Re-check ความรู้


ผมนึกย้อนกลับไปถึงการที่หมอจะให้ความรู้กับคนไข้ในปัจจุบันทั้งในเรื่องอุปกรณ์ก็ดีโดยเฉพาะจากเรื่องยาก็ดี ในทุกวันนี้คุณหมอนำ Knowledge มาจากการปฏิบัติงานหรือว่านำมาจาก "คนขายยา"

จากบันทึกเรื่อง  Research to Patience (R2P) : ตาปลา แผลสด และผ้าก๊อตมหัศจรรย์... ทำให้ผมเกิดความสงสัยในที่มาของความรู้ทั้งตัวในบุคคลและที่นำเสนอออกไปใช้กับสาธารณะชนว่ามาได้อย่างไร...?

วันนี้ผมเกิดเอะใจขึ้นมาในระหว่างนั่งทำแผลให้กับตัวเองในเรื่องของ "ผ้าก๊อต" ที่มีคุณหมอท่านหนึ่งซื้อมาจากร้านขายยาบอกว่าเป็น "ผ้าก๊อตฆ่าเชื้อโรค" ตอนแรกที่ผมรับมา (ยังไม่ได้เห็นของภายใน) ผมก็คิดในใจว่าต้องเป็นอะไรที่ไม่ใช่ผ้าก๊อตธรรมดา หรือไม่ก็หน้าตาแปลก ๆ หน่อย แต่พอผมแกะห่อออกมาดูก็แปลกใจ เอ่...หน้าตา (ข้างใน) มันก็เหมือน ๆ กันนี่หน่า!!! แล้วมันแตกต่างกับของเดิมที่ผมใช้ตรงไหน หรือว่าของผมมีเชื้อโรคเยอะกว่า(ของเดิมที่ผมใช้คือในห่อข้างขวา ที่คุณหมอซื้อมาฝากเป็นซองสีเขียว )

ตอนนั้นผมก็สงสัยว่า ไอ้ที่ว่า "ผ้าก๊อตฆ่าเชื้อโรค" นี้ คุณหมอท่านได้ใช้เหตุผลข้อใดในการตัดสินใจ

เพราะท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านจะไปซื้อ "ผ้าก๊อตมหัศจรรย์" (แบบที่เป็นฟองน้ำ) จากร้านขายยาแต่ร้านขายยาไม่มีก็เลยได้มาแต่ "ผ้าก๊อตฆ่าเชื้อโรค" 

ที่ผมสงสัยก็เพราะว่า ผมนึกย้อนกลับไปถึงการที่หมอจะให้ความรู้กับคนไข้ในปัจจุบันทั้งในเรื่องอุปกรณ์ก็ดีโดยเฉพาะจากเรื่องยาก็ดี ในทุกวันนี้คุณหมอนำ Knowledge มาจากการปฏิบัติงานหรือว่านำมาจาก "คนขายยา"

ปัจจุบันธุรกิจยาหรือวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จัดได้ว่าเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้อย่างมาก มีเพื่อน ๆ ผมหลายท่านที่จบมาจากเภสัชฯ หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์หันเหไปทำงานเป็นเซลล์ขายอุปกรณ์และยาให้กับบริษัทใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมากเพราะรายได้ดี และถ้าหน้าตาดีก็จะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ

จากเรื่องนี้ผมก็นึกย้อนไปได้อีกสองเรื่อง เรื่องแรกก็เรื่องของ Packageing ที่ทำให้น้ำตาลธรรมดา ๆ โลละสิบกว่าบาท กลายเป็นน้ำตาลกิโลละหลายร้อยได้เมื่อบรรจุซองเล็ก ๆ แล้วบอกว่า Sugar coffee

เรื่องที่สอง ผมก็นึกย้อนกลับไปถึงชีวิตอาจารย์สมัยก่อนว่า หลาย ๆ ครั้งที่เราต้องจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เข้ามาใช้เกี่ยวกับการเรียนการสอน ทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งในสำนักงานและในชั้นเรียน หรือบางคณะอย่างเช่นนิเทศน์ศาสตร์ก็จะซื้ออุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ กล้องถ่ายรูปก็ดี อุปกรณ์ตัดต่อภาพก็ดี หลาย ๆ ครั้งผมคุยกับเพื่อนอาจารย์แล้วพบว่าความรู้มาจาก "คนขายของ"

ความรู้แบบนี้ถ้าเป็นอาชีพอื่นวงจรความเสียหายก็จะไม่เท่าไหร่ ก็คืออาจจะซื้อของมาใช้แพงหน่อย หรือบางครั้งก็อาจจะไม่ได้ของที่ดีที่สุด แต่ก็จบลงที่แค่นั้น ไม่มีผลเสียต่อมาก

แต่สำหรับอาชีพอาจารย์ บางครั้งเรานำความรู้ที่เซลล์บอกกับเรา แล้วเราหลงเชื่อไปซื้อของเขามาแล้วนั้น ไปบอกต่อกับนักศึกษา ก็คือ นำไปสอนกับนักศึกษาโดยมิได้มีการกลั่นกรอง หรือบางครั้งได้ฟังมาอย่างไรก็สรุปแล้วสอนนักศึกษาไปอย่างนั้นเลย หรือถ้าหนักกว่านั้นก็สรุปออกมาเป็นเอกสารทางวิชาการได้เลย

ตอนนี้ถ้าผมลองแยกระดับความรู้คร่าว ๆ ก็จะมีอยู่ 5 ระดับ ก็คือ

1. ความรู้ที่ได้ "ฟังมา" ใครพูดอย่างไร เชื่อแล้วก็พูดต่อไปอย่างนั้น

2. "อ่านมา" ไปซื้อหาค้นคว้ามาจากหนังสือก็ดีหรือ Internet ก็ดี

3. ไปสอบถามมา คือ ไปหาข้อมูลจากผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ตรง

4. ทำ R2R ก็คือ "ทดลอง" ทำวิจัยศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากสินค้านั้นในระยะเวลาหนึ่งเพื่อใช้ในการตัดสินใจ

5. ใช้ในชีวิต ซึ่งเป็นชีวิตจริงไม่ใช่การทดลอง

ความรู้ในระดับ 4 กับ 5 จะแตกต่างกัน ดังจะยกตัวอย่างได้ดังนี้

สมมติว่าเป็นอาชีพหมอ ถ้าหมอทำ R2R เรื่องผ้าก๊อต ก็ใช้การสังเกตุดูจากการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน เจอคนไข้ใช้ผ้าก๊อตเมื่อไหร่ก็เก็บข้อมูล เปลี่ยนวิธีการบ้าง แก้ไขทดลองอะไรบ้าง แบบนี้เป็นระดับ 4

แต่ถ้าเป็นระดับ 5 หมอต้องเป็นแผลเอง คือ ต้องได้รับการผ่าตัดเอง แล้วรับรู้อาการเจ็บนั้นเอง ถ้าขาเน่าก็ต้องตัดขาตัวเอง อะไรประมาณนี้ครับ

ความรู้ในระดับ 4 คือ R2R อาจจะต้องใช้ความรู้ 1-3 รวมกันแล้วสรุปได้ออกมาเป็น 4

ความรู้ในระดับ 5 จำเป็นจะต้องใช้ความรู้ในระดับ 1-4 รวมกันสรุปแล้วเสี่ยงด้วย "ชีวิต"

ดังนั้นถ้าย้อนกลับไปถึงความสงสัยแรก ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่าในปัจจุบันความรู้ที่คุณหมอแนะนำคนไข้มาให้ทำโน่น ทำนี่ ท่านเอาความรู้มาจากไหน (ขอถามในฐานะคนป่วยครับ) เพราะสิ่งที่ท่านพูดนั้นหมายถึงชีวิตผม เวลาเจ็บผมก็เจ็บ หมอไม่ได้มาเจ็บกับผมด้วย และถ้าย้อนกลับไปถึงคนขายยาพอเขาได้เงินแล้ว ก็ยิ่งไม่ได้รับความเจ็บปวดร่วมกับคนไข้เลย หรือถ้าคนไข้ตายไปแม้กระทั่งพวงหรีดก็ไม่ได้...

 

คำสำคัญ (Tags): #km#r2r#ผ้าก็อต
หมายเลขบันทึก: 339955เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ยาโดยส่วนใหญ่ ได้ข้อมูลมาจากบริษัทยา หรือ ผู้แทนยา บางชนิดจะมี paper หรืองานวิจัย หรือ ผลวิเคราะห์ แนบมาด้วยค่ะ 

หลายคนมีความรู้สึกสงสัยอย่างที่ท่านถามว่า "รักษาได้จริงเหรอ" ยามีคุณภาพจริงรึเปล่า โดยเฉพาะยาสามสิบบาท

จึงได้เกิดการพัฒนางานจากข้อสังสัยนี้ เก็บตัวอย่างยาที่มีการจ่ายจริงในโรงพยาบาลมาตรวจวิเคราะห์ ก็พอจะบอกได้เพียงเบื้องต้นค่ะ ขอย้ำว่าเบื้องต้นเท่าที่ข้อจำกัดมี แต่ก็ไม่ได้การันตีทั้งหมด

อ่านแล้วทำให้หนูนึกถึง วิธีมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์หรือน้ำยาต่าง ๆที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน การมีวิธีวิเคราะห์มาตรฐาน ข้อดีคือ ตรวจสอบง่าย ง่ายกับมือใหม่ที่จะเรียนรู้ ลดข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ ข้อจำกัดคือ มักจะไม่ค่อยเกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆที่แหวกแนว หรือในบางครั้งผู้ปฏิบัติงานขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ่ง

อืม น่าคิดนะคะว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เราใช้อยู่ จำเป็นหรือไม่จำเป็น หรือว่า มีข้อได้เปรียบและข้อจำกัดตรงไหน เพื่อหาช่องทางในการพัฒนาปรับปรุงต่อไป ขอบพระคุณค่ะ สำหรับประกาย คำถามดี ๆ

เรื่องนี้ไม่ได้โฟกัสลงไปเฉพาะเรื่องของสามสิบบาท หรือเฉพาะในวงการแพทย์ แต่ต้องพูดกันในภาพกว้างของการสื่อสารทางความรู้ในทุก ๆ แขนงของสังคมโดยทั่วไป

ในปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้ที่ควบคุมเกมส์ของความรู้ภายในสังคมนั้นคือ "นักธุรกิจ" หรือบางคนอาจจะบอกว่า ความรู้นั้นอยู่ในมือของนักสื่อสาร หรือ "สื่อสารมวลชน" แต่จุดมุ่งหมายของการทำงานด้านการสื่อสารนั้นก็มุ่งเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจนั้นก็คือ "เงิน" นั่นเอง

ดังนั้นความรู้ในปัจจุบันจึงคือว่าเป็น "ความเชื้อที่ติดเชื้อโรค" คือ เป็นความรู้ที่อิงด้วยผลประโยชน์แทบทั้งสิ้น ผู้ที่สื่อ "สาร" ออกมานั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่ให้เรา "รู้" ในสิ่งที่เขาต้องการ และ "ไม่รู้" ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ

ถ้าเขาต้องการที่จะขายสิ่งใดเขาก็จะให้เรารู้ถึงสิ่งนั้นทั้งคุณประโยชน์หลักและคุณสมบัติประกอบ แต่เขาจะไม่บอกเราทั้งหมด ถ้าสิ่งใดเขาบอกเรา หรือถ้าเรารู้แล้วทำให้สิ่งที่เขากำลังจะเสนอขายกับเรานั้นเกิดความ "ด้อย" หรือคุณภาพตกต่ำลงเขาคงจะไม่อยากให้เรารู้

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น อาหารเสริม หรือวิตามินต่าง ๆ นักการตลาดก็จะพยายามหาช่องทางเล่นอยู่กับวิตามินตัวแปลก ๆ หรือส่วนประกอบของยาตัวใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งเมื่อก่อนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีประกอบอยู่ในอาหารเพียงพออยู่แล้ว แต่นักการตลาดหรือนักธุรกิจมองว่าสามารถทำโปรโมชั่น หรือสร้างกระแสให้คนนิยมยาตัวนี้ โดยเริ่มต้นไปที่ให้ความรู้ว่า ร่างกายเราประกอบด้วยแร่ธาตุอะไรบ้าง ให้ความรู้ต่อว่าถ้าร่างกายขาดแร่ธาตุตัวนี้จะเป็นอย่างไร และถ้าเราได้รับแร่ธาตุตัวนี้ร่างกายจะดีอย่างไรบ้าง สุดท้ายแล้วเขาก็ให้ความรู้กับเราว่า "เรามีผลิตภัณฑ์แบบนี้ขายนะ"

แต่เขาจะไม่บอกโดยละเอียดว่าหรือบอกแบบ "แอบ ๆ" โดยเขียนข้าง ๆ อวดว่า ควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสม หรือว่า ควรได้รับสารอาหารจากการบริโภคอาหารตามปกติ

ตัวอย่างเช่น วิตามินซี ที่มีวางขายอยู่เกลื่อนท้องตลาด มีทั้งเม็ดเล็ก เม็ดใหญ่ มีทั้งถูก ทั้งแพง ใครทำการตลาดมากหน่อย ทำขวดดีหน่อยก็แพงหน่อย

หรือพวกแคลเซียม พวกขายนมก็บอกว่าดื่มนมดี พวกขายแคลเซียมแบบหลอดเป็นเม็ดใส่น้ำ ก็บอกว่าแบบนี้ดี ตกลงว่า เราก็กินทั้งนม กินน้ำแคลเซียมเม็ด แต่ไม่กินผักก็เขาบอกว่าผัก "สกปรก" มียาฆ่าแมลงเยอะ... เขาบอกเราว่าผักมียาฆ่าแมลงอย่างโจ้งแจ้ง แต่ก็ปกปิดเรื่องการได้รับแร่ธาตุเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเกินไปที่จะมีผลประโยชน์ต่อตับ

อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงระบบยาหลัก หรือยาที่ใช้รักษาโรคโดยตรง ซึ่งจะมีตัวแทนจำหน่ายหรือเซลล์เข้าไปติดต่อให้ความรู้กับผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจซื้อยาชนิดนั้นโดยตรงถึงโรงพยาบาล ในส่วนของเครื่องมือแพทย์ก็เช่นเดียวกัน มีการจัดโปรโมชั่นให้เอาเครื่องราคาแพงไปตั้งไว้ก่อน แต่ผูกมัดด้วยการซื้อน้ำยาหรือสารเคมีในการตรวจกับเขา โดยทั้งหมดนั้นเขาก็จะบอกว่าเครื่องมือนี้ดี จำเป็นต้องการรักษา หรือเขาอาจจะวางแผนไว้ตั้งแต่การสร้างความรู้ไว้ตั้งแต่ในระดับสถานศึกษาแล้ว พอมาถึงในส่วนของโรงพยาบาลก็ทำให้ขายง่าย เพราะเขาวางรากฐานไว้ตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย

นักธุรกิจนั้นผูกพันธ์กับการเมืองอย่างแยกไม่ออก ปัจจุบันข้าราชการประจำในกระทรวง ทบวง กรม อิงการเมืองกันมากโดยเฉพาะการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ดังนั้นการกำหนดนโยบายต่าง ๆ มักจะ "ปนเปื้อน" ด้วยความรู้ของนักธุรกิจ ซึ่งไม่เว้นการกำหนดหลักสูตรทางด้านการศึกษา

นักธุรกิจสามารถควบคุมหลักสูตรความรู้ได้ทั้งในตลาดและในภาคบริหารของประเทศ

ดังนั้นการกำหนดหลักสูตรความรู้ว่าสิ่งใดจำเป็นต้องใช้ สิ่งใดไม่จำเป็นต้องใช้ จึงถูกควบคุมไว้โดยนักธุรกิจแทบทั้งหมด

"เชื้อโรคทางความรู้" นี้กำลังระบาดไปในทุกภาคส่วนที่บริโภคความรู้กันทั้งวัน ทั้งคืน เป็นเชื้อโรคที่ทำลายระบบสมองถึงขั้น "ล้างสมอง" เพื่อที่จะควักเงินซื้อสิ่งที่เขาเสนอขายตามกระบวนการทางความรู้ที่เขาออกแบบไว้นั้น

นักธุรกิจในปัจจุบันนั้นฉลาด เขารู้ว่าควรจะโจมตีใครด้วยความรู้ด้านใด ด้วยสื่ออะไร และใช้ใครเป็นผู้อ้างอิง 

เชื้อโรคทางความรู้ จึงกลายเป็น "ไวรัส" ที่แพร่กระจายได้ทั้งแบบคนสู่คน อากาศสู่คน ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกกิจกรรมในสังคมสามารถแพร่กระจายไวรัสได้

สำหรับแอนตี้บอดี้ ที่จะมายับยั้งเชื้อไวรัสนี้ก็ได้แก่ "การวิจัย (research)" ทั้งที่เป็นทางการ โดยเฉพาะแบบที่เนียนเข้าไปในชีวิตประจำวัน

การวิจัยที่ "โปร่งใส" สามารถทำให้เรารู้ถึงความจริงเกี่ยวกับความรู้ในสินค้าหรือวัสดุเหล่านั้น แต่ที่สำคัญวันนี้นักวิจัย หรือผู้ที่ทำการวิจัย "ติดไวรัส" แล้วหรือไม่ เพราะถ้าติดไวรัสแล้ว ฐานในการทำงาน มูลเหตุในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่วิเคราะห์ออกมานั้นก็ย่อมไม่ Clean

ดังนั้น นักวิชาการซึ่งควรจะเป็นหัวหอกหรือผู้นำในการสร้างแอนตี้บอดี้เพื่อต่อต้าน "ไวรันทางความรู้" เหล่านี้ ควรจะสร้างรักษาโรคของตัวเองให้หายดีเสียก่อน

การรักษาโรคทางความรู้นี้ สามารถทำได้โดยการทำ R2R (Research to Routine) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำวิจัยในทุกย่างก้าวของชีวิต

นักวิชาการจะต้องยึดหลัก "กาลามสูตร" ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ดีอย่างขึ้นใจ ต้องมีความกล้าหาญ ฟันฝ่ากำแพงทางความรู้จากผู้รู้ทั้งหลาย เพื่อที่จะยืนหยัดสู้ด้วยความรู้ของตนเอง

กาลามสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org/

ระวังสับสนกับ กามคุณ หรือ กามสูตร
กาลามสูตร แปลว่า พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล (เรียกว่า เกสปุตสูตร ก็มี) กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการคือ

1.อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
2.อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
3.อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
4.อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
5.อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
6.อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
7.อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
8.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
9.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน

เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่
ปัจจุบันแนวคิดและหลักสูตรที่สอนให้คนมีเหตุผลไม่หลงเชื่องมงาย ในทำนองเดียวกับคำสอนของพระพุทธองค์เมื่อ 2500 ปีก่อนได้รับการบรรจุเป็นวิชาบังคับว่าด้วยการสร้างทักษะการคิดหรือที่เรียกว่า "การคิดเชิงวิจารณ์" (Critical thinking) ไว้ในกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของประเทศพัฒนาแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท