การจัดการความรู้โดยเรื่องเล่าเร้าพลัง(1)...“บ้านเลือก..ที่นี่เลือกสรรแต่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนทุกๆคน”


รวมทั้งมุ่งหวังว่าการที่สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกได้เลือกสรรแนวทางการสร้างความสุขโดย “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”ของภูฎานมาประยุกต์ใช้เป็น “การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น”ของตำบลบ้านเลือกในวันนี้ จะเป็นการเลือกสรรในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อความสุขมวลรวมของผู้คนในบ้านเลือกแห่งนี้ทุกๆคน

วันที่21 ก.พ. 2553 ที่ผ่านมาผมได้ร่วมกับคณะทำงานจัดการความรู้ของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้จัดเวทีการจัดการความรู้ในลักษณะการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือสุนทรียปรัศนาและสาธก(AI) เป็นการจัดเวทีการจัดการความรู้ ครั้งที่ 6 แล้วครับ ครั้งนี้เป็นเวทีสุดท้าย งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยของผม ในหัวข้อเรื่อง “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล”ผลจากเวทีครั้งนี้ในตอนท้ายผู้เข้าร่วมเวทีได้ช่วยกันสรุปบทเรียนประสบการณ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก ว่ามีเรื่องอะไรที่น่าจะนำมาทำให้เป็นเรื่องเล่าที่เร้าพลังได้ ซึ่งสรุปเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังได้ทั้งหมด7 เรื่องด้วยกันครับ นี่เป็นเรื่องแรกครับ........ 

การจัดการความรู้โดยเรื่องเล่าเร้าพลัง เรื่องที่ 1

“บ้านเลือก....ที่นี่เลือกสรรแต่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนทุกๆคน”

          ประวัติดั้งเดิมของคนบ้านเลือกเป็นที่ทราบกันจากการบอกเล่าต่อๆกันมาว่า คนลาวเวียงเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในราชบุรีตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 กล่าวถึงการกวาดต้อนครอบครัวลาวเวียงครั้งสำคัญ ในสมัยธนบุรีว่า ประมาณปี พ.ศ.2322 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกกองทัพไปตีหัวเมืองล้านช้าง อันได้แก่ เมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ เมื่อตีเมืองเหล่านี้ได้แล้ว เก็บทรัพย์สินใหญ่น้อยและกวาดต้อนชาวเมืองโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ เมืองสระบุรีบ้าง เมืองราชบุรีบ้าง ตามหัวเมืองตะวันตกบ้าง อยู่เมืองจันทบุรีบ้าง

           การเรียกชื่อบ้านเลือกนั้นเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากได้มีการคัดเลือกม้าศึก ม้าสวย ที่ชุมชนแห่งนี้ เพราะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ มีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ เช่นม้า ช้าง วัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาเลือกม้าศึกที่หมู่บ้านแห่งนี้ ผู้คนจึงได้เรียกชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านเลือกม้า”  เรียกบ้านบ่อมะกรูดว่า “บ้านคล้องช้าง” เรียกชื่อบ้านพระศรีอารย์ว่า “บ้านปะอานม้า”  ส่วนบ้านฆ้อง เรียกว่า “บ้านโรงม้า” และมีชื่อวัดที่นั่นว่า “วัดโรงม้า” ขณะนี้วัดดังกล่าวได้ร้างไปแล้ว และใช้เป็นโรงเรียนสอนการทอผ้าของรัฐบาลซึ่งก็คือวิทยาลัยเทคนิคโพธารามในปัจจุบัน  ต่อมาจากชื่อบ้านเลือกม้า เหลือแต่ชื่อเรียกว่า “บ้านเลือก” และการเลือกม้า เลือกวัวในชุมชนนี้ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการคัดเลือกม้าสวยเข้าสนามม้าแข่งอีกด้วยแต่ปัจจุบันแทบจะไม่มีการเลือกช้าง เลือกม้าอีกต่อไปแล้ว

           ที่บ้านเลือกนี้ใช่ว่าจะมีแต่การเลือกม้า ในช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บริเวณท้องสนามหลวง จึงได้มีการคัดเลือกวัวจากทั่วประเทศมาเป็นพระโคสำหรับในพระราชพิธี  ในครั้งแรกนั้นวัวจากบ้านเลือกก็ได้รับการคัดเลือกเป็นพระโคคู่ในพระราชพิธี คือพระโค”โพธิ์เงิน โพธิ์ทอง”นั่นเองนำความปลื้มปิติมาให้คนบ้านเลือกอย่างยิ่ง และยิ่งกว่านั้นวัวจากบ้านเลือกได้รับการคัดเลือกเป็นพระโคในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา  รวมทั้งพระโค “ขวัญตา ขวัญใจ” ซึ่งเป็นพระโคในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีปัจจุบัน ( พ.ศ.2552) ก็เป็นพระโคจากบ้านเลือกเช่นกัน

           ที่บ้านเลือกแห่งนี้ยังเป็นหมู่บ้านที่มีการคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว จากข้าวโพดข้าวเหนียวที่เรียกว่าข้าวโพดเทียน ได้มีการพัฒนาคัดเลือกสายพันธุ์ให้เป็นข้าวโพดข้าวเหนียวที่มีคุณภาพ  มีซังเล็กลง  มีเนื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนุ่มและหอมหวาน กลายเป็นข้าวโพดแปดแถวรสอร่อยในแบบฉบับของบ้านเลือก ที่คนบ้านเลือกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งก็ด้วยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวโพดข้าวเหนียวที่อร่อยที่สุดในประเทศไทยและคนบ้านเลือกยิ่งมีความภาคภูมิใจเป็นพิเศษเมื่อทราบว่าข้าวโพดแปดแถวได้มีโอกาสนำไปถวายถึงพระราชสำนัก

          นอกจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแล้วที่บ้านเลือก ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งประกอบอาชีพที่สร้างความสุขให้กับผู้คนในสังคม  ด้วยการทำตุ๊กตาผ้าที่สวยงามหลากหลายรูปแบบหลากหลายสีสัน จนได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  เชื่อกันว่าที่ชุมชนบ้านเลือกแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาผ้าที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนแหล่งใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศ

            การเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสร้างความดี ความสุขให้กับผู้คนในสังคมของชาวชุมชนบ้านเลือก ไม่ได้มีแค่เป็นพื้นที่เลือกม้าในอดีต  เป็นที่เลี้ยงพระโคในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดแปดแถวที่อร่อยที่สุดของประเทศ  เป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาผ้าที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนแหล่งใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศเท่านั้น ที่วัดโบสถ์ ตำบลบ้านเลือกนี้ยังเป็นต้นตำหรับของตำนานหลวงปู่อินทร์ พระเกจิอาจารย์มีชื่อเสียงในเรื่องวัตถุมงคล ทั้งประเภทเครื่องรางของขลังและพระเครื่อง นอกจากจะมีวิทยาคมแก่กล้า พลังจิตแน่วแน่แล้ว หลวงปู่ยังมีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษ ในด้านแพทย์แผนโบราณ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ วิทยาคมของท่านขึ้นชื่อลือชาเรื่องการขับไล่ภูตผีปีศาจ รวมทั้งมีอนุภาพในการขับไล่ภัยร้ายต่างๆ  ยิ่งน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของท่านแล้วได้ชื่อว่ามีอานุภาพยิ่งนัก  สิ่งที่ทำให้วัดโบสถ์มีชื่อเสียงมากที่สุดคือการมีพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่า เสริมดวงชะตาสร้างความเป็นสิริมงคลให้ชีวิต สามารถขจัดปัดเป่าคุณไสยเภทภัยร้ายต่างๆนานาในชีวิตทั้งปวง  ที่หลวงปู่อินทร์ท่านได้นำวิชาความรู้เกี่ยวกับการสะเดาะเคราะห์มาใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2495

            ปณิธานและปฏิปทาของหลวงปู่อินทร์ได้รับการสืบสานต่อมาจนปัจจุบันโดยหลวงพ่อเขียน เป็นผู้สืบทอดมหาพุทธาคม ตำหรับหลวงจากปู่อินทร์ จนมีชื่อเสียงเลื่องลือขจรขจายไปทั่วทั้งในและนอกประเทศ ด้วยพิธีสะเดาะเคราะห์ แก้เคล็ด เสริมสิริมงคล โดยเฉพาะพิธีอาบน้ำมนต์  ในทุกๆวันยังคงมีผู้คนมาร่วมพิธีกรรมที่บ้านเลือกมิได้ขาดสาย

           พระครูโพธารามพิทักษ์ หรือหลวงพ่อเขียน เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เจ้าคณะอำเภอโพธาราม มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างชุมชนบ้านเลือกแห่งนี้ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง คนในหมู่บ้านตำบลมีความอยู่เย็นเป็นสุข อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์บนฐานวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนลาวเวียง  สามารถฟื้นฟู อนุรักษ์  สืบทอดศิลปวัฒนธรรมของคนลาวเวียงอย่างสร้างสรรค์  เอื้ออาทรต่อกันแบบญาติพี่น้อง

           ตามเป้าหมายและตัวชี้วัดการสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก ที่มีทั้งหมด 9 ด้าน 16 ตัวชี้วัดนั้น  มีเป้าหมายหนึ่งที่มุ่งในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวเวียงหรือ “การฟื้นเวียง”  หลวงพ่อเขียนท่านให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ท่านปรารถนาจะให้เป้าหมายการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวเวียงโดยการจัดทำหอวัฒนธรรมลาวเวียงให้เป็นจริงขึ้นมา ท่านจึงอนุญาตให้สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก เป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบ บริหารจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมและหอวัฒนธรรมลาวเวียงตำบลบ้านเลือก

            สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก จึงมีความหวังว่า “หอวัฒนธรรมลาวเวียงตำบลบ้านเลือก”แห่งนี้จะเป็นแหล่งที่รวบรวม คัดเลือกสรรและพัฒนาสิ่งที่ดีๆที่สุดเพื่อความสุขมวลรวมของชาวชุมชนตำบลบ้านเลือก  รวมทั้งมุ่งหวังว่าการที่สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกได้เลือกสรรแนวทางการสร้างความสุขโดย “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”ของภูฎานมาประยุกต์ใช้เป็น “การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น”ของตำบลบ้านเลือกในวันนี้ จะเป็นการเลือกสรรในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อความสุขมวลรวมของผู้คนในบ้านเลือกแห่งนี้ทุกๆคน

หมายเลขบันทึก: 341331เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ตำบลบ้านเลือกของโพธารามนะครับ
  • ดีจังเลย
  • ได้รู้บริบททั้งหมดของชุมชน
  • ขอบคุณครับพี่

ขอบคุณครับอ.ขจิตP

  • การสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ ความเป็นมาชุมชนท้องถิ่นเป็นกระบวนการหนึ่งของการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง
  • อยากเห็นทุกๆชุมชนมีการสืบค้นประวัติความเป็นมาของตนเองแล้วนมาเป็นเรื่องเล่าครับ  ชาวบ้านที่นี่บอกผมว่าชอบการจัดการแบบนี้  โดยใช้เครื่องมือนี้มากครับ
  • มีทั้งหมด 7 เรื่องครับ จะทะยอยเรียบเรียงครับ อย่าลืมติดตามนะครับ
  • ขอบคุณครับ

เรามีทรัพยากรมากมาย มีความรู้ภูมิปัญญา ที่ปู่ย่าตายายสั่งสมถ่ายทอดกันมา มีขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตที่เป็นทุนทาง

สังคม และวัฒนธรรมที่ดีงาม แต่เรา คิดไม่ออก มองไม่เห็นทางเพราะถูกบังตาด้วยลัทธิบูชาเงิน ลัทธิบริโภคนิยม

การทำให้ทันสมัย เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการพัฒนา ถ้าเป็นการพัฒนาจริงชีวิตต้องดีขึ้นและมีความสุขมากกว่านี้

ขอบคุณครับคุณมาตายีP

  • กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนแบบแผนแม่บทชุมชน ประชาพิจัย หรือสุนทรียสาธก(AI_สุนทรียปรัศนีแต่ผมเรียกชื่อใหม่เป็นสุนทรียปรัศนาและสาธก)เป็นเครื่องมือช่วยให้ชาวบ้านรู้ตัวตน
  • ผมกำลังประสานกับโรงเรียนที่นั่นเพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำเรื่องเล่าเร้าพลังบูรณาการกับหลักสูตรในโรงเรียน
  • ความคิดชาวบ้านเริ่มบรรเจิดครับ อยากทำพิพิธถัณฑ์พื้นบ้าน อยากเชื่อมโยงเรื่องเล่ากับการแสดงละครของเยาวชน  การร้องเพลงพื้นบ้าน(ที่นี่มีภูมิปัญญาเรื่องดนตรีและเสียงเพลง มีลูกหลานศิลปินคนที่นี่เรียนจบการดนตรีจากต่างประเทศสนใจประยุกต์กับตนตรีพื้นบ้าน)
  • ขอบคุณครับ

<h2>สวัสดีครับพี่...</h2>

<h2>แวะมาเยี่ยมครับ</h2>

<h2>อ้อ... มาตามพี่ไปชมเรือนลาหู่ ที่เบิ้มมาช่วยผมในนาม พอช. ครับ</h2>

<h2><a href="http://gotoknow.org/blog/kgeneral/339962">เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๑)</a>&nbsp;</h2>

<h2><a href="http://gotoknow.org/blog/kgeneral/340032">เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๒)</a>&nbsp;</h2>

<h2><a href="http://gotoknow.org/blog/kgeneral/340041">เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๓)</a>&nbsp;</h2>

<h2><a href="http://gotoknow.org/blog/kgeneral/340060">เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๔)</a>&nbsp;</h2>

<h2><a href="http://gotoknow.org/blog/kgeneral/340064">เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๕)</a>&nbsp;</h2>

สวัสดีครับหนานเกียรติ

  • ไปแวะมาแล้วครับ
  • จะหาโอกาสพาครอบครัวไปพักเอาบรรยากาศ
  • บ้านที่อยู่ของเรือนลาหู่ก็น่าจะมีตำนานนะครับ

ขอบคุณครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

นึกออกเลยว่าชาวบ้านมีความสุขกับการได้สืบสานตำนานปู่ย่า-ตายาย

เป็นชุมชนมีประวัติศาสตร์น่าสนใจมาก

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • ส่วนนี้เป็นตำนาน หรือเรื่องเล่าเร้าพลังไม่ได้มุ่งเน้นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด
  • เป็นความพยายามครับ
  • เป็นเพียงการริเริ่มในระยะแรกเทียบกับหนองบัว โดยอ.ดร.วิรัตน์แล้ว ยังห่างไกลมากเลยครับ
  • ขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท