กระแสทุนนิยม - “พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” หายไปไหน


ความไม่รู้หนังสือ (Ignorance) ความยากจน (Poverty) และความเจ็บป่วย (Disease) โง่ – จน – เจ็บ

           การพัฒนาที่มุ่งผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สังคมและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาทั้งสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ขยะล้นเมือง น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภาวะโลกร้อน(Global Warming) ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก การใช้ระบบเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการพัฒนา ทำให้สังคมไทยเกิดแนวคิดพฤติกรรมใหม่ ซึ่งแต่เดิมมีความเป็นอยู่อย่างสมถะ มีน้ำใจโอบอ้อมอารี  เกื้อกูลซึ่งกันและกันในชุมชนตามลักษณะ  “พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่สังคมเมืองตามวัฒนธรรมตะวันตก มีแนวคิดแบบบริโภคนิยม ให้ความสำคัญกับเงินตรา อยู่ในระบบของการแข่งขัน คนรุ่นใหม่มีความสุขจากการใช้เทคโนโลยี เกิดค่านิยมที่หรูหรา ฟุ่มเฟือย เกิดความเห็นแก่ตัวและมีการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาต่างๆเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาที่ผ่านมาขาดสมดุลในบริบทของการพัฒนา

           คำกล่าวของฝรั่งที่ว่า “Greed is good” แสดงให้เห็นว่าความโลภได้ครอบงำเข้าไปสู่ส่วนลึกของจิตใจ ซึ่งความโลภที่ไร้ขอบเขตเป็นรากเหง้าแห่งความเสื่อม เนื่องจากทำให้ให้เกิดการแสวงหาเพื่อตอบสนองตัณหาโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรม

            องค์การสหประชาชาติได้ใช้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (The UN Human Development Index - HDI) เป็นดัชนีการวัดและเปรียบเทียบ ความยากจน การรู้หนังสือ การศึกษา อายุขัย การคลอดบุตรและปัจจัยอื่น ๆ ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นวิธีการวัดความอยู่ดี กินดี ตามมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน ค่าดัชนีดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1990 โดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวปากีสถานชื่อ มาฮบับ อุล ฮาค และองค์การสหประชาชาติได้นำดัชนีดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา

            การศึกษาว่าประเทศใดมีความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์เพียงใด สามารถใช้ดัชนีการพัฒนามนุษย์เป็นตัวเปรียบเทียบความสำเร็จโดยเฉลี่ยของแต่ละประเทศได้ โดยอาศัยเกณฑ์การพัฒนาที่สำคัญ 3 ด้าน คือ

            เกณฑ์การมีชีวิตที่ยืนยาว และมีสุขภาพดี ซึ่งวัดได้จากอายุขัยของประชากร

            เกณฑ์ความรู้ ซึ่งวัดได้จากการรู้หนังสือ และอัตราส่วนการเข้าเรียนสุทธิ ที่รวมกัน ทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา

            เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพชีวิต ซึ่งวัดได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) ต่อหัวและความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity - PPP)

            ในแต่ละปีประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ จะถูกจัดอันดับการพัฒนามนุษย์ ตามดัชนีดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การจัดอันดับการพัฒนามนุษย์ขององค์การสหประชาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549 ได้แบ่งกลุ่มประเทศต่างๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูง ซึ่งมีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ระหว่าง 0.965 – 0.800  กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาปานกลาง มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ ระหว่าง 0.799 – 0.505 และกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาต่ำ ค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์จะอยู่  ระหว่าง 0.499 – 0.281  สำหรับประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศนอร์เวย์ ประเทศไอซ์แลนด์ และประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีค่า ดัชนีการพัฒนามนุษย์ 0.965  0.960 และ0.957 ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 63 มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ อยู่ที่ 0.800 จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูง ลำดับสุดท้าย (UN Development Program Report 2005)

            อย่างไรก็ตามดัชนีการพัฒนามนุษย์ดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้เพื่อการพัฒนาให้มนุษยชาติหลุดพ้นจากความไม่รู้หนังสือ (Ignorance) ความยากจน (Poverty) และความเจ็บป่วย (Disease) ซึ่งเป็นคำที่เราคุ้นเคยว่าวงจรโง่ – จน – เจ็บ นั่นเอง เป้าหมายแห่งการพัฒนาไม่ใช่อยู่ที่การสร้างกระบวนการคิดหรือยกระดับจิตใจของมนุษย์ แต่เป็นหลักประกันพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ในทางกลับกันหากขาดมาตรการที่ดีในการพัฒนาตามเกณฑ์ดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการแข่งขัน แย่งชิงและทำลายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อสนองความต้องการด้านต่างๆมากยิ่งขึ้น ที่สุดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้

            สมัชชาโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่องค์การสหประชาชาติจัดตั้งขึ้นได้พิมพ์เอกสารชื่อ “Our Common Future” ออกเผยแพร่เมื่อปี 2530 และได้ให้คำจำกัดความของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า เป็นการพัฒนาที่สนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ประชาชนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องประนีประนอมยอมลดความสามารถของเขา ในการที่จะสนองความต้องการของเขา

            การสร้างความสมดุลในการพัฒนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องเริ่มจากการพัฒนากระบวนการคิดและยกระดับจิตใจให้เข้าถึงคุณธรรมจริยธรรม ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นมามีความเกี่ยวเนื่องกัน อาศัยซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งหนึ่งเสมอ ไม่มีสิ่งใดแน่นอนย่อมเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา

             พระธรรมปิฎกกล่าวว่าการพัฒนามนุษย์เป็นระบบซึ่งมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มนุษย์ในฐานะตัวกระทำต้องได้รับการศึกษาและปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมบูรณ์ทั้ง 3 ด้านคือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญาตามหลักไตรสิกขาจึงจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ (Integrated) การพัฒนาที่ทำให้เกิดเป็นองค์รวม (Holistic) มีลักษณะแห่งดุลยภาพ (Balanced) ขององค์ประกอบ 3 ส่วนคือเศรษฐกิจ (Economy) นิเวศวิทย์ (Ecology) และมนุษย์ (Human)

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficient Economy) ให้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับชั้น ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และรัฐ ให้ดำเนินในทางสายกลาง มีความพอประมาณ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท มีเหตุผลและสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรู้ รอบรู้ รอบคอบ และเงื่อนไขคุณธรรม ซื่อสัตย์ ขยัน แบ่งปัน

              การพัฒนาขั้นสูงสุดคือ การพัฒนาปัญญาให้รู้แจ้ง เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ ไม่ยึดติดในคุณค่าเทียมอันไร้แก่นสาร สามารถทำจิตให้เป็นอิสระ มีความสุขในตัวได้ ไม่ต้องพึ่งพิงหรืออาศัยปัจจัยภายนอกอย่างขาดสติ ลด ละ ความโลภ ไม่ทำลายธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อยู่ในกระแสของทุนนิยมอย่างมีสติปัญญา มองบุคคลอื่นเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมสุข รู้จักแบ่งปันมีน้ำใจช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รู้จักให้อภัย พยายามมองโลกในแง่ดี และยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต แล้วความรู้สึกที่ว่า “พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” จะกลับมาอยู่ในหัวใจคนไทยอีกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 336741เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2013 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท