9 เทคนิคการจัดการความรู้สู่ความสำเร็จในการบริหารสถานศึกษา


ขับเคลื่อนการปฏิรูปรอบสองด้วยเครื่องมือ KM

          ปัจจุบันสังคมโลกได้เปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมที่มีปัจจัยสำคัญในการแข่งขันคือ ทุน เข้าสู่ยุคที่ปัจจัยสำคัญของการแข่งขันคือ ความรู้ (Knowledge) ที่องค์การและผู้คนจำเป็นจะต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถที่จะนำประสบการณ์ ความรู้ ที่มีอยู่หลากหลายทั้งในตัวตน ในองค์การ หรือในตำรานำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ KM: Knowledge Management ผู้เขียนมีโอกาสดีที่ได้เกี่ยวข้อง สัมผัส พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเครื่องมือการจัดการความรู้ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียนและสอดแทรกไปในกระบวนการจัดการความรู้ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตั้งแต่ปี 2545 โดยท่านศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และคณะได้ถ่ายทอดศิลปวิทยาการ “การจัดการความรู้” ให้กับบรรดาผู้บริหารต้นแบบ    การปฏิรูปการเรียนรู้ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามอาจารย์ ดร.จิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ในฐานะผู้บริหารต้นแบบ เข้าร่วมประชุมสัมมนาด้วย เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนมีโจทย์ใหญ่ข้อหนึ่งที่ผู้บริหารต้นแบบจะต้องแก้โจทย์ให้ได้คือ... สถานศึกษาจะมีกลยุทธ์อย่างไรที่จะทำให้การปฏิรูป  การเรียนรู้บรรลุผลสู่ความสำเร็จ  คำถามนี้ดูเหมือนง่ายแต่ท้าทายยิ่งนัก

            ต่อมาโรงเรียนได้นำประสบการณ์ความรู้ ด้านการจัดการความรู้มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ “การสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญ และผลักดันคุณภาพ” แรกๆบุคลากรบางส่วนจะมีความรู้สึกว่าผู้บริหารเพิ่มงานใหม่ให้อีกแล้ว ต่อมาเมื่อทุกฝ่ายได้ลงมือปฏิบัติจริงก็ถึงบางอ้อว่า ที่แท้การจัดการความรู้ก็อยู่ในวิถีปฏิบัติงานประจำวันนั่นเอง กว่าจะถึงวันนี้ได้ก็ใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตามทางฝ่ายบริหารได้มองการณ์ไกล จึงได้ออกแบบแนวทางการจัดการความรู้สอดแทรกผสมผสาน  ไปกับการปฏิบัติงานปกติของโรงเรียน ซึ่งคณะกรรมการทุกๆฝ่ายได้มีบทบาทในการจัดการความรู้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมคณะกรรมการแต่ละคณะ เช่น

- ทุกวันจันทร์ เวลา 9.00-10.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการสภาครู

- ทุกวันจันทร์ เวลา 16.30-17.30 น. มีการประชุมคณะครูระดับ ม.1-3

- ทุกวันอังคาร เวลา 16.30-17.30 น. มีการประชุมคณะครูระดับ อนุบาล 1-3

- ทุกวันพุธ เวลา 16.30-17.30 น. มีการประชุมคณะครูระดับ ป.1-3

- ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 16.30-17.30 น. มีการประชุมคณะครูระดับ ป.4-6

- ทุกวันศุกร์ เวลา 9.00-10.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการสายชั้น

การนำกิจกรรมการจัดการความรู้มาประยุกต์ใช้ในการประชุมของคณะกรรมการ ทุกคณะ   ส่วนใหญ่คณะครูและบุคลากรซึ่งเป็น “คุณกิจ” ตัวจริงจะทำหน้าที่จัดกิจกรรมการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การนำเสนอผลงาน การสะท้อนปัญหาอุปสรรค แนวทางปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของคณะกรรมการ/ฝ่ายต่างๆ  โดยมีหัวหน้าระดับ/หัวหน้าสายชั้น ทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” รวมทั้งมีเพื่อนครูทำหน้าที่เป็น “คุณลิขิต” ทำให้ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายภายในสถานศึกษาเป็นอย่างดี ต่อจากนั้นได้มีแนวความคิดว่าน่าจะมีการขยายประสบการณ์ความรู้ไปสู่สถานศึกษาเครือข่ายทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดและต่างจังหวัด จึงมีการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดความรู้” เกิดขึ้นที่โรงเรียน    จิระศาสตร์วิทยา 2 ครั้ง  ครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อวันที่  30 กรกฎาคม 2549 และครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549  ทั้งสองครั้งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน สถานศึกษา ส่งผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 150 คน  ผลที่ได้ท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นข้อมูลได้จาก www.jirasart.com หรือwww.gotoknow.jirasart.or.th การดำเนินการจัดการความรู้ได้ขยายวงไปไกลถึงเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์โดยโรงเรียนได้จัดการศึกษาทางไกลระบบ TV.Conference ร่วมกับโรงเรียนนาฮาโตะ (Nahato School) ประเทศญี่ปุ่น 4 ครั้ง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 15-17 สิงหาคม 2549 มหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา (Kyoto University of Education) และ มหาวิทยาลัยโอซาก้าการศึกษา (Osaka University of Education) ได้ส่งนักศึกษาปริญญาโท 6 คน และปริญญาตรี 3 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 9 คนมาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู โดยเข้าทำการสอนร่วมกับครูไทยพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับคณะครูนักเรียนในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ปรากฏว่าได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งนับเป็นมิติใหม่ในการจัดการศึกษาสู่สากล   และ เมื่อวันที่    17-18 มกราคม 2551 ได้มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา โดย Miss.Miyamoto Natsue ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นของโรงเรียน Sugaharashigasi ได้เดินทางมาสอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนของเราร่วมกับ Mr.Sazaki ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ได้เป็นอย่างดี ส่วนความร่วมมือทางการศึกษากับประเทศอื่นๆ เช่น นิวซีแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิสเซอร์แลนด์นั้น ผู้เขียนได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการศึกษาและองค์กรวิชาชีพครู เมื่อเร็วๆนี้ได้มีโอกาสพูดคุยแนวทางในการแลกเปลี่ยนเทคนิคแนวทางในการส่งเสริมการจัดการศึกษาของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นสำหรับครูและผู้บริหาร รวมทั้งการฝึกอบรมรมหลักสูตร Promoting and Exercising a Culture of Peace and Respect for Multicultural Diversity ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม 2552  ณ ศูนย์ฝึกอบรมซีมีโออินโนเทค ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักการ แนวคิด ที่เป็นประโยชน์อย่างหลากหลายร่วมกับบรรดาสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน นับเป็นสถานศึกษาเครือข่ายระดับอาเซียนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนกลุ่มประเทศอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวใน ปี 2015 ที่จะมาถึงเร็ววันนี้

            สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการความรู้ที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟังใน ครั้งนี้ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่าง ผู้เขียนยังไม่กล้าพูดว่าเป็น Best Practices แต่ขอยืนยันว่าหน่วยงานสถานศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพและบริบทของตนเอง ในที่นี้ขอนำเสนอ  9 เทคนิคการจัดการความรู้ สู่...ความสำเร็จในการบริหารสถานศึกษา ดังนี้

  • การจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
  • การบริหารแบบมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ
  • การพัฒนาบุคลากรและคณะกรรมการสถานศึกษา
  • การส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูปการศึกษา
  • การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ (JIRASART Teaching’s Model)
  • การใช้ ICTส่งเสริมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา
  • หลากหลายเทคนิควิธีดึงชุมชนสู่สถานศึกษา
  • การส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ภายในและภายนอกสถานศึกษา
  • การดำเนินงานระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียน

1.การจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

-          นอกจากการจัดการศึกษาในระบบแล้ว โรงเรียนยังได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย   โดยจัดให้มีโครงการ "ห้องเรียน ในโลกกว้าง" โดยอำนวยความสะดวกแก่ครูและนักเรียนในการสืบค้นข้อมูล ความรู้จาก Internet จัดห้องสมุดเคลื่อนที่ และเชิญปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบรรยายให้ความรู้ และ สาธิตต่างๆ เช่น การสานพัด สานปลาตะเพียน ประดิษฐ์ดอกไม้จากโสน ทำหัวโขน เป็นต้นให้เป็นคณะครูและนักเรียนบุคคลแห่งการเรียนรู้และส่งผลถึงการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ LO : Learning Organization ในที่สุด

 2. การบริหารแบบมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ

-          ให้บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมและมีการกระจายอำนาจการบริหาร

โดยการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาครู  คณะกรรมการสายชั้น  คณะกรรมการฝ่าย 6 ฝ่าย เช่นฝ่ายวิชาการ, กิจการนักเรียน, บุคลากร, อาคาร-สถานที่,  ธุรการ-การเงิน, และฝ่ายความสัมพันธ์กับชุมชน

-          จัดระบบการบริหารงานตามวงจรเดมมิ่ง เพื่อให้การประสานงาน

ติดตาม ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิด ประสิทธิผล

-          จัดประชุม สัมมนา ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ นำไปศึกษาดูงาน นิเทศ

ภายในให้คำปรึกษาและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของครูอย่างต่อเนื่อง

-          สร้างเครือข่ายผู้ปกครอง ระดมความคิดเห็น คำแนะนำข้อเสนอแนะ

แนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียน และโรงเรียนโดยส่วนรวม

-          ส่งเสริมให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งประกอบด้วยผู้แทน

ครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนศิษย์เก่า และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มีบทบาท มีส่วนร่วมในการบริหารงานโรงเรียน

-          คณะครูได้มีการจัดตั้งกลุ่ม STAR (Small Team Activity Relationship)

ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกประมาณ 4-5 คน     มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาผู้เรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบในสายชั้นของตนเอง เช่น การแก้ปัญหานักเรียนที่อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง  การฝึกระเบียบวินัยและมารยาทการไหว้ เป็นต้น

3. การพัฒนาบุคลากรและคณะกรรมการสถานศึกษา

-          โรงเรียนจัดให้มีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องโดยการจัดประชุม

อบรม สัมมนา ศึกษา-ดูงานด้านการเรียนการสอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

-          จัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนครูและผู้บริหารกับสมาคมทางการศึกษา

ของประเทศสหรัฐอเมริกา  "Hopkins Education Association" เป็นประจำทุกปี  โดยมีครูและผู้บริหารโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ ปีละครั้ง

-          จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อเสริมสร้างความรู้

ความเข้าใจในด้านการปฏิรูปการศึกษา และขอความร่วมมือจากคณะกรรมการสถานศึกษาในการเป็นวิทยากรภูมิปัญญาชาวบ้านให้การอบรมความรู้แก่นักเรียน เช่น ด้านพิพิธภัณฑ์เรือไทย โดย อาจารย์ไพฑูรย์  ขาวมาลา  ด้านการสานพัด โดย อาจารย์ประสาน  เสถียรพันธุ์  เป็นต้น

 4. การส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ตามแนวปฎิรูปการศึกษา

         ในยุคที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีการปฏิรูปการศึกษา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงื่อนไข

ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิรูปการเรียนรู้อยู่ที่ “ผู้บริหาร ครูอาจารย์และบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง” เป็นสำคัญ  ฉะนั้นโรงเรียนจึงกำหนดกลยุทธ์ให้มี “การปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน

              - จากเดิมที่ครูทำหน้าที่เป็นผู้สอน ปรับเปลี่ยนเป็น  ผู้อำนวยการจัดการ

ความรู้

              - จากเดิมที่สอนในห้องเรียน  ปรับเปลี่ยนเป็น  จัดกิจกรรมการเรียนรู้

ในแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน

              - จากเดิมที่สอนเป็นรายวิชา ปรับเปลี่ยนเป็น การบูรณาการหลากหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้

-        จากเดิมที่เคยวัดผลประเมินผลจากการสอบ ปรับเปลี่ยนเป็น การวัดผล

ประเมินผลตามสภาพจริงและหลากหลายวิธีเพื่อค้นหาและพัฒนาศักยภาพผู้เรียน

                 จะเห็นแล้วว่ากว่าจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ ผู้บริหารจะต้องอดทดและใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้โดยอาศัยวิธีการ สร้างความเข้าใจ       ให้ความสำคัญ และผลักดันคุณภาพ อย่างต่อเนื่อง จึงจะบังเกิดผลตามที่ต้องการ

สำหรับผลการดำเนินงานจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ได้ดำเนินการมาโรงเรียนได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานในเวทีศักยภาพนักเรียน (Child Show) และเวทีศักยภาพครู (Teachers Show) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปลายภาคเรียนที่ 1 ของทุกปี

5. การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ (JIRASART Teaching’s Model)

            ส่งเสริมให้ครูร่วมกันระดมความคิดร่วมพัฒนานวัตกรรมการสอนโดยใช้โมเดลของโรงเรียน หรือ JIRASART  Teaching's Model   ซึ่งได้นำพยัญชนะต้นชื่อโรงเรียนภาษาอังกฤษ  กำหนด ดังนี้

J มาจากคำว่า Joyfull to learning  หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเอง    ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตนเอง และมีความสุขในการเรียน       

I มาจากคำว่า Integrating  knowledge หมายถึง การนำความรู้จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่หลากหลายมาบูรณาการสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่

R มาจากคำว่า Reflecting observation  หมายถึง   การสะท้อนความรู้สึก   นึกคิดจากการสังเกต ออกมาเป็นคำพูด หรือการเขียนเพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ เข้าใจ

A มาจากคำว่า Acting experimentation  หมายถึง การลงมือปฏิบัติ/ ทดลองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้

S มาจากคำว่า Satisfaction หมายถึง ความภาคภูมิใจในผลงาน และการยอมรับความรู้ ความสามารถของตนเองและผู้อื่น

A มาจากคำว่า Achievement  หมายถึง การมุ่งมั่นทำงานโดยใช้ความรู้ ความสามารถของตนเองและร่วมมือกับผู้อื่นดำเนินการจนสำเร็จ

R มาจากคำว่า Research & Development  หมายถึง การค้นหาปัญหา ข้อบกพร่องของผลงานหรือการทำงานและหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

T มาจากคำว่า Teamwork  หมายถึง การรู้จักทำงานเป็นทีมร่วมกับบุคคลอื่น

ครูสามารถดำเนินการสอนตามโมเดลการสอนของโรงเรียนจิระศาสตร์ได้ดังนี้

1.      ขั้นการให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข (Joyfull  to Learning)

ขั้นนี้เป็นการใช้เกม เพลง หรือกิจกรรมประกอบบทเรียน ให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นอยากเรียนและได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

2.      ขั้นการบูรณาการความรู้  (Integrating  Knowledge)

ขั้นนี้เป็นการทบทวนความรู้เดิมและการให้ความรู้ใหม่แก่นักเรียนโดยผู้เรียนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูลความรู้ที่หามาได้

3.      ขั้นการสะท้อนความรู้สึกนึกคิด  (Reflecting Observation)

ขั้นนี้เป็นการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้เรียน จากการสังเกตออกมาเป็นคำพูด หรือการเขียนเพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ เข้าใจ

4.      ขั้นการลงมือปฏิบัติ/ ทดลอง (Acting Experimentation)

ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและจะต้องได้ลงมือปฏิบัติจริง

5.      ขั้นการสร้างความภาคภูมิใจในผลงาน  (Satisfaction)

ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ที่ตนไปศึกษาค้นคว้ามา และอาจนำเสนอผลงานในรูปแบบการรายงาน หรือการจัดแสดงนิทรรศการ

6.      ขั้นการดำเนินงานสู่ความสำเร็จ  (Achievement)

ขั้นนี้เป็นการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมดทั้งความรู้เดิม และความรู้ใหม่และจัดสิ่งที่เรียนรู้ให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย

7.      ขั้นการวิจัยและพัฒนา  (Research & Development)

ขั้นนี้เป็นการทบทวนผลงาน ผลการศึกษาค้นคว้าว่ามีปัญหา ข้อควรแก้ไขอะไรบ้างและหาแนวทางปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น

8.      ขั้นการทำงานเป็นทีม  (Teamwork)

ขั้นนี้เป็นการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันในด้านการเรียนและการทำงานร่วมกับผู้อื่น

-          ส่งเสริมให้มีการประเมินครูแกนนำเพื่อเป็นครูต้นแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด

-          สนับสนุนให้มีการนิเทศภายในอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยจัดให้มีการนิเทศโดยเพื่อนครู  ผู้บริหาร  และผู้ทรงคุณวุฒิ

 6. การใช้ ICTส่งเสริมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา

             ในยุคปัจจุบันเชื่อมั่นว่าหน่วยงานสถานศึกษาหลายแห่งได้นำสื่อเทคโนโลยีและ  นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการและนำมาประยุคใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้จัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้   สู่โลกกว้างผ่านระบบ TV.Conference ร่วมกับสถานศึกษาในประเทศญี่ปุ่น     การใช้เว็บจัดการความรู้ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมหรือที่รู้จักกันดีในนามเว็บGotoknow  นับได้ว่าเป็นคลังความรู้อันทรงพลังที่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องสามารถจะเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ผลงานและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความรู้อย่างกว้างขวาง

 7. หลากหลายเทคนิควิธีดึงชุมชนสู่สถานศึกษา

            การจัดการสมัยใหม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) และลูกค้า (Customer) เป็นสำคัญ ในที่นี้หมายถึงชุมชนคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะผลักดันสนับสนุนส่งเสริมช่วยเหลือให้การดำเนินงานของโรงเรียนประสบความสำเร็จ ฉะนั้นแนวดำเนินการในการดึงศักยภาพของชุมชนเข้ามาสู่สถานศึกษา จึงสามารถดำเนินการได้ดังนี้

            ประการแรก โรงเรียนมีการสื่อสารถึงผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอผ่านทางจดหมายข่าว  วารสาร “จิระศาสตร์สัมพันธ์” ของโรงเรียน   เว็บไซต์ www.jirasart.com การจัดประชุมผู้ปกครอง การออกพบปะเยี่ยมนักเรียน เป็นต้น

            ประการที่สอง โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาใช้บริเวณอาคารสถานที่ของโรงเรียนในการจัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ประชุม อบรม สัมมนา หรือสาธิต กิจกรรม OTOP  โดยสถานศึกษาคิดค่าใช้จ่ายในราคาถูกหรือเป็นการให้เปล่า ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองและชุมชนได้รับความสะดวกและเกิดความพึงพอใจในการให้บริการของสถานศึกษาและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโรงเรียนในโอกาสอันควร นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าเยี่ยมชม ศึกษา-ดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะผู้บริหารครู อาจารย์ บุคลากรและนักเรียนโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เป็นประจำทุกปีๆละไม่น้อยกว่า 100 คณะ (จำนวนกว่า 1,000 คน)

        ประการสุดท้าย การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในวันสำคัญเกี่ยวกับชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ที่หน่วยราชการหรือหน่วยงานเอกชนจัดขึ้น  โรงเรียนต้องให้ความสำคัญโดยการนำคณะครู บุคลากรและนักเรียนเข้าร่วมงานอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็น สัญลักษณ์วัฒนธรรมองค์กรดังคำกล่าวที่ว่า... พร้อมเพรียง เกรียงไกร ไฉไลต้องจิระศาสตร์          นอกจากจะเป็นความร่วมมือกับชุมชนแล้วยังเป็นการประชาสัมพันธ์โรงเรียนทางอ้อมที่ไม่ต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์มากมายนัก

 8. การส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ภายในและภายนอกสถานศึกษา

            ด้วยข้อจำกัดของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  คงไม่มีสถานศึกษาใดที่สามารถนำทุกสิ่งทุกอย่างมาไว้ที่โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา เรียนรู้ ฉะนั้นสิ่งที่ครูและผู้บริหารได้วางแผนร่วมกันคือ การสำรวจแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และจัดพิมพ์เป็นทำเนียบแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นหรือประสานงานในการสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะบูรณาการ  ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะมีแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยานับว่าโชคดีที่มีสินทรัพย์ทางปัญญา และมรดกอันล้ำค่าที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็น   “มรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม”  ดังนั้นการจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือการนำนักเรียน ไปสัมผัส ศึกษา เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจึงเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ความรู้ให้กับผู้เรียนโดยตรง 

            กรณีตัวอย่างแหล่งเรียนรู้/ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่คณะครูโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาเคยนำนักเรียนไปศึกษาเรียนรู้ อยู่เป็นประจำ เช่น

-          ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา

-          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

-          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม

-          พิพิธภัณฑ์เรือไทย (อาจารย์ไพฑูรย์  ขาวมาลา)

-          อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

-          ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สนองแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง”  เป็นต้น

แนวทางการดำเนินงานที่ครูหรือผู้เกี่ยวข้องควรทราบ มีดังนี้

1)      ควรมีการประสานงานและวางแผนร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับแหล่งเรียนรู้/ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นการล่วงหน้า

2)      ควรให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะบูรณาการร่วมกับครูผู้สอน

3)      ในระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการกลุ่ม  ช่วยกันสืบค้นข้อมูล ความรู้ โดยมีครูและภูมิปัญญาท้องถิ่นทำหน้าที่ให้คำปรึกษา

4)      หลังจากเสร็จกิจกรรมควรมีการนำเสนอผลงานกลุ่มของนักเรียน และให้นักเรียนมีการประเมินผลงานของตนเอง  ประเมินโดยครู และประเมินโดยผู้เกี่ยวข้อง เช่นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

5)      ข้อควรปฏิบัติในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงบทบาทของคุณกิจ คุณลิขิต และมีครูหรือผู้บริหารทำหน้าที่เป็นคุณเอื้อ คุณอำนวยอย่างแท้จริง

 9. การดำเนินงานระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียน

ครูหรือผู้บริหารย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า จิตวิทยาการจัดการเรียนรู้ต้องคำนึงถึง

ความแตกต่างระหว่างบุคคล และต้องเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนสามารถพัฒนาได้  ดังนั้นในการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจึงมีความจำเป็นและควรให้ความสำคัญไม่แพ้การดำเนินงานด้านการเรียนการสอนและอื่นๆ    ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่โรงเรียนนำมาใช้ มีดังนี้

1)      ระบบครูคู่มิตร    เป็นการจัดครูประจำชั้นหรือครูประจำวิชาที่มีห้องใกล้กันช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เพื่อเป็นการป้องปราม หรือป้องกันปัญหาไว้เป็นการล่วงหน้า

การจัดกิจกรรมลักษณะนี้จะมีการเตือน มีการออกใบเตือนนักเรียนโดยให้ ใบเหลือง, ใบแดง ตามควรแก่กรณี เช่น กรณีความผิดเล็กน้อยอาจมีการตักเตือนแล้วให้ใบเหลือง ส่วนการให้ใบแดงมักจะไม่พบ ทั้งนี้เพราะนักเรียนที่เคยได้ใบเหลืองจะระมัดระวัง หรือนักเรียนจะเกรงกลัวความผิดและไม่อยากถูกลงโทษโดยการให้ใบแดง นั่นหมายถึงตัวเองและผู้ปกครองจะเดือดร้อนด้วย

2)      ระบบเพื่อนช่วยเพื่อนและพี่ช่วยน้อง   เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้นักเรียนดูแลช่วยเหลือกันเอง ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการสภานักเรียน และสโมสรอินเตอร์แรคท์โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ซึ่งจะทำหน้าที่แนะนำช่วยเหลือ สอดส่องดูแล รายงานพฤติกรรมนักเรียนที่ไม่พึงประสงค์ให้ครูทราบ

3)      ระบบผู้ปกครองเครือข่าย  เป็นการขอความร่วมมือจากตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนแต่ละระดับ แต่ละช่วงชั้น ซึ่งมีจำนวน 234 คน ทำหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติกรรมนักเรียนนอกโรงเรียน และรายงานให้ครูหรือผู้บริหารทราบ พร้อมทั้งในคำแนะนำ ปรึกษา ในการสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วย

4)      ระบบเยี่ยมยามถามข่าว  เป็นการจัดครูประจำชั้น หรือครูที่ปรึกษาร่วมกับผู้บริหารและกรรมการฝ่ายสัมพันธ์กับชุมชนออกพบปะ เยี่ยมเยียน ผู้ปกครองและนักเรียนในชุมชน หมู่บ้านที่นักเรียนอาศัยอยู่ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามตำบลอำเภอต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง  ทำให้ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร สภาพปัญหา ความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียนอย่างแท้จริง และนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง

 การจัดการความรู้ร่วมกันของผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา  จากวันนั้นถึงวันนี้แม้จะมีความสำเร็จไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่สภาพที่เห็นเด่นชัดหลังจากที่มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  พบว่า สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนคงจะไม่พ้นความรู้สึกดีดีในไมตรีจิตมิตรภาพ  การรู้จักยอมรับความคิดเห็น รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม

            วันเวลาแห่งการจัดการความรู้ได้ดำเนินการควบคู่กับกิจวัตรประจำวันของสถานศึกษา จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้  ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่และจะต้องปรับปรุงพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง  ภายใต้พลังขับเลื่อนของภาคี เครือข่ายการจัดการความรู้ที่กระจายอยู่ทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

            ความสำเร็จและความก้าวหน้าทั้งหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุน ส่งเสริมเป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือด้วยดีมาโดยตลอดจาก สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) ซึ่งจะดำรงคงอยู่คู่วงการจัดการความรู้ของไทยตลอดไป   และผมมีความเชื่อมั่นว่า “การจัดการความรู้ จะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้เลย หากหน่วยงาน สถานศึกษายังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจัดการความรู้อย่างจริงจัง”

 
              ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่เราจะมาร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษารอบที่สอง ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ โดยใช้ KM เป็นเครื่องมืออันทรงพลานุภาพ ®

 เอกสารอ้างอิง

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ. (2545) รายงานการวิจัย “กลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษาเอกชน
             เพื่อส่งเสริม
การปฏิรูปการเรียนรู้  (เอกสารอัดสำเนา)

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ. (2548) จิระศาสตร์วิทยา สถานศึกษาแห่งการเรียนรู้.  สถาบัน
             ส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ. (2548) การจัดการความรู้สู่ความเป็นเลิศในสถานศึกษา. วิทยา
             จารย์
ปีที่ 104ฉบับที่ 2 มีนาคม 2548  บรัทโอเอส พริ้นติ้งเฮาส์ จำกัด

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ. (2549) “การจัดการความรู้ 9 เทคนิควิธีสู่ความสำเร็จในการบริหาร
             สถานศึกษา”วารสารจิระศาสตร์สัมพันธ์ ฉบับที่ 5 ปีการศึกษา 2549
             โรงพิมพ์เอดิสัน เพรสโพรดักส์

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ. (2550).  การจัดการความรู้ Knowledge Management.
             พระนครศรีอยุธยา : โรงพิมพ์เทียนวัฒนา

วิวัฒน์  คติธรรมนิตย์ (2549) “วิถีสู่ดวงดาวของชาวจิระศาสตร์” วารสารจิระศาสตร์
             สัมพันธ์
ฉบับที่ 3 ปีการศึกษา 2548 โรงพิมพ์เอดิสัน เพรส โพรดักส์

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม. (2548) “การจัดการความรู้ บนพื้นฐานการ
             จัดการศึกษานอกกรอบกะลา”  วารสารจิระศาสตร์สัมพันธ์ ฉบับที่ 4 ปีการ
             ศึกษา 2548 โรงพิมพ์เอดิสัน เพรสโพรดักส์

หมายเลขบันทึก: 336775เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท