สาระจากจากประชุมวิชาการ ปขมท.53 (1) เรื่อง โอกาสและภัยคุกคามอุดมศึกษา


              จากการได้เข้าร่วมประชุมวิชาการ ปขมท. ประจำปี 2553 เมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2553  ณ จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งจัดโดยที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมกันเป็นเจ้าภาพ นั้น  มีการบรรยาย เรื่อง โอกาส/ภัยคุกคามอุดมศึกษาไทย  โดย ศาสตราจารย์ ดร.กนก  วงษ์ตระหง่าน  ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี    ผมไปร่วมประชุมในฐานะประธานชมรมข้าราชการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เก็บสาระจากที่ประชุมมาเล่าสู่กันฟังครับ  โดยเฉพาะเป็นการเล่าให้สมาชิกของสงขลานครินทร์ ปัตตานี  เพื่อให้คุ้มกับที่ได้นำเงินส่วนกลางเป็นค่าเดินทางไปราชการ  เรียกว่าทำงานให้คุ้มกับเงินที่จ่ายไปครับ  สาระที่ได้มีดังนี้ครับ (ยังมีหัวข้ออื่น จะทะยอยเขียนมาเล่าสู่กันฟังภายหลัง)

 

 โอกาสและภัยคุกคามอุดมศึกษา

ภัยคุกคาม 

 

  • โลกทุกวันนี้อยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลง  มีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่จำกัดขอบเขต  มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  มีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่แน่นอนคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้

  • เด็กมีแนวโน้มลดลง ผู้สูงอายุมีแนวโน้มมากขึ้น คนวัยทำงานคงที่  ทำให้ในอนาคต คนวัยทำงานมีแนวโน้มแบกรับภาระอีกสองกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น อีก 10 ปีข้างหน้า (2563) คนวัยทำงานจะต้องหาทรัพยากรเพิ่ม 2.5 เท่าของปัจจุบัน

  • ในปี 2550 มีบัณฑิตจบปริญญาตรี 25 %  นักเรียนเข้าเรียนต่อ 64 %  คาดว่าจบเป็นบัณฑิตปริญญาตรีประมาณ 50 % 

  • พบว่า การศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้ปลูกฝังและแนะแนวเลยว่า เด็กควรจะเรียนอะไร  จบออกไปแล้วควรจะทำงานอะไร

  • นักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยปิดในระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มลดลง  ในขณะที่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

  • งบประมาณการจัดการศึกษาที่ได้รับจากรัฐบาลมีแนวโน้มลดลง  มหาวิทยาลัยจะต้องหารายได้เพิ่มมากขึ้น

  • นักเรียนทีเข้ามหาวิทยาลัย มีคะแนนการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์อยู่ระดับต่ำกว่า 1 (จาก 4) ประมาณ 50 % ซึ่งเด็กเหล่านี้จะเข้ามหาวิทยาลัยประมาณ 60 - 80 % แปลว่ามหาวิทยาลัยจะต้องรับนักเรียนอ่อนวิชาดังกล่าวเข้าศึกษา ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็จะตกอยู่กับมหาวิทยาลัย

  • ปี 2548 ผลสัมฤทธิ์ของอุดมศึกษาไทย อยู่ลำดับที่ 39 ตามหลังมาเลเซีย(38) ฟิลิปินส์(26) ใต้หวัน(6) เกาหลี(4) สิงคโปร์(3) ญี่ปุ่น(2)  และมีแนวโน้มจะถดถอยกว่านี้อีก  และจะตามหลังประเทศหลักๆ ในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด

  • ความรู้ของประชากร แม้วันนี้นำหน้าอินโดนีเซีย ฟิลิปินส์และเวียดนาม  อีก 5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มจะตามหลัง 3 ประเทศดังกล่าว

  • ถ้าคุณภาพการสอนในอุดมศึกษาไทยยังเป็นอยู่อย่างนี้  ต่อไปจะไม่มีผู้ปกครองทุ่มทุนส่งให้ลูกหลานเรียนมหาวิทยาลัย


โอกาส

  • คุณค่าและความต้องการเรียนของนักเรียนและผู้ปกครอง ต่อการเข้าเรียนอุดมศึกษาในวันนี้ยังสูงอยู่

  • สถาบันอุดมศึกษายังเป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้มากกว่าสถาบันอื่น

  • การเติบโตของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสร้างโอกาสแก่อุดมศึกษา

  • วิสัยทัศน์ของอาเซียนในการเปิดเสรี (ASEAN 2015 / Globalization) เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคาม ควรมีการศึกษาวางแผนรับมือล่วงหน้า

  • การใช้โอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุดมศึกษา เช่น ทำอย่างไรให้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต / การเน้นจุดเด่นบนความแตกต่าง เช่น วิศวกรในมหาวิทยาลัยเก่งคำนวณ  แต่วิศวกรจากเทคโนโลยีราชมงคลเก่งทักษะฝีมือและอดทน เป็นต้น

  • ต้องมีการระดมสรรพกำลังอย่างมียุทธศาสตร์

  • สรุป  เงื่อนไขความสำเร็จ คือ คน  มหาวิทยาลัยต้องคิดนอกกรอบ  ต้องมีภาวะผู้นำ ทุกคนต้องเสียสละแม้สายสนับสนุนถูกประเมินว่ามีวินัยต่ำในการทำงาน แต่สายวิชาการมี "บุญเก่า"   วิทยากรเสนอแนะว่าบุคลากรทั้งสายสนับสนุนและสายวิชาการ ต้องสามัคคีเป็นทีมเดียวกันในการร่วมกันฟันฝ่าเพื่อพัฒนาอุดมศึกษาไทย

หมายเลขบันทึก: 336675เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท