เชิดชูเกียรติ 9 ครูแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ


บนเส้นทางสู่เกียรติยศที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตของศิลปิน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนคนหนึ่งจะทุ่มเทความรักความเอาใจใส่ในงานที่ตัวเองชื่นชอบโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจนเป็นที่ยอมรับของสังคม

เชิดชูเกียรติ 9 ครูแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ

          คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันศิลปินแห่งชาติมานานกว่า 25 ปี เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีพระปรีชาสามารถล้ำเลิศในด้านศิลปกรรมต่างๆ ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ด้านดนตรี และด้านประติมากรรม


          ในปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำโดยเรืออากาศเอกสุริยะ ศึกษากิจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ วธ. และสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการ กวช. ได้ประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2552 พร้อมจัดงานยกย่องเชิดชูเกียรติและเลี้ยงแสดงความยินดีให้แก่ศิลปินแห่งชาติ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยเชิญศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย สาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม ได้แก่ ศ.ปรีชา เถาทอง ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ได้แก่ องอาจ สาตรพันธุ์ ด้านประณีตศิลป์-แกะสลักเครื่องสด ได้แก่ เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ และด้านภาพถ่าย ได้แก่ วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร


          สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ ประยงค์ ชื่นเย็น ด้านนาฏศิลป์-โขน ได้แก่ จตุพร รัตนวราหะ ด้านดนตรีไทย ได้แก่ อุทัย แก้วละเอียด และด้านดนตรีไทยสากล-ขับร้อง ได้แก่ มัณฑนา โมรากุล และหนึ่งเดียวใน สาขาวรรณศิลป์ ด้านเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์ ได้แก่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งทั้ง 9 ท่านเป็นบุคคลที่อุทิศตัวสร้างสรรค์ และถ่ายทอดผลงานล้ำค่าไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน สมเป็นปราชญ์ทางศิลปะที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งบรรรยากาศในงานมีศิษยานุศิษย์และเพื่อนศิลปินมาแสดงความยินดีกันถ้วนหน้า


          นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์สำคัญ คืองานนิทรรศการ "ครูแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2552" เพื่อให้สังคมได้สัมผัสถึงคุณค่าของผลงานที่ศิลปินแห่งชาติได้สร้างสรรค์ไว้ ทั้งยังสนับสนุนและส่งเสริมศิลปินแห่งชาติให้มีกำลังใจรังสรรค์ผลงานเป็นแบบอย่างศิลปินรุ่นใหม่


          บนเส้นทางสู่เกียรติยศที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตของศิลปิน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนคนหนึ่งจะทุ่มเทความรักความเอาใจใส่ในงานที่ตัวเองชื่นชอบโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจนเป็นที่ยอมรับของสังคม ทว่า เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ กลายเป็นศิลปินที่ยึดมั่นในวิถีทางการสร้างสรรค์งานแกะสลักเครื่องสดอย่างไม่รู้เบื่อ แม้อายุจะก้าวย่างสู่วัย 83 ปี แถมยังไม่หวงวิชา มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลกที่สนใจศิลปะแขนงนี้ และต้องการเรียนวิชาความรู้จากท่าน


          "แม่ขอทำงานศิลปวัฒนธรรมนี้เพื่อฝากภูมิปัญญาไว้เป็นมรดกแผ่นดิน และทดแทนระคุณแผ่นดินเกิด อันเป็นการช่วยกันสืบสานงานที่มีมาแต่โบราณ ให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน และให้กลายเป็นงานศิลปะที่อยู่คู่ฟ้าเมืองไทยตลอดไป" ครูเพ็ญพรรณเผยความรู้สึก และกล่าวต่อว่า อยากให้คนไทยหันมาสนใจเรียนรู้ศิลปะการแกะสลักสดมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีหลายชาติที่สนใจและเข้ามาเรียน จนนำไปพัฒนาต่อยอดจัดการแข่งขันที่ประเทศของตัวเอง กังวลว่าสักวันหนึ่งคนที่สืบสานมรดกชาติจะไม่ใช่คนไทย แต่กลายเป็นคนต่างชาติ และเขาจะนำเอาไปเป็นศิลปะของชาติตัวเอง


          สำหรับชีวิตและผลงานที่ทำให้ครูเพ็ญพรรณขึ้นทำเนียบศิลปินแห่งชาติ ทางคณะกรรมการได้ประกาศเกียรติคุณไว้ว่าท่านเป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะการแกะสลักเครื่องสด ทั้งผัก ผลไม้ และงานใบตอง ดอกไม้สด โดยนำการสลัก เสลา ฉลุ มาใช้ประกอบตกแต่งกับการแกะสลัก และได้พัฒนารูปแบบ ลวดลาย เนื้อหา รวมทั้งนำเสนอให้กว้างขวางสู่สายตาชาวโลก อีกทั้งได้เผยแพร่ผลงานอย่างต่อเนื่อง อบรมถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ด้วยการสาธิต เขียนตำราวิชาการ นอกจากนี้ยังนำงานแกะสลักเครื่องสดมาตกแต่งประกอบอาหารได้สวยงามน่ารับประทาน และประยุกต์ใช้ในงานพิธีต่างๆ อย่างสวยงาม ก่อนหน้านี้ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมและผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ


          ศิลปินอีกท่านที่สร้างผลงานจิตรกรรมมากคุณค่าฝากไว้ให้กับสังคมไทยมากมาย จนได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติปี 2552 คือ ศ.ปรีชา เถาทอง คณะกรรมการคัดเลือกเล็งเห็นว่าเป็นจิตรกรที่มีแนวคิดทันสมัย ที่มีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดดุลยภาพ ระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาศิลปะให้เป็นแนวทางสร้างศิลปกรรมไทยร่วมสมัยอย่างมีเอกลักษณ์ ได้ค้นพบทฤษฎีแสงและเงาที่ใช้เป็นสื่อสร้างสรรค์ ผลงานมีเอกลักษณ์ ต่อมาใช้วัสดุที่มีความแวววาวเพื่อสื่อความคิดของความเป็นไทย โดยใช้เทคนิคจิตรกรรมแบบไทยประเพณีผสมผสานกับศิลปะตะวันตก มีวิธีการแสดงออกที่สะท้อนถึงสาระทางพุทธปรัชญา เพื่อชี้นำสังคมและแสดงแนวคิดถึงความเป็นไทย จนเป็นที่ประจักษ์ของวงการศิลปะและได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม


          "การเป็นศิลปินแห่งชาติเป็นจุดหนึ่งที่ผมตั้งเป้าหมายไว้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต เพราะนอกเหนือจากการเป็นศิลปินถ่ายทอดความคิดผ่านงานศิลปะแล้ว ผมยังทำงานด้านอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองมีพันธกิจเชื่อมโยงไปสู่การอนุรักษ์ศิลปะไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน แต่ถามว่าวันนี้รู้สึกอย่างไร ก็ต้องตอบว่ารางวัลที่ได้เป็นความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจชั้นดี ที่ทำให้ผมพัฒนางานศิลปะไทยให้ก้าวหน้าต่อไป ตราบเท่าที่ความสามารถและสติปัญญาที่มีอยู่จะทำได้" ศ.ปรีชาให้คำมั่นสัญญา


          ชีวิตและผลงานของครูศิลปินแห่งชาติปีนี้ที่นำเสนออย่างกว้างขวาง ทำให้ศิลปินตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้กลับมาคิดที่จะต่อสู้ พัฒนาตัวเอง ทำงานศิลปะเพื่อตัวเองและสังคม และหลังจากนี้ใครสนใจประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติปี 2552 สามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

 

 

www.culture.go.th. อีกด้วย.
          ใต้ภาพ
          1.ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2552 ร่วมงานยกย่องเชิดชูเกียรติในวันศิลปินแห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
          2."ภายใน-ภายนอก" งานจิตรกรรมไทยประเพณีชิ้นล่าสุดของปรีชา เถาทอง
          3.จากฟักทองแข็งกลายเป็นปลาในวรรณคดีสุดอ่อนช้อย ฝีมือการแกะกะสลักที่ครูเพ็ญพรรณถ่ายทอดให้ลูกศิษย์มายาวนาน
          4.งานเขียนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ
          5.ตัวอย่างงานออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของศิลปินแห่งชาติ องอาจ สาตรพันธุ์
          6.บทเพลงและรางวัลมากมายของครูประยงค์ ชื่นเย็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=16585&Key=news11

 

หมายเลขบันทึก: 341222เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2010 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ว่ากันว่า...

กว่าจะได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ

ก็เกือบจะไม่ได้เห็นภาพตัวเองแล้ว...

แต่ก็ยังดีนะคะ..ที่ยังมีการยกย่อง เชิดชู ครูแห่งแผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท