผืนนาเริ่มลดน้อยลงจากการพึ่งภูมิปัญญาเทคโนโลยีของบรรพบุรุษ เปลี่ยนเป็นการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างชาติ จึงส่งผลตามมาด้วยปัญหาต่างๆ เช่น สุขภาพที่ย่ำแย่ของเกษตรกร หรือการเป็นหนี้เป็นสินของเกษตรกรในการกู้ยืมเงินมาซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดเป็นปัญหาของเกษตรกรในปัจจุบัน และยิ่งสภาวะปัจจุบันที่มีการใช้พลังงานเชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก ทำให้พลังงานเชื้อเพลิงตามธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น น้ำมัน ที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นการยิ่งเพิ่มต้นทุนในการผลิต และทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน เกิดเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อไป จากภาวะวิกฤตในปัจจุบันทำให้ชาวนาต้องมีการทบทวนถึงรูปแบบการทำนาหันกลับมาหาทางเลือกที่เหมาะสม คือการใช้ชีวิตบนฐานข้อมูลในการวางแผนจัดการให้เหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในสถานการณ์นั้น คือ การใช้ทุนทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน...

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 341450เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ น่าจะมีภาพกิจกรรมด้วยนะครับ น่าสนใจมาก

นำภาพขึ้นเว็บไซต์ให้ดูกันนะคะ

บรรยากาศสุดจะบรรยายจริงๆ งานนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงและผู้บริหารมหาวิทยาลัยลงมือ ไถนาและดำนาด้วยตัวเอง

ภาพประวัติศาสตร์จริงๆ คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท