คุณค่าด้านวรรณศิลป์ในสามัคคีเภทคำฉันท์


คุณค่าด้านวรรณศิลป์ของสามัคคีเภทคำฉันท์

 

 การเลือกสรรคำ

      วรรณคดีประเภทฉันท์แม้จะนิยมใช้คำบาลีสันสกฤตก็ตาม  เพราะต้องการบังคับครุ ลหุ  แต่ผู้แต่งสามัคคีเภทคำฉันท์ก็เลือกสรรคำได้อย่างไพเราะเหมาะสมทั้งเสียงและความ เช่น

           ๑.  ใช้คำง่าย ๆ ในบางตอน  ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ไม่ยากนัก เช่น ตอนวัสสการพราหมณ์เข้าเมืองเวสาลีซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี

              “ผูกไมตรีจิต                            เชิงชิดชอบเชื่อง

     กับหมู่ชาวเมือง                                ฉันท์อัชฌาสัย

     เล่าเรื่องเคืองขุ่น                               ว้าวุ่นวายใจ

    จำเป็นมาใน                                       ด้าวต่างแดนตน”

           ๒.  การใช้คำที่มีเสียงเสนาะ  เสียงเสนาะเกิดจากการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ มีการย้ำคำ ใช้คำที่ก่อให้เกิดความรู้สึก เช่น ตอนชมกระบวนช้าง

            “แพร้วแพร้วพรายพรายข่ายกรอง    ก่องสกาวดาวทอง

      ทั้งพู่สุพรรณสรรถกล”

คำ แพร้วแพร้ว และพรายพราย  ก่อให้เกิดความรู้สึกในด้านความโอ่อ่างดงามได้อย่างดี 

            “ยาบย้อยห้อยพู่ดูดี                              ขลุมสวมกรวมสี

      สะคาดกนกแนมเกลา”

คำ ยาบย้อย เสียงของคำไพเราะทำให้ผู้อ่านเห็นความงาม

         ๓.  ใช้คำที่ก่อให้เกิดความรู้สึก เช่น ตอนพรรณนากองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรู

           “แรงหัตถ์กวัดแกว่งซึ่งสรรพ์            ศัสตราวุธอัน

      วะวาบวะวาวขาวคม”

คำ วะวาบวะวาว ก่อความรู้สึกให้ผู้อ่านนึกเกรงขามได้ดีมาก

          ๔.  ใช้คำที่มีความหมายกระชับ  คำบางคำผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำอื่นมาขยายความอีกเลย เช่น

           “แรมทางกลางเถื่อน                         ห่างเพื่อนหาผู้

    หนึ่งใดนึกดู                                              เห็นใครไป่มี”

ซึ่งอ่านแล้วผู้อ่านก็เข้าใจได้ทันทีว่าวัสสการพราหมณ์เดินทางอย่างเดียวดาย

            ๕.   การหลากคำ  กวีจำเป็นต้องรู้จักคำมากเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำกัน  ทำให้ผู้อ่านเห็นความเป็นอัจฉริยะของกวี เช่น 

             “ขุนคอคชคุมกุมอัง                          กุสกรายท้ายยัง

       ขุนควาญประจำดำรี”

                  และ

            “ขุนคชขึ้นคชชินชาญ                       คุมพลคชสาร

       ละตัวกำแหงแข็งขัน”

       คำว่า คช ดำรีและคชสาร หมายถึงช้างทั้งสิ้น

            ๖.  การเพิ่มสัมผัส  คำประพันธ์ไทยนิยมสัมผัสมากแม้ว่าฉันท์จะเป็นคำประพันธ์ที่ไทยรับมาจากอินเดียซึ่งแต่เดิมไม่มีสัมผัส  เราก็เพิ่มสัมผัสนอกเข้าไปเพื่อให้ไพเราะยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ยังเพิ่มครุ ลหุเข้าไปในกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ ทำให้เกิดลีลาคึกคักเหมาะสมกับท้องเรื่อง เช่น ตอนบรรยายการจัดกองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรู   

                                          “สะพรึบสะพรั่ง 

ณหน้าและหลัง                  ณซ้ายและขวา 

ละหมู่ละหมวด                   ก็ตรวจก็ตรา

ประมวลกะมา                    สิมากประมาณ”

       ๗.  การใช้โวหารภาพพจน์ คือถ้อยคำที่กวีเรียบเรียงอย่างใช้โวหารไม่กล่าวอย่างตรงไปตรงมา  เพราะต้องการให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการคิด เข้าใจและรู้สึกอย่างลึกซึ้งตามผู้แต่งไปด้วย  โวหารภาพพจน์ในสามัคคีเภทคำฉันท์มีหลายตอน เช่น

               ๗.๑ การเปรียบเทียบแบบอุปมาอุปไมย ได้แก่ การนำของสองสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกันมาเปรียบเทียบกันโดยมีคำว่า ดุจ เหมือน คล้าย ปานประหนึ่ง เป็นคำเชื่อม  สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบเรียกว่าอุปมา  สิ่งที่รับเปรียบเทียบเรียกว่าอุปไมย  เช่น  ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูกริ้ววัสสการพราหมณ์

           “กลกะกากะหวาดขมังธนู บห่อนจะเห็นธวัชริปู         สิล่าถอย”

วัสสการพราหมณ์เปรียบน้ำพระราชหฤทัยกษัตริย์ลิจฉวี

           “เมตตาทยาลุศุภกรรม             อุปถัมภการุณย์

    สรรเสริญเจริญพระคุณสุน             ทรพูนพิบูลงาม

    เปรียบปานมหรรณพนที                 ทะนุที่ประทังความ

   ร้อนกายกระหายอุทกยาม               นรหากประสบเห็น

   เอิบอิ่มกระหยิ่มหทยคราว               ระอุผ่าวก็ผ่อนเย็น

   ยังอุณหมุญจนะและเป็น                  สุขปีติดีใจ”

การกล่าวถึงความรุ่งเรืองของแคว้นมคธ

         “เมืองท้าวสิเทียบทิพเสมอ        ภพเลอสุราลัย

  เมืองท้าวแหละสมบุรณไพ               บุลมวลประการมา”

              ๗.๒ การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์  ได้แก่การเปรียบเทียบโดยนัย ไม่กล่าวเปรียบเทียบตรง ๆ อย่างอุปมาอุปไมย  แต่ผู้อ่านก็พอจะจับเค้าได้จากคำที่ผู้แต่งใช้ เช่น

ตอนวัสสการพราหมณ์กล่าวเปรียบเทียบทหารของแคว้นวัชชีกับทหารของแคว้นมคธ ว่า

         “หิ่งห้อยสิแข่งสุริยะไหน           จะมิน่าชิวาลาญ”

ผู้อ่านย่อมจะเข้าใจได้ว่าหิ่งห้อยนั้นหมายถึงกองทัพมคธ  ส่วนสุริยะนั้นหมายถึงกองทัพวัชชี

ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเปรียบเทียบการแตกสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี ว่า

          “ลูกข่างประดาทา                    รกกาลขว้างไป

 หมุนเล่นสนุกไฉน                             ดุจกันฉะนั้นหนอ”

หมายเลขบันทึก: 336724เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

วันอังคารที่ 23 หนูสอบปลายภาคแล้วนะคะ

มีวิชาภาษาไทยด้วย เรื่อง สามัคคีเภท ก็ออกค่ะ

จะทำให้เต็มที่ อิอิ

* ขอขอบคุณ คุณครูผู้ให้ความรู้

  สวัสดีค่ะ  หนูสุนิสา

หนูเป็นกำลังใจให้ครูมาตลอด  วันนี้ครูขอเป็นกำลังใจให้หนูในการสอบปลายภาคเช่นกันค่ะ 

สวัสดีต้นเดือนเมษาค่ะ ^^

สวัสดีจ้ะ...Ico32  KoNgEz

  คิดว่าใครเสียอีกที่เข้ามาทักทาย  ที่แท้ก็คือท่านเปาปุ้นจิ้น แห่ง 6/3 นั่นเอง

สวัสดีคะ ครูแป๊ว

ถ้าไม่มีครูหนูคงแย่แน่ๆเลยคะ เพราะหนูไม่ถนัดภาษาไทยเลย

แต่พอมาเจอเว็บของครู ทำให้หนูเข้าใจเนื้อหาในเรื่องที่เรียนมากขึ้น

ขอบคุณ คุณครูมากๆนะคะ รักครูแป๊ว^^"

สวัสดีค่ะ หนูแอน

   ภาษาไทยเป็นภาษาที่เราใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน  จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  หนูบอกว่าไม่ถนัดภาษาไทยเลย  จึงเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข  ค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปนะคะ  ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถ  ครูเชื่อเช่นนั้นค่ะ 

ขอบคุณมากๆนะคะ blog ของอาจารญ์ดี และมีประโยชน์มากๆเลยค่ะ

สวัสดีค่ะ 

   หากชื่นชอบภาษาไทย  ขอเชิญชวนเข้าไปที่ เรื่องราวดี ๆ ...เกี่ยวกับภาษาไทย  บ้างนะคะ

ขอบไจมากนะครับ*-*

สวัสดีค่ะ  อิสราชน

    การเลือกสรรใช้ถ้อยคำในภาษาไทยมีความสำคัญมากค่ะ  คำว่า "ขอบใจ" ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ที่สูงวัยกว่านะคะ  ขอให้หนู อิสราชน ทบทวนกับบันทึก" ภาษาไทยเรานี้มีระดับ"  ในบล็อก "เติมความฟิต พิชิตข้อสอบ"  จะได้ใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสม

ขอบคุณครูมากเลยค่ะ ขอบคุณจริงๆนะคะนอกใจจะให้ความรู้แล้วยังทำให้หนูสามารถพินิจสามัคคีเภทคำฉันท์ได้ด้วย

ต้องขอขอบคุณอาจารย์มากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท