สรุปภัยคุกคามระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปี 2552


สรุปภัยคุกคามระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปี 2552  

 

1.หนอนคอมพิวเตอร์ “คอนฟิกเกอร์” “คอนฟิกเกอร์” คือหนอนคอมพิวเตอร์ที่ตั้งเป้าโจมตีระบบปฏิบัติการวินโดวส์ และผู้สร้างสามารถสั่งการได้จากระยะไกล ปัจจุบันหนอนชนิดนี้ควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์กว่าเจ็ดล้านเครื่อง ทั้งภาครัฐ, เอกชน และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก  

   คอนฟิกเกอร์จะโจมตีช่องโหว่ในส่วนของวินโดวส์เซิร์ฟเวอร์เซอร์วิส (Windows Server service) (ซึ่งไมโครซอฟต์ได้ออกซอฟต์แวร์แก้ไข (MS08-067) ในเดือนตุลาคม 2552) โดยอาศัยเทคนิคออโต้รันเพื่อการแพร่กระจายผ่านทาง Thumb Drive แบบยูเอสบี เมื่อเข้าถึงคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งแล้ว มันจะพยายามเข้าถึงเน็ตเวิร์กแชร์ (Network Shares) และพยายามแคร็กรหัสผ่านของแอคเคานต์ในเครื่อง หากแคร็กรหัสผ่านของผู้ดูแลระบบได้ ก็จะใช้เซอร์วิสที่ชื่อ Windows Task Scheduler Service เพื่อแพร่กระจายตัวเองไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นต่อไป

   เนื่องจากคอนฟิกเกอร์จำเป็นต้องใช้ช่องโหว่เฉพาะ (MS08-067) เพื่อการแพร่กระจาย จึงจำเป็นต้องรู้ว่าคอมพิวเตอร์ที่มันโจมตีใช้ภาษาอะไร โดยคอนฟิกเกอร์เวอร์ชั่นก่อนๆ จะมีความสามารถจำกัด ต้องรับข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อนจึงจะแปลง IP Address ให้เป็น Physical Address ได้ ทั้งนี้เมื่อโจมตีคอมพิวเตอร์ในอเมริกา หนอนชนิดนี้จะพยายามโจมตีวินโดวส์เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ แต่ถ้า IP Address ที่ถูกโจมตีอยู่ในจีน มันจะพยายามโจมตีวินโดวส์เวอร์ชั่นภาษาจีนแทน การโจมตีวินโดวส์เวอร์ชั่นภาษาอื่นๆ ก็เป็นลักษณะเดียวกัน 

   ด้วยความที่หนอนคอมพิวเตอร์ชนิดนี้สร้างด้วยเทคนิคชั้นสูง ทำให้ตรวจจับได้ยากและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เป็นหลัก จึงเป็นหนอนที่เชื่อกันว่าแพร่เชื้อขยายวงกว้างที่สุดนับแต่ปี พ.ศ. 2546

2.เครือข่ายสังคม ภัยร้ายใกล้ตัว

   บริการเครือข่ายสังคม หรือ Social Network ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสร้างบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวเพื่อสื่อสารกับบุคคลอื่นในเครือข่าย และสามารถเขียนข้อความ, แช็ต, แบ่งปันรูปภาพ / เพลง / วิดีโอ และสร้างบล็อกส่วนตัวนั้น มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายมากเป็นจำนวนหลายร้อยล้านแอคเคานต์ จึงตกเป็นเป้าหมายหลักของอาชญากรออนไลน์ที่อาศัยความเชื่อถือระดับสูงในกลุ่มเพื่อน นำไปสู่ภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ เช่น

  • กรณีเฟซบุ๊ค

 

   •แอคเคานต์ผู้ใช้งานถูกบุกรุก ซึ่งอาจเกิดการขโมยรหัสผ่านจากฟิชชิงหรือมัลแวร์ แล้วใช้บัญชีนั้นเพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกลุ่มเพื่อนในเครือข่ายของเหยื่อ จนมีผู้หลงเชื่อส่งเงินไปให้

   •ผู้ใช้งานถูกขโมยรหัสผ่านและเปลี่ยนหน้าเว็บโดยมิชอบ

   •ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีเจตนามุ่งร้าย ใช้เอพีไอ (API) หรือแอพพลิเคชั่นโปรแกรมของเฟซบุ๊ค เพื่อหลอกล่อผู้ใช้ให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่นของผู้พัฒนา

   •การเผยแพร่ลิงค์เว็บไซต์มุ่งร้าย เพราะผู้ใช้งานมีแนวโน้มที่จะเชื่อถือและคลิกลิงค์ที่มาจากเพื่อนหรือญาติ มากกว่าไฟล์หรือลิงค์ในอีเมลจากคนไม่รู้จัก

 

  • กรณีทวิตเตอร์

 

   •แอคเคานต์ของทวิตเตอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือของบอทเน็ต โดยใช้หน้าทวิตเตอร์ของผู้ใช้รายหนึ่งที่แสดงข้อความที่เข้ารหัสไว้ เพื่อสั่งการให้คอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์เข้าไปยังเว็บไซต์อื่นๆ เพื่อรับคำสั่งจากผู้ควบคุมบอทเน็ต เช่น ดาวน์โหลดและเปิดใช้มัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลในระบบของผู้ใช้

    •แอคเคานต์ของทวิตเตอร์ถูกใช้ในการส่งผู้ใช้งานไปยังผลิตภัณฑ์ที่ลวงว่าเป็นซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส (Rogue Antivirus Products) โดยข้อความทวีตที่ส่งจากแอคเคานต์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเลือกจากคำค้นของทวิตเตอร์เอง หรือการ re-tweet ที่ส่งโดยคนจริงๆ ซึ่งลิงค์เหล่านี้จะนำผู้ใช้ไปยังเว็บไซต์ปลอม ที่ใช้วิธีต่างๆ หลอกล่อให้ผู้ใช้งานกลัว และหลงเชื่อ ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้

   •หนอนทวิตเตอร์ (Twitter Worm) อาศัยช่องโหว่ชนิด cross-site scripting ที่มักพบในเว็บแอพพลิเคชั่น แล้วส่งข้อความสแปม เช่น "I love www.StalkDaily.com!" ซึ่งสร้างความรำคาญให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนมากที่คลิกไปที่ลิงค์นั้น ด้วยหลงเชื่อว่าเป็นข้อความทวีตจากเพื่อนของตน และมีการทวีตข้อความแบบเดียวกันต่อไปอีกหลายทอด การโจมตีเหล่านี้อาศัยจาวาสคริปต์ จึงควรปิดการทำงานของจาวาสคริปต์ หรือจำกัดการทำงานของจาวาสคริปต์ให้ทำงานกับเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เพื่อป้องกันภัยจากหนอนอินเทอร์เน็ตในลักษณะนี้  

3.การโจมตีการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือค้นหา (Search Engine Optimization; SEO) 

   การโจมตีรูปแบบนี้ ผู้โจมตีจะส่งหัวข้อยอดนิยมเข้าไปในเว็บค้นหา หรือ Search Engine เช่น ชื่อดาราดังที่ตกเป็นข่าว, ไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น เมื่อมีผู้คลิกเปิดดูเว็บไซต์ ไซต์นั้นกลับกลายเป็นเว็บไซต์มุ่งร้าย ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานถูกควบคุม หรือนำผู้ใช้ไปยังผลิตภัณฑ์ที่ลวงว่าเป็นซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส (rogue antivirus products) ด้วยเหตุนี้จึงควรคำนึงถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ที่แสดงผลโดยเว็บค้นหา ก่อนเข้าเยี่ยมชม  

   ผลิตภัณฑ์ประเภท “Rogue Security Product” เป็นมัลแวร์ที่ล่อลวงให้ผู้ใช้งาน จ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ปลอม ตัวอย่างเช่น “File Fix Professional” ที่ผู้เขียนซอฟต์แวร์นี้ไม่ได้ผลักดันซอฟท์แวร์เอง แต่ทำโดยผู้เป็นเจ้าของบอทเน็ต โดย "File Fix Pro" จะ “เข้ารหัส” ไฟล์บางไฟล์ในโฟลเดอร์ "My Documents" แล้วแสดงข้อความบ่งบอกความผิดพลาดที่ดูสมจริง บอกว่าระบบวินโดวส์แนะนำให้ดาวน์โหลดเครื่องมือพิเศษเพื่อแก้ไขไฟล์ โดยให้ผู้ใช้คลิกดาวน์โหลด "File Fix Pro" เพื่อ “ซ่อม” ไฟล์ดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการ “ถอดรหัส” ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ หากผู้ใช้ยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งสำหรับผลิตภัณฑ์นี้ 

   วิธีนี้เป็นกลยุทธ์ที่แยบยลในการหลอกผู้ใช้ ซึ่งไม่รู้ว่าไฟล์ของตน “ถูกจับเป็นตัวประกัน” และการซื้อซอฟต์แวร์นี้เป็นเพียงการจ่ายค่าประกันตัวในการกู้คืนไฟล์เท่านั้น ซึ่งผู้ขายซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

4.แม็ค โอเอส เอ็กซ์ (MAC OS X)

   เดือนมกราคม 2552 ได้มีการเผยแพร่ก็อปปี้ของซอฟต์แวร์ไอเวิร์ค 2009 (iWork 2009) ในเว็บไซต์แชร์ไฟล์ยอดนิยมแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ดาวน์โหลดเวอร์ชั่นฟรีนี้ ได้รับของแถมที่น่าประหลาดใจในซอฟท์แวร์ติดตั้ง คือแบ็คดอร์ ชื่อไอเวิร์คเซิร์ฟดอทเอ (iWorkServ.A) โดยกลุ่มผู้เผยแพร่มัลแวร์รายเดียวกันนี้ยังได้เผยแพร่โปรแกรมโฟโต้ชอป เวอร์ชั่นสำหรับ MAC ที่แถมแบ็คดอว์ด้วยเช่นกัน

   ซอฟต์แวร์มุ่งร้ายทุกชนิด จะอาศัยการหลอกล่อให้ผู้ใช้ป้อนรหัสผ่าน ซอฟต์แวร์นี้ก็เช่นกัน การติดตั้งซอฟต์แวร์ในแม็ค โอเอส เอ็กซ์ จะบังคับให้ผู้ใช้ใส่รหัสผ่านของผู้ดูแลระบบ เมื่อผู้ใช้ใส่รหัสผ่านเพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฏหมายนี้เข้าไปแล้ว นอกจากจะได้ซอฟท์แวร์ที่ทำงานได้จริงแล้ว ยังทำให้ระบบของเขาถูกบุกรุกไปด้วย

5.การโจมตีแอพพลิเคชั่นเป้าหมาย

   แอพพลิเคชั่นที่ถูกโจมตีมากที่สุด ในปี 2551 นั้น คือไมโครซอฟต์เวิร์ด (.doc) แต่ช่วงปี 2552 ตำแหน่งไฟล์ยอดนิยมที่ถูกโจมตีสูงสุดตกเป็นของ ไฟล์พีดีเอฟ (.pdf) ของค่าย Adobe อันเนื่องจากช่องโหว่ในโปรแกรม Adobe Acrobat และ Adobe Reader

6.หนอนอินเทอร์เน็ตไอโฟน (iPhone Worm)

   ปี 2552 สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงเว็บเครือข่ายสังคม โดยไอโฟนมีส่วนแบ่งตลาดในระดับต้นๆ จึงดึงดูดความสนใจจากผู้เขียนมัลแวร์จำนวนมาก 

   ไอโฟนส่วนหนึ่งผ่านการทำเจลเบรก (Jailbreak) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำให้ไอโฟนและไอพอด ทัช สามารถใช้คำสั่งที่ไม่เป็นทางการในอุปกรณ์ โดยไม่ต้องผ่านระบบป้องกันของบริษัทแอปเปิล ทำให้ผู้ใช้ไอโฟนสามารถติดตั้งแอพพลิคชั่นต่าง ๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ และเครื่องที่ทำเจลเบรก ได้กลายเป็นเป้าหมายของมัลแวร์ที่ผู้สร้างต้องการทำเงิน เช่น โจมตีช่องโหว่ในไอโฟนที่ผ่านการทำเจลเบรก, หนอนคอมพิวเตอร์ “ไอคี” (Ikee) ที่เจาะระบบของผู้ใช้ที่ไม่เปลี่ยนรหัสผ่านของซีเคียวเชลล์ (SSH) ที่กำหนดมาพร้อมกับการติดตั้ง โดยเปลี่ยนภาพวอลล์เปเปอร์ของไอโฟนให้เป็นรูปอื่น

   นอกจากนี้ยังมีหนอนคอมพิวเตอร์ที่เจาะระบบไอโฟน โดยพยายามเปลี่ยนเส้นทางเว็บของผู้ใช้ จากธนาคารแห่งหนึ่งไปยังไซต์ฟิชชิ่ง เมื่อผู้ใช้งานพยายามเข้าถึงบริการธนาคารออนไลน์จากไอโฟน จึงควรที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจะได้หันมาให้ความสนใจกับความปลอดภัยของเครื่องมือสื่อสารของตนให้มากยิ่งขึ้น 

7.การโจมตีเครือข่ายแบบ DDoS มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

 

   การโจมตีเครือข่ายเพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ปลายทางหยุดทำงาน ซึ่งมีผู้โจมตีพร้อมกันจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า Distributed Denial of Service (DDoS) นั้น เกิดขึ้นมากมายทั่วโลกในปี 2552 ด้วยหลายเหตุปัจจัย และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น สรุปได้ดังนี้

   เหตุการณ์ความขัดแย้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านเมื่อกลางปี 2552 นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ และเกิดกระแสการใช้สื่อเครือข่ายสังคม ทั้งทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ค, ยูทูบ และไซต์อื่นๆ เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารและหลีกเลี่ยงการตรวจจับของรัฐบาล อีกมุมหนึ่งของเทคโนโลยีคือการโจมตีเครือข่ายแบบ DDoS ซึ่งถูกนำมาใช้โจมตีเครื่องแม่ข่ายของรัฐบาลอิหร่าน รวมทั้งโจมตีแอคเคานต์ ของผู้ใช้งานทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คนับล้านคน ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีนี้จะต้องมีแบนด์วิธมหาศาลเพื่อการโจมตีครั้งนี้โดยเฉพาะ

   •การโจมตี DDoS ในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นวันชาติของมาเลเซีย โดยเป้าหมายคือเว็บไซต์ในมาเลเซียที่ถูกบุกรุกและเปลี่ยนเนื้อหาไปกว่าร้อยเว็บไซต์  รวมถึงเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันแห่งชาติ สื่อมวลชน และภาคธุรกิจของมาเลเซีย

  •เว็บไซต์รัฐบาลสหรัฐและเกาหลีใต้ ถูกโจมตีแบบ DDoS จนทำให้เครือข่ายใช้งานไม่ได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง

   การโจมตีเครือข่ายแบบ DDoS นี้ มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้สมาร์ทโฟน และเว็บไซต์ประเภทเครือข่ายสังคม อย่างแพร่หลาย ซึ่งหากผู้ใช้งานไม่ป้องกันตนเองอย่างเหมาะสมแล้ว ก็อาจตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดีที่ใช้เราเป็นเครื่องมือโจมตีผู้อื่นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

 

  

หมายเลขบันทึก: 338151เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอเอาไปทำการนำเสนอเพื่อการเรียนนะค่ะ

อยากถามว่าวันเดือนปีที่เอาลงคืออะไรค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท