Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำนำหนังสือคู่มือการจดทะเบียนการเกิดของ อ.ด๋าวและอ.วีนัส : เมื่อเอ็นจีโอและจีโอฝันที่จะพัฒนา “สูตรสำเร็จ” เพื่อจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างยั่งยืนให้แก่เด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทย


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ เขียนเสร็จเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓

คนเขียนหนังสือคู่มือเป็นใครกัน ?

ผู้เขียนคำนำมีความดีใจอย่างเหลือล้นเมื่อทราบว่า อ.ด๋าว-ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล มาจับมือกับ อ.วีนัส สีสุข เพื่อเขียนคู่มือการจดทะเบียนการเกิดด้วยกัน ทั้งนี้ เพราะการจับมือของคนทั้งสอง ก็คือ การจับมือระหว่างคนทำงานด้านวิชาการที่มีภารกิจที่ตรงกันข้าม  คนหนึ่งเป็นเอ็นจีโอ แต่อีกคนเป็นจีโอ ซึ่งโดยปกติ อาจจะมีขั้นตอนการทำงานที่ประจันหน้ากันด้วยซ้ำไป

เราคงเข้าใจได้ดีว่า งานเอ็นจีโอ หรือ Non – Governmental Organization นั้นเป็นงานของคนที่คิดนอกกรอบ และความที่ไม่อยู่ในระบบราชการ ประชาชนที่เดือดร้อนก็จะไปใช้เอ็นจีโอเป็นตัวแทนในการต่อสู้กับภาคราชการ จึงเป็นสาเหตุที่เราเห็นการเผชิญหน้าระหว่างภาคประชาชนและภาคราชการ และหลายครั้งที่ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งทางความคิดจนลืมไปว่า เป้าหมายของทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องเดียวกัน ก็คือ ขจัดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผู้เขียนพบว่า ในหลายสถานการณ์ที่ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ตระหนักในเป้าหมายเดียวกัน ความขัดแย้งก็จะเปลี่ยนมาเป็นความร่วมมือกันที่จะสร้างสรรค์วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน

แต่ด้วยความนอกกรอบของคนในภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง เราพบว่า ปัญหาหลายอย่างที่แก้ไขยาก หรือไม่ได้เลย ก็คือ (๑) การไม่คิดจากเป้าหมายของเรื่อง ให้ความสำคัญแก่วิธีการที่เคยใช้ โดยไม่สนใจว่า วิธีการที่เคยใช้นั้นตกยุคหรือไม่เหมาะสมในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ (๒) การยึดในอัตวิสัย (Subjectivism) ของความรู้ มากกว่าในภาวะวิสัย (Objectivism) ของความรู้ มักเป็นอุปสรรคในการสร้างแนวคิดและวิธีการจัดการปัญหาที่ยั่งยืน และ (๓) ความนอกกรอบและอัตวิสัยนิยมจึงนำไปสู่ “ความเป็นวีรชนเอกชน” จึงไม่บูชาการทำงานในลักษณะทีม และความจำเป็นของระบบการทำงานที่มีพื้นฐานจากองค์ความรู้

ความเป็นจีโอ หรือ Governmental Organization ของคนในภาคราชการทำให้คนเหล่านี้ติดกรอบมาก ทั้งที่เป็นกรอบจากกฎหมายและนโยบาย อาการที่น่าตกใจของคนในภาคราชการไทยจำนวนไม่น้อย ก็คือ (๑) การเห็นว่า กรอบทางนโยบายสูงกว่ากรอบทางกฎหมาย (๒) การที่ไม่รู้จักและไม่เอาใส่ในความมีอยู่และเป็นอยู่ของกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย และ (๓) การนิ่งเฉยในกรอบทางกฎหมายและนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมจนสร้างความเดือดร้อนของประชาชน

มีข้อสังเกตอีกว่า คนที่เป็นเอ็นจีโอและจีโอก็จะไม่ชื่นชอบคนที่เป็นนักวิชาการ ทั้งนี้ เพราะนักวิชาการมักมีหลายลักษณะที่คนสองกลุ่มแรกไม่ชอบ กล่าวคือ (๑) นักวิชาการมักบูชาโจทย์ในข้อสอบ หรือโจทย์วิจัย ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะถามหาเป้าหมายการทำงานก่อน ส่วนวิธีการทำงานนั้น จะเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดยเป้าหมายการทำงาน นักวิชาการจึงมักเรียกร้องที่จะเตรียมสอนหรือวิจัยก่อนที่จะลงมือทำงาน (๒) ความที่เป็นคนค้นมาก จึงอ่านมาก และคิดมาก นักวิชาการจึงสัมผัสกับความรู้และความคิดเห็นที่หลากหลาย ดังนั้น คนในภาควิชาการส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีลักษณะเป็นอัตวิสัย ความเป็นภาวะวิสัยของนักวิชาการอาจสิ้นสุดด้วยความหลงตัวเองในที่สุด เพราะสังคมชื่นชมในความเป็นเจ้าของทฤษฎี แต่นักวิชาการที่หลงตัวเองก็จะถูกโค่นโดยนักวิชาการคนต่อมาที่ค้นพบความจริง เรื่องของวิชาการเป็นเรื่องของภาวะวิสัย มิใช่อัตวิสัย (๓) นักวิชาการที่แท้จริงย่อมมีลักษณะเป็น “ครูหรืออาจารย์” (แล้วแต่จะเรียก) กล่าวคือ มีทีมงานเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ดังนั้น นักวิชาการหนึ่งคนจึงมีพลังแอบแฝงอยู่ไม่น้อย เมื่อนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวในสิ่งที่ถูกต้องจนพิสูจน์ได้ เขาหรือเธอจึงยิ่งใหญ่ และเอาชนะคนที่มีอำนาจแต่ใช้แนวคิดและวิธีการที่ผิดจนพิสูจน์ได้ นักวิชาการที่แท้จริงจึงไม่อาจมีลักษณะเป็น “วีรชนเอกชน” (๔) ด้วยความเชื่อในองค์ความรู้ที่ค้นพบและจัดระบบขึ้นเพื่อสอนออกไป นักวิชาการจึงมักมีลักษณะของ “ขบถ” ต่อกรอบของบ้านเมือง แม้กรอบนั้นจะเป็นกฎหมายและนโยบาย นักวิชาการที่แท้จริงก็จะออกมาโจมตีกรอบนั้นอย่างไม่กลัวความตาย ดังเช่นกาลิเลโอที่ยอมถูกเผาจนตาย เพื่อแลกกับการยืนยันว่า โลกกลม อันเป็นการขัดต่อคำสอนของศาสนจักรที่สอนว่า โลกแบน (๕) เรื่องของความจริงนั้น จะไม่มีลักษณะชาตินิยม (Nationalism) หรือเฉพาะนิยม (Particularism) อยู่แล้ว ดังนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ที่คิดและค้นหาความรู้จากเรื่องจริงย่อมจะมีลักษณะเป็นพวกระหว่างประเทศนิยม (Internationalism) หรือทั่วไปนิยม (Generalism) จึงไม่สนับสนุนการใช้กรอบกฎหมายและนโยบายที่มีลักษณะชาตินิยมในการจัดการเรื่องที่เป็นสากลนิยม (Universalism) เพราะเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับหลายประเทศในประชาคมโลก หากรัฐจะใช้แนวคิดชาตินิยม ผลกระทบที่ตีกลับมาในความเป็นจริง ก็อาจไม่มีประโยชน์ต่อชาติเสมอไป หากแต่เราปิดตาต่อความจริง เราจึงไม่รู้ได้ว่า กฎหมายและนโยบายที่ใช้อยู่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน และนำมาซึ่งความไม่มั่นคงแห่งมนุษย์ที่ประกอบกันเป็น “ประชากรของรัฐ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นรัฐ และผลท้ายที่สุด ก็คือ ความไม่มั่นคงของรัฐ  (๖) การปฏิเสธกรอบของบ้านเมืองที่ขัดต่อความต้องการของสังคม ซึ่งก็คือ กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) จึงเป็นคุณสมบัติของคนในภาควิชาการจำนวนไม่น้อย ขบถในลักษณะนี้ใช้ปากและปากกาเป็นอาวุธในการยึดอำนาจของรัฐ

กลับมาสู่ อ.ด๋าว-ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ที่เริ่มด้วยประกอบอาชีพในทิศทางของเอ็นจีโอ แต่ก็ไม่ทิ้งงานวิชาการ และ อ.วีนัส สีสุขที่เป็นข้าราชการกรมการปกครองมาแต่หนุ่ม แต่ก็มีความรักในงานวิชาการ จนมีผลงานวิชาการอย่างชัดเจน ผู้เขียนเห็นทั้งสองคนพยายามที่จะนำองค์ความรู้ด้านทฤษฎีเข้ามาปรับแนวคิดแบบปฏิบัตินิยมที่ชีวิตของคนทั้งสองจมอยู่ และสัมพันธภาพที่โดดเด่นระหว่างหนึ่งเอนจีโอและหนึ่งจีโออย่างมนุษย์สองคนนี้ก็คือ การเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ผลของสัมพันธภาพนี้ ก็คือ คนทั้งสองฝั่งความรับผิดชอบต่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราเห็นว่า การออกจดหมายไปต่อว่ากรมการปกครองของอ.ด๋าว เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำในหลายครั้ง แต่ก็เจือไปด้วยความรู้สึกเกรงใจ ในขณะเดียวกัน อ.วีนัสเริ่มบ่นว่า คนเขาหาว่าผมเป็น ข้าราชการเอนจีโอ ผู้เขียนได้ยินคำว่า “ประสานงานเชิงราบ” บ่อยครั้งจากคนคู่นี้ หลายเรื่องที่ควรจะฟ้องกรมการปกครองให้วุ่นวายไปกันหลายปี ก็จบด้วยการประสานงานเชิงราบระหว่างฝ่ายวิชาการของเอนจีโออย่าง อ.ด๋าว และฝ่ายวิชาการของจีโอ อย่าง อ.วีนัส

กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการประชากรไทยโดยกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายในยุคหลังนี้จึงเป็นไปอย่างงดงาม เราเห็นฝ่ายที่ต้องเถียงทะเลาะกัน เอาเรื่องจริงของชาวบ้านมาวางตรงกลางและช่วยกันคิดหาทางออก ความสำเร็จของการทำงานเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่ออัตวิสัยถูกโยนทิ้งออกไป และเอาองค์ความรู้แบบภาวะวิสัยมาเป็นเครื่องนำทางของการจัดการ

เป้าหมายของความร่วมมือของเอนจีโอและจีโอสองท่านนี้คืออะไรกัน ??

การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการจดทะเบียนการเกิดที่ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ มิใช่เพียงผลลัพธ์ของความร่วมมือระหว่าง อ.ด๋าว และ อ.วีนัส หลายปีแล้วที่บุคคลทั้งสองคิดและค้นร่วมกัน  จำได้แต่คดีใหญ่ๆ ที่ใช้สอนหนังสืออยู่เป็นประจำ ดังกรณีของครอบครัวอภิสกุลไพศาลที่ค้างคากันมา ๑๑ ปี ก็จบลงด้วยความพยายามของบุคคลทั้งสองนี้เอง

อ.ด๋าว และ อ.วีนัสเริ่มคิดเรื่องการจดทะเบียนการเกิดมานานพอสมควร แต่วินาทีที่จริงจัง ก็คงเป็นช่วงเวลาที่คุณอมาลี แมคคอยมาผลักดันให้ห้องทดลองทางสังคมของผู้เขียนสนใจเรื่องนี้ คุณอมาลีกล่าวถูกว่า การจดทะเบียนการเกิดที่มีประสิทธิภาพจะเป็นเหมือน “วัคซีนป้องกันโรคไร้รัฐ”

อีกคนที่ต้องนึกถึงอย่างมากในยุคที่เริ่มต้นคิดเรื่องการจดทะเบียนการเกิดในแวดวงของผู้เขียน ก็คือ  คุณไกรราศ แก้วดี ข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของกรมการปกครอง ในวันนั้น ท่านทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎรฯ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้ประชาคมสังคมได้มีโอกาสทำงานความคิดด้วยกันเพื่อจัดการประชากรไทย ท่านมิได้ติดกรอบกฎหมายและนโยบายที่ไม่สอดคล้องต่อความถูกต้องตามความเป็นจริง และท่านเอามนุษย์นิยมเป็นเป้าหมายของการทำงาน

ด้วยความชัดเจนทางวิชาการของคุณอมาลีและความเข้าใจในระหว่างประเทศนิยมของคุณไกรราศ บรรยากาศทางวิชาการที่เอ็นจีโออย่าง อ.ด๋าว และจีโออย่าง อ.วีนัส ที่จะทำงานวิชาการด้วยกันจึงเป็นไปได้ บรรยากาศความคิดที่สร้างสรรค์นี้น่าจะอยู่ในราว พ.ศ.๒๕๔๗ – ๒๕๔๘ เป็นต้นมา ต้นไม้แห่งปัญญาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของปัญญาชนที่เป็นเอนจีโอและจีโอจึงเติบโตขึ้นผ่านกาลเวลาและความผันแปรทางการเมืองที่ส่งผลดีบ้างผลร้ายบ้างต่องานจัดการปัญหาคนไร้สถานะทางกฎหมายในประเทศไทย

ไม่ว่าภาคการเมืองจะสนใจคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทยหรือไม่ แต่ต้นไม้แห่งภูมิปัญญาด้านการจัดการประชากรต้นนี้มีรากแก้วที่แข็งแรง และออกดอกออกผลได้ในทุกสถานการณ์ของประเทศไทย

องค์ความรู้ด้านการจัดการประชากรที่เติบโตอย่างงดงามในช่วงเวลาดังกล่าวมีทั้งที่เป็นองค์ความรู้เชิงทฤษฎีที่เป็นนามธรรม และเป็นองค์ความรู้เชิงปฏิบัติ กล่าวคือ เป็นเรื่องของวิชาชีพและกินได้จริง

อ.ด๋าว และ อ.วีนัส เลือกที่จะสร้าง “สูตรสำเร็จ” ในการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิดสำหรับเด็กหรืออดีตเด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทย อันหมายถึง การจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยั่งยืนที่สุด

เข้าใจได้เลยว่า เมื่อเป็นงานเขียนเพื่อบอกกล่าวสูตรสำเร็จ งานเขียนเช่นว่า จึงต้องทำออกมาเป็นลักษณะของคู่มือ

แล้วคู่มือนี้จะสอนให้ทำอะไร ? อย่างไร ?

อ.ด๋าว และ อ.วีนัส มุ่งมั่นที่จะนำเอาองค์ความรู้เรื่องจดทะเบียนการเกิด “ที่คิดค้นจัดระบบมานานปี” มาสอนเอ็นจีโอและจีโออีกหลายคนที่ทำงานกับคนด้อยโอกาสทางกฎหมายที่มีความเสี่ยงที่จะไร้รัฐ พวกเขาตั้งใจจะจะสร้างคู่มือที่ใช้ได้จริงในประเทศไทย

ก็เมื่อถูกร้องขอให้เขียนคำนำหนังสือคู่มือ ก็เลยต้องทำตัวเป็นคนอ่านหนังสือคนแรก ผู้เขียนคำนำอ่านเลยเสียสามรอบ

อย่างที่เล่ามาตั้งแต่ต้นว่า แม้ก่อนอ่านก็รู้สึกดีกับคนเขียนแล้ว และเมื่ออ่านรอบสอง ก็สามารถจินตนาการได้ถึงพลังความรู้ที่จะเกิดแก่คนอ่านหนังสือคู่มือเล่มนี้อย่างจริงจัง

  มีข้อสังเกตอยู่หลายประการเพื่อแลกเปลี่ยนกับท่านอาจารย์ทั้งสอง และมวลมิตรที่มาบริโภคความรู้จากหนังสือคู่มือนี้ ดังนี้

ในประการแรก  ผู้เขียนขอชื่นชมในความชัดเจนของเป้าหมายการทำงานที่หนังสือคู่มือนี้ ที่ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะกล่าวถึงองค์ความรู้ในวิธีการจดทะเบียนการเกิดสำหรับเด็กใน ๖ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) เด็กที่เกิดในสถานพยาบาล (๒) เด็กที่เกิดนอกสถานพยาบาล (๓) เด็กด้อยโอกาส หรือเด็กไร้รากเหง้า เพราะพลัดพรากจากบุพการี (๔) เด็กที่เกิดในพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับเด็กหนีภัยความตาย (๕)  เด็กที่เกิดในต่างประเทศ  และ (๖) เด็กที่มาจดทะเบียนการเกิดหลังจากมีชื่อในทะเบียนราษฎร จะเห็นว่า เด็กใน ๒ สถานการณ์แรกเป็นเด็กในสถานการณ์ปกติ ในขณะที่เด็กใน ๔ สถานการณ์ต่อมาเป็นเด็กในสถานการณ์พิเศษ ผู้เขียนคำนำก็เห็นด้วยว่า การจำแนกเด็กดังกล่าวก็น่าจะครอบคลุม “เด็กหรืออดีตเด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทย” ที่รัฐไทยน่าจะเป็นผู้จดทะเบียนการเกิดให้ได้ เราคงต้องเข้าใจหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐซึ่งเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศให้ดี โดยเคารพหลักกฎหมายนี้ รัฐไทยคงไม่อาจไปจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็กที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวไทย ต่อไปเมื่อหนังสือคู่มือนี้เผยแพร่ออกไป ก็คงมีความนิยมใน “ทฤษฎีหกเด็ก” กันมากขึ้น

 ในประการที่สอง ผู้เขียนสังเกตได้ว่า หนังสือคู่มือที่อ่านจบแล้วสามรอบนี้ เป็นคู่มือในความหมายที่แท้จริง มิใช่ตำรา มิใช่คำอธิบายกฎหมาย  คำว่า “คู่มือ” ย่อมหมายความในตัวของมันเองว่า องค์ความรู้ที่จะพบได้ในคู่มือจะต้องเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ เป็นเรื่องของความรู้ในวิธีปฏิบัติ มิใช่เรื่องของความรู้เพื่อเข้าใจโลกและชีวิตเท่านั้น แล้วคู่มือฉบับนี้จะทำให้ผู้อ่านทำอะไรเป็นได้บ้างล่ะ ?

จุดที่เด่นที่สุดของหนังสือคู่มือเล่มนี้ มีอยู่ ๒ จุด อันมาจากจุดเด่นแห่งองค์ความรู้ที่ผู้เขียนทั้งสองคนเชี่ยวชาญ  กล่าวคือ (๑) การจำแนกวิธีการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทยออกเป็น ๖ วิธีการสำหรับเด็กใน ๖ สถานการณ์  และ (๒) การจำแนกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมหากจะต้องมีการฟ้องหรือร้องคดีต่อศาลปกครอง

สำหรับ อ.วีนัส สีสุข จีโอที่ดูแลรักษาการกฎหมายการทะเบียนราษฎรมายาวนานมากจนรู้จักทุกซอกทุกมุมของกฎหมายนี้ เปรียบไปก็เหมือน “พ่อครัว” ที่เชี่ยวชาญงานครัวเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อจะต้องสร้าง “สูตรสำเร็จ” ในการจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็กทุกคนที่พบตัวบนแผ่นดินไทย จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้  เราพบว่า หนังสือคู่มือการจดทะเบียนการเกิดเล่มนี้เสนอให้จำแนกเด็กที่เราพบในประเทศไทยออกเป็น ๖ ประเภท เราหวังว่า หกสูตรสำเร็จนี้เองที่จะสามารถนำไปสู่การจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็กทุกคนที่เราพบตัวในประเทศไทย Universal Birth Registration จะเป็นไปได้จริงหรือในประเทศไทย ? คำถามนี้ท้าทายระบบกฎหมายทะเบียนราษฎรไทยยิ่งนัก

และสำหรับ อ.ด๋าว-ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ที่ดูแลประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยมายาวนานเช่นกัน ครั้งนี้ เป็นงานที่ยากกว่าการลงมือด้วยตนเองเพื่อเขียนจดหมายอุทธรณ์หรือจดหมายแจ้งเหตุหรือคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาล กล่าวคือ เป็นงานถอดบทเรียนเกี่ยวกับการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อบังคับการตามกฎหมายทะเบียนราษฎรว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด ขอให้สังเกตว่า คำว่า “กระบวนการยุติธรรม” สำหรับหนังสือคู่มือนี้ มิได้มีความหมายเพียงแค่กระบวนการยุติธรรมในศาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกระบวนการยุติธรรมนอกศาลอีกด้วย ผู้เขียนเปรียบ อ.ด๋าวเป็นช่างประปาซ่อมท่อน้ำในครัว ถ้าท่อน้ำไม่รั่ว ก็คงไม่ต้องซ่อม และหากมีการบำรุงรักษาท่อน้ำอย่างดี ก็คงไม่รั่วให้ต้องมาซ่อมกัน เรื่องของกระบวนการยุติธรรมจึงมิใช่เรื่องที่ต้องพูดกันเฉพาะในเวลาที่มีข้อพิพาท เราทุกฝ่ายที่อาจจะต้องพิพาทกันจึงควรจะมาคุยกันก่อนที่จะมีข้อพิพาท ก็เป็นอีกเรื่องที่ท้าทายคณะผู้เขียนหนังสือคู่มือฉบับนี้ว่า จะสามารถถ่ายทอดบทเรียนของในการป้องกันหรือจัดการข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดทะเบียนการเกิดได้สำเร็จหรือไม่  ?

แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็มีความเชื่อเหมือนกัน อ.วีนัส และ อ.ด๋าวล่ะว่า ด้วยระบบกฎหมายทะเบียนราษฎรที่เป็นอยู่ ก็คงจัดการให้มีการจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็กหรืออดีตเด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทยได้ และหากมีความไม่ชัดเจนในหลักกฎหมายทะเบียนราษฎรว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิดหรือมีนายทะเบียนที่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางปกครองและกระบวนการยุติธรรมนอกศาลที่มีอยู่ ก็คงจัดการคดีที่อาจมีข้อพิพาทหรือไม่มีข้อพิพาทอันเกี่ยวกับการจดทะเบียนการเกิดได้

สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหลังจากการอ่านหนังสือคู่มือนี้แล้วคืออะไร  ?

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็คิดว่า ฝันของผู้เขียนหนังสือคู่มือฉบับนี้ก็อาจสลายลงง่ายๆ แม้เขาทั้งสองจะทุ่มเททั้งแรงใจและแรงกายอย่างมากมายเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด หากองค์ความรู้ในการทำครัวหรือการซ่อมท่อประปาดังกล่าวมาไม่ถูกนำไปใช้จริงต่อเด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทย

ผู้เขียนตั้งคำถาม อ.ด๋าวว่า แล้วมีใครอาสามาทดลองสูตรสำเร็จตามหนังสือคู่มือแล้วหรือ ? คำถามนี้เล่นเอา อ.ด๋าว นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะเอ่ยชื่อของใครคนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นชื่อเดียวกันกับที่ผู้เขียนมีในใจ

ชื่อที่เราคิดตรงกันนั้น ก็คือ “เพ้ง ชาติชาย อมรเลิศวัฒนา”

เพ้ง เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานอยู่ที่ระนองเพื่อคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่น ซึ่งมีพื้นที่ทำงานในจังหวัดระนองและภูเก็ต

ผู้เขียนคำนำอาจเป็นคนแรกที่เพ้งเข้ามาชวนคุยเรื่องการจดทะเบียนการเกิด  และต่อมาเพ้งก็เข้ามาเป็นสมาชิกห้องทดลองทางสังคมของเรา หลายโอกาสที่เพ้งเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วมาแบ่งปันกับเรา หลายโอกาสที่เพ้งนำองค์ความรู้ที่เราพัฒนาขึ้นมาไปทดสอบในการจัดการปัญหาในพื้นที่ให้

ครั้งนี้ เพ้งก็ยอมรับที่จะนำสูตรสำเร็จในการผลักดันการจดทะเบียนการเกิดที่ อ.ด๋าว และ อ.วีนัส สร้างสรรค์จนสำเร็จแล้วนี้ไปทดลองใช้ต่อในพื้นที่จริง โดยเฉพาะที่ระนอง

จินตนาการในประการแรก ก็คือ การทดสอบอาจนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่ไม่ว่าผลของการทดลองจะเป็นไปในทิศใด ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะถูกบันทึกเป็น “หนังสือคู่มือเล่มที่ ๒ ว่าด้วยแนวคิดและวิธีการจัดการปัญหาเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า”

จินตนาการในประการที่สอง ก็คือ ภายหลังการอบรมสูตรสำเร็จเพื่อจดทะเบียนการเกิดและสูตรสำเร็จเพื่อจัดการความขัดแย้งในเรื่องการจดทะเบียนการเกิดที่จะเกิดขึ้น คงจะมีเอนจีโอและจีโออีกหลายคนที่จะอาสาตามเพ้งเพื่อผลักดันการจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทย ผู้เขียนคำนำเห็นคณิตศาสตร์ทางสังคมปรากฏตัวขึ้นมาทีเดียว อ.ด๋าว + อ.วีนัส + เพ้ง + ฯลฯ

จินตนาการในประการที่สาม ก็คือ ผู้เขียนคำนำรู้สึกสนุกสนานที่ได้อ่านงานของ อ.วีนัส และ อ.ด๋าว เมื่ออ่านจบรอบที่สอง ผู้เขียนจินตนาการว่า หากมีเรื่องจริงของเด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทยสักกรณีหนึ่งในหกสถานการณ์ไม่อาจบรรลุถึงการจดทะเบียนการเกิดโดยรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก กล่าวคือ โดยกฎหมายไทยทั้งหมด อ.วีนัสก็ไม่อาจจัดการได้ หรือโดยกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ อ.ด๋าวก็ไม่อาจจัดการได้ คราวนี้ ทั้งสองอาจารย์ก็ต้องลงมาเล่นบทบาทของนักปฏิรูปกฎหมายกันล่ะ หนังสือคู่มือเล่มต่อไปก็จะต้องว่าด้วย “การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด” กันล่ะ เล่มที่ ๓ ไงล่ะ

---------------------------------------------------------

 

 

หมายเลขบันทึก: 340900เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2010 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ไม่ทราบว่าหนังสือเล่มนี้จะมีการเผยแพร่อย่างไรบ้างคะ จำหน่ายจ่ายแจกอย่างไร เผื่อจะขอรับหรือบอกต่อให้แก่คนที่สนใจต่อไปค่ะ

สุภาภรณ์ อัษฎมงคล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท