เด็ก เยาวชน และครอบครัว จากมุมมองของนายก อบจ.ชุมพร


ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้คืบคลานเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในสถานะครอบครัวของคนชุมพรอย่างช้า ๆ แต่ทว่าหนักแน่น

คงจะมีเหตุ-ปัจจัยหลายอย่างประกอบกันจึงทำให้ โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ณ ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านท่าตะเภา) ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากเทศบาลเมืองชุมพร ผู้ว่าฯ และรองฯ ทั้ง 2 ท่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอำนวย บัวเขียว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชุมพร ได้ให้ความสำคัญไปร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษา เมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2552 และครั้งล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 นายก อบจ.ชุมพร ร่วมรับประทานอาหาร (ปิ่นโต) กับนักศึกษาอย่างเป็นกันเอง บรรยากาศของการพุดคุยสนทนาแบบจับเข่าคุยกันจึงเกิดขึ้น

ผู้เขียนทำหน้าที่เปิดประเด็นพูดคุยโดยเล่าเรื่องที่ได้รับเชิญจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ให้ไปร่วมปรึกษาหารือ แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัวแบบบูรณาการในระดับจังหวัด เมื่อวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้เขียนนำโจทย์ที่ได้รับมาใคร่ครวญรูปแบบการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ และได้โทรศัพท์ขอคำปรึกษาจากท่านนายก อบจ. ซึ่งท่านได้ติดตามถามถึงนักศึกษาโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต เราจึงมาถึงบทสรุปว่าเรื่องนี้อย่าคุยกันเองในวงแคบ ๆ เลย นำเข้าสู่วิชา ระบบสุขภาพ ซึ่งว่าด้วย ทำอย่างไรให้เกิดสภาวะที่บุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมเป็นสุข ในระดับกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ (ปัญญา) แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตัวจริง-เสียงจริง ซึ่งก็คือกลุ่มนักศึกษากันดีกว่า

รากเหง้าของปัญหาอันมีที่มาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีกิจกรรมสารพัดอย่างที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ ใช้เงินเป็นตัวตั้ง  ได้นำพาเด็ก เยาวชน และครอบครัวของพวกเราชาวชุมพร ไปสู่วงจรแห่งความเสื่อมโทรมทางสังคม แสดงให้เห็นเป็นปรากฏการณ์หลากหลายเรื่องราว เรามีนักเรียนที่ถูก เขี่ยออก จากโรงเรียนก่อนที่จะจบการศึกษาในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย รวมแล้วประมาณ 1,000 คนในแต่ละปี ออกจากโรงเรียนแล้วชีวิตที่ไร้ทางออกของเขาเหล่านั้นจะไปจบบทที่หนึ่ง ณ โรงพัก หรือโรงพยาบาล คือ คำถามเปิดฉาก

ธุรกิจค้ามนุษย์ให้เป็นสินค้าทางเพศ เพื่อตอบสนองความหื่นกระหายในกามตัณหาของผู้ชายกลุ่มหนึ่ง ได้ล่อลวงและชักนำให้นักเรียนหญิงหลายชีวิต ติดเข้าไปอยู่ในบ่วงกรรมของการขายบริการทางเพศ ทำแท้ง เสพยาบ้า และสืบทอดธุรกิจชั่วร้ายไปสู่รุ่นน้องในสถานศึกษาของตนเอง วงสนทนาพูดคุยลงลึกไปถึง ชื่อบุคคล สถานที่ และวิธีการ “ค้ามนุษย์” ที่เกิดขึ้นในสังคมชุมพร อาการ ช็อค !!! เกิดขึ้นแล้วในความรู้สึกของนักศึกษา

ข้อมูลจากประสบการณ์และมุมมองของท่านนายก อบจ.ชุมพร ทำให้ นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องแรงงานพม่าที่เข้ามาทดแทนการทำงานพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจของชุมพร ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานในกิจการประมง ทำสวน กรีดยาง ตัดปาล์ม ฯลฯ งานเหล่านี้ยากที่จะหาแรงงานจากครอบครัวไทยสมัยใหม่เต็มใจเลือกทำ เลิกดัดจริตและยอมรับกันได้แล้วว่า จ.ชุมพรจำเป็นต้องใช้แรงงานพม่า ในที่สุดปรากฏการณ์เคลื่อนย้ายของแรงงานพม่าเข้ามาสู่แทบทุกส่วนของสังคมชุมพรก็เกิดขึ้น วันนี้ที่วัดปากน้ำชุมพร ฆราวาส 3 ใน 4 ที่เข้าวัดในวันพระคือชาวพม่า พุ่มกฐิน-ผ้าป่าจากความศรัทธาในการทำบุญตามคติของพุทธศาสนา แม้แต่พระภิกษุสงฆ์ก็ยังยอมรับนับถือว่าพวกเขาแข็งแรงกว่าคนไทย ที่โรงพยาบาลปากน้ำฯ ต้องจัดสรรเวลาให้แรงงานพม่ามารับบริการในช่วงบ่าย เพื่อป้องกันการเปรียบเทียบในมาตรฐานบริการที่ต่างกันระหว่างผู้ป่วยคนไทยกับคนพม่า แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ผู้ป่วยคนไทยหนีมาใช้บริการ ณ โรงพยาบาลชุมพรฯ ยอมที่จะอดทนจากการอดอาหารกว่า 10 ชั่วโมง เพื่อรอรับการตรวจเลือดจนเป็นลมไปหลายคนและอีกหลายครั้ง

ในขณะที่ครอบครัวไทยเห่อเหิมไปกับการส่งลูกเรียนสูง ๆ พูดไทยคำ – ฝรั่ง 2 คำ ทำอะไรไม่เป็น จนแทบจะลืมคำว่า การพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เรายกย่องเทิดทูนด้วยความรักและเคารพอย่างสูงในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาษาไทย คือ ความจำเป็นพื้นฐานที่แรงงานพม่าทุกคนพยายามไขว่คว้าหาความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของตนเองให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วทันตาเห็น ใครที่ฟังออก-พูดเป็น รับคำสั่งคำสอนจากนายจ้างได้ ก็สามารถเลือกทำงานที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่ามาตรฐานปกติของแรงงานพม่าโดยทั่วไปได้ วันนี้แรงงานเหล่านั้นเพิ่มความมุมานะเรียนภาษาไทยเพื่อให้อ่านออก-เขียนได้ เพราะรู้ว่าอนาคตสดใสกำลังรอเขาอยู่ ความหวังในวันหน้าเขาจะไม่เป็นลูกจ้างแต่เขาจะเข้มแข็งพอที่จะสร้างกิจการของตัวเอง ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นให้เห็นแล้วกับร้านขายของ ขายบริการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองแรงงานพม่าด้วยกันเองที่ปากน้ำชุมพร

ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้คืบคลานเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในสถานะครอบครัวของคนชุมพรอย่างช้า ๆ แต่ทว่าหนักแน่น ผู้หญิงไทยในระดับฐานรากเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตที่นำไปสู่ความแตกแยก หย่าร้าง และติดตามมาด้วยความลำบากยากแค้นในการดูแลครอบครัวของตนเอง เริ่มเปลี่ยนทัศนคติยอมรับการมีสามีเป็นชาวพม่ามากขึ้นเรื่อย ๆ คำพูดที่ว่า ผู้ชายพม่ารับผิดชอบครอบครัวดีกว่าผู้ชายไทย ยากที่จะหาคำแก้ตัวจากผู้ชายไทยในชุมชนที่ตนอยู่ กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้กับ ลูกครึ่งไทย-พม่า หลายชีวิตที่เริ่มเข้าสู่วัยเข้าเรียน  วัยทารก และที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาอีกมากมาย

เมื่อเสร็จสิ้นการพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาแล้ว เรายังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านท่าตะเภา) ซึ่งผู้เขียนทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา มุมมองของท่านนายก อบจ.ชุมพร น่าสนใจหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น แนวคิดในการพัฒนาโรงเรียนโดยสร้างหอพักบริหารจัดการในลักษณะ School-Stay การปรับเปลี่ยนรูปแบบของร้านค้าสหกรณ์ในโรงเรียนให้สามารถรองรับกิจกรรมของชุมชนเพื่อใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น ฯลฯ ท่านยังได้ย้ำถึงจุดยืนของ อบจ.ชุมพร ที่พร้อมให้การสนับสนุนโครงการดี ๆ เพื่อสร้างความสุข ความเจริญในรูปแบบที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับสังคมชุมพรบ้านของเรา.

หมายเลขบันทึก: 338861เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2010 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ปัจจุบันแรงงานพม่าเข้ามามีบทบาทในชุมชนไทยมากขึ้น ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม คนพม่าเข้ามาตั้งกลุ่มตั้งก๊กเช่าที่ดินปลูกผักขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พวกนี้ขยันทำมาหากินแต่คนพื้นที่เองกลับขี้เกียจ และที่ทราบมาอีกคือพม่ากลุ่มนี้ยังตั้งตนเป็นมาเฟียยึดพื้นที่ขายของในตลาดนัด ทำให้คนไทยเจ้าของแผ่นดินเองไม่อยากยุ่งเพราะไม่อยากมีปัญหากับคนพวกนี้

ยินดีกับศูนย์ฯและนักศึกษาด้วยครับ

เป็นข้อเขียน ประกอบภาพ ที่ดีมากครับ เป็นตัวอย่างการรายงาน + ความเห็น + ข่าว (ม.ชีวิต) ที่กลมกลืนทีเดียว

ได้อ่านแล้ว ดีครับ อยากให้ทุกศูนย์ ได้เล่าเรื่องดีๆ สู่ฟังบ้าง จะได้เรียนรู้ร่วมกัน

ไม้เรียวเคยสร้างคนให้ได้ดีแต่วันนี้เด็กที่ดีห่างหายจากไม้เรียว

สวัสดีค่ะ

แวะมาส่งความระลึกถึงค่ะ

และเชิญชวนร่วมสร้างหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ด้วยกันนะคะ

http://gotoknow.org/blog/rongkham/349984

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท