ครูมีความสุข-วิชาชีพก้าวหน้า ก้าวย่างปีที่ 66 ของ "สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา"


"ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่องและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา"

ครูมีความสุข-วิชาชีพก้าวหน้า ก้าวย่างปีที่ 66 ของ "สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา"

          "หากนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2488 ที่ได้มีการตราพ.ร.บ.ครูขึ้นมาและกำหนดให้มี "คุรุสภา" ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลครูเช่น ควบคุมจรรยาและวินัยของครู ส่งเสริมความรู้และสวัสดิการแก่ครูมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 65 ปี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไดทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องสมกับเจตนารมณ์แห่งการเป็นองค์กรวิชาชีพครู เพื่อให้วิชาชีพครูมีความเข้มแข็งทั้งคุณภาพและจรรยาบรรณสมกับเป็นวิชาชีพชั้นสูงและเป็นที่ยอมรับของสังคม" นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภาบอกถึงบทบาทคองคุรุสภาในช่วง 65 ปี

          นายองค์กร อมรสิรินันท์ แจกแจงถึงผลงานของคุรุสภาว่า คุรุสภามีหน้าที่ในการ "ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่องและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา" โดยเมื่อปีที่แล้วได้มีการมอบรางวัลและประกาศเกียรติครูในรางวัลต่าง ๆ ได้แก่ ประกาศเกียรติคุณครูอาวุโส 3,413 คนและนำครูอาวุโส 2,046 คนเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ครู 24 คนเป็นเงินคนละ 20,000 บาท เป็นเงิน 480,000 บาท รางวัลครูและบุคลากรทางการศึกษาดีเด่นของคุรุสภา 9 รางวัลซึ่งได้รับเข็มคุรุสภาสดุดี โล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลคนละ 5 หมื่นบาท และมีครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับรางวัลชมเชย 18 คน โดยเป็นปีแรกที่ได้เงินรางวัลคนละ 10,000 บาท ซึ่งได้เงินสนับสนุนจากภาคเอกชน
 

         นอกจากนี้ ยังได้ให้รางวัลคุรุสดุดีให้ครูผู้ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 10 ปี และปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณ 9 ข้อ รวมทั้งสิ้น 517 คน โดยมอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมปีที่แล้ว เนื่องในวันครูโลก รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น 50 คน ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติจารักอักษรย่อพระนามาภิไธย สธ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและโล่เกียรติยศ และรางวัลครูดีเด่นใน 8 กลุ่มสาระ เช่น ครูปฐมวัย ครูสอนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ รวมทั้งสิ้น 1,769 คน
  

        เช่นเดียวกับการ "กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา" คุรุสภาได้ให้การรับรองหลักสูตรครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ระดับปริญญาตรีของสถาบันอุดมศึกษา 100 แห่ง ทั้งรัฐและเอกชนแบ่งเป็น หลักสูตรครู 5 ปี 318 หลักสูตร หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) 241 หลักสูตร และหลักสูตร ป.บัณฑิตบริหารศึกษา 77 หลักสูตร อีกทั้งได้ให้การรับรองความรู้ผู้มีวุฒิการศึกาอื่นเพื่อให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยการเทียบโอน 22,104 คน และการทดสอบความรู้ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 6 ครั้ง มีผู้เข้าทดสอบ 41,310 คนและชาวต่างชาติเข้าทดสอบ 885 คน และเห็นชอบหลักสูตรอบรมฝึกครูตามมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภาของ 14 สถาบันด้วย
  

        อีกทั้งยัง "ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ให้แก่ครู 810,488 ราย ผู้บริหารสถานศึกษา 6,358 ราย รวมทั้งสิ้น 895,873 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้วและขอต่อใบอนุญาตฯครู 452,994 ราย ผู้บริหารสถานศึกษา 30,828 ราย ผู้บริหารการศึกษา 1,663 ราย ศึกษานิเทศก์ 2,817 ราย รวมทั้งหมด 488,302 ราย
  

        ขณะเดียวกันได้ "ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา" โดยคุรุสภาได้จัดงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาครูให้แก่ชมรม สมาคมวิชาชีพครู 717 หน่วยงานให้หน่วยงานและ 2-3 หมื่นบาทใช้งบประมาณทั้งสิ้นเกือบ 10 ล้านบาท รวมทั้งได้พัฒนาครูสู่ระดับสากล ซึ่งในปี 2551 คุรุสภาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาครูอาเซียนครั้งที่ 24 ที่จังหวัดอุดรธานีและปีที่แล้วส่งผู้แทนไปร่วมประชุมสภาครูอาเซียนครั้งที่ 25 ที่เวียดนาม
   

       เลขาธิการคุรุสภาบอกถึงก้าวต่อไปในปีที่ 66 ของคุรุสภาและสำนักเลขาะการคุรุสภาว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารคุรุสภา ซึ่งท่านต้องการให้คุรุสภาเป้นแกนนำในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษารอบสองใน "การพัฒนาครูและสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู" ซึ่งคุรุสภาจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขับเคลื่อนในเรื่องนี้
   

       "ต่อไปการออกใบอนุญษตให้แก่ครูและลุคลากรทางการศึกษาจะเข้มข้นขึ้น การต่อใบอนุญาตฯจะมีเงื่อนไขต้องประเมินการพัฒนาตนเองก่อนโดยมีตัวชี้วัดชัดเจนเช่น จำนวนกิจกรรม การอบรมเพื่อพัฒนาตนเอง แต่เกณฑ์ประเมินจะเป็นไปอย่างยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพชีวิตของครูแต่ละพื้นที่ และจะร่วมกับ สกสค.แถลงยุทธศาสตร์ในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษารอบสองในวันที่ 31 มีนาคมนี้" นายองค์กรบอกถึงนโยบาย
 

         พร้อมกันนี้ รมว.ศธ.ยังเห็นด้วยกับการที่คุรุสภาจะตัดตั้ง "คุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษา" ขึ้น 185 หน่วยเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐาน จรรยาบรรณ ออกใบอนุญาตฯ สนับสนุนการพัฒนาครูและยกย่อง เชิดชูครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งดูแลชมรม สมาคมวิชาชีพครูที่มีอยู่ 1,000 แห่งซึ่งกระจายอยู่ในแต่ละเขตพื้นที่ จะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว เช่น การขอต่อใบอนุญาตฯ ครูไม่ต้องเสียเวลา ค่าเดินทางมาที่คุรุสภา ซึ่งคุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่ง จะมีคณะกรรมการ 9-13 คนที่เป็นผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ มาเข้าร่วม เช่น ผู้แทนครูระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา โรงเรียนเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสรรหาและแต่งตั้งให้เสร็จและเริ่มทำงานในเดือนตุลาคมนี้
  

        นอกจากนี้ จะจัดตั้ง "สถาบันเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี" ทำหน้าที่อบรมให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ครูและบุคลกรทางการศึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรและสรรหาผู้อำนวยการสถาบันคาดว่าจะเริ่มจัดอบรมในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (เอสพี 2) 579 ล้านบาทใน 2 โครงการได้แก่ โครงการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิชาชีพทางการศึกษามีวุฒิตรงตามมาตรฐานวิชาชีพ 525 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิชาชีพประพฤติปฏิบัติตนตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ 54 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้เริ่มดำเนินการแล้ว รวมทั้งปีนี้ได้เตรียมงบประมาณไว้กว่า 7 ล้านบาท เพ่อจัดสรรให้แก่ชมรมสมาคมวิชาชีพครู 300 หน่วยงานให้หน่วยงานละ 2-3 หมื่นบาทนำไปใช้พัฒนาครู


          "ก้าวต่อไปคุรุสภาจะต้องเป็นองค์กรวิชาชีพที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น มีความเป็นกลาง ไม่ถูกการเมืองแทรกแซง ครูจะได้รับการพัฒนาคุณภาพมากขึ้น ทำงานอย่างมีความสุขวิชาชีพก้าวหน้า มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีขึ้นและได้รับยกย่อง เชิดชูจากสังคมมากขึ้น ซึ่งคุรุสภาไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น สพฐ.สกสค.สกศ.จึงสำเร็จได้ เลขาธิการคุรุสภากล่าวทิ้งท้าย"
   

       วันสถาปนาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา


          สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินงานของคุรุสภา ประสานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ที่คุรุสภามอบหมาย บทบาทใหม่ของคุรุสภา ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มีเป้าหมายที่สำคัญคือการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาให้สูงขึ้น สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ทำหน้าที่เคียงข้าง ผู้ประกอบวิชาชีพครูมายาวนาน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ตามบทบาทใหม่ เป็นศูนย์กลางการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาของไทยให้สู่ความเป็นเลิศและความเป็นสากล
     

     คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ได้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาขึ้นเป็นครั้งแรกในกระทรวงสึกษาธิการ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2488 ข้าราชการประจำของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับแต่งตั้งให้มารักาษการตำแหน่งต่าง ๆ ชุดแรก มีจำนวน 9 ท่าน มีพระยาจินดารักษ์ (อธิบดีกรมพลศึกษา) เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2488 คุรุสภาจึงกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการสถาปนาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

 

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=16571&Key=news11

หมายเลขบันทึก: 341217เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2010 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูมีความสุข-วิชาชีพก้าวหน้า

พี่ก็เห็นด้วยนะ...แต่อยากให้ทัดเทียมกัน

ในทุกสาขาและให้มีมาตรฐานเดียวกัน

จะยากเกินไปไหม......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท